[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

เรียนวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต

เรียนวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต
“เรียนไปทำไม?”
“เรียนแล้วจะเอาไปใช้อะไรได้?”
“จบไปแล้วจะทำอะไรกิน?”
หลายคำถามที่ผุดขึ้นมา เมื่อพูดถึงการเรียนวิทยาศาสตร์ ศาสตร์ที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว และไม่คิดว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของตนเอง 

หากแต่ในความเป็นจริง “ชีวิตคนเราขึ้นอยู่กับวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ตื่น จนเข้านอน” (หรือแม้จะกำลังหลับอยู่ก็เถอะ) หมายความว่า เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงวิทยาศาสตร์ได้ และคนที่ทำให้เราอยู่ร่วมกับวิทยาศาสตร์ได้อย่างกลมกลืน รวมทั้งสามารถนำวิทยาศาสตร์ มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ ก็คือ นักวิทยาศาสตร์ นั่นเอง 

ในการนำเสนอผลงานทางวิชาการของนักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริม ผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) (หนึ่งในโครงการของ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท.) ณ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าที่บัณฑิตหลายคน ได้นำเสนอการผสมผสานระหว่าง วิทยาศาสตร์กับชีวิตไว้อย่างน่าสนใจ 

นายจตุพล คำปวนสาย จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้ความรู้ทางชีววิทยา หาความผันแปรทางพันธุกรรมระหว่างชาวอีก้อ ลีซอ และม้ง ในประเทศไทย วิเคราะห์ด้วยไมโครแซทเทลไลท์(เป็นเทคนิคในการทำลายพิมพ์ดีเอ็นเอ) ซึ่งเป็นวิธีที่ยังใช้กันไม่มากในประเทศไทย โดยเห็นว่ากลุ่มชาวเขาเหล่านี้ไม่มีการแต่งงาน ข้ามวัฒนธรรม ทำให้ศึกษาได้ง่าย 

จตุพล กล่าวถึงประโยชน์ของผลงานนี้ว่า “ผลของการทำโครงงาน ในระดับที่ทำอยู่นี้ สามารถแยกความเป็นกลุ่มชนของชาวเขา ได้ ในอนาคต เราอาจจะสามารถแยกถึงระดับเชื้อสาย ว่าชนกลุ่มไหนมีความใกล้เคียงกับกลุ่มไหนบ้าง และอาจศึกษาถึงการอพยพ ซึ่งในจุดนั้นอาจจะ ทำให้เราได้รู้ว่าบรรพบุรุษไทยจริงๆ แล้วมาจากที่ใด” 

หนุ่มเชียงใหม่คนนี้พยายามจะบอกว่า แม้แต่ศาสตร์ทางมานุษยวิทยา หรือประวัติศาสตร์ ก็ยังต้องสัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์อยู่ดี 

นางสาวศุภราภรณ์ สุบงกช จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สนใจศึกษาการใช้น้ำยางธรรมชาติเข้าไปเป็นองค์ประกอบของชั้นกาวในเทปกาว โดยเล็งถึงปัญหาที่ว่าประเทศไทยเป็นผู้ผลิตน้ำยางธรรมชาติได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่คนไทยกลับไม่สามารถนำน้ำยางที่มีอยู่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของ บ้านเรา 

ศุภราภรณ์ กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการใช้วิทยาศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาในจุดนี้ว่า “คิดว่าน่าจะนำน้ำยางมาผลิตเป็นชั้นกาวได้ เป็นการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ และลดการนำเข้า จากต่างประเทศด้วย ส่งเสริมอาชีพของชาวสวนยาง ถ้าเกิดปัญหาเศรษฐกิจแล้วเราทำตรงนี้ได้ ก็จะสามารถยืนหยัดด้วยตัวเอง ด้วยของที่เราผลิตเองได้ คิดว่านักวิทยาศาสตร์ควรจะนำความรู้ ทางวิทยาศาสตร์มาแก้ปัญหาให้ประเทศนอกเหนือไปจากการทำงานวิจัย เพราะกระบวนการ ทางวิทยาศาสตร์จะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างเป็นระบบ” 

นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถช่วยแก้ปัญหาของประเทศได้ไม่แพ้นักวิชาการด้าน อื่นๆ เลยเหมือนกัน 

นางสาวสุธินี บุญอนันต์วงศ์ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าของความคิดนำดอกชมพู่สาแหรกมาย้อมผ้าฝ้ายแบบไทย ๆ เพราะเห็นว่าการย้อมผ้าใน ปัจจุบันใช้สีสังเคราะห์มาก และเป็นพิษต่อธรรมชาติ จึงคิดหาสีจากธรรมชาติ ที่มีความสวยงามมาใช้แทน 

สุธินีได้กล่าวถึงการนำวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับการย้อมผ้าไทยว่า “ชมพู่สาแหรกมีสีม่วงออกชมพู สีสวยมาก เลือกใช้ผ้าฝ้ายเพราะเป็นผ้าไทย ราคาถูก ใส่สบาย สารช่วยติดที่ใช้ก็ไม่มีอันตราย หาได้ง่าย เมื่อผลสำเร็จออกมา เราก็จะได้ผ้าไทยที่ย้อมสีธรรมชาติ ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และราคาถูก ส่งเสริมเกษตรกร และส่งเสริมผลิตภัณฑ์ไทย” 

เป็นการพัฒนาวิถีการผลิต วิถีความเป็นอยู่แบบไทย ๆ โดยใช้วิทยาศาสตร์มา เพิ่มประสิทธิภาพ และความหลากหลายนั่นเอง 

นายเธียรพันธุ์ อำไพวรรณ นิสิตจากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงานที่มีชื่อว่า “เร-ณูวิทยายุคเทอ-เชียรี่ของหน่วยหินในแอ่งแม่ระมาด จังหวัดตาก” พูดถึงประ-โยชน์ของการศึกษาธรณีวิทยาว่า 

“ธรณีวิทยาเป็นการศึกษาอดีตเพื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน เช่นศึกษาชั้นหินในอดีต เอามาเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ว่าลักษณะตะกอนเช่นนี้ อยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบไหน ควรจะมี ทรัพยากรอะไรบ้าง หรือเอาไปเปรียบเทียบกับจุดอื่นที่มีการศึกษามาแล้ว ซึ่งมีผลทางเศรษฐกิจ จะประเมินได้ว่ามีการสะสมตัวของน้ำมัน ถ่านหิน หรือไม่ มีโอกาสที่จะพบแหล่งแร่ไหม ก่อนที่จะลงมือขุดเจาะลงไปในชั้นดินจริงๆ ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจดูจะเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด” 

นี่คือวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นเบื้องหลังของความสามารถทางเศรษฐกิจ ของไทยทางด้านพลังงานและแร่ธาตุเลยทีเดียว 

นายชิตนนท์ บูรณชัย จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศึกษารูปแบบกระแสไฟฟ้าไอออนรอบๆ เซลล์สาหร่ายน้ำจืดวงศ์ Characeae ศึกษาสาหร่ายเพื่อที่จะดูว่าน้ำเป็นพิษหรือไม่ สาหร่ายชนิดสามารถบ่งชี้สภาพของน้ำได้ เพราะค่อนข้างไวต่อความเป็นพิษของน้ำ 

นายชิตนนท์ กล่าวถึงการใช้วิทยาศาสตร์แบบผสมผสาน ที่ดูแล้วไม่ค่อยจะเป็นการศึกษา ด้านฟิสิกส์เสียทีเดียวว่า “คิดว่างานวิจัยไม่ว่าสาขาใดก็ตามต้องเกิดการเชื่อมโยงความรู้กัน ถ้าเราทำเฉพาะด้านฟิสิกส์อย่างเดียวก็จะขยายผลการศึกษาได้ยาก อย่างงานชิ้นนี้ก็นำฟิสิกส์ มาประยุกต์เข้ากับชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมด้วย และคิดว่าไม่ว่าศาสตร์ด้านใดก็ตาม สามารถนำมาใช้ศึกษาสิ่งมีชีวิตได้ ฟิสิกส์ก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราน่าจะนำหลักการฟิสิกส์ ที่มีการคิดค้นมาแล้ว นำมาใช้ในการศึกษาสิ่งมีชีวิตด้วย” 

การเรียนวิทยาศาสตร์ในวันนี้ จึงมิใช่เพียงแค่การเรียนรู้ แต่ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หลักเหตุผล และความเป็นนักคิด นักวิทยาศาสตร์จำต้องศึกษาสังคม และสิ่งที่อยู่รอบด้าน แล้วนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ไปสร้างสรรค์ พัฒนา และแก้ปัญหา โดยรู้จักนำศาสตร์อื่นๆ มาเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดประโยชน์แตกกิ่งก้านสาขาออกไปด้วย 

วิทยาศาสตร์จึงทำอะไรได้มากกว่าที่คิด ขึ้นอยู่กับว่า จะคิดนำวิทยาศาสตร์ ไปทำอะไรหรือไม่เท่านั้นเอง 

โดย..สุดา กันทาใจ 


--------------------------------------------------------------------------------
จาก http://update.se-ed.com/166/sci4life.htm





SE-ED


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: จาก http://update.se-ed.com/166/sci4life.htm

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง