[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

บูลิเมีย โรคของคนกลัวอ้วน

บูลิเมีย โรคของคนกลัวอ้วน
บ่อยครั้งที่เราได้ยินผู้หญิงพากันบ่นว่าตัวเองอ้วน แล้วต่างคนต่างตั้งหน้าตั้งตาหาทางลดความอ้วนกันใหญ่ บางคนก็ไม่เห็นจะอ้วนอย่างที่พวกเธอคิดเลย อาจจะผอมไปด้วยซ้ำ อันที่จริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรหากคนอ้วนอยากลดความอ้วน เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพของตนเอง แต่การที่อยากผอมมากจนเกินไป อาจเป็นผลร้ายต่อตัวเองอย่างคาดไม่ถึง มันอาจทำให้เรากลายเป็น โรคร้ายนามประหลาดที่ชื่อ บูลิเมีย ก็เป็นได้ 

บูลิเมียคืออะไร?
โรคบูลิเมียคืออะไรนั้น หลายคนคงขมวดคิ้วคิดกันไม่ออก เฉลยให้ทราบก็ได้ค่ะว่า บูลิเมียเป็นโรคที่เมื่อทานอาหารเข้าไปแล้วเกิดความรู้สึกผิดอย่างมากและต้องหาทาง นำอาหารเหล่านั้นออกมาให้ได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เช่น ด้วยการล้วงคอให้อาเจียน 

คุณผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่า บูลิเมียนั้น แท้จริงแล้วเป็นความผิดปกติ ของพฤติกรรมการกิน โดยจะทานอาหารวันละหลายๆ ครั้ง ครั้งละมากๆ จนคนอื่น เห็นแล้วตกใจ ซึ่งผู้กินเองก็ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการกินของตนได้ เมื่อทานเสร็จแล้วจะมีความรู้สึกผิดอย่างมาก ไม่สบายใจที่ทานอาหารมากมายเข้าไป ทำให้ต้องหาทางเอาอาหารเหล่านั้นกลับออกมา ผลจากการทานอาหารเข้าไปมากๆ แล้วทำให้อาหารกลับออกมาทันทีนั้น จะส่งผลให้น้ำหนัก ขึ้น-ลง อย่างรวดเร็ว แต่โดยรวมจะพบว่า น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ นอกจากการล้วงคอให้อาเจียนแล้วก็มีวิธีอื่นๆ อีก เช่น การใช้ยาระบายแบบไม่บันยะบันยัง คือ ทานยาระบายมากกว่า 20 ครั้งต่อวัน บางคนก็ใช้ยาขับปัสสาวะหรือใช้การสวนทวาร แต่ก็มีบางคนเสียดายอาหารที่ทาน เข้าไปเลยหาวิธีอื่นแทน เช่น การออกกำลังกายติดต่อกันเป็นเวลานาน ถึง 5 ชั่งโมง บางคนก็อดอาหารประชดชีวิตไปเลย 3 วัน (ประหยัดน่าดู) ซึ่งอาการหวงอาหารนี้ มักพบมากในผู้ชาย ส่วนภาพรวมแล้ว ผู้หญิงจะเป็นโรคบูลิเมียมากกว่า คือคิดเป็นร้อยละ 90 ของผู้ป่วยทั้งหมด ช่วงอายุที่พบจะมีอายุอยู่ในช่วง 20 ปี ซึ่งพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ ในวัยเด็กเป็นผู้ที่เคยมีปัญหาด้านน้ำหนักมาก่อน 

ผู้ที่เป็นโรคบูลิเมียไม่ใช่คนที่เกลียดอาหารแต่เป็นคนที่ชอบอาหาร เห็นอะไรก็อยากทานไปหมด ยิ่งอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลทานง่ายๆ ยิ่งชอบ ไม่ว่าจะเป็น เค้ก ไอศกรีม พิซซา ของหวาน ฯลฯ วันหนึ่งๆ จะทานอาหารหลายครั้ง ทานแล้วก็ให้รู้สึกผิด ไม่สบายใจ แต่ก็ไม่สามารถ จะควบคุมตัวเองได้ รอจนทานเสร็จแล้วก็ไปล้วงคอเอาออกมาเพื่อชดเชยกับ การที่ทานเข้าไปมากๆ 

อะไรคือสาเหตุของโรคบูลิเมีย
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นโรคบูลิเมียนั้นมีหลายประการด้วยกัน และที่หลายคนคาดไม่ถึงก็คือ บูลิเมียเป็นโรคทางพันธุกรรม เนื่องจากมีการศึกษาพบว่า ผู้ที่เป็นโรคบูลิ-เมียมีมารดาที่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน น่าสังเกตว่าครอบครัวที่มีการศึกษาดีนั้นมีโอกาสเป็นโรคบูลิเมียสูงกว่าครอบครัว ผู้ใช้แรงงาน สาเหตุต่อมานั้นเกี่ยวข้องกับสารเคมีในเซลล์ประสาทของสมอง เพราะพบว่าผู้ป่วยจะมีฮอร์โมนซีโรโท- นิน (serotonin) ในระดับที่ผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากค่านิยมในสังคม ที่ปัจจุบันหันมานิยมความผอม เพรียวบาง สื่อต่างๆ ที่สร้างภาพให้เห็นว่า ดารา นางแบบ แต่ละคนสวยงามเพราะ มีรูปร่างผอมเพรียว ทำให้ผู้ที่ได้รับข้อมูลเกิดซึมซับแนวความคิดนี้ไว้ทั้งๆ ที่เป็นแนวความคิดที่ไม่ถูกต้อง อีกสาเหตุ คือ ความซึมเศร้า เนื่องจากมีการศึกษา พบว่าผู้ที่เป็นโรคบูลิเมียมักมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย และนอกจากนั้นแล้วยังมี สาเหตุอื่นอีก เช่น รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า มีความวิตกกังวลและความเครียดสูง กลัวสังคม เป็นต้น 

การลดน้ำหนักก็เป็นสาเหตุของการเป็นโรคบูลิเมีย เพราะเมื่อลดน้ำหนักลง ได้ก็จะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจที่สามารถควบคุมตัวเองได้ ยิ่งเห็นตัวเลข จากเครื่องชั่งน้ำหนักลดลงไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งกลายเป็นเรื่องสนุก โดยเฉพาะจะเกิดกับ วัยรุ่นที่มักจะคิดว่าตัวเองมีน้ำหนักเกินอยู่ตลอดเวลา 

อาการของบูลิเมีย
โรคบูลิเมียนี้อันตรายมาก มีผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีปริมาณ อิเล็กโทรไลต์ในเลือดผิดปกติ คือมี โพแทสเซียม และคลอไรด์ (Cl) ในเลือดต่ำ เนื่องจากการดึงน้ำออกจากร่าง-กาย โดยการใช้ยาขับปัสสาวะ หรือยาระบาย เป็นต้น และยังมีอาการท้องผูก ความดันโลหิตต่ำ ต่อมบริเวณแก้มบวม ต่อมน้ำลายบวมผิดปกติ ประจำเดือนไม่ปกติ ไตวาย การที่ล้วงคอเพื่อให้อาหาร ย้อนกลับออกมาจะได้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารเป็นของแถมกลับออกมาด้วย ของแถมชนิดนี้ร้ายกาจมาก เพราะน้ำย่อยเป็นกรด อาจจะกัดกร่อนฟัน ทำให้ฟันผุได้ 

จะรักษาบูลิเมียได้หรือไม่
ถ้าสังเกตเห็นว่า คนใกล้ชิดมีน้ำหนักน้อยผิดปกติแต่ก็ยังตั้งหน้าตั้งตาลดความอ้วน อยู่ละก็ควรแนะนำให้ไปพบแพทย์โดยด่วนเพราะนี่เป็นอาการของผู้ที่เป็นบูลิเมีย แพทย์จะรักษาด้วยวิธีต่างๆ โดยเริ่มที่การรักษาโรคแทรกซ้อนก่อนและมีการตรวจเลือด ร่วมด้วย เพื่อดูปริมาณอิเล็กโทรไลต์ในเลือด เมื่ออาการพ้นขีดอันตรายแล้ว จึงทำการรักษากับจิตแพทย์ต่อไปโดยเน้นการบำบัดพฤติกรรมการทานเพื่อให้ ผู้ป่วยมีความรู้และเข้าใจว่าพฤติกรรมการกินของตนนั้นไม่ถูกต้อง และที่ถูกต้องนั้น ควรเป็นอย่างไร อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการกินเช่นนี้ ควบคู่ไปกับ การบำบัดด้วยยาเพื่อลดอาการซึมเศร้า ยาต้านอาการซึมเศร้าที่ใช้ เช่น ฟลูออซิไทน์ (โปรแซค) อิมิพาราไมน์ (โทฟรา-นิล) และทราโซโดน (ดีไซเรล) เป็น-ต้น จะทำให้ความอยากอาหารลดลง ช่วยลดจำนวนครั้งของการล้วงคอ ยังใช้วิธีการฝึกสมาธิเพื่อให้มีสติยับยั้งความคิดขณะที่จะทาน ก็สามารถยับยั้งตัวเองไว้ได้ การรักษาแบบกลุ่มก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ดีเพราะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถ พูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติและความรู้สึกของตนเองได้อย่างเปิดเผย ลดความรู้สึกโดดเดี่ยว ที่สำคัญครอบครัวจะต้องเข้าใจในตัวผู้ป่วย พ่อแม่เองควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการส่งเสริม ให้ลูกมีพฤติกรรมการทาน ที่ถูกต้อง ทานให้ถูกสุขลักษณะ รู้จักออกกำลังกาย 

บูลิเมียนี้เป็นโรคที่เรื้อรังคือเมื่อรักษาหายแล้วก็มีโอกาสกลับมาเป็นอีกได้ แต่ก็มีประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ที่สามารถหายขาดได้ การที่กลับมาเป็นใหม่อาจเนื่องจาก ความเครียด อาการซึมเศร้า เหงา ปัญหาครอบครัว ปัญหาเรื่องการเรียน หรือ งาน การรักษาจะใช้เวลานานแค่ไหนขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค อาจใช้เวลา 3-4 เดือน จนถึงเป็นปีก็มี การป้องกันรักษาตัวจากการเป็นโรคบูลิเมีย ทำได้โดยต้องระวังตัวอย่าให้ หิวจัดเพราะเวลาหิวมากๆ จะทำให้รับประทานได้มากผิดปกติ ซึ่งเป็นนิสัยการทาน ที่ไม่ดี ต้องพยายามทานอาหารให้เหมาะสมไม่ทานอาหารฟาสต์ฟูด หรืออาหารที่มีแป้ง และน้ำตาลมากๆ หมั่นออกกำลังกายให้สม่ำเสมอแต่ไม่ควรหักโหมจนเกินไป 

จะเห็นได้ว่า จิตใจนั้นมีความสัมพันธ์ต่อร่างกายอย่างมาก สุขภาพจิตที่ดีจะ ส่งผลให้มีสุขภาพกายที่แข็งแรง นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ชีวิตมีความสุข 

โดย..นวลจิรา วโรตตมะ 


--------------------------------------------------------------------------------
จาก http://update.se-ed.com/161/bulimia.htm





SE-ED


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: http://update.se-ed.com/161/bulimia.htm

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 13

อ่าน 0 ครั้ง