[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

หน่วยวัดกับวัฒนธรรมการวัด

หน่วยวัดกับวัฒนธรรมการวัด
หน่วยวัดมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบอกความหมายในเรื่องของขนาด น้ำหนัก ระยะทาง ปริมาตร ฯลฯ สำหรับหน่วยวัดที่เป็นที่นิยมใช้กันมานานก็คือ “ระบบอังกฤษ” คือ วัดความยาวเป็นนิ้ว ฟุต หลา ไมล์ วัด น้ำหนักเป็นออนซ์ ปอนด์ วัดอุณหภูมิเป็น ฟาเรนไฮต์ อเมริกาเองก็ใช้หน่วยนี้ ไทยเราก็ติด ระบบนี้งอมแงม ต่อมาภายหลังการปฏิวัติในฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2332 นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส ได้ประชุมจัดตั้งมาตรฐานในการวัดขึ้นมาอีกระบบหนึ่ง เรียกว่า “ระบบเมตริก” คือ วัดความยาวเป็น มิลลิเมตร เมตร กิโลเมตร วัดน้ำหนักเป็นกรัม กิโลกรัม วัดอุณหภูมิเป็น เซนติเกรด (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเซลเซียส) หลายประเทศนิยมระบบนี้ เพราะเป็นระบบคูณด้วยสิบ ไทยเราก็ใช้ด้วยเช่นกัน 

จากการที่มีใช้ปนกันทั้ง 2 ระบบ ก่อให้เกิดความสับสนปวดหัวบ่อยๆ ที่ต้องคำนวณหน่วย กลับไปกลับมา หลายชาติจึงชวนกันมาประชุมกันที่ฝรั่งเศส มี 17 ชาติเข้าร่วมประชุม รวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย แต่ไม่ได้ชวนเรา เมื่อพบกันแล้วก็ถามว่าพี่จะเอายังกันแน่ มีการประชุมกันหลายปี ในที่สุด ปี พ.ศ. 2503 จึงได้กำหนดหน่วยมาตรฐานกันขึ้นมาใหม่ เรียกว่า ระบบ SI ย่อมาจากภาษาฝรั่งเศสว่า Systeme International d’ Unite’s (ภาษาอังกฤษคือ International System of Units) 

ระบบ SI วัดความยาวเป็น มิลลิเมตร เมตร กิโลเมตร วัดน้ำหนักและแรงเป็นนิวตัน มวลเป็นกรัม กิโลกรัม เป็นต้น อเมริกาเองก็เปลี่ยนมาใช้ระบบ SI กันมากแล้ว ตำราเรียน เปลี่ยนมาใช้ระบบ SI ประมาณแถวๆ ปี พ.ศ. 2515 บางเล่มเปลี่ยนก่อนหน้านั้นก็มี แต่เนื่องจากอเมริกาเป็นประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานใหญ่มาก บางจุดแก้ไม่ได้ด้วยซ้ำ โรงงานจำนวนมากยังคงใช้ระบบเดิมคือระบบอังกฤษอยู่ ตอนที่โบอิ้งเปลี่ยนจาก ระบบนิ้วเป็นมิลลิเมตรยังต้องซื้อซอฟต์แวร์เขียนแบบจากฝรั่งเศส เพราะพัฒนาเองไม่ทัน 

ยานอวกาศนาซาชนดาวอังคารเพราะความเข้าใจผิด
ประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ยานอวกาศสำรวจดาวอังคารของนาซาลำหนึ่งชื่อ Mars Climate Orbitor เกิดชนดาวอังคารเพราะความเข้าใจผิดในหน่วยวัด คือ บริษัทที่รับสร้างยานเขาใช้หน่วยอังกฤษ ส่วนนาซาใช้ระบบเมตริก เครื่องตรวจจับระยะบนยานวัดได้ 300 ฟุต แต่ที่หอบังคับการคิดว่าเป็น 300 เมตรจึงชะล่าใจปล่อยให้ยานวิ่งเข้าใส่ดาวอังคารอย่างแรง ผลทำให้ยานระเบิดทันที 

คนไทยใช้ระบบอะไร
คนไทยฉลาดกว่าใคร เพราะใช้ทั้ง 2 ระบบ ซื้อส้มเป็นกิโลกรัม ซื้อกางเกงวัดขนาดเป็นนิ้ว ไปซื้อผ้าที่สำเพ็งวัดเป็นหลาก็มีเป็นเมตรก็มี วัดขนาดตู้เย็นเป็นลูกบาศก์ฟุต บอกขนาดแอร์เป็น BTU ขายเค้กเป็นปอนด์ เติมน้ำมันเป็นลิตร นี่ยังไม่นับหน่วยวัดแบบไทยๆ เราอีก เช่น รังวัดที่ดินเป็นตารางวา ทำนาเป็นไร่ ขายข้าวเป็นเกวียน ซื้อทองเป็นบาท แต่เวลาไปจำนำ โรงจำนำให้ราคาตามน้ำหนักโดยชั่งเป็นกรัม โอ๊ย! ฟังแล้วชวนปวดสมอง ถ้าเช่นนั้นคนไทยควรใช้ระบบไหนดี 

ระบบเมตริกน่าจะเหมาะที่สุด เพราะเป็นสากล และเข้าใจง่าย วัดง่าย เครื่องมือวัดก็ทำได้ง่ายกว่า เพื่อนผมคนหนึ่งเรียนมาด้วยกันที่เทคนิคไทย-เยอรมัน เรียนมาระบบเยอรมัน เป็นมิล-ลิเมตรหมด พอไปทำงานบริษัท ซีเกท ที่ทำ Hard Disk เพื่อนผมเล่าให้ฟังว่า แรกๆ เขางงมากกว่าจะปรับตัวได้ เพราะบริษัทซีเกทใช้ระบบวัดเป็นนิ้ว เช่น เพลาขนาด 1.25 มิลลิเมตรในแบบจะบอกไว้ 0.049 นิ้ว เวอร์เนียหรือไมโครมิเตอร์อ่านค่าเป็น 1/1000 ของนิ้ว อันนี้งงมาก และเขาบอกว่าเปลี่ยนเป็น ระบบเมตริกไม่ได้ เพราะเครื่องจักรทั้งหมดผลิตมาระบบนิ้วหมด รวมทั้งซอฟต์แวร์ด้วย ถ้าขืนเปลี่ยนเมื่อไหร่หุ้นตกทันที CEO มีหวังโดนไล่ออก 

จะแก้อย่างไรสำหรับคนที่ติดระบบอังกฤษ
ต้องค่อยๆ แก้ไปทีละจุดครับ เช่น ครูยุ้ยเคยบอกเด็กนักเรียนว่า เมื่อไหร่ถั่วงอกที่ครูให้ปลูกยาว 2 นิ้ว ห้เอามาส่งครู ก็เปลี่ยนเป็น เมื่อไหร่ที่ถั่วงอกยาว 5 ซม. ให้นักเรียนนำมาส่งครู เป็นต้น คนขายตู้เย็นควรกำหนดขนาดเป็นลิตร โดยวงเล็บเอาไว้เป็นลูกบาศก์ฟุต เช่น ตู้เย็นรุ่นนี้ความจุ 210 ลิตร (7.5 คิว) เป็นต้น ใช้ไปนานๆ คนก็จะเกิดความเคยชิน อีกหน่อยอาจไม่ต้องใส่วงเล็บเป็นคิวก็ได้ 

แต่บางอย่างผมก็นึกไม่ออกว่าจะเปลี่ยนจากนิ้วเป็นเซนติเมตรได้อย่างไร เช่น ผมซื้อกางเกงขนาดเอว 32 นิ้ว ถ้าผมไปหาซื้อขนาด 81 ซม. ผมจะซื้อได้ที่ไหน ส่วนหน่วยวัด ในระบบวิศวกรรม สถาปัตยกรรมนี้แน่นอนพิสูจน์มาแล้ว และเป็นที่ยอมรับว่าระบบเมตริกดีกว่าแน่ๆ จะมีข้อยกเว้นเรื่องวัสดุบ้างก็ไม่มาก เช่น ไม้อัดมาตรฐานขนาด 4 ฟุต x 8 ฟุต ถ้าคุณผลิตมาขนาด 1.20 เมตร x 2.40 เมตร โรงงานคุณมีสิทธิ์เป็น NPL ง่ายๆ เพราะไม่มีใครซื้อเนื่องจาก ซื้อของคุณแล้ว เอาไปต่อกับของคนอื่นไม่ได้ เป็นต้น 

อีกเรื่องครับที่ผมยังคิดไม่ออก ก็โทรทัศน์ที่บ้านผมขนาด 20 นิ้ว ผมพออนุมานได้ว่ามันต่างกับ 14 นิ้วอย่างไร แต่ถ้าเขาผลิตโทรทัศน์ขนาด 50 ซม. ผมก็คงต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะปรับ กระบวนการคาดคะเนในสมองว่ามันต่างกับโทรทัศน์ขนาด 35 ซม.อย่างไร 

ว่าด้วยการคาดคะเน
ขอแถมส่งท้ายอีกหน่อยเรื่องการคาดคะเน คำนี้ผมแปลมาจาก Estimate จะใช้ประมาณการ ก็น่าจะได้นะครับแล้วแต่สะดวก การคาดคะเนหรือประมาณการนี้เป็นการคำนวณโดยใช้ระบบ ประสาทอัตโนมัติ เพื่อต้องการทราบผลทันทีพอคร่าวๆ ไม่ต้องตรงเป๊ะ ไม่ต้องใช้เครื่องคิดเลข อันนี้ต้องฝึกครับ ในอเมริกาเริ่มใช้สอนเด็กประถมแล้ว ในวิชาว่าด้วยการ Estimate ไม่ทราบว่าในบ้านเราจะสนใจในเรื่องนี้บ้างหรือเปล่า 

ที่มาของหน่วยวัดความยาว ในระบบอังกฤษและระบบเมตริก 

โดย..ไกรสีห์ เพ็ชรพรประภาส 


--------------------------------------------------------------------------------
จาก http://update.se-ed.com/164/measure.htm





SE-ED


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: http://update.se-ed.com/164/measure.htm

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 1

อ่าน 0 ครั้ง