[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ยานอวกาศ โคลัมเบีย

                                                                          โศกนาฏกรรมอวกาศก่อนถึง ''โคลัมเบีย''
 
 
 นักบินอวกาศ 7 คน รวมทั้ง นักบินอวกาศชาย ชาวอิสราเอลและ สตรีอินเดียคนแรก เสียชีวิตทั้งหมด คือนายริค ฮัสแบนด์ ผู้บัญชาการ กระสวยอวกาศ ชาวอเมริกัน วัย 45 ปี, นายวิลเลียม แม็คคูล ชาวอเมริกัน วัย 41 ปี นายไมเคิล แอนเดอร์สัน ชาวอเมริกัน วัย 43 ปี นายเดวิด บราวน์ ชาวอเมริกัน วัย 46 ปี นางลอเรล คลาร์ก ชาวอเมริกัน วัย 41 ปี นางคัลปานา เชาวลา ชาวอเมริกัน เชื้อสายอินเดีย วัย 41 ปี นาวาอากาศเอกอิลัน รามอน ชาวอิสราเอล วัย 48 ปี 

ในประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศ ของมนุษยชาติ เพื่อไขปริศนาอันดำมืด นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่เกิดอุบัติเหตุ จนคร่าชีวิตนักบินอวกาศ แต่มันเคยอุบัติขึ้นก่อนหน้านี้แล้ว 4 ครั้ง 

โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ไม่แพ้อวสานของโคลัมเบียก็คือ กระสวยอวกาศ ''ชาเลนเจอร์'' ของนาซาสหรัฐฯ ระเบิดกลางอากาศหลังทะยานขึ้นจากฐานปล่อยได้แค่ 1 นาที 13 วินาที เมื่อ 28 ม.ค. 2529 หรือเมื่อ 17 ปีกับ 4 วันก่อน นักบินอวกาศอเมริกันทั้ง 7 คน เสียชีวิต รวมทั้งนางคริสตา แม็คออ-ลิฟฟ์ ซึ่งเป็นพลเรือนและ ''ครู'' คนแรกที่ขึ้นสู่อวกาศ 

''นาซา'' สรุปสาเหตุใน 4 เดือนต่อมาว่า เป็นเพราะแผ่นผนึกจรวดขับดันด้านขวาตัวหนึ่งรั่ว และนาซาต้องระงับโครงการส่งกระสวยอวกาศไปนานถึง 2 ปีครึ่ง และน่าเศร้า! เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี่เอง นาซาเพิ่งประกาศว่าจะหาครู 3-6 คน ร่วมขึ้นสู่อวกาศอีกครั้ง แต่คงต้องระงับไปโดยปริยาย 

อุบัติเหตุอีก 3 ครั้งเกิดขึ้นเมื่อ 27 ม.ค. 2510 เกิดไฟไหม้ ''โมดุล'' หรือห้องบัญชาการระหว่างการจำลองการบินขึ้นของยาน ''อพอลโล 1'' ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี้ในรัฐฟลอริดา นักบิน 3 คนเสียชีวิต เมื่อ 24 เม.ย.ปีเดียวกัน ยานอวกาศ''โซยูซ 1'' ของอดีตสหภาพโซเวียต โหม่งโลกขณะร่อนลงจอดเพราะร่มชูชีพ ไม่ทำงานนักบิน 1 คนเสียชีวิต ถัดมา 29 มิ.ย. 2514 ลิ้นควบคุมความดันอากาศของยาน ''โซยูซ 11''ของโซเวียต รั่วก่อนร่อนลงจอด 30 นาที นักบิน 3 คนเสียชีวิต

อุบัติเหตุทั้ง 5 ครั้ง คร่าชีวิตนักบินอวกาศไปแล้วรวม 21 คน! 

สหรัฐอเมริกา มหาอำนาจด้านอวกาศหมายเลข 1 ของโลก มีกระสวยอวกาศ ที่ออกแบบให้ใช้งานได้หลายครั้งทั้งหมด 5 ลำ รวมทั้ง ''โคลัมเบีย'' และ ''ชาเลนเจอร์'' 

''โคลัมเบีย'' เป็นกระสวยอวกาศที่เก่าแก่ที่สุดและมีน้ำหนักมากที่สุด 80,100 กก. มันถูกออกแบบให้ขึ้นสู่อวกาศได้นับ 100 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ 12 เม.ย. 2524 และผ่านการยกเครื่องหรือปรับปรุงใหม่ 3 ครั้ง แต่มาพบจุดจบในครั้งที่ 28 ส่วนยาน ''ชาเลนเจอร์'' หนัก 78,800 กก. ขึ้นสู่อวกาศครั้งแรกเมื่อ 4 เม.ย. 2526 และแค่ครั้งที่ 10 ก็ถึงบทอวสานเช่นกัน 

ที่ยังเหลืออีก 3 ลำคือยาน ''ดิสคัฟเวอรี'' หนัก 76,950 กก. ขึ้นสู่อวกาศครั้งแรกเมื่อ 30 ส.ค. 2527 รวมแล้ว 30 ครั้ง ยาน ''แอตแลนตีส'' หนัก 76,950 กก. ขึ้นสู่อวกาศครั้งแรกเมื่อ 3 ต.ค. 2528 รวมแล้ว 26 ครั้ง และยาน ''เอนเดฟเวอร์'' หนัก 77,400 กก. ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาทดแทนยาน ''ชาเลน-เจอร์'' ขึ้นสู่อวกาศครั้งแรกเมื่อ 7 พ.ค. 2535 รวมแล้ว 19 ครั้ง 

นักบินอวกาศเคราะห์ร้าย 7 คน ที่ถึงจุดจบไปพร้อมกับกระสวยอวกาศโคลัมเบีย มีอยู่ 2 คนที่ถูกจับตามองมากที่สุดตั้งแต่แรกเริ่มโครงการ เพราะโดดเด่นแตกต่างจากคนอื่นๆ

นาวาอากาศเอกอิลัน รามอน วัย 48 ปี นักบินอวกาศชาวอิสราเอลคนแรก ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนถ่ายสัมภาระ เขาเป็นลูกชายของชาวยิวที่รอดชีวิตจากการ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยนาซีสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดในกรุงเทล อาวีฟเมื่อ 20 มิ.ย. 2497 จบจากโรงเรียนการบินอิสราเอล จบปริญญาตรีสาขาอิเล็กโทรนิกส์และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นนักบินขับไล่ให้ กองทัพอากาศอิสราเอล โดยครั้งแรกขับเครื่องบินรบ ''เอ-4'' จากนั้นพัฒนาไปขับเครื่องบิน ''มิราจ 3'' และ ''เอฟ-16'' และ ''แฟนธอม เอฟ-4'' มีชั่วโมงบินโชกโชนกว่า 4,000 ชม. 

รามอนรับใช้ชาติมายาวนานจนอยู่ในฐานะ ''วีรบุรุษ'' คนหนึ่ง เคยขับเครื่องบินทิ้งระเบิด ถล่มเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของอิรักที่เมืองโอซิรัก เมื่อปี 2524 ทำให้โครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิรักก้าวถอยหลังหลายปี และเคยร่วม ''ปฏิบัติการสันติภาพเพื่อกาลิลี'' เมื่ออิสราเอลบุกเลบานอนในปี 2525 

รามอนถูกนาซาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการในปี 2540 เริ่มฝึกอบรมที่ศูนย์อวกาศจอห์นสัน รัฐเท็กซัส ตั้งแต่ปี 2541 ก่อนขึ้นไปกับยานโคลัมเบียเพื่อร่วมทดลองวิทยาศาสตร์หลายรายการ รวมทั้งใช้กล้องที่ถูกออกแบบโดยสำนักงานอวกาศอิสราเอล วิเคราะห์พายุทรายในตะวันออกกลางและผลกระทบต่ออุณหภูมิโลก เขาจากไปโดยทิ้งภรรยาและลูก 4 คน ไว้เบื้องหลัง! 

อีกคนที่เป็น ''วีรสตรีในยุคใหม่'' ของชาวอินเดียก็คือ นางคัลปานา เชาวลา ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย วัย 41 ปี เธอเกิดที่เมืองคาร์นัล ห่างกรุงนิวเดลี เมืองหลวงอินเดียไปทางเหนือ 135 กม. จบการศึกษาสาขาวิศวกรรมการบินจาก มหาวิทยาลัยวิศวกรรมปัญจาบ จากนั้นย้ายมาอยู่ในสหรัฐฯ และศึกษาต่อจนจบปริญญาโท และเอกจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส และโคโลราโดในสาขาเดียวกัน ก่อนถูกคัดเลือกให้เป็นนักบินอวกาศของนาซาในปี 2537

เคยขึ้นสู่อวกาศครั้งแรกในปี 2540 แต่ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดพลาด ทำให้ดาวเทียมวิทยาศาสตร์ ดวงหนึ่งหลุดจากการควบคุม จนเพื่อนนักบินฯ ต้องออกท่องอวกาศไปกู้กลับมา 

โศกนาฏกรรมครั้งล่าสุดที่เกิดกับยาน ''โคลัมเบีย'' คงไม่ใช่ความผิดพลาดซ้ำสองของเธอ แต่เธอไม่มีโอกาสแก้ตัวอีกแล้ว!! 

 





คลิกเพื่อดูรายละเอียดที่นี่


โดย:
งาน: งานห้องสมุด
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: http://www.thairath.co.th/thairath1/2546/strange/feb/03/str1.asp

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง