[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

บอนสี

                            บอนสี  Caladium             
           บอนสี  เป็นไม้ประดับที่มีความสวยงามโดยเฉพาะใบที่มีรูปทรงและสีสันสวยงามแปลกตาจนได้ชื่อว่าเป็น ''ราชินีแห่งไม้ใบ''   เป็นพืชในวงศ์ Araceae สกุล Caladium มีถิ่นกำเนิดแถบทวีปอเมริกาใต้และประเทศในเขตร้อนทั่วไป   บอนสีเป็นไม้ประเภทล้มลุกที่มีหัวสะสมอาหารอยู่ใต้ดินคล้ายหัวเผือกหรือมัน   มีรากเป็นเส้นฝอยเล็กๆแทงออกมาระหว่างหัวกับลำต้นและพักตัวในฤดูหนาวโดยจะทิ้งใบจนหมดและเริ่มผลิใบเจริญเติบโตอีกครั้งในฤดูฝน 
          บอนสี   หรือที่เรียกกันแต่เดิมว่า ''บอนฝรั่ง'' (Caladium Becolor)   จากชื่อทำให้คาดเดาได้ว่าเป็นพืชที่ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย   จากหลักฐานพอสรุปได้ว่าบอนสีปลูกเลี้ยงกันในต่างประเทศมานานกว่า 300 ร้อยปีแล้ว   มีการสันนิษฐานว่า บอนสีบางต้นมีผู้นำเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมีการติดต่อค้าขายกับชาวจีน ชวา เปอร์เซีย และมีความสัมพันธุ์กับชาวยุโรปเป็นอย่างดี   จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์   เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเสด็จนิวัตพระนครหลังเสด็จประภาสยุโรป ราวปี พศ. 2444 ทรงนำพันธุ์ไม้หลายชนิดจากยุโรปเข้ามาปลูกในประเทศไทย   ในจำนวนพันธุ์ไม้เหล่านี้มีบอนฝรั่งหรือบอนสีรวมอยู่ด้วย   ในช่วงแรกปลูกเลี้ยงกันเฉพาะในกลุ่มของเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่   และมักปิดบังวิธีการปลูกเลี้ยงและการผสมพันธุ์บอน   จนกระทั่งความนิยมปลูกเลี้ยงบอนสีเสื่อมลง   บอนสีพันธุ์ต่างๆ จึงได้แพร่หลายสู่ประชาชนทั่วไป  ลักษณะโดยทั่วไป 
  
       การปลูกเลี้ยงบอนสีได้มีต่อเนื่องกันตลอดมาจนถึงประมาณปี พศ. 2470-2475 เป็นช่วงที่บอนสีได้รับความนิยมมากที่สุด   มีการผสมพันธุ์บอนขึ้นใหม่มากมาย   มีสีสันสวยงามแปลกตาต่างไปจากบอนสีดั้งเดิม   มีการแลกเปลี่ยซื้อขายกันอย่างแพร่หลาย   มีการตั้งชื่อแยกหมวดหมู่ตามลักษณะและสีสันของใบออกเป็นกลุ่มๆ   เรียกว่า ''ตับ''   นอกจากนี้ยังมีการจัดประกวดบอนสีที่ ''สนามบาร์ไก่ขาว''  หลังจากปี พศ. 2475 บอนสีก็ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง   จนกระทั่งราวปี พศ. 2508 มีผู้สั่งบอนใบยาวจากสหรัฐเข้ามาในประเทศไทย   ทำให้มีการผสมพันธุ์บอนสีพันธุ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก   บอนสีกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งราวปี พศ. 2522-2525  มีการจัดตั้ง สมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย   เพื่อส่งเสริม อนุรักษ์และพัฒนาการปลูกเลี้ยงบอนสีรวมถึงการรับจดทะเบียนชื่อบอนสีที่ได้รับการผสมขึ้นใหม่   และด้วยความสามารถของคนไทย ปัจจุบันการปลูกเลี้ยงบอนสีได้มีการพัฒนาวิธีการปลูกเลี้ยงและสายพันธุ์ให้มีสีสันสวยงามแปลกตาไปจากเดิมมาก   จนอาจกล่าวได้ว่าบอนสีคือบอนของคนไทย 

            ลักษณะโดยทั่วไป หัว   มีลักษณะคล้ายหัวมันฝรั่งหรือหัวเผือก มีรากฝอยขนาดเล็กแตกออกรอบๆหัว และที่ใกล้ๆ กับรากหรือระหว่างรากจะมีหน่อเล็กๆ หรือที่เรียกกันว่า เขี้ยว ซึ่งสามารถงอกออกเป็นบอนต้นใหม่ได้
กาบและก้านใบ   คือส่วนที่ต่อจากหัวบอน   กาบเป็นส่วนโคนของก้านใบ แต่ไม่กลมเหมือนก้านใบ คือมีลักษณะเป็นกาบคล้ายกาบของใบผักกาดเป็นที่พักของใบอ่อน   ส่วนก้านใบคือส่วนที่ต่อจากกาบใบขึ้นไปยังใบบอน   ที่กาบและก้านใบนี้จะมีลักษณะของสีที่แตกต่างไปจากสีของกาบและใบอย่างเห็นได้ชัด   ลักษณะของสีนี้เรียกแตกต่างกันไป ดังนี้
         สะพาน   มีลักษณะเป็นเส้นขีดเล็กๆ ยาวจากกาบไปตลอดแนวก้านใบขึ้นไปจรดคอใบ   ถ้าอยู่ด้านหน้าเรียกสะพานหน้า   ถ้าอยู่ด้านหลังเรียกสะพานหลัง 
          เสี้ยน  มีลักษณะเป็นจุด เป็นขีด หรือเส้นเล็กๆ สั้นยาวไม่เท่ากันและมีสีต่างกับก้าน กระจายอยู่รอบๆ ก้านใบ 
         สาแหรก  มีลักษณะเป็นเส้นเล็กๆ บริเวณโคนก้านใบหรือกาบใบ   วิ่งจากบริเวณโคนของกาบใบไปตามก้านใบเป็นเส้นสั้นๆ ไม่ยาวเหมือนสะพาน   อาจเป็นเส้นเดี่ยว เส้นคู่ หรือหลายเส้นก็ได้ 
         แข้ง   คือส่วนที่ยื่นออกจากก้านใบ คล้ายใบเล็กๆอยู่กึ่งกลางก้านหรือต่ำกว่าใบจริง   อาจมี 1 หรือ 2 ใบขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และมักพบในบอนสีประเภทใบกาบ
         คอใบ   คือ ช่วงปลายของก้านใบไปถึงสะดือใบ

         สะดือ   คือ ส่วนปลายสุดของก้านใบจรดกับกระดูก

          กระดูก   คือ เส้นกลางใบที่ลากจากสะดือไปจนสุดปลายใบ
  
         เส้น   คือ เส้นใบย่อยที่แยกจากกระดูกหรือเส้นกลางใบ
  
       ใบ   ของบอนสีมีขนาดและรูปแบบของใบแตกต่างกันออกไป ซึ่งสามารถแบ่งรูปแบบของใบได้ 4 ลักษณะ คื
           บอนใบไทย   เป็นบอนสีที่มีมาแต่โบราณ   มีรูปร่างคล้ายหัวใจ หูใบยาวแต่ไม่ฉีกถึงสะดือ   ก้านใบอยู่กิ่งกลางใบ   ปลายใบแหลมหรือมนขึ้นอยู่กับสายพันธุ์   บอนใบไทยมักมีใบขนาดใหญ่   สีสรรสวยงาม และใบดกไม่ทิ้งใบ 
        บอนใบกลม   เป็นบอนที่นับได้ว่าเกิดขึ้นโดยฝีมือคนไทย   เกิดขึ้นโดยการผ่าหัวขยายพันธุ์ของบอนใบไทยเมื่อนำมาปลูกเลี้ยงแล้วเกิดผิดแผกไปจากต้นเดิม คือมีลักษณะใบกลมขึ้นกลายเป็นบอนใบกลม ปลายใบมนสม่ำเสมอ และมีก้านใบอยู่บริเวณกิ่งกลางใบ 
        บอนใบกาบ   เป็นบอนที่มีก้านใบแผ่แบนตั้งแต่โคนใบจนถึงคอใบ ลักษณะคล้ายใบผักกาด 
      บอนใบยาว   ซึ่งแต่เดิมเรียกว่าบอนใบจีน   มีรูปใบเรียวหรือป้อม   หูใบสั้นกลมฉีกถึงสะดือ   ก้านใบอยู่ตรงรอยหยักบริเวณโคนใบพอดี   บอนใบยาวแบ่งได้ 3 ลักษณะ คือ
1. ใบยาวธรรมดา   เป็นบอนที่มีใบยาว ปลายเรียวแหลม หูใบยาวกลมคล้ายใบโพธิ์   บางพันธุ์มีสะโพกกว้าง 
2. ใบยาวรูปหอก   เป็นบอนที่มีใบเรียว ปลายใบเรียวแหลม หูใบสั้นหรือบางพันธุ์ไม่มีหูใบเลย 
3. ใบยาวรูปใบไผ่   เป็นบอนที่มีใบแคบเรียวยาวเป็นเส้น ปลายใบเรียวแหลม ไม่มีหูใบ   มีลักษณะคล้ายใบของต้นไผ่ 

      พื้นใบ   คือ ส่วนหน้าของใบทั้งหมด   บนพื้นใบนี้จะเห็นลักษณะของสีที่แตกต่างกันไปตามพันธุ์ของบอนสี ซึ่งเรียกต่างกันไปดังนี้
     เม็ด  คือ จุดหรือแต้มสีบนใบ   มีขนาดใหญ่เล็กแตกต่างกัน และมีสีต่างจากสีของพื้นใบ   มีลักษณะของสีและขนาดแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์   และมีลักษณะต่างๆกัน ดังนี้
- เม็ดลอย  คือ จุดหรือแต้มสีบนใบ ที่มีสีต่างกับสีพื้นใบ อย่างชัดเจน  
- เม็ดจม  คือ จุดหรือแต้มสีบนใบ ที่มีสีกลมลกืนกับสีพื้นใบ  
- เม็ดใหญ่  คือ จุดหรือแต้มสีที่มีขนาคใหญ่กระจายทั่วใบ  
- เม็ดเล็ก  คือ จุดหรือแต้มสีที่มีขนาคเล็กกระจายทั่วใบ  
- เม็ดถี่  คือ จุดหรือแต้มสีที่กระจายถี่ๆ อยู่ทั่วใบ  
- เม็ดห่าง  คือ จุดหรือแต้มสีที่กระจายห่างๆ อยู่ทั่วใบ  
      วิ่งพร่า  คือ เส้นเล็กๆ ที่มีสีต่างไปจากกระดูกหรือเส้น และวิ่งขนานไปทั้งสองข้างของกระดูกและเส้น   เช่น กระดูกเขียว เส้นเขียว และมีเส้นสีขาวขนานไปทั้งสองข้างของกระดูกและเส้น   ลักษณะนี้เรียกว่า   กระดูกเขียว เส้นเขียว วิ่งพร่าขาว 
       หนุนทราย  คือ จุดสีเม็ดเล็กๆ ละเอียดมากคล้ายเม็ดทราย กระจายทับบนสีของพื้นใบ จนมองคล้ายมีสองสี เช่น พื้นใบสีชมพู แต่จะไม่เป็นสีชมพูอย่างชัดเจน เพราะมีเม็ดสีเขียวละเอียด ๆ กระจายกระจายทั่วพื้นใบ   ลักษณะนี้เรียกว่า พื้นใบสีชมพูหนุนทรายเขียว 
       ปาย  คือ บอนที่มีบริเวณของสีอื่นที่ต่างไปจากสีของพื้นใบอย่างเห็นได้ชัดป้ายทับอยู่ เช่น บอนที่มีพื้นใบสีเขียวแล้วมีสีแดงป้ายทับ พื้นใบเขียวป้ายแดง 
       หูใบ   คือช่วงส่วนล่างของใบที่ยื่นออกจากสะดือใบแยกออกเป็นสองส่วน   สั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับพันธุ์ของบอนสี   บางพันธุ์ก็ไม่มีหูใบเลย
       หูใต้ใบ  คือส่วนที่เป็นติ่งเล็กๆ ยื่นออกมาจากใต้ใบบริเวณกระดูกหรือเส้นกลางใบ   พบเห็นได้เฉพาะบอนสีบางพันธุ์เท่านั้น
      สะโพก  คือส่วนด้านข้างของใบทั้งสองข้าง   อยู่บริเวณเหนือหูใบหรือแนวตรงกับสะดือใบ   มีลักษณะเว้าคอดลง จะเห็นได้ชัดเจนในบอนใบไทย
 
       การปลูกเลี้ยงและดูแลรักษา ดิน   ควรเป็นดินที่มีความร่วนซุย   ระบายน้ำและอากาศได้ดี   มีอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารสูง   มีส่วนผสมของขุยไผ่ ใบทองหลาง ใบมะขาม หรือใบก้ามปูที่ผุแล้ว
น้ำ   บอนสีเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก   จึงควรให้น้ำสม่ำเสมอ   ถ้าต้นบอนขาดน้ำจะชะงักการเจริญเติบโต   ไม่สดใส  การรดน้ำควรรดวันละ 2 ครั้งตอนเช้าและตอนเย็น   ไม่ควรใช้สายยางฉีดน้ำที่โคนต้นเพราะจะทำให้กระทบกระเทือนอาจทำให้ต้นและใบของบอนสีฉีกขาดและหักได้   ถ้าปลูกในกระถางควรมีจานรองกระถางใส่น้ำไว้เสมอ

     แสงแดด   สีผลต่อสีสันและลวดลายของใบบอนมาก   ถ้าบอนสีได้รับแสงแดดน้อยเกินไปจะทำให้ใบบอนมีสีซีดไม่สวยงาม   ถ้าได้รับแสงแดดมากจะทำให้ใบมีสีสด เข้ม และลวดลายลวยงาม   แต่ถ้าได้รับแสงแดดจัดเกินไปอาจทำให้ใบห่อเหี่ยวและเป็นรอยไหม้ได้   ดังนั้นแสงแดดที่เหมาะสมในการเลี้ยงบอนคือแสงแดดรำไรในตอนเช้าหรือช่วงบ่ายที่ไม่ร้อนจัด   หรืออาจใช้ที่พรางแสง 50-70% ช่วยก็ได้

     ความชื้นในอากาศ   บอนเป็นพืชที่ต้องการความชื้นในอากาศสูง   ในฤดูหนาวและฤดูร้อนความชื้นในอากาศต่ำหัวบอนจะพักตัวและทิ้งใบหมด   เมื่อถึงฤดูฝนความชื้นในอากาศสูงบอนจึงจะเริ่มผลิใบเติบโตอีกครั้ง   เพื่อป้องกันการพักตัวของบอนในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อนจึงมีการปลูกเลี้ยงบอนในตู้หรือในกระโจม

      การให้ปุ๋ย   ปุ๋ยอินทรีย์ควรใช้ปุ๋ยคอกมูลหมูและมูลไก่   ส่วนมูลวัวเมื่อใช้ไปนานๆ จะทำให้ดินเละทำให้หัวเน่าได้ง่าย   ปุ๋ยเคมีใช้สูตรเสมอ เช่น 16-16-16 ในอัตราต่ำๆ จะช่วยให้ใบดกและสีสันสวย   ถ้าใส่มากจะทำให้ชั้นใบห่างเกินไป   ไม่ควรใช้ปุ๋ยละลายน้ำที่ให้ทางใบเพราะอาจทำให้ใบเป็นรอยไหม้ได้   เนื่องจากผิวใบของบอนสีบอบบาง
         การขยายพันธุ์ การแยกหน่อ   เป็นวิธีการขยายพันธุ์บอนที่ไม่ยุ่งยากและบอนต้นใหม่ที่ได้จะเหมือนต้นเดิมทุกประการคือไม่มีการกลายพันธุ์ไปจากเดิม   การแยกหน่อควรทำในฤดูฝนเพราะเป็นช่วงที่พ้นระยะพัก   บอนต้นใหม่ที่แยกจะเติบโตและแข็งแรงได้เร็ว   การแยกหน่อมีวิธีปฏิบัติดังนี้
เลือกต้นบอนที่สมบูรณ์และมีหน่อแตกใหม่   ซึ่งโดยทั่วไปแล้วบอนที่มีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไปจะเริ่มแตกหน่อและผลิใบใหม่   สามารถแยกหน่อไปปลูกใหม่ได้ 
นำต้นบอนมาล้างหัวให้สะอาด อย่าให้ผิวถลอกหรือช้ำเพราะจะทำให้หัวเน่าได้ง่าย 
ใช้มีดที่คมและสะอาดเฉือนหน่อใหม่ที่ต้องการแยกออกจากหัวเดิม   ทาปูนแดงตรงรอยผ่า   ผึ่งให้แห้ง 
นำหน่อที่แยกออกมาปลูกลงในกระถางขนาดเล็ก   รดน้ำให้ชุ่ม   วางไว้ในที่มีแสงรำไร   ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ใบใหม่จึงจะเริ่มผลิออกมา 
       การผ่าหัวบอน   คือการนำหัวบอนมาผ่าแบ่งเป็นชิ้นๆ แล้วนำมาชำในวัสดุชำให้เกิดเป็นต้นใหม่   การผ่าบอนเป็นวิธีที่นิยมทำกันมากเพราะสามารถขยายพันธุ์ได้ต้นบอนจำนวนมากในเวลาอันสั้น   แต่การผ่าบอนมักทำให้เกิดการกลายพันธุ์ไปจากต้นเดิม เรียกว่า ''บอนแผลง''   การผ่าบอนควรทำในฤดูฝนเพราะเป็นช่วงที่พ้นระยะพักตัวของบอนไปแล้วและอากาศมีความชื้นสูง ทำให้ต้นใหม่ที่ได้ผลิใบได็เร็วกว่าฤดูอื่น   การผ่าบอนมีวิธีปฏิบัติดังนี้
        1.  เลือกบอนที่มีอายุไม่แก่หรืออ่อนเกินไป   ควรมีอายุประมาณ 6-12 เดือน   เพราะถ้าหัวบอนแก่เกินไปชิ้นบอนจะเน่าง่าย ถ้าอ่อนเกินไปต้นใหม่ที่ได้จะไม่แข็งแรง 
         2. งดให้น้ำประมาณ 2 สัปดาห์   เพื่อให้บอนสร้างหัวและเขี้ยว 
         3.  นำหัวบอนมาล้างให้สะอาด พร้อมทั้งตัดรากออกให้หมด   ใช้แปรงเล็กๆ ขัดดินออกให้หมด ระวังอย่าให้เขี้ยวหัก   แล้วผึ่งลมให้แห้ง 
การผ่าหัวบอนทำได้สองวิธ๊คือ
        1. แบบไม่ล้มต้น   คือการนำหัวบอนมาตัดเฉพาะบริเวณที่มีเขี้ยวติดอยู่และเหลือหัวเดิมไว้ปลูกต่อได้   วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมมากเพราะสามารถเก็บต้นพันธุ์ไว้ได้   การผ่าให้ใช้มีดที่คมและสะอาดกรีดหัวบริเวณที่มีเขี้ยวติดอยู่กว้างยาวประมาณ 1 ซม. หนาประมาณ 0.5 ซม.   นำชิ้นบอนมาล้างให้สะอาดเพื่อนำไปชำต่อไป   สำหรับหัวบอนที่เหลืออยู่ติดกับต้นให้ทาบริเวณรอยผ่าด้วยปูนแดง   ทิ้งไว้ให้แห้งแล้วนำไปปลูกลงกระถางต่อไป 
        2. แบบล้มต้น   คือการนำหัวบอนมาตัดลำต้นและใบออกให้หมดลแล้วนำหัวบอนมาผ่า   วิธีนี้จะไม่เหลือต้นพันธุ์ไว้แต่จะได้ชิ้นบอนสำหรับชำมากกว่า   การผ่าให้ใช้มีดที่คมและสะอาดตัดใบออกโดยไม่ให้แกนกลางของหัวที่เรียกว่า ''จอม'' หัก   ผ่าหัวส่วนบนในแนวนอน ให้มีเนื้อหนาประมาณ 0.5 ซม.   แล้วแบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาดประมาณ 0.5 ซม.โดยให้แต่ละชิ้นมีเนื้อแกนกลางของหัวติดอยู่ในลักษณะเดียวกับการตัดแบ่งขนมเค้ก   สำหรับหัวบอนส่วนล่างที่เหลือให้นำมาผ่าแบ่งบริเวณที่มีเขี้ยวติดอยู่เช่นเดียวกับการผ่าแบบไม่ล้มต้น นำชิ้นบอนมาล้างให้สะอาดเพื่อนำไปชำต่อไป     
         นำชิ้นบอนที่ได้จากการผ่ามาล้างในน้ำสะอาด หรือน้ำที่ผสมยาป้องกันเชื้อรา ประมาณ 5 นาที เพื่อล้างยางออกให้หมด   ผึ่งให้แห้งพอหมาด 
นำชิ้นบอนที่ล้างสะอาดแล้วไปชำในภาชนะที่มีวัสดุชำซึ่งอาจใช้ ทราย อิฐมอญทุบละเอียด หรือขี้เถ้าแกลบ อย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นวัสดุชำ   วางชิ้นบอนลงบนวัสดุชำให้ห่างกันพอสมควร   จะวางคว่ำหรือหงายก็ได้   กดชิ้นบอนให้จมวัสดุชำเล็กน้อย   รดน้ำหรือน้ำผสมยาป้องกันเชื้อราให้ชุ่ม 
ปิดภาชนะด้วยพลาสติกใสหรือกระจกใส นำไปไว้ในที่ร่มแสงส่องไม่ถึง   ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ชิ้นบอนจะเริ่มแตกหน่อและราก   และอีกประมาณ 2 เดือน ชิ้นบอนจะผลิใบ 1-2 ใบ   จึงย้ายลงปลูกในกระถางต่อไป 

         การเพาะเมล็ด   คือการนำเมล็ดที่ได้จากการผสมเกสรมาเพาะให้เกิดต้นใหม่   วิธีนี้นิยมปฏิบัติเมื่อต้องการบอนลูกผสมที่มีลักษณะแตกต่างจากต้นพ่อและต้นแม่   ซึ่งอาจดีกว่าหรือด้อยกว่าต้นพ่อต้นแม่ก็ได้   วิธีการเพาะเมล็ดมีดังนี้
นำเมล็ดแก่มาผึ่งลมให้แห้ง ประมาณ 2-3 ชม.   ไม่ควรตากแดดหรือล้างน้ำเพราะเมล็ดอาตายได้ 
เมื่อเมล็ดแห้งแล้วอาจนำไปเพาะทันทีหรือภายใน 7 วัน โดยการใส่ขวดเก็บไว้ในตู้เย็น 
นำเมล็ดมาโรยบนวัสดุที่ใช้ในการเพาะ   ซึ่งอาจใช้ทรายผสมขี้เถ้าแกลบหรือดินร่วนผสมใบไม้ผุในอัตราส่วนที่เท่าๆ กัน 
รดน้ำที่ผสมด้วยยาป้องกันเชื้อราแล้วนำไปตั้งไว้ในที่ร่ม   รักษาระดับความชื้นไว้อย่าให้แห้วหรือแฉะเกินไป   ประมาณ 15 วัน เมล็ดจะเริ่มงอกใบเลี้ยง 
เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 2 เดือน จึงย้ายลงปลูกในกระถางเพื่อคัดเลือกพันธุ์ต่อไป 
 
        การผสมพันธุ์ 
               ดอกของบอนสีเป็นดอกสมบูรณ์เพศมีเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน   ประกอบด้วยช่อดอกหรือปลีมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก   และกาบหุ้มดอกหรือกาบหุ้มปลีสีเขียวอ่อนหุ้มช่อดอกไว้ภายใน   ระหว่างความยาวของกาบหุ้มปลีดอกบริเวณส่วนกลางจะคอดลงคล้ายแบ่งออกเป็นสองส่วน   ส่วนบนเป็นที่อยู่ของเกสรตัวผู้   ส่วนล่างเป็นที่อยู่ของเกสรตัวเมีย   หลังจากออกดอกแล้วประมาณ 1 เดือน   เกสรตัวเมียจะบานก่อนในคืนแรกประมาณ 19.00-20.00 น. และมีกลิ่นหอม   เกสรตัวผู้จะบานในคืนถัดไปเวลาประมาณ 19.00-21.00 น. มีกลิ่นหอมเหมือนคืนแรก   กาบหุ้มดอกจะบานออกเห็นเกสรตัวผู้เป็นผงสีเหลืองอ่อนอยู่ตอนบนของปลีดอก   เมื่อเกสรตัวผู้ของบอนต้นที่คัดเลือกไว้เป็นพ่อพันธุ์บานให้ใช้พู่กันขนาดเล็กที่สะอาดป้ายเกสรตัวผู้ใส่ภาชนะทึบแสงที่แห้งและสะอาด ปิดฝาให้สนิทเก็บไว้ในที่ชื้นหรือในตู้เย็น   เกสรตัวผู้สามารถเก็บไว้ได้ 10-15 วัน   เมื่อดอกของบอนต้นที่คัดเลือกไว้สำหรับเป็นแม่พันธุ์บานและมีกลิ่นหอมพร้อมที่จะผสมพันธุ์   ให้ใช้มีดคมปลายแหลมที่สะอาดปาดที่กลีบหุ้มเกสรตัวเมีย ให้เป็นช่องใหญ่พอที่จะใช้พู่กันขนาดเล็กสอดเข้าไปได้   ใช้พู่กันขนาดเล็กและสะอาดแตะเอาเกสรตัวผู้ในภาชนะที่เก็บไว้สอดเข้าไปในรังไข่หรือกระเปาะเกสรตัวเมียแล้วป้ายเกสรตัวเมีย   เพื่อให้มีการผสมเกสร   หลังจากที่ทำการผสมเกสรแล้วให้ใช้ถุงพลาสติกที่มีขนาดโตกว่าดอกบอน   เจาะรูระบายอากาศเล็กๆ 2-3 รู คลุมดอกบอนไว้    มัดปากถุงพอแน่น   เพื่อป้องกันน้ำและแมลงเข้าไปรบกวนดอกบอน   ประมาณ 7 วันถ้าดอกเหี่ยวแสดงว่าการผสมไม่ได้ผล   หากผสมติดดอกบอนจะใหญ่ขึ้นกว่าปกติ   ปลีเกสรตัวผู้จะแห้ง   บริเวณรังไข่จะมีผลบอนลักษณะคล้ายเมล็ดข้าวโพดสีดำเล็กๆ เกาะอยู่โดยรอบคล้ายฝักข้าวโพด   แต่ละฝักจะมีผลอยู่ประมาณ 100 ผล   และในแต่ละผลจะมีเมล็ดประมาณ 1-5 เมล็ด  ประมาณ 30 วันหลังจากผสมเกสรผลจะร่วง   ให้นำผลมาบี้กับกระดาษหรือจานเพื่อให้เมล็ดที่อยู่ภายในกระจายออก   นำเมล็ดที่ได้ไปเพาะเมล็ดต่อไป 





 
 
 





คลิกดูเพิ่ม


โดย:
งาน: งานห้องสมุด
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: http://www.panmai.com/Caladium/Caladium.htm

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 2

อ่าน 0 ครั้ง