[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ดินป่าของประเทศไทย


 
            ปัจจัยที่ควบคุมชนิดของป่า ได้แก่ สภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะปริมาณและการแพร่กระจายของฝน ชนิดของดิน และความสูงจากระดับน้ำทะเล ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดชนิดของป่าที่แตกต่างกัน ในทำนองเดียวกัน ปัจจัยที่ควบคุมการเกิดและพัฒนาการของดินประกอบด้วย สภาพภูมิอากาศ สภาพภูมิ-ประเทศ ปัจจัยทางชีวภาพ วัตถุต้นกำเนิดดินและเวลา ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดดินที่มีลักษณะเด่นเฉพาะตัว เมื่อปัจจัยเหล่านี้เปลี่ยนไปดินก็จะมีลักษณะและสมบัติเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย 
  
ป่าไม้ในประเทศไทย แบ่งได้ 2 ประเภท (อุทิศ, 2541) คือ  
1. ป่าดงดิบหรือป่าไม่ผลัดใบ (Evergreen forest) ได้แก่ 
ป่าดงดิบชื้น (Tropical rain forest) 
ป่าดงดิบแล้ง (Dry evergreen forest) 
ป่าดงดิบเขา (Hill evergreen forest) 
ป่าสนเขา (Coniferous forest) 
ป่าโกงกาง (Mangrove forest) 
ป่าพรุน้ำจืด (Swamp forest) 
ป่าชายหาด (Beach forest) 
2. ป่าผลัดใบ (Deciduous forest) ได้แก่

ป่าเบญจพรรณ (Mixed deciduous forest) 
ป่าเต็งรัง (Deciduous dipterocarp forest) 
ป่าทุ่ง (Savanna) 
ทุ่งหญ้าเขตร้อน (Tropical grassland) 
 
  
            พืชพรรณธรรมชาติเหล่านี้ เป็นปัจจัยวินิจฉัยค่อนข้างดี ถึงลักษณะของดินหรือชนิดของดินที่พบซึ่งมีตั้งแต่ดินที่มีพัฒนาการน้อยไปจนถึงพัฒนาการสูง และมีลักษณะเด่นแตกต่างกันออกไป (เอิบ, 2533) สำหรับลักษณะและสมบัติของดินป่าไม้ในประเทศไทย แยกตามชนิดป่าได้ ดังนี้ 
  
ดินป่าดงดิบชื้น 
            ในบริเวณลุ่มน้ำทดลองของสถานีวิจัยลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จ.สงขลา ซึ่งมีภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,307.46 มิลลิเมตร มีจำนวนวันที่ฝนตกเฉลี่ย 150 วัน อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 31.17 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22.20 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 93.16 เปอร์เซ็นต์ ความเร็วลมเฉลี่ย 1.16 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ค่าการระเหยน้ำเฉลี่ย 1,373.03 มิลลิเมตรต่อปี ภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาสูง เนินเขา หุบเขา และที่ราบหุบเขา มีความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 200-800 เมตร 
            ที่ความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 400 เมตร สภาพพื้นที่เป็นเนินเขา (hill) พัฒนาการของหน้าตัดดินเป็น A-Bt1-Bt2-Btc1-Btc2 วัตถุต้นกำเนิดดินเป็นวัตถุตกค้าง (residuum) ของหินแกรนิต ดินมีการระบายน้ำดี การซาบซึมน้ำของดินดี การไหลบ่าของน้ำเร็ว 
            ดินบนลึก 15 เซนติเมตร สีเป็นสีผสมระหว่างสีน้ำตาลกับสีเหลืองปนน้ำตาล เนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย มีโครงสร้างดินเป็นแบบก้อนค่อนข้างเหลี่ยม (subangular blocky) 
            ดินล่างลึก 15-65+ เซนติเมตร สีดินเป็นสีผสมของสีเหลืองมะกอก (olive yellow) กับสีเหลืองปนน้ำตาล สีผสมระหว่างสีน้ำตาลปนเหลืองกับสีแดงปนเหลือง (yellowish red) และสีเหลืองมะกอกถึงสีผสมของสีน้ำตาลปนเหลืองกับสีน้ำตาลปนเหลืองอ่อน เนื้อดินเป็นดินร่วนเหนียวปนทรายในตอนบน ส่วนในตอนล่างเป็นดินร่วนเหนียวปนทรายปนกรวด มีโครงสร้างดินแบบก้อนค่อนข้างเหลี่ยมในตอนบน ส่วนในตอนล่างเป็นก้อนค่อนข้างเหลี่ยม และแบบก้อนเหลี่ยม (angular blocky) 
            สมบัติทางกายภาพ ดินบริเวณที่ทำการศึกษาจัดอยู่ในกลุ่มเนื้อดินหยาบปานกลางในดินบน ส่วนในดินล่างอยู่ในกลุ่มเนื้อละเอียดปานกลาง ความหนาแน่นรวมมีค่าอยู่ในช่วง 1.25-1.45 Mg m-3 ความหนาแน่นอนุภาคมีค่า 2.58-2.61 Mg m-3 ความพรุนรวมของดินมีค่าอยู่ในช่วง 44.23-51.55 % โดยความหนาแน่นรวม ความหนาแน่นอนุภาค มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความลึก ส่วนความพรุนรวมมีแนวโน้มลดลงตามความลึก เนื่องจากดินบนมีปริมาณอินทรียวัตถุสูงกว่าดินล่าง และในดินล่างมีการอัดกันแน่นขึ้น ความโปร่งและช่องว่างลดลง สำหรับความจุอุ้มน้ำของดิน (water holding capacity) มีค่าอยู่ในช่วง 34.39-34.77 % 
            ในส่วนของสมบัติทางเคมี ดินบนมีอินทรียวัตถุค่อนข้างสูง (3.09 %) และมีแนวโน้มลดลงตามความลึก โดยในดินล่างมีค่าค่อนข้างต่ำถึงปานกลาง (1.31-2.01 %) เนื่องจากได้รับเพิ่มเติมจากซากพืชที่ร่วงหล่นและเนื่องจาก กระบวนการสลายตัวผุพังของซากพืชที่ร่วงหล่นนี้ทำให้เกิดกรดอินทรีย์ต่าง ๆ ประกอบกับอิทธิพลของการชะล้างทำให้สูญเสียประจุบวกที่เป็นด่างออกไปจากหน้าตัดดิน จึงทำให้ปฏิกิริยาดินมีค่าเป็นกรดจัดมาก (pH 3.85-3.98) ฟอสฟอรัสมีค่าอยู่ในช่วงต่ำถึงค่อนข้างต่ำ (3.56-8.33 mg kg-1) เนื่องจากอิทธิพลของวัตถุต้นกำเนิด และความเป็นกรดของดิน ฟอสฟอรัสจึงอยู่ในรูป 
ที่เป็นประโยชน์ได้ยาก ส่วนโพแทสเซียมมีค่าปานกลาง (61-83.67 mg kg-1) และมีแนวโน้มลดลงตามความลึกสำหรับแคลเซียมและแมกนีเซียมมีค่าอยู่ในช่วง 40.8-73.01 
ppm และ 53.89-92.98 ppm ตามลำดับ และมีแนวโน้มลดลงตามความลึก เนื่องจากมีการหมุนเวียนกลับของธาตุอาหาร (สุวัฒน์ และคณะ, 2540) 
            ที่ความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 500 เมตร สภาพพื้นที่เป็นเนินเขา (hill) พัฒนาการของหน้าตัดดินเป็น A-Bt-Btc-C วัตถุต้นกำเนิดดินเป็นวัตถุตกค้าง และเศษหินเชิงเขา 
(colluvium) ของหินแกรนิต ดินมีการระบายน้ำดี การซาบซึมน้ำของดินดี การไหลบ่าของน้ำเร็ว 
            ดินบนลึก 18 เซนติเมตร สีน้ำตาลเข้ม (dark brown) ถึงสีผสมของสีน้ำตาลมะกอกอ่อน (light olive brown) กับสีน้ำตาลปนเหลือง เนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย มีโครงสร้างดินเป็นแบบก้อนค่อนข้างเหลี่ยม 
            ดินล่างลึก 18-68 เซนติเมตร สีดินเป็นสีน้ำตาลปนเหลืองถึงสีผสมของสีน้ำตาลกับสีน้ำตาลปนเหลือง เนื้อดินเป็นดินร่วนเหนียวปนทรายในตอนบน ส่วนในตอนล่างเป็น 
ดินร่วนเหนียวปนทรายปนกรวด โดยชิ้นส่วนหยาบที่พบเป็นเศษหินแกรนิตปริมาณมากกว่า 40 % โดยปริมาตร มีโครงสร้างดินแบบก้อนค่อนข้างเหลี่ยมในตอนบน และเป็นแบบก้อนค่อนข้างเหลี่ยมและแบบก้อนเหลี่ยมในตอนล่างชั้นวัตถุต้นกำเนิดดินลึก 68+ เซนติเมตร มีลักษณะของหินแกรนิตที่กำลังสลายตัว ซึ่งยังคงสภาพดั้งเดิมอยู่ 
            สมบัติทางกายภาพ เป็นดินในกลุ่มเนื้อหยาบปานกลางในดินบน ส่วนในดินล่างอยู่ในกลุ่มเนื้อละเอียดปานกลาง ความหนาแน่นรวมมีค่าอยู่ในช่วง 1.32-1.36 Mg m-3 ความหนาแน่นอนุภาคมีค่า 2.55-2.6 Mg m-3 ความพรุนรวมของดินมีค่าอยู่ในช่วง 46.67-48.84 และความจุอุ้มน้ำของดิน มีค่าอยู่ในช่วง 32.84-35.18 % 
            ในส่วนของสมบัติทางเคมี ดินมีค่าปฏิกิริยาเป็นกรดจัดมาก (pH 3.8-4.13) ดินบนมีอินทรียวัตถุสูง (3.81 %) และมีแนวโน้มลดลงตามความลึก โดยในดินล่างมีค่าปานกลางถึงค่อนข้างสูง (1.97-2.57 %) ฟอสฟอรัสมีค่าอยู่ในช่วงต่ำถึงค่อนข้างต่ำ (3.6-8.9 mg kg-1) โพแทสเซียมมีค่าปานกลาง (74.7-86.5 mg kg-1) ส่วนแคลเซียมและแมกนีเซียมมีค่าอยู่ช่วง 52.07-64.85 ppm และ 69.59-98.44 ppm ตามลำดับ (สุวัฒน์ และคณะ, 2540) 
            สำหรับบริเวณสถานีวิจัยลุ่มน้ำขุนคอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีลักษณะอากาศแบบร้อนชื้น ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 6.84 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย25 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนตลอดปี 1,999.7 มิลลิเมตร จำนวนวันที่ฝนตกตลอดปี 106 วัน การระเหยน้ำตลอดปี 1,264.02 มิลลิเมตร ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 86.30 % ความเร็วลมเฉลี่ย 41.1 กิโลเมตรต่อวัน วัตถุต้นกำเนิดดินเป็นหินดินดาน หินชนวน หินแกรนิต และหินไดโอไรท์ มีเนื้อดินเป็นดินร่วน ความหนาแน่นรวมของดินมีค่าต่ำทั้งในดินบนและดินล่าง โดยในดินบนมีค่า 0.86 Mg m-3 ส่วนในดินล่างมีค่า 0.96 Mg m-3 ความหนาแน่นอนุภาคอยู่ในช่วง 2.50-2.54 Mg m-3 ความพรุนรวมอยู่ในช่วง 62.01-65.56 % และความจุอุ้มน้ำของดินอยู่ในช่วง 49.26-51.68 % 
            สำหรับสมบัติทางเคมีของดิน ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัด (pH 4.55-4.73) ปริมาณอินทรียวัตถุอยู่ในระดับสูงถึงสูงมาก (3.81-6.04 %) ปริมาณฟอสฟอรัสในดินมีค่าค่อนข้างต่ำถึงค่อนข้างสูง (6.89-16.94 ppm) สำหรับโพแทสเซียมมีค่าอยู่ในระดับสูงมาก (201-270 ppm) ส่วนแคลเซียมจัดอยู่ในระดับต่ำ (543-630 ppm) และแมกนีเซียมมีค่าอยู่ในระดับปานกลาง (218-304 ppm)  (พิณทิพย์ และคณะ, 2541) 
  
ดินป่าดงดิบแล้ง 
            บริเวณลุ่มน้ำทดลองของสถานีวิจัยลุ่มน้ำห้วยหินดาดจ.ระยอง ซึ่งมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มีปริมาณน้ำฝนรายปีเฉลี่ย 1,615.2 มิลลิเมตร อุณหภูมิสูงสุด 36.6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19.4 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 84 % การระเหยน้ำประมาณ 1,076.5 มิลลิเมตร พื้นที่เป็นภูเขาสูงชัน มีวัตถุต้นกำเนิดดินหลายชนิดด้วยกัน อาทิเช่น แกรนิต ควอร์ตไซต์ ไนส์ และชีสท์ ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การปกคลุมของป่าดิบแล้งที่ผ่านการทำไม้และถูกทำลายโดยไฟป่า ในอดีตที่ผ่านมา โครงสร้างของป่าประกอบไปด้วยไม้ 3 ชั้นเรือนยอด โดยมีชนิดของพันธุ์ไม้เด่น ได้แก่ ไทร (Ficus annulata) ขะเหย้า (Xerospermum intermedium) และขนุนป่า (Arthocarpus lauceifolius) จากการอยู่ใกล้ทะเล มีผลทำให้ปริมาณโซเดียมในน้ำฝนสูง ประกอบกับระบบรากที่ลึกและหนาแน่นบนดินที่เต็มไปด้วยหินกระบวนการชะล้างธาตุอาหารเกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรงในสภาพป่าธรรมชาติ ทำให้อินทรียวัตถุและธาตุอาหารต่าง ๆ ตลอดจนค่า pH และความจุในการแลกเปลี่ยนประจุบวกของดินมีค่าต่ำ เมื่อเทียบกับป่าชนิดเดียวกันในท้องที่อื่น กล่าวคือ pH ของดินผิว หรือ ดินที่มีความลึก 0-30 ซม จากผิวดิน มีค่าเป็น 4.9 ในขณะที่ปริมาณอินทรียวัตถุมีเพียง 2.96 % และปริมาณฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียม มีค่าเท่ากับ 8.0, 82.3, 204 และ 81.33 ppm ตามลำดับ ส่วนค่าความจุในการแลกเปลี่ยนประจุบวกจะมีค่าต่ำเช่นกัน คือ 2.4 meq/100 gm (พงษ์ศักดิ์, 2542) 
            ส่วนดินป่าดิบแล้งในบริเวณลุ่มน้ำทดลองของสถานีวิจัยลุ่มน้ำป่าสัก จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณน้ำฝนรายปีเฉลี่ย 1344.3 มิลลิเมตร อุณหภูมิสูงสุด 30.53 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19.59 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 89.33 % การระเหยน้ำประมาณ 1594.41 มิลลิเมตร ความเร็วลมเฉลี่ย 49.6 กิโลเมตรต่อเดือน มีวัตถุต้นกำเนิดดินเป็นหินตะกอนภูเขาไฟ (pyroclastic rock) พบว่าเนื้อดินบนเป็นดินร่วนจัดอยู่ในกลุ่มเนื้อปานกลาง ส่วนในดินล่างเป็นดินร่วนเหนียวจัดอยู่ในกลุ่มดินเนื้อละเอียดปานกลาง ความหนาแน่นรวมของดินบนมีค่า 0.90 Mg m-1 ส่วนในดินล่างมีค่า 1.22-1.33 Mg m-1 ความหนาแน่นอนุภาคมีค่าอยู่ในช่วง 2.59-2.69 Mg m-1 ความพรุนของดินมีค่าอยู่ในช่วง 50.74-65.17 % และมีแนวโน้มลดลงตามความลึก สำหรับค่าสัมประสิทธิ์การนำน้ำของดินมีค่าอยู่ในช่วงเร็วปานกลางถึงเร็ว โดยในดินบนมีค่า 16.76 cm hr-1 และในดินล่างมีค่า 10.00 cm hr-1 (บุญมา และคณะ, 2541) และอัตราการซึมน้ำผ่านผิวดินมีค่าอัตราการซึมน้ำสูงสุด 313.27 เซนติเมตรต่อชั่วโมง และอัตราการซึมน้ำคงที่ 22.08 เซนติเมตร (สมชาย และชลดา, 2542) 
            ในส่วนของสมบัติทางเคมี ปฏิกิริยาดินมีค่าอยู่ในช่วงเป็นกรดเล็กน้อยถึงเป็นกลาง (pH 6.3-6.8) ปริมาณอินทรียวัตถุในดินบนมีค่าสูงมาก (7.2 %) ส่วนในดินล่างอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง (1.0-2.3 %) แนวโน้มของปริมาณอินทรียวัตถุจะมีลักษณะลดลงตามความลึก ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์มีค่าอยู่ในระดับต่ำถึงสูง (4-40 mg kg-1) ปริมาณโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์มีค่าผันแปรตั้งแต่ต่ำถึงสูงมาก (35.0-179.0 mg kg-1) ปริมาณแคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้มีค่าปานกลางถึงสูง (8.22-13.89 cmol kg-1) ส่วนปริมาณแมกนีเซียมที่แลกเปลี่ยนได้มีค่าอยู่ในระดับสูง โดยมีค่าอยู่ในช่วง 3.07-4.05 cmol kg-1 สำหรับปริมาณความจุในการแลกเปลี่ยนประจุบวกของดินบนมีค่าอยู่ในระดับค่อนข้างสูง (16.3 cmol kg-1) (สมชาย และคณะ, 2542) 
            สำหรับในบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร ซึ่งมีภูมิอากาศแบบ tropical savanna ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,490.7 มิลลิเมตร จำนวนวันที่ฝนตก 119.7 วัน อุณหภูมิสูงสุด 28.59 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20.79 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 70.61 % วัตถุต้นกำเนิดดินเป็นหินทราย หินดินดาน และหินปูน มีเนื้อดินเป็นดินร่วนปนทรายในดินบน และดินร่วนเหนียวปนทรายถึงดินร่วนเหนียวในดินล่าง ความหนาแน่นรวมของดินมีค่าค่อนข้างต่ำในดินบน (1.27 Mg m-3) และดินล่างมีค่าปานกลาง (1.42-1.46 Mg m-3)ความจุอุ้มน้ำของดินอยู่ในช่วง 30.60-36.15 % ในส่วนของสมบัติทางเคมีของดิน ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดถึงกรดแก่ (pH 4.5-5.4) ปริมาณอินทรียวัตถุอยู่ในระดับปานกลางในดินบน (2.00 %) ส่วนในดินล่างมีค่าต่ำมากถึงต่ำ (0.45-0.53 %) ปริมาณฟอสฟอรัสในดินจัดอยู่ในระดับต่ำมากถึงต่ำ (1.0-3.3 ppm) สำหรับโพแทสเซียมมีค่าอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง (53.5-90.3 ppm) ส่วนแคลเซียมจัดอยู่ในระดับต่ำมากถึงต่ำ (101-540 ppm) และแมกนีเซียมมีค่าต่ำ (72.3-91.0 ppm) (กิตติพงษ์ และคณะ, 2531) 
  
ดินป่าดงดิบเขา 
            ในบริเวณลุ่มน้ำทดลองของสถานีวิจัยลุ่มน้ำวัง จ.เชียงราย ซึ่งมีความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 630-1,244 เมตร มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,562.2 มิลลิเมตร มีจำนวนวันที่ฝนตกเฉลี่ย 117.7 วัน อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 27.1 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 17.5 องศาเซลเซียส มีความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 73.30 % ความเร็วลมเฉลี่ย 1.98 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ค่าการระเหยน้ำเฉลี่ย 1,106.29 มิลลิเมตรต่อปี 
            ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,200 เมตร สภาพพื้นที่เป็นเนินเขา วัตถุต้นกำเนิดดินเป็นหินแกรนิต พัฒนาการหน้าตัดของดินเป็น Ah-Bw-Cwbw-R 
            ดินบนลึก 7 เซนติเมตร สีดำ (black) เนื้อดินเป็นดินร่วนปนทรายแป้ง มีโครงสร้างดินเป็นแบบก้อนค่อนข้างเหลี่ยม 
            ดินล่างลึก 7-107 เซนติเมตร สีดินเป็นสีน้ำตาลปนเหลือง (yellowish brown) เนื้อดินเป็นดินร่วนเหนียวปนทรายในตอนบน ส่วนในตอนล่างเป็นดินร่วนเหนียว มีโครงสร้างดินแบบก้อนค่อนข้างเหลี่ยม 
            ชั้นวัตถุต้นกำเนิดดินลึก 107-135+ เซนติเมตร มีลักษณะของหินแกรนิตที่กำลังสลายตัว ซึ่งยังคงสภาพดั้งเดิมอยู่สมบัติทางกายภาพ เป็นดินในกลุ่มเนื้อดินปานกลางถึงเนื้อ 
ละเอียดปานกลาง ความหนาแน่นรวมมีค่าอยู่ในช่วง 0.82-1.15 Mg m-3 ความหนาแน่นอนุภาคมีค่า 2.31-2.51 Mg m-3 ความพรุนรวมของดินมีค่าอยู่ในช่วง 54.00-65.93 % และความจุอุ้มน้ำของดิน มีค่าอยู่ในช่วง 30-48 % 
            ในส่วนของสมบัติทางเคมี ดินมีค่าปฏิกิริยาเป็นกรดจัดมาก (pH 4.91) ดินบนมีอินทรียวัตถุสูง มาก (5.16 %) และในดินล่างมีค่าปานกลาง (2.42 %) ฟอสฟอรัสมีค่าอยู่ในช่วงต่ำมากถึงปานกลาง(1.25-12.25 mg kg-1) โพแทสเซียมมีค่าผันแปรจากต่ำถึงสูง (26.44-197.80 mg kg-1) สำหรับแคลเซียมและแมกนีเซียมมีแนวโน้มลดลงตามความลึก โดยแคลเซียมมีค่าอยู่ในช่วง 31.25-1,931.25 ppm และแมกนีเซียมมีค่าอยู่ช่วง 2.50-226.25 ppm (เพชร, 2542) 
            สำหรับบริเวณสถานีวิจัยลุ่มน้ำขุนคอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีลักษณะอากาศแบบร้อนชื้น ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 6.84 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 25 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนตลอดปี 1,999.7 มิลลิเมตร จำนวนวันที่ฝนตกตลอดปี 106 วัน การระเหยน้ำตลอดปี 1,264.02 มิลลิเมตร ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 86.30 % ความเร็วลมเฉลี่ย 41.1 กิโลเมตรต่อวัน วัตถุต้นกำเนิดดินเป็นหินดินดาน หินชนวน หินแกรนิตและหินไดโอไรท์ มีเนื้อดินเป็นดินร่วนเหนียวปนทราย ความหนาแน่นรวมของดินมีค่าต่ำทั้งในดินบนและดินล่าง โดยในดินบนมีค่า 0.79 Mg m-3 ส่วนในดินล่างมีค่า 0.88 Mg m-3 ความหนาแน่นอนุภาคอยู่ในช่วง 2.4–2.49 Mg m-3 ความพรุนรวมอยู่ในช่วง 64.58-68.17 % และความจุอุ้มน้ำของดินอยู่ในช่วง 53.29-59.47 % 
            ในส่วนของสมบัติทางเคมีของดิน ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดมาก (pH 4.24–4.40) ปริมาณอินทรียวัตถุอยู่ในระดับสูงมาก (5.72-7.56 %) ปริมาณฟอสฟอรัสในดินจัดอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำถึงปานกลาง (8.13-11.50 ppm) สำหรับโพแทสเซียมมีค่าอยู่ในระดับสูงมาก (168-209 ppm) ส่วนแคลเซียมจัดอยู่ในระดับต่ำมาก (200-246 ppm) และแมกนีเซียมมีค่าอยู่ในช่วงต่ำถึงปานกลาง (113-160 ppm) (พิณทิพย์ และคณะ, 2541) 
  
ดินป่าพรุ 
            ในสภาพแวดล้อมของพรุต่างๆ โดยเฉพาะในเขตจังหวัดนราธิวาส พบว่า เป็นชุดดินนราธิวาสและชุดดินกาบแดงเกิดในบริเวณที่ต่อเนื่องกัน โดยในบริเวณที่ไม่ถูกรบกวนชั้นดินอินทรีย์จะมีความหนาประมาณ 1-3 เมตร ส่วนในบริเวณพรุที่มีการระบายน้ำออกแล้วความหนาของชั้นที่ประกอบด้วยอินทรีย-สารจะบางลง มีความหนาประมาณ 0.50-1.5 เมตร โดยพบทั้งชั้นที่อินทรียสารมีการสลายตัวเพียงเล็กน้อย และที่มีการสลายตัวปานกลาง มีสีเทาเข็ม (dark gray) หรือสีน้ำตาลปนแดงเข้ม (dark reddish brown) มีชิ้นส่วนขนาดใหญ่ของกิ่งไม้ ท่อนไม้ และรากไม้ขนาดใหญ่อยู่เป็นปริมาณมากในหน้าตัดดิน วัสดุอินทรีย์เหล่านี้มีความหนาแน่นรวม 0.1-0.32 Mg m-3 และมี hydraulic conductivity 0.001-0.32 m s--1 (Vijarnsorn, 1985) 
            ดินในป่าพรุ จ.นราธิวาส มีสมบัติทางเคมีคล้ายคลึงกัน คือ มีลักษณะเป็นพื้นที่พีท มีอินทรีย์คาร์บอนเป็นปริมาณสูง (> 24 %) แต่มีไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์น้อยกว่า 2 % เป็นกรดจัด (pH 4.4) มีความจุในการแลกเปลี่ยนประจุบวกสูง (> 66 meq/100 g soil) มีกรดที่สกัดได้ (H+) สูง (> 80 meq/100 g soil) โดยประจุบวกส่วนใหญ่ที่ดูดซับ โดยคอลลอยด์เป็นไฮโดรเจน ซึ่งมาจากกลุ่มอนุมูลคาร์บอกซิล (RCOOH) สำหรับปริมาณกำมะถัน พบว่า ในชั้นวัสดุอินทรีย์และชั้นช่วงล่าง (substratum) ที่เป็นทรายมีปริมาณกำมะถันต่ำ แต่ในส่วนที่เป็นตะกอนดินเหนียวและเป็นโคลนเหลวยังไม่ได้มีการเกาะตัวมีปริมาณกำมะถันสูงมาก โดยสารประกอบของกำมะถันที่พบเป็นแร่ไพไรท์ (pyrite) และส่วนใหญ่ไม่ละลายในกรด ซึ่งชี้บ่งว่าตะกอนเหล่านี้เกิดจากตะกอนภาคพื้นสมุทร (marine sediment) และเกิดไพไรท์ (pyritization) ขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำกร่อย (Vijarnsorn and Liengsakul, 1986) 
            ลักษณะเด่นของชุดดินนราธิวาส (Typic Tropofibrists; Dystic, isohyperthermic) เป็นดินที่เกิดจากอินทรียวัตถุที่สะสมกันจากการสลายตัวผุพังของซากพืชต่าง ๆ ในบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีการแช่ขังของน้ำเป็นเวลานาน พัฒนาการของหน้าตัดดินเป็น Oi-Cg ชั้นดินตอนบนเป็นอินทรียวัตถุที่มีความหนามากกว่า 130 เซนติเมตร และในชั้นดินอินทรีย์ตอนล่างเป็นวัสดุไฟบริกเป็นส่วนใหญ่ โดยมีสารเส้นใยมากกว่า 75 % มีเศษกิ่งไม้และต้นไม้ขนาดต่างๆ กระจายอยู่ทั่วไป ส่วนในชั้นดินล่างถัดจากชั้นอินทรียวัตถุเป็นเลนจากตะกอนภาคพื้นสมุทร สีเทาปนน้ำเงิน มีไพไรท์มากกว่า 2 % มีกำมะถันรวมมากว่า 0.75 % เมื่อถูกระบายน้ำออกไป ปฏิกิริยาเป็นกรดจัด (pH < 4.0) และเป็นดินที่มีการระบายน้ำเลว 
            สมบัติทางเคมี ในชั้นดินตอนบนที่เป็นชั้นอินทรีย์มีปฏิกิริยาเป็นกรดจัดมาก (pH 3.5-4.2) ,มีอินทรียวัตถุมากกว่า 90 % ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์มากกว่า 30 ppm โพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์มากกว่า 100 ppm ความจุในการแลกเปลี่ยนประจุบวกมากกว่า 100 meq/100 g soil แต่มีความอิ่มตัวด้วยประจุบวกที่เป็นด่างต่ำกว่า 25 % สำหรับชั้นดินแร่ธาตุที่อยู่ถัดลงไปมีปฏิกิริยาเป็นกรดจัดมาก (pH 2.7-4.5) มีอินทรียวัตถุ 5-20 % ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์น้อยกว่า 30 ppm โพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์น้อยกว่า 30 ppm มีความจุในการแลกเปลี่ยนประจุบวก 20-40 meq/100 g soil) และค่าความอิ่มตัวด้วยประจุบวกที่เป็นด่างน้อยกว่า 25 % (Vijarnsorn, 1986) 
            สำหรับชุดดินกาบแดง (Terric Tropohemists; Loamy, mixed, dysic, isohyperthermic) มีลักษณะการเกิดคล้ายคลึงกับชุดดินนราธิวาส คือ เกิดในแอ่งต่ำ และเป็นตะกอนอินทรีย์ที่เกิดจากการสะสมของซากพืชต่างๆ แต่มีพัฒนาการที่สูงกว่า ชั้นดินบนเป็นชั้นวัสดุอินทรีย์มีความหนา 40-130 เซนติเมตร โดยที่ในชั้นดินอินทรีย์ตอนล่างประกอบด้วยวัสดุเฮมิกเป็นส่วนใหญ่ และมีชั้นเลนสีเทาปนน้ำเงิน ซึ่งมีไพไรท์อยู่มากในระดับความลึก 50-100 เซนติเมตร ในด้านสมบัติทางเคมี ดินเป็นกรดจัดมาก และมีสมบัติทางเคมีในชั้นดินอินทรีย์ไม่แตกต่างไปจากชุดดินนราธิวาสมากนัก แต่จะมีความจุในการแลกเปลี่ยนประจุบวก และค่าร้อยละของความอิ่มตัวด้วยประจุบวกที่เป็นด่างสูงกว่าในชุดดินนราธิวาส (เอิบ, 2533) 
  
ดินป่าเบญจพรรณ 
            บริเวณลุ่มน้ำทดลองของสถานีวิจัยลุ่มน้ำแม่กลอง จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,884.47 มิลลิเมตร จำนวนวันที่ฝนตก 140.4 วัน อุณหภูมิสูงสุด 44.5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 26.92 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 76.06 % การระเหยน้ำเฉลี่ย 1,574.7 มิลลิเมตร ความเร็วลมเฉลี่ย 4.52 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำการศึกษาบริเวณตอนบนของส่วนกลางความลาดชัน (upper middle slope) สภาพพื้นที่เป็นที่สูงชัน (steep) พบว่า พัฒนาการของหน้าตัดดินเป็น A-Bt1-Bt2-Bt3-Bt4-Bt5-Bt6 วัตถุต้นกำเนิดดินเป็นเศษหินเชิงเขา วางตัวอยู่บนวัตถุตกค้างของหินไนส์ (gneiss) ดินมีการระบายน้ำดี การซาบซึมน้ำของดินและการไหลบ่าของน้ำเร็ว และมีระดับน้ำใต้ดินอยู่ลึกกว่า 140 เซนติเมตร 
            ดินบนลึก 20 เซนติเมตร สีน้ำตาลเข้มมาก (very dark brown) เนื้อดินเป็นดินร่วนเหนียวปนทราย มีโครงสร้างดินเป็นเม็ด (granular) และก้อนค่อนข้างเหลี่ยม ปฏิกิริยาดินภาคสนามเป็นกลาง (pH 7.0) 
            ดินล่างลึก 20-140+ เซนติเมตร สีน้ำตาลปนเทาเข้มมาก (very dark grayish brown) ในระดับความลึก 20-30 เซนติเมตร สีน้ำตาลเข้ม (dark brown) ในระดับความลึก 30-70 เซนติเมตร และสีน้ำตาลปนแดงในระดับความลึก 70-96 เซนติเมตร ส่วนในตอนล่างที่ความลึก 96-140+ เซนติเมตรเป็นสีแดงปนเหลือง (yellowish red) เนื้อดินตอนบนเป็นดินร่วนเหนียวปนทราย และเป็นดินเหนียวปนทรายในตอนล่าง โครงสร้างดินเป็นแบบก้อนค่อนข้างเหลี่ยม และในตอนล่างที่ความลึก 96-140+ เซนติเมตร บางส่วนยังคงลักษณะโครงสร้างของหินดั้งเดิมอยู่ พบลักษณะการเคลือบของดินเหนียวเป็นชั้นบางๆ ตามผนังช่องว่างและผิวหน้าเม็ดดินในตอนบนและเคลือบเป็นชั้นหนาปานกลางในตอนล่าง ปฏิกิริยาดินในภาคสนามเป็นกลาง (pH 7.0) ในตอนบน และเป็นกรดเล็กน้อย (pH 6.5) ที่ระดับความลึก 30-96 เซนติเมตร ส่วนในความลึก 96-120 เป็นกรดแก่ (pH 5.5) และตอนล่างเป็นกรดปานกลาง (pH 6.0) 
            สมบัติทางกายภาพของดิน เนื้อดินเป็นดินร่วนเหนียวปนทราย จัดอยู่ในกลุ่มดินเนื้อละเอียดปานกลางในตอนบนและตอนล่างมีเนื้อดินเป็นดินร่วนเหนียวถึงดินเหนียวซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มดินเนื้อละเอียด ความหนาแน่นรวมมีค่า 1.28-1.49 Mg m-3 มีแนวโน้มลดลงตามความลึก ส่วนความหนาแน่นอนุภาคมีค่าอยู่ในช่วง 2.31-2.64 Mg m-3 ไม่แสดงแนวโน้มที่ชัดเจนในแต่ละระดับความลึก ความพรุนรวมมีค่าอยู่ในช่วง 37.34-49.71 % และมีความจุน้ำที่เป็นประโยชน์ต่อพืชในดินบน 6.90 % ส่วนในชั้นดินล่างมีค่า 4.33-9.71 % ในส่วนของค่าสัมประสิทธิ์การนำน้ำของดินขณะดินอิ่มตัวด้วยน้ำนั้น ในดินบนมีค่าสูง (2.23 x 10-5 m s-1) ส่วนในดินล่างมีค่าค่อนข้างต่ำถึงสูง (3.40 x 10-7 -1.08 x 10-5 m s-1) (บุญมา และคณะ, 2541) 
            ส่วนบริเวณสถานีวิจัยลุ่มน้ำน่าน จ.น่าน ซึ่งพื้นที่ป่าเบญจพรรณกระจายอยู่บริเวณเชิงเขา วัตถุต้นกำเนิดดินเป็นวัตถุตกค้างและเศษหินเชิงเขาของหินทราย ควอร์ทไซท์ หินดินดาน ฟิลไลท์ และหินชนวน เป็นดินที่มีพัฒนาการสูง ความลึกประมาณ 50-100 เซนติเมตร 
            ชั้นดินบนลึก 10 เซนติเมตร สีน้ำตาลปนเหลือง เนื้อดินเป็นดินร่วนเหนียว โครงสร้างดินเป็นแบบก้อนกลมและแบบก้อนเหลี่ยม 
            ชั้นดินล่างลึก 10-100+ เซนติเมตร สีน้ำตาลปนเหลือง เนื้อดินเป็นดินเหนียว โครงสร้างดินเป็นแบบก้อนเหลี่ยมปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดถึงกรดแก่ (pH 4.9-5.4) ดินบนมีปริมาณอินทรียวัตถุค่อนข้างสูง (3.21 %) ส่วนในดินล่างมีค่าอยู่ในระดับปานกลาง (2.42 %) ปริมาณฟอสฟอรัสในดินบนมีค่าค่อนข้างต่ำ (6.1 ppm)และมีค่าต่ำมากในดินล่าง (2 ppm) ปริมาณโพแทสเซียมในดินบนมีค่าอยู่ในระดับสูงมาก (131.6 ppm) ส่วนในดินล่างมีค่าปานกลาง (66 ppm) ปริมาณแคลเซียมมีค่า 1,070 ppm ในดินบน และ 307.3 ppm ในดินล่าง ส่วนปริมาณแมกนีเซียมที่แลกเปลี่ยนได้มีค่าอยู่ในช่วง 113.6-237 ppm (วารินทร์ และคณะ, 2526ก) สำหรับความคงทนของดิน มีค่า dispersion ratio เท่ากับ 24.33 ซึ่งจัดเป็น erosive soils (วารินทร์ และคณะ, 2526ข) 
            สำหรับในบริเวณสถานีวิจัยลุ่มน้ำลำตะคอง จ.นครราชสีมา มีความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 400-1,100 เมตร มีความลาดชันประมาณ 45-60 องศา ปริมาณน้ำฝนรายปีประมาณ 1,656 มิลลิเมตร อุณหภูมิสูงสุด 37.5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 15.2 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 88.8 % การระเหยสูงสุด 211.7 มิลลิเมตร ความเร็วลมเฉลี่ย 0.49 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วัตถุต้นกำเนิดดินเป็นหินแกรนิต แอนดีไซต์ และหินทราย เนื้อดินเป็นดินร่วนเหนียว จัดอยู่ในกลุ่มดินเนื้อละเอียดปานกลาง ความหนาแน่นอนุภาคอยู่ในช่วง 2.48-2.53 Mg m-3 ค่าความจุอุ้มน้ำของดินมีค่า 49.55-54.03 % ปริมาณอินทรียวัตถุมีค่าอยู่ในระดับค่อนข้างสูงถึงสูง (3.29-3.64 %) ในส่วนของความคงทนของดิน มีค่า dispersion ratio อยู่ในช่วง 0.73-3.18 จัดเป็น nonerosive soils (ชลาทร และคณะ, 2528) 
  
ดินป่าเต็งรัง 
            บริเวณลุ่มน้ำทดลอง ณศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริจ.สกลนคร ซึ่งมีภูมิอากาศแบบ tropical savanna ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,490.7 มิลลิเมตร จำนวนวันที่ฝนตก 119.7 วัน อุณหภูมิสูงสุด 28.59 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20.79 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 70.61 % วัตถุต้นกำเนิดดินเป็นหินทราย หินดินดานและหินปูน มีเนื้อดินเป็นดินร่วนเหนียวปนทรายในดินบน และดินร่วนเหนียวในดินล่าง ความหนาแน่นรวมของดินมีค่าค่อนข้างต่ำทั้งในดินบนและดินล่าง โดยในดินบนมีค่า 1.37 Mg m-3 และดินล่างมีค่าอยู่ในช่วง 1.44-1.49 Mg m-3 และความจุอุ้มน้ำของดินอยู่ในช่วง 34.37-36.43 % 
            ในส่วนของสมบัติทางเคมีของดิน ปฏิกิริยาดินเป็นกรดแก่ถึงกรดปานกลาง (pH 5.4-5.8) ปริมาณอินทรียวัตถุอยู่ในระดับปานกลางในดินบน (1.69 %) ส่วนในดินล่างมีค่าอยู่ในระดับต่ำ (0.50-0.73 %) ปริมาณฟอสฟอรัสในดินอยู่ในระดับต่ำมากถึงต่ำ (2.2-3.8 ppm) สำหรับโพแทสเซียมมีค่าอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง (54.8-82.2 ppm) ส่วนแคลเซียมจัดอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง (695-1,022 ppm) สำหรับแมกนีเซียมมีค่าอยู่ในระดับต่ำ (80.7-105.2 ppm) (กิตติพงษ์ และคณะ, 2531) 
  
            สำหรับในพื้นที่ที่มีการปลูกป่า มีการศึกษา





See


โดย:
งาน: งานห้องสมุด
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: กองสำรวจดิน. 2525. อ้างโดย อุทิศ กุฏอินทร์. 2541. นิเวศวิทยา : พื้นฐานเพื่อการป่าไม้. ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,กรุงเทพฯ. 563 น.

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 1

อ่าน 0 ครั้ง