[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ประวัตินักเขียน

            
             นายเจริญ มาลาโรจน์ นักเขียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียนของประเทศไทยประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ (รางวัลซีไรท์)
ใช้นามปากกาว่า มาลา คำจันทร์
เป็นบุตรคนที่ ๔ ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๗ คน เกิดวันอังคารที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๕ ณ บ้านเลขที่ ๑๙๖ หมู่ที่ ๕ ต. เมืองพาน อ.พาน จ.เชียงราย 
  
          ในวัยเด็กเข้ารับการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๔ ที่ โรงเรียนบ้านสันติวัน ต.เมืองพาน อ.พาน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นโรงเรียนของรัฐบาลที่อยู่ใกล้บ้าน
          ต่อมาก็ไปศึกษา ต่อระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ที่โรงเรียนศิริมาตย์เทวีซึ่งเป็นโรงเรียนของ คณะซีสเตอร์ โรงเรียนศิริมาตย์ฯ ตั้งอยู่ ต.เมืองพาน อ.พาน จ.เชียงราย ขณะที่เรียนจบชั้นประถม ศึกษาปีที่ ๗ นั้นได้ทำการบรรพชาเป็นสามเณรพำนัก ณ วัดชัยมงคล อ.พาน จ.เชียงรายเป็นเวลา ๑ พรรษา ทำให้เข้าศึกษา ในชั้นมัธยมศึกษาช้าไป ๑ ปี หลังจากนั้นก็เข้าศึกษาต่อที่ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ ในหลักสูตร ป.กศ.ชั้นต้น 
           หลังจบสอบบรรจุเข้ารับราชการครูครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ ที่โรงเรียนสุวรรณราชวิทยาคาร ต.ยุหว่า อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่    

        ต่อมาย้ายไปสอน ณ โรงเรียนศรีอรุณ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ สอนอยู่สองเดือนก็ขอย้ายสับเปลี่ยนไปอยู่โรงเรียนวัดกู่คำ อำเภอเดียวกัน ทำการสอนที่วัดกู่คำตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๘ จึงลาเพื่อศึกษาต่อ ที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหลักสูตร ศึกษาศาสตร์บัณฑิต สาขาการสอนภาษาไทย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ กลับมาทำการสอนที่โรงเรียนวัดกู่คำจนต้นปี พ.ศ.๒๕๒๒ จึงได้สมัครไปเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนบ้านห้วยตอง ต.แม่วิน อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่บนยอดเขาไม่มีไฟฟ้า น้ำประปา กลางคืนต้องจุดไม้สน(ไม้เกี๊ยะ) แทน ทำการสอนได้เพียง ๑ ปี ก็ขอย้ายลงมาสอนโรงเรียนพื้นราบเพราะป่วยเป็นโรคหินปูนเกาะไขสันหลัง แพทย์ผู้รักษาแนะนำให้อยู่ในที่ที่ไม่หนาวจัด โรงเรียนที่ย้ายลงมาก็คือ โรงเรียนบ้านห้วยขวาง ต.แม่วิน อ.สันป่าตอง ทำการสอนได้เพียง ๑ ปี จึงลาออกเพราะสอบเรียนต่อปริญญาโทได้ในสาขาจารึกภาษาไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร และสาขาวิชาจารึกภาษาไทยนี้ ไม่ใช่สาขาวิชาที่ทางสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติอนุมัติให้ข้าราชการครูในสังกัดศึกษาต่อ 
           หลังจากลาออกเพื่อเรียนต่อในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ จบการศึกษาเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ ระหว่างนั้น ได้เข้าไปทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการให้กับนิตยสารถนนหนังสือ ซึ่งเป็นหนังสือรายเดือนในเครือของบริษัทเคล็ดไทย ทำหน้าที่ผู้ช่วยกองบรรณาธิการเพียง ๓ เดือน ก็ลาออกเพื่อทำวิทยานิพนธ์เรื่องลังกาสิบหัวของไทลื้อ ระหว่างทำวิทยานิพนธ์ได้รับจ้างคุมงานก่อสร้างในบริษัทรับเหมาก่อสร้างของ อ.ทวี สว่างปัญญางกูร ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์ ต่อมารับจ้างทำการค้นคว้าเอกสารภาษาล้านนา 
           หลังจบการศึกษาระดับมหาบัณฑิตแล้วก็ทำงานเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาไทยที่ภาควิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยทำการ     สอนอยู่ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๐ ถึง พ.ศ.๒๕๓๒ จึงลาออกมารับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
            ทำการสอนได้เพียง ๖ เดือนก็ลาออกเพื่อประกอบอาชีพนักเขียนอิสระ ปี พ.ศ.๒๕๓๓-๒๕๓๔ เขียนหนังสือเลี้ยงชีพเพียงอย่างเดียว พอปี พ.ศ.๒๕๓๕ จึงร่วมกิจการกับบริษัทคณาธร จำกัด โดยรับผิดชอบในส่วนของสำนักพิมพ์โล่ - หวาย และ สำนักพิมพ์คณาธร โดยไปทำงานเดือนละประมาณ ๑๕ วันอีก ๑๕ วันกลับมาเขียนหนังสือ ที่บ้านสันป่าตองเชียงใหม่  
             ในด้านงานเขียนนั้นเริ่มส่อแววเป็นนักเล่าเรื่องที่ดีมาตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาได้รับเลือกให้เป็นประธานชมรมวรรณศิลป์ ของโรงเรียนศิริมาตย์ฯ ในขณะที่กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ผลงานเขียนชิ้นแรกที่เขียนยาวคือ นิราศผาโขง งานชิ้นนี้เขียนกลอนแปดไม่ได้รับการเผยแพร่ (ตีพิมพ์รวมเล่ม) 
การเขียนงานและการจัดกิจกรรมทางด้านวรรณศิลป์ เช่น ด้านกลอนสด ประกวดกลอนฯ ได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนอย่างดีจาก อ.ประสิทธิ์ พลเยี่ยม อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมฯ 

             งานเขียนยุคแรกของเขาเป็นกลอนแปดคือ นิราศผาโขง ต่อมานิราศลานนา, นิราศธุลี และนิราศพระลอ ซึ่งวิวัฒนาการเชิงฉันทลักษณ์มาเป็นโคลง งานนิราศทั้งหมดเขียนเมื่อเรียนชั้นมัธยมศึกษามักใช้นามปากกว่า รุ่ง นภาลัย , มนต์ นภาลัย 
ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๕ได้เขียนงานร้อยแก้วเป็นครั้งแรกคือเขียนเรื่องสั้นเรื่อง''คนผมยาว'' เริ่มต้นตีพิมพ์ในนิตยสารฟ้าเมืองไทย ซึ่งมี อาจินต์ ปัญจพรรค์เป็นบรรณาธิการใช้นามปากกาว่า ''ก้าว จันคำน้อย'' จากนั้นเขียนเรื่องสั้นมาเรื่อย ๆ ต่อมาได้เรียนวิชาศิลปการเขียน กับอาจารย์วิทยา วงศ์ดีไทย ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงเริ่มรู้หลักการเขียนอย่างเป็นระบบมากขึ้น 
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เรื่องสั้นของเขาเรื่อง ''เจ้าที่'' ได้รับรางวัลช่อการะเกดจากนิตยสารถนนหนังสือ งานเขียนประเภทเรื่องสั้นของเขาได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกคือ รวมเรื่องสั้นวันเวลาที่ผ่านเลย (กรุงเทพฯ : ดวงกมล,๒๕๒๑) โดยมี สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ แรกสุดเขาจะตั้งนามปากกาตัวเองว่า ''คำจันทร์'' แต่บรรณาธิการเห็นว่าเป็นนามปากกาที่ไปซ้ำกับผู้อื่นเลยเติมคำว่า ''มาลา'' ลงไปจึงกลายมาเป็นมาลา คำจันทร์นามปากกาที่ใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน 
              ระหว่างที่ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ โรงเรียนบ้านแม่วินนั้นเขาเริ่มงานเขียนนวนิยายเป็นเรื่องแรกคือเรื่องหมู่บ้านอาบจันทร์ ซึ่งตีพิมพ์รวมเล่มเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ จากนั้นก็มุมานะเขียนงานออกมามากมาย งานเขียนที่ตีพิมพ์รวมเล่มมีดังนี้
๒๕๒๑ วันเวลาที่ผ่านเลย (เรื่องสั้น) กรุงเทพฯ : ดวงกมล
๒๕๒๓ หมู่บ้านอาบจันทร์ กรุงเทพฯ : ต้นหมาก
๒๕๒๔ เด็กบ้านดอย กรุงเทพฯ : ต้นหมาก
๒๕๒๕ ไอ้ค่อม กรุงเทพฯ : ต้นหมาก
๒๕๒๖ นกแอ่นฟ้า กรุงเทพฯ : ต้นหมาก
๒๕๒๗ วิถีคนกล้า กรุงเทพฯ : คนวรรณกรรม
๒๕๒๙ ลมเหนือและป่าหนาว(เรื่องสั้น) กรุงเทพฯ : คนวรรณกรรม
๒๕๓๑ เขี้ยวเสือไฟ กรุงเทพฯ : กำแพง
๒๕๓๒ ท้าสู้บนภูสูง (งานแปล) แปลจาก duet in the high hell ของ Arther Cathealu กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ 
๒๕๓๓ แมวน้อยตกปลา กรุงเทพ : ต้นอ้อ
๒๕๓๔ เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน กรุงเทพฯ : คณาธร
๒๕๓๕ ล้านนาฮาเฮ กรุงเทพฯ : คณาธร
๒๕๓๘ เมืองลับแล กรุงเทพ|มติชน และเรื่องเล่าในดงลึก กรุงเทพ|มติชน
๒๕๓๙ ดาบอุปราช และสร้อยสุคันธา 

          นอกจากนี้เขายังแปลผลงานออกมาในนามปากกาว่า ''สิทธันต์ ชินทัต'' เป็นนักเขียนที่ประสบผลสำเร็จมากในด้านรางวัลวรรณกรรม เขาได้รางวัลทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติดังนี้
รางวัลช่อการะเกด จากนิตยสารถนนหนังสือในปี พ.ศ.๒๕๒๑
รางวัลรองชนะเลิศเรื่องสั้น ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ประจำปี พ.ศ.๒๕๒๓ จากเรื่อง ''ใช้ไม้สีเหลือง''
รางวัลดีเด่นประเภทบันเทิงคดี หนังสือสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น จาก คณะกรรมการพัฒนา หนังสือแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.๒๕๒๓ จากเรื่อง หมู่บ้านอาบจันทร์
รางวัลดีเด่นประเภทบันเทิงคดี หนังสือสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น จาก คณะกรรมการพัฒนาหนังสือ แห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๖ จากเรื่องลูกป่า
รางวัลดีเด่นในการผลิตผลงานเพื่อเยาวชน จาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประ สานงานเยาวชนแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ประจำปี พ.ศ.๒๕๒๕ จากเรื่องลูกป่า
รางวัล IBBY จากมูลนิธิ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน ปี พ.ศ.๒๕๓๒ จากเรื่อง เขี้ยว เสือไฟ
รางวัลดีเด่นประเภทบันเทิงคดี หนังสือสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น จาก คณะกรรมการพัฒนาหนังสือ แห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๒ จากเรื่องเขี้ยวเสือไฟ
รางวัลดีเด่นประเภทบันเทิงคดี หนังสือสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น จาก คณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.๒๕๓๓ จากเรื่อง หุบเขากินคน
รางวัลดีเด่นประเภทบันเทิงคดี หนังสือสำหรับเด็กอายุ ๖-๑๑ ปี จาก คณะกรรมการพัฒนา หนังสือแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.๒๕๓๔ จากเรื่อง แมวน้อยตกปลา
รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน : ประเทศไทย ประจำปี พ.ศ.๒๕๓๔ จากเรื่อง เจ้าจันท์ผมหอม
รางวัลดีเด่นประเภทบันเทิงคดี หนังสือสำหรับเด็กอายุ ๖-๑๑ ปี จาก คณะกรรมการพัฒ นาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๕ จากเรื่อง ฝีกว้างเท่าปากบ่อ 

              ทางด้านชีวิตครอบครัว แต่งงานเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๓ กับนางสาวณัฐยาภรณ์ ไชยหล้า หรือ ''กระถิน'' ปัจจุบันมีลูก ๒ คน คือ เด็กชาย รักพล มาลาโรจน์ และเด็กหญิง ภิรภรณ์ มาลาโรจน์ ครอบครัวของเขาอยู่ ณ บ้านเลขที่ ๕๖ หมู่ ๑๑ บ้านศาลา ต.ยุหว่า อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ 





คลิกดูที่


โดย:
งาน: งานห้องสมุด
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: http://www.lannaworld.com/person/Mala.htm

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง