[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

การจัดสวน

การออกแบบจัดสวน 1 
 
     ปกติแล้วธรรมชาติกับมนุษย์เป็นสิ่งที่อยู่คู่กันเสมอ แต่คนในเมืองหลวงได้ละทิ้งสิ่งเหล่านี้มากขึ้นทุกที ในขณะที่ความเจริญก้าวหน้าของสังคมเมืองยังคงมีสัญชาตญาณที่เรียกร้องหาธรรมชาติซ่อนเร้นอยู่เสมอ ซึ่งจะเห็นได้จากการพยายามนำเอาไม้ดอก ไม้ประดับต่าง ๆ เข้ามาตกแต่งในบริเวณที่ทำงานร้านค้าและที่อยู่อาศัย ให้เป็นไปตามธรรมชาติมากที่สุด โดยเฉพาะภายในบริเวณบ้านเราสามารถที่จะจัด และตกแต่งให้เป็นไปตามธรรมชาติได้ด้วยตัวของเราเอง โดยเจ้าของบ้านอาจจะเป็นคนลงมือทำเองทีละขั้น ตามความสามารถกำลังเงินและเวลาที่มีอยู่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำให้เสร็จในทีเดียว หรือว่าจ้างมืออาชีพมาตกแต่งให้ 
 
      หลักเบื้องต้นของการออกแบบสวน 
     คือทำความรู้จักกับบริเวณของตนเองโดยเขียนตัวบ้าน ขอบเขตที่ดิ้น (รั้ว) ถนนหน้าบ้านทาง ทางเข้าบ้าน โรงรถ ทางเดินต่าง ๆ กำหนดตำแหน่งของต้นไม้ใหญ่ที่จะเก็บรักษาไว้แสดงทิศเหนือ-ใต้ บริเวณที่มีปัญหาต่าง ๆ เช่น ด้านที่ร้อนแดดบริเวณที่ร่มจัดจนปลูกต้นไม้ไม่ได้ บริเวณที่มีน้ำขังแฉะในฤดูฝน หรือด้านที่ต้องการสิ่งบังตา เพราะขาดความเป็นส่วนตัวโดยที่บุคคลภายนอกสามารถมองเห็นภายในบริเวณบ้านเราได้ เป็นต้น 
 
    ลักษณะของสวนที่เจ้าของบ้านไม่ต้องดูแลรักษามาก 
    1. สวนที่มีพื้นปูเป็นพื้นแข็งมากกว่าพื้นอ่อน (สนามหญ้า) ซึ่งจะทำให้ลดเวลาในการตัดหญ้า และการบำรุงดูแลรักษาอื่น ๆ แต่ต้นทุนในการทำสวนลักษณะนี้ค่อนข้างสูงในการก่อสร้างครั้งแรก 
    2. ลักษณะสวนที่มีการจัดกลุ่มต้นไม้ คือถ้าเป็นสวนหย่อมจะประกอบไปด้วยต้นไม้หลาย ๆ ชนิดแตกต่างกันไป ยิ่งมากชนิด ยิ่งต้องการดูแลรักษามากยิ่งขึ้น แต่ตรงกันข้ามกับการจัดสวนโดยการปลูกต้นไม้ชนิดเดียวกันให้เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ซึ่งต้องการการดูแลรักษาที่เหมือนกัน จึงง่ายต่อการดูแลรักษา ทำให้ไม่เสียเวลามากนัก 
    3. ชนิดของต้นไม้ที่ใช้ ต้นไม้บางชนิดต้องประคบประหงมมาก แต่บางชนิดปลูกแล้ว ดูแลรักษานาน ๆ ครั้งก็ได้ จึงไม่จำเป็นต้องเสียเวลาและแรงงานในการดูแลรักษา 
    สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต้องคำนึงตั้งแต่ต้นเพราะ ''สวนจะสวยด้วยการดูแลรักษา''  
 
     เมื่อได้ประเภทบริเวณใช้สอยต่าง ๆ และแนวความคิดลักษณะรูปแบบของสวนอยู่ในใจแล้ว จึงเลือกบริเวณที่เหมาะกับการใช้สอยที่ต้องการลงในแปลน เช่นจัดไม้ดอกสีสวยสดใสไว้หน้าบ้าน ปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาด้านทิศตะวันตก จัดลานพักผ่อนต่อจากห้องนั่งเล่นในบ้าน ลานซักล้างต่อจากครัว และต้องการรั้วบังสายตาจากบริเวณอื่น ๆ สนามเด็กเล่นก็ควรอยู่ในจุดที่สามารถมองเห็นได้จากภายในบ้าน เพื่อเป็นการป้องกันเมื่อเด็ก ๆ ออกไปวิ่งเล่นในสนาม โดยที่พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องไปนั่งเฝ้า อยู่ในบ้านก็สามารถมองเห็นลูก ๆ ได้ และบริเวณจัดสวนโชว์ควรอยู่ในจุดที่แขกผู้มาเยี่ยมจะเชยชมได้ จึงมักจะอยู่หน้าบ้าน ซึ่งการเลือกบริเวณต่าง ๆ เหล่านี้ ดูจากการใช้งานประจำวันของสมาชิกภายในบ้าน 
 
 การออกแบบจัดสวน 2  
 
       การกำหนดรูปร่างหรือแบบ (style) ในการจัดสวนในส่วนของบริเวณที่เลือกแล้วนั้นขึ้นอยู่กับรสนิยม และความชอบของเจ้าของบ้าน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ 
    1. แบบรูปทรงเรขาคณิต (Formal) คือการจัดโดยอาศัยรูปทรงเรขาคณิตต่าง ๆ มีการแสดงออกของเส้นตรง ซึ่งเป็นเส้นนำสายตาให้มุ่งตรงไปยังจุดเด่นที่ต้องการ (Strong Axial Design) และเส้นนี้จะแสดงความรู้สึกว่า บริเวณด้านซ้าย และขวามีความเท่า ๆ กัน (Balance) คือด้านซ้ายและด้านขวาเหมือนกันทุกประการ การจัดสวนแบบนี้เหมาะกับบ้านทรงยุโรป ประเภทกรีก โรมัน และบริเวณมุมเล็ก ๆ ในพื้นที่จำกัด หรือในบริเวณส่วนด้านหน้าของหน่วยงานราชการ และบริษัทต่าง ๆ การจัดสวนประเภทนี้จะดูเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่การดูแลรักษาค่อนข้างสูง เพราะต้องตัดแต่งต้นไม้ให้เป็นรูปทรงเรขาคณิตอยู่เรื่อย ๆ 
    2. แบบธรรมชาติ (Informal) คือการจัดใช้เส้นอิสระ (Free Form) มักเป็นโค้งรูปตัว ''S'' ดูเป็นธรรมชาติ อ่อนช้อยไม่เป็นเหลี่ยมมุม ต้นไม้ใช้รูปทรงตามธรรมชาติ ไม่ตัดแต่งเป็นรูปทรงเรขาคณิต การจัดสวนแบบธรรมชาตินี้เหมาะกับบ้านทั่ว ๆ ไป ทั้งที่มีเนื้อที่กว้างและเนื้อที่แคบ หรือสวนสาธารณะ และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ 
     การจัดสวนนั้นมิใช่ว่าเอาต้นไม้มาปลูก เป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นแถวเป็นแนว ให้เกิดความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่เราจะต้องคำนึงถึงวัสดุอุปกรณ์ ในการตกแต่งสวนด้วย ว่าจะเอาวัสดุอุปกรณ์ประเภทไหนอย่างไร มาตกแต่งสวนของเรา ให้ดูสวยงามยิ่งขึ้น และจะทำอย่างไรให้คงความงามไว้ได้นาน โดยเริ่มจาก การจัดเตรียมพื้นที่การเลือกไม้ดอกไม้ใบ การใช้วัสดุปูพื้น การกั้นรั้ว การเลือกเฟอร์นิเจอร์ และการดูแลรักษา ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นมากต่อการจัดแต่งสวน 

 การออกแบบจัดสวน 3  
 
     วัสดุอุปกรณ์ในการตกแต่งสวนที่จำเป็น 
     1. การเตรียมพื้นที่ คือจะต้องทำบริเวณพื้นที่ที่จะจัดสวนให้เรียบโล่ง เหลือไว้แต่สิ่งที่เราจะใช้ประโยชน์ได้ในภายหลัง เช่นต้นไม้ใหญ่ ๆ หิน เนินที่มีอยู่เดิม การปรับพื้นดินทำโดยการรดน้ำจนเปียก แล้วจึงใช้ลูกกลิ้งบดให้เรียบ ถ้าบริเวณใดยุบเป็นบ่อให้เติมดินลงไประดับโดยรวมควรลาดเอียงไปยังทางท่อระบายน้ำ และลาดเอียงออกจากตัวบ้าน เก็บเศษวัสดุ ก้อนหิน หญ้า และวัชพืช ที่ไม่ต้องการทิ้งให้หมด  
 
   วาดแปลนที่ต้องการลงบนพื้นที่ โดยใช้ปูนขาวโรยเป็นกำหนดจุดแนวสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เช่น ลานพักผ่อน ทางเท้า ถนนเข้าบ้าน เป็นต้น กำหนดจุดที่จะปลูกต้นไม้ใหญ่ขอบเขตของแปลงที่จะปลูกไม้พุ่มและไม้คลุมดิน 
    การปลูกไม้ต้นใหญ่นั้นควรจะขุดหลุมให้มีขนาดใหญ่กว่าตุ้มดินที่หุ้มรากต้นไม้ไว้โดยรอบอีก 10 ซม. และลึกกว่าขนาดตุ้มดินอีก 10-15 ซม. โรยปุ๋ยสูตรเสมอ (16-16-16) รองก้นหลุมดินที่ขุดขึ้นจากหลุมให้แยกดินส่วนบน และส่วนก้นหลุมไว้ จากนั้นก็เอาดินส่วนบนมาสับพรวนจนเป็นก้อนเล็ก ๆ แล้วเอามาคลุกผสมกับดินที่ซื้อมาจากท้องตลาดในอัตราส่วน ดินบน:ดินผสม = 1:1 ใส่กลับลงไปในหลุมเป็นดินปลูก รดน้ำตามให้ชุ่ม ดินจะยุบตัวลง เติมดินปลูกและรดน้ำจนดินไม่ยุบตัวอีก ถ้าต้นไม้ที่ปลูกใหม่นั้นสูงมากหรือไม่สามารถตั้งตัวให้ตรงได้ให้ใช้ไม้ค้ำ ซึ่งอาจจะเป็นไม้ไผ่หรือไม้สนก็ได้ ส่วนการเตรียมพื้นที่ที่จะปลูกไม้พุ่ม และไม้คลุมดินนั้น ก็คล้ายคลึงกันกับการปลูกไม้ต้นใหญ่ แต่ขนาดหลุมจะตื้นกว่า 
 
     2. ต้นไม้ ต้นไม้ที่ใช้ในการตกแต่งสวนนั้นแบ่งออกเป็น 
         2.1 ไม้ต้น (Trees) เป็นไม้เนื้อแข็ง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นใหญ่กว่าไม้พุ่ม ไม่ต้องอาศัยพาดพิงต้นไม้หรือวัสดุอื่นเพื่อดำรงตัว มีความสูงเกิน 6 เมตร มีอายุได้นานปี เช่น ตะแบก อินทนิน จามจุรี ราชพฤกษ์ ฯลฯ ซึ่งไม้ต้นเหล่านี้ สามารถใช้เป็นฉากหลัง ให้ร่มเงา หรือเป็นแนวรั้วกันลม ฯลฯ 
         2.2 ไม้พุ่ม (Shrubs) เป็นไม้เนื้อแข็งลำตัวตั้งตรง เป็นอิสระได้ไม่ต้องอาศัยต้นไม้ หรือวัสดุอื่นพาดพิง มีอายุได้นานหลายปี มีความสูงไม่มากนักการแตกกิ่งก้านมักจะไม่สูงจากพื้นดิน เช่น ชบา เข็ม ยี่เข่ง ยี่โถ ฯลฯ มักจะปลูกระดับแปลง จัดเล่นลายโดยใช้สี ปลูกเป็นรั้วกั้น หรือบังตา และมักจะปลูกตามขอบทาง  
 
     2.3 พืชคลุมดิน (Ground Covers) คือพืชที่มีต้นเตี้ย สูงไม่เกิน 30 ซม. และมักจะปลูกเป็นกลุ่มก้อนติด ๆ กัน มีทั้งลำต้นตรงและลำต้นเตี้ย มีทั้งเป็นไม้เนื้ออ่อนอายุข้ามปี และเป็นพวกไม้ล้มลุกเช่น ผักเป็ดเขียว บานเช้า บานเย็น บัวสวรรค์ พลูด่าง เป็นต้น ใช้ปลูกประดับขอบแปลง จัดเล่นลายใช้สีหรือปลูกเป็นแปลงคลุมพื้นที่แทนหญ้า 
       2.4 หญ้า (Grass) เป็นพืชคลุมดินเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน มีความสวยงาม และสามารถเหยียบย่ำได้ หญ้าที่ปลูกตามบ้านทั่ว ๆ ไปมีอยู่ 2 ชนิดคือ
 
     2.4.1. หญ้านวลน้อย (Zoysia Matrella) เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อน ชอบแดดจัด ทนการเหยียบย่ำได้ค่อนข้างสูง ปลูกได้ทั่วไป แต่ต้องการดินที่มีความอุดมสมบูรณ์พอควร ระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบน้ำขังแฉะการตัดควรตัดให้สูง 0.5-1 นิ้ว ควรตัดบ่อย ๆ และตัดให้ต่ำ เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตเป็นกระจุก และควรจะใส่ปุ๋ยไนโตรเจน (N) สูงทุกเดือน  

      2.4.2. หญ้ามาเลเซีย (Axonopus Compressus) เป็นหญ้าใบกว้าง ใบสีเขียวอ่อน ทนร่มได้ดี ไม่ควรปลูกกลางแดดเพราะรากสั้นทำให้เหี่ยวแห้งเร็ว ทนน้ำขังแฉะได้ชั่วคราว ทนการเหยียบย่ำได้น้อยกว่าหญ้านวลน้อย เวลาตัดควรตัดให้สูง 1-2 นิ้ว หญ้ามาเลเซียนี้ควรจะปลูกในที่ร่ม และกับบ้านที่เจ้าของบ้านไม่มีเวลาในการดูแลรักษา ควรใส่ปุ๋ยที่มี N-P-K ในอัตราส่วน 3-1-2 ต่อเดือน ... อ่านต่อ 
 


การออกแบบจัดสวน 4  
 
     3. วัสดุปูพื้น วัสดุปูพื้นของสวนในบ้านหมายถึง ส่วนใช้งานที่ต้องการผิวพื้นที่ไม่ใช่สนามหญ้าเพื่อทนการเหยียบย่ำ ซึ่งแบ่งออกได้ดังนี้ 
          3.1 วัสดุปูพื้นแบบแข็ง (Rigid) ใช้ปูในบริเวณพื้นที่ที่มีการใช้งานสูง โดยพื้นส่วนล่างจะเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กรองรับวัสดุปูพื้นอื่น ๆ เช่น อิฐ กระเบื้อง เซรามิค หิน วัสดุปูพื้นแบบนี้น้ำจะไม่สามารถซึมผ่านลงไปได้ อัตราการไหลของน้ำบนผิวหน้าจะสูง เพราะฉะนั้น ในขณะที่ปูพื้นแบบนี้ จะต้องคำนึงถึงการระบายน้ำเป็นสำคัญ ควรให้มีความลาดเอียงออกจากบ้าน การปูพื้นด้วยวัสดุแบบแข็งนี้เหมาะกับบริเวณลานนั่งเล่น ลานจอดรถทางเดินที่ต้องการความถาวร 
 
        3.2 วัสดุปูพื้นแบบมีความยืดหยุ่น (Flexible) พื้นฐานส่วนลางใช้ทรายหรือปูนทรายบดอัดให้เรียบก่อน วัสดุที่ใช้ปูมีหลายชนิดเช่น บล็อกประดับพื้นรูปคดกริช รวงผึ้ง และอัฐศิลา ของปูนซิเมนต์ไทย อิฐมอญ และหินต่าง ๆ การปูแบบนี้น้ำจากพื้นผิวด้านบนสามารถซึมผ่านลงไปได้บ้าง และอัตราการไหลของน้ำบนผิวหน้าจะไม่สูงเท่ากับวัสดุพื้นแบบแข็ง การปูวัสดุปูพื้นแบบมีความยืดหยุ่นนี้สามารถทำเองได้ทันที การซ่อมแซมก็ทำได้ง่าย แต่ต้องระวังตอนอัดทราย ถ้าอัดไม่ดีจะยุบตัวได้ในภายหลัง การปูพื้นแบบนี้เหมาะกับบริเวณลานนั่งเล่น ลานจอดรถ ทางเดิน ส่วนสนามเด็กเล่นควรใช้ทรายทั้งหมดเพื่อความปลอดภัย 
 
    4. รั้ว การออกแบบหรือตกแต่งบริเวณภายในบ้านนั้น นอกจากรั้วรอบบ้านที่ใช้แสดงขอบเขตของพื้นที่ และป้องกันอันตรายจากภายนอกแล้วเรายังต้องการรั้วเพื่อเป็นการแบ่งบริเวณที่กว้างขวางให้เล็กลง หรือเพื่อบังสายตาของคนภายนอก ทำให้เกิดความเป็นส่วนตัว หรือใช้เป็นที่บังแดด บังลม บางครั้งสามารถใช้รั้วเป็นเครื่องประดับสวนให้งดงามอีกด้วย   
 
     การเลือกแบบของรั้วนั้นขึ้นอยู่กับแบบของบ้านและรูปทรงของบริเวณสวน สามารถแบ่งออกได้ดังนี้ 
     1. รั้วไม้ เสาอาจจะเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือใช้เสาเป็นไม้ได้ ส่วนผนังของรั้วใช้ไม้กั้น อาจจะเป็นไม้ไผ่ ซึ่งเหมาะกับการจัดสวนญี่ปุ่น หรือรั้วไม้ซุงซึ่งเหมาะกับสวนบ้านไร่ ส่วนอายุการใช้งานนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ การซ่อมแซมทำได้ง่ายไม่ยุ่งยาก 
     2. รั้วอิฐบล๊อค โครงสร้างของเสาและคานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังรั้วใช้อิฐ บล๊อค ซึ่งมีหลายแบบหลายขนาด ทั้งทึบและโปร่ง จะมีอายุการใช้งานได้นาน การซ่อมแซมเพียงทาสีใหม่ เมื่อสีเก่าจางไป 
     3. รั้วเหล็ก หรือรั้วอัลลอยด์ โครงสร้างของเสาคานอาจจะเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือเสาเหล็กได้ ส่วนผนังนั้นใช้เหล็กกั้น มีความแข็งแรงและทนทานได้ดี จะมีอายุการใช้งานได้นาน แต่ต้องขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาด้วย สำหรับบ้านที่อยู่ใกล้ทะเลไม่ควรทำรั้วแบบนี้ เพราะไอน้ำเค็มจากทะเล จะทำให้รั้วเป็นสนิมเร็วขึ้น ทำให้อายุการใช้งานสั้นลง 
 
 
การออกแบบจัดสวน 5  
 
      5. เฟอร์นิเจอร์ ในสวน หมายถึงวัสดุต่าง ๆ ที่นอกเหนือไปจากต้นไม้ และวัสดุปูพื้นที่ใช้ตกแต่งในบริเวณสวน เป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิด จุดเด่น จุดน่าสนใจ หรือไว้ใช้งานใสบางครั้ง ซึ่งแบ่งออกได้ดังนี้ 
     6. หิน การใช้หินมาตกแต่งสวนนั้นจะต้องใช้หินชนิดเดียวกัน แต่ให้แตกต่างกันที่ขนาด ไม่ควรใช้หินหลากหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน หินที่นิยมใช้ในการจัดสวนคือ หินภูเขา หินแม่น้ำ หินทะเล หินกาบ หินชั้น หินแผ่น โดยทั่วไปแล้ว มักใช้หินนำมาจัดเป็นสวนหย่อม ซึ่งนิยมใช้หินก้อนใหญ่ ๆ ประกอบกับไม้คลุมดิน หรือจัดเป็นสวนหิน ซึ่งนิยมจัดในบริเวณที่ไม่สามารถปลูกหญ้าได้ หรือในพื้นที่ขนาดเล็ก การจัดสวนหินนี้ นอกจากมีหินใหญ่เป็นประธานแล้ว ยังต้องใช้กรวดก้อนเล็ก ๆ ประกอบด้วย นอกจากนี้อาจใช้หินตกแต่งเป็นทางเท้าโดยมากนิยมใช้หินแผ่น หรือใช้หินปูบริเวณโคนต้นไม้เพื่อแยกสนามหญ้าออกจากโคนต้นไม้ใหญ่ เพื่อสะดวกในการตัดหญ้าหรือปูรองรับบริเวณที่น้ำฝนตกลงกระทบ เพื่อลดการกระแทกของน้ำฝนกับผิวหน้าดิน  
 
    7. เก้าอี้ชุดสนามและม้านั่งต่าง ๆ จัดเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นสำคัญในสวน ไม่ว่าจะมีสวนประเภทใดขนาดเท่าใดมักจะมีเก้าอี้สนามกันทั้งนั้น เพราะการมีเก้าอี้สนามไว้ในสวนแสดงให้เห็นถึงการเชื้อเชิญให้หยุดพักผ่อน และนั่งเล่น ดังนั้น เก้าอี้ชุดสนามควรมีอายุการใช้งานที่นานปี ทนแดดทนฝนได้ดี ส่วนมากจะทำมาจากวัสดุ ประเภท ไม้ หินขัด หินธรรมชาติ เหล็กหล่อ อัลลอยด์ ผ้าใบ พลาสติก ฯลฯ หรืออาจจะเป็นสิ่งที่ประดิษฐ์มาจากวัสดุที่เหลือใช้ภายในบ้านได้ 
 
   เก้าอี้ชุดสนามมักประกอบไปด้วย โต๊ะและเก้าอี้ 4 ตัว จัดวางไว้บริเวณลานพักผ่อนที่จะนั่งเล่น หรือตามเทอร์เรส ใช้นั่งรับประทานอาหารว่างยามบ่าย จัดไว้ในบริเวณศาลาในสวน ลานโคนต้นไม้ หรือจัดให้กลางสนามใต้ร่มไม้ ซึ่งบริเวณที่จัดวางชุดสนามนี้ ควรปูพื้นแข็งรองรับก่อนทำให้สามารถใช้งานได้ทุกฤดูกาล 
     ม้านั่งโดยทั่วไปมีทั้งเป็นชุดและตัวเดี่ยว ซึ่งกว้างประมาณ 40 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1 เมตร สามารถยกไปตั้งตามทางเดิน ใต้ต้นไม้ ริมสระน้ำ หรือที่ใดที่หนึ่งที่เราพอใจไว้นั่งตามลำพัง เมื่อต้องการความเป็นส่วนตัว   
 
      8. รูปปั้น การนำรูปปั้นมาตกแต่งสวนนั้น เป็นวิธีการเรียกร้องความสนใจอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นองค์ประกอบที่บังคับให้คนมอง โดยเฉพาะรูปปั้นที่เป็นรูปคนมักจะเป็นจุดสนใจสร้างจินตนาการให้ระลึกถึงอดีตเป็นงานศิลปะที่มีค่ามากในการนำมาตกแต่งสวน โดยทั่วไปแล้วรูปปั้นมักจะทำมาจากดินเผา หิน ทองแดง เหล็ก หินอ่อน ไม้ ไฟเบอร์ บรอนซ์ และวัสดุอื่น ๆ อีกมากมาย 
     ในพื้นที่แคบ ๆ ไม่ควรใช้รูปแบบคลาสสิค ควรใช้รูปปั้น Abstarct ซึ่งทำด้วยโลหะ จะมีลักษณะมันวาว ทำให้พื้นที่ดูกว้างขึ้น การจัดวางรูปปั้น ก็ต้องคำนึงถึงมุมมอง อย่าวางรูปปั้นให้หลบซ่อนเกินไปควรมีฉากหลังที่ทำให้รูปปั้นดูเด่นขึ้น ต้นไม้ที่ใช้ควรมีรูปทรงที่สะดุดตา เช่นสนเลื้อย เศรษฐีไซ่ง่อน ซุ้มกระต่ายด่าง และไม้ประดับต่าง ๆ ถ้าบ้านเป็นแบบคลาสิค เสาโรมันจำลอง ฯลฯ หรือถ้าบ้านแบบทันสมัย จะใช้รูปปั้นได้กว้างขวางกว่าไม่ว่าแบบคลาสิคหรือแบบ Abstarct สำหรับบ้านทรงไทยมักจะใช้โอ่งบ้านเชียง สังคโลก หรือล้อเกวียนมาตกแต่ง ส่วนสวนญี่ปุ่น และสวนจีน มักจะใช้ตะเกียง สะพานเล็ก ๆ และอ่างน้ำ เป็นต้น
 
 













 
 





คลิกเพื่อดูรายละเอียด


โดย:
งาน: งานห้องสมุด
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: http://www.smilehomes.com/garden.htm

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง