[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ครู


            ภาระงานของครูตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒    ปรีชา  นิพนธ์พิทยา  ได้กล่าวว่าน่าจะประกอบด้วย ๓ งานหลัก คือ งานการสอน  งานการศึกษา / วิจัย  และงานการบริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผู้เรียน  โรงเรียน  และชุมชน  ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
            ๑. งานด้านการสอน หมายถึง ภาระงานด้านการเรียนการสอนให้เป็นไปตามหมวด ๔ แนวทางการจัดการศึกษา มาตรา ๒๒ - ๓๐ หมวด ๖  มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษามาตรา ๔๗ และ หมวด ๙ 
เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา มาตรา ๖๖ การพัฒนาผู้เรียนด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอย่างเพียงพอ  ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ   พ.ศ. ๒๕๔๒   เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวผู้เรียนเองจากรูปแบบ  สื่อ  วิธีการ    และกิจกรรมที่หลากหลายรวมถึงการวัดประเมินผลที่สอดคล้องกับสภาพจริง
            ๒. งานด้านการศึกษา / วิจัย หมายถึง ภาระงานด้านการศึกษาวิเคราะห์วิจัยที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานสำหรับการส่งเสริมสนับสนุนการเรียนของผู้เรียน  ให้สำเร็จตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
            ๓. ด้านการบริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผู้เรียน โรงเรียนและชุมชน หมายถึง ภาระงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผู้เรียน ตัวครู เพื่อนครู  โรงเรียน ชุมชนและประเทศชาติ  ในรูปแบบต่างๆ เช่น งานให้คำแนะนำ  แนะแนว  งานปกครอง ฝึกอบรม การให้บริการข้อมูลข่าวสาร การเป็นวิทยาการ การให้คำปรึกษา การร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ การประสานร่วมมือกับทุกฝ่ายเป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลต่อการเรียนรู้และการพัฒนาการศึกษาตามแนวปฏิรูปการศึกษา   จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาโดยรวมของนักเรียน   ครู   โรงเรียน ครอบครัว และชุมชน

            ภาระงานดังกล่าวข้างต้น  ครูจึงมีภาระหน้าที่รับผิดชอบปฏิบัติตนในกรอบตามจรรยาบรรณครู และมีหน้าที่พัฒนาวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงที่แกร่ง  ก้าวหน้า  เป็นที่ยอมรับ  ศรัทธา  เชื่อมั่นของสังคมไทย

            หน้าที่ความรับผิดชอบของครูจะประกอบไปด้วยภารกิจสำคัญ  ๕ ภารกิจ  ดังนี้

            ๑. การจัดการเรียนการสอนและส่งเสริมการเรียนรู้  ครูต้องมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอน  การประเมินองค์รวมที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  การพัฒนาและการประเมินหลักสูตร  ค้นคว้า  วิจัย  เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและเป็นผู้นำทางวิชาการ

            ๒. การเอาใจใส่ดูแลแก้ปัญหาและส่งเสริมพัฒนาพฤติกรรมของผู้เรียน  ครูต้องมีความสามารถในการแก้ปัญหา  ป้องกันปัญหาอันที่จะเกิดขึ้น และสามารถพัฒนาพฤติกรรมผู้เรียน  ให้ผู้เรียนดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

            ๓. การพัฒนาตนเองและองค์กรอย่างต่อเนื่อง       ครูต้องมีความสามารถในการพัฒนาตนเอง  พัฒนางาน  พัฒนาเพื่อนครู  และพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ

             ๔. การปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพและปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี  ครูต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพและปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี  ให้สังคมยกย่องเชิดชูและพัฒนาวิชาชีพให้เป็นที่ศรัทธาและเชื่อมั่นของสังคม

            ๕. การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน  ครูต้องมีความสามารถสร้างความสัมพันธ์กับบุคคล  ชุมชน  สถาบัน  และแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ ของผู้เรียน  เพื่อพัฒนาชุมชน  และสังคมให้น่าอยู่  และสามารถเป็นแหล่งการเรียนรู้ของผู้เรียนได้

 





คลิกดูที่http://www.ac.ac.th/NanaSara/nana001.htm


โดย:
งาน: งานห้องสมุด
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: http://www.ac.ac.th/NanaSara/nana001.htm

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง