[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

การร่องเรือท่องเที่ยวในจังหวัดฉะเชิงเทรา

                                                                         การร่องเรือท่องเที่ยวในจังหวัดฉะเชิงเทรา
เที่ยวคลองล่องเรือจากบางบ่อสู่วัดหลวงพ่อโสธร ....นายสบาย
           เดือนนี้น้ำนอง ไหลมาจากทั่วทุกสารทิศ  เห็นแล้วก็นึกถึงความหลังจริง ๆ ครับ   จะว่าไปแล้ว คนไทยกับสายน้ำแยกกันไม่ขาดมานมนาน พอมีคลองก็มีการตั้งบ้านเรือริมคลอง ในสมัยก่อนถนนหนทางไม่ค่อยมี จะไปไหนก็ต้องไปทางเรือ ยังจำเรื่องที่ผมเล่าให้ฟัง ''ปราบมาเฟียวัดหลวงพ่อโสธร'' ได้ไหมครับ ที่ว่าคุณแม่ผมเคยนั่งเรือแจวจาก บางบ่อไปไหว้หลวงพ่อโสธรที่แปดริ้วใช้เวลาสองสามคืนในการเดินทาง 
เรือที่ใช้เดินทางสมัยคุณแม่ผมใช้ ''เรือมาด'' หรือ ''เรือแจว''  แต่ละลำใส่แจวสี่แจว ผลัดเปลี่ยนกันแจวตามคลอง นำข้าวปลาอาหารไปกินกันบนเรือด้วย เดือนสิบสอง เป็นเดือนที่มีงานนมัสการหลวงพ่อโสธรพอดี ประชาชนชาวไร่ชาวนาจากทุกทิศ มุ่งหน้าสู่บางประกง กันทั่วหน้า  มารุ่นผม สมัยนี้ไปด้วยรถยนต์กันหมดแล้ว สะดวกสบายก็จริง แต่น่าเสียดายบรรยากาศเก่าก่อนที่ไม่มีวันย้อนกลับมา
         ''บางปะกงน้ำคงขึ้น ๆ ลง ๆ ใจอนงค์ก็คงเลอะเลือนกระล่อน ปากน้ำเค็มไหลลงก็จืดก็จาง ..... ''  นายสบายฮัมเพลงในคอ พร้อมกับหลับตาระลึกความหลัง สมัยยังเป็นหนุ่มริมคลองแถวนี้ มาจากบ้านไปไกลถึงเมืองอุบลก็สมัยเป็นทหารอากาศ (ขาดรัก)  ถ้ามีโอกาสก็อยากจะย้อนกลับมาถิ่นเก่าเสมอ
           เสน่ห์ของสายน้ำและป่าจากริมบางประกง ทำให้ทีมงานเราที่มีผม  ''นายสบาย''  และ ''บอย สบาย''  กำหนดเส้นทาง ตามรอยแนวคลองมุ่งสู่แปดริ้วสำเร็จ และยังแนะนำให้เพื่อนๆ สามารถเดินทางแบบเราได้เช่นกันครับ แต่ขอเตือนไว้ก่อนว่า นี่ไม่ใช่เส้นทางท่องเที่ยวธรรมดา ๆ  และความแน่นอนคือความไม่แน่นอนครับ  ใครชอบแบบนี้ก็ตามเรามาได้เลย
           จุดเริ่มต้นนั่งเรือเที่ยวคลอง เราลงเรือที่ ต.บ้านระกาศ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ คลองที่เราใช้เดินทางเริ่มที่คลองบ้านระกาศ ซึ่งเป็นคลองย่อยของคลองสำโรง คลองสำโรงนั้นเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาและบางประกง ปัจจุบันมีประตูน้ำกั้นที่ท่าสะอ้าน จ.ฉะเชิงเทรา ไม่สามารถล่องเรือออกแม่น้ำที่ประตูน้ำนี้ได้ ดังนั้นต้องใช้เส้นทางผ่านทางเหนือที่ประตูน้ำท่าถั่ว หรือท่าไข่ จากจุดนั้น ก็จะเข้า สู่แม่น้ำบางประกง ก็เกือบถึงวัดหลวงพ่อโสธรพอดีครับ
           เส้นทางที่ 1: บ้านระกาศ บางบ่อ บางพลีน้อย หอมศีล บางสมัคร ท่าสะอ้าน (แล้วนั่งเรือกลับ)
           เส้นทางที่ 2: บ้านระกาศ บางบ่อ บางพลีน้อย นิยมยาตรา หลังสวน  คลองประเวศน์ ประตูน้ำท่าถั่ว บางประกง วัดหลวงพ่อโสธร
           เส้นทางที่ 3: บ้านระกาศ บางบ่อ บางพลีน้อย ประเวศน์ แปดริ้ว ประตูน้ำท่าไข่ บางประกง วัดหลวงพ่อโสธร
                 *** เส้นทางที่ 1 ใช้เวลา 1 ชั่วโมง เส้นทาง 2,3 ใช้ 2 ชั่วโมง *** 

           เรือที่ใช้เป็นเรือเร็วที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ''เรือสองตอน'' อันว่าเรือที่ใช้เดินทางในโบราณ เขาจะใช้เรือมาด ใส่แจวสี่แจวพลัดกันแจงไปวัดหลวงพ่อโสธร ในสมัยที่สุนทรภู่ เดินทางไปแกลง ก็ใช้คลองสำโรงเช่นกัน ควรเป็นเรือแจวอย่างแน่นอน โดยมีนายแสงคนถ่อแจว และมีน้องๆ สุนทรภู่อีกสองคน แต่วันนี้เพื่อให้ทันเวลากับการผจญภัยท่องเที่ยวหนึ่งวัน เรือสองตอนจึงเป็นตัวเลือกที่เราใช้เดินทาง เรือนี้ใช้ความเร็วได้ประมาญ 80-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่อด้วยไม้อัดหนา 5-9 มิลลิเมตร วางเครื่องสี่สูบ ระบายความร้อนด้วยน้ำ เวลาขับเร็วจะเหลือส่วนที่ติดกับน้ำเล็กน้อย ด้านท้องเรือทำเป็นสองตอนเพื่อให้ขึ้นน้ำเวลาวิ่งจึงเรียกว่า ''เรือสองตอน'' 
          วิวทิวทัศน์สองข้างทางนั้นเป็นชีวิตชาวคลองแบบชาวบ้านไทยๆ ภาพชาวบ้านพายเรือ ก๋วยเตี๋ยวเรือ การประมงในคลอง หาปลา ดักกุ้ง อยู่ทั่วไป หากเป็นช่วงเช้าจะเห็นพระพายเรือเพื่อโปรดสัตว์ สองฝั่งคลองจะมีบ้านเรือนปลูกเรียงราย บางช่วงจะเห็นชาวบ้านยกยอเรียงรายตามสายน้ำ อากาศสดชื่นสบายๆ ทักทายแบบชาวบ้าน ซึ่งไม่เคยมีนักท่องเที่ยวชุดไหนได้ผ่านมาก่อน การเดินทางของเราจึงแปลกและเรียกความสนใจพอสมควร แต่เขาก็ต้อนรับด้วยรอยยิ้มที่อบอุ่น เพราะเราคนไทยด้วยกันครับ
          อาหารการกิน ต้องจำพวกก๋วยเตี๋ยวเรือ หอยทอดเรือ ทุกอย่างล้วนบนเรือ ตลอดเส้นทางจะพบเห็นเรือขายของ ขายขนม ขายกับข้าว ขายผัก สารพัดขาย ดังนั้นเรื่องกินนี้สบายมาก หิวตรงไหนก็แวะกินตรงนั้น แบบธรรมชาติริมคลองอีกตะหาก หรือจะไปนมัสการหลวงพ่อโสธรก่อนแล้วหาของอร่อยๆแถวนั้นก็ได้เช่นกันครับ  
         จุดเด่นที่คนขับเรือแวะให้เราได้ชม ก็ชมบ่อกุ้งกุลาดำ กุ้งก้ามกราม การตีน้ำเลี้ยงกุ้ง เพราะแถวนี้มีจำนวนมาก แวะทักทายชาวบ้านที่ดักกุ้งหาปลาในคลอง ชมชีวิตริมคลองแบบใกล้ชิด นี่คือสิ่งที่พลาดไม่ได้ อ้ออย่าลืมกล้องถ่ายภาพด้วยนะ จะได้เก็บความประทับใจมาแบ่งเพื่อนๆ
          สุดปลายทางก็ ขับเรือออกแม่น้ำบางประกง ทางประตูน้ำท่าไข่ (แปดริ้ว) และขับเรือชมวิวริมแม่น้ำบางประกงไปนมัสการวัดหลวงพ่อโสธร ถือเป็นสุดยอดแล้วน้อยที่จะได้ย้อนรอยคนโบราณนั่งเรือมาไหว้หลวงพ่อโสธรได้แบบเรา (อ่านเรื่องราวหลวงพ่อโสธรคลิกที่นี่) เรือจอดส่งที่ท่าน้ำ เราก็ท่องเที่ยวตามสะดวก แต่อย่าลืมกะเวลานัดแนะให้ดี เพราะประตูน้ำจะปิดตอน 16.30 น. หากไม่ทันก็คงลำบากแน่ๆ เราเองไม่เท่าไรยังนั่งรถกลับได้ แต่เรือน่ะสิ ต้องนอนค้างปากแม่น้ำจนเช้า ประตูเปิดตอนเช้าถึงเข้าได้
          ขากลับอย่าลืมสัมผัสชีวิตชาวนา ชมทุ่งข้าว ช่วงหน้าฝนข้าวออกรวงเหลืองอร่ามสุดสายตา บางท้องนาเป็นข้าวกล้า(ข้าวที่ยังเล็ก) สีเขียวสบายตา เนื่องจากเรานั่งเรือผ่านหลายท้องนาท้องไร่ จึงเลือกได้ว่าจะดูขั้นตอนไหน บางช่วงเห็นเขาเกี่ยวข้าว บางช่วงก็หว่านข้าว ได้ความรู้สึกอีกรูปแบบกับเจ้าเม็ดเล็กๆ ที่ชาวไทยเรากินกันทุกวัน
           ถึงแม้นายสบายเป็นชาวคลองตั้งแต่เด็กเล็ก ก็ยังรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับการได้เดินทางไปวัดหลาวพ่อทางเรือครั้งแรก แต่หากเป็นเพื่อนๆแล้ว คงต้องสนุกกว่าผมแน่ๆ เพราะเพิ่มธรรมชาติและวัฒนธรรมไทยริมคลอง อีกทั้งเรือแปลกๆอีก หวังว่าคงชอบกันนะครับ ไปเที่ยวตามเส้นทางนี้แล้วมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะ :)

ข้อมูลการติดต่อล่องเรือเดินทาง

      ควรติดต่อเรือก่อน!! => เพราะน้ำในคลองไม่ได้มีเต็มให้เรือวิ่งได้ทุกเดือน สามารถติดต่อได้ที่ ลุงแกะโทร 0-9123-5053 
      ราคาเช่าเรือ !! => นั่งให้พอดีต้อง 5 คน ตกคนละ 300 บาท หรือลำละ 1500 บาท ออกเช้ากลับเย็นหรือมืดเลยก็ได้ไม่ว่ากัน
      โดยรถส่วนตัว => นั่งรถตามถนนสายบางนาตลอดมาลงที่คลองบ้านระกาศกิโลเมตรที่ 32 แล้วเลี้ยวลงตรงคอสะพานฝั่งขาขึ้น นำรถไปจอดหน้าร้านชื่อยายหลาน ไม่เสียค่าจอด แต่ก็เดินไปฝากเขาหน่อย และอุดหนุนซื้อน้ำซื้อขนมเพื่อตุนไปลงเรือ (ดูบริเวณที่จอดรถคลิกที่นี่)
      โดยรถประจำทาง => นั่งรถประจำทางกรุงเทพชลบุรี แล้วบอกระเป๋ารถว่าลงบ้านระกาศ กม. 32  (ดูบริเวณที่จอดรถคลิกที่นี่) 





คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียด


โดย:
งาน: งานห้องสมุด
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: http://www.sabuy.com/trip/wcm/rongbote/

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง