[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

อยากพัฒนาอย่ากลัวการประเมิน

                     การประเมินคือการวิเคราะห์เพื่อ “ตีราคาและคุณค่า” การประเมินเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ คนเรามักประเมินผู้คนหรือสิ่งที่รับรู้ดูเห็น โดยใช้เกณฑ์ตามความรู้และประสบการณ์ของตน เมื่อพบเห็นสิ่งใดก็ประเมินคุณค่าแถมบางครั้งตีราคาด้วย เมื่อพบเห็นผู้คนก็ประเมินความรู้ความสามารถและนิสัยใจคอ ถึงคราวจะไปกินข้าวไปซื้อของ ไปเที่ยว ส่งลูกเข้าโรงเรียน ฯลฯ ก็ประเมินว่าที่ไหนดีมีคุณค่าควรแก่การใช้บริการ กล่าวได้ว่า คนเราเป็นนักประเมินตามธรรมชาติ แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่คนเรามักไม่ค่อยประเมิน นั่นคือ “ตนเอง” 
                     การบริหารและการจัดการศึกษาตามแนวทางของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เปิดโอกาสและส่งเสริมให้มีการประเมิน
สถานศึกษา และให้สถานศึกษาประเมินตนเอง จุดหมายของการประเมินคือเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ดังนั้น ครูและคนในวงการศึกษา รวมทั้งประชาชนผู้รับบริการทางการศึกษาต้องมีความรู้ ความเข้าใจการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา และปฏิบัติภารกิจการประเมินให้เป็นไปในกระแสเดียวกัน 
                     ครูและสถานศึกษาแต่ละแห่งมีภารกิจต่างๆ มากมาย ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของการศึกษาใน
สถานศึกษา ประชาชนและสังคมรู้เห็นและตระหนักว่าครูและสถานศึกษาทำอะไร อย่างไร ไม่มีใครอยากเข้าไปเพิ่มภาระให้แก่ครูและสถานศึกษา ทุกคนและทุกฝ่ายอยากเห็นคุณภาพและมาตรฐานที่สูงขึ้นของการศึกษาในสถานศึกษาที่ลูกหลานเขาเล่าเรียนอยู่ จึงอยากให้ครูและสถานศึกษาคิดและทำงานตามศาสตร์และศิลป์แห่งวิชาชีพครู ด้วยความหมายมุ่งมั่นเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ในระหว่างที่ทำงานก็ประเมินตนเองไปเรื่อยๆ ว่าทำอะไร ได้ผลอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคอะไร และควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร 
                     สถานศึกษาแต่ละแห่งทำงานเปรียบได้กับนกสร้างรัง นกแต่ละชนิดสร้างรังตามธรรมชาติของตน ถึงฤดูกาลก็ได้รังกกไข่ออกลูกนกทุกตัวคงพอใจในรังของตน แต่สถานศึกษาไม่ใช่รังนก ครูและผู้บริหารอาจจะพอใจผลงานของตน แต่คนนอกก็มองเห็นและมีสิทธิวิเคราะห์วิจารณ์สถานศึกษาได้ เพราะสถานศึกษาคือหน่วยงานที่ให้บริการแก่ประชาชนและแก่สังคม สถานศึกษาต้องยอมรับการประเมินของผู้อื่น คนไทยมีมารยาทในการประเมิน ย่อมไม่มีใครประเมินเพื่อตำหนิติเตียนสถานศึกษา มีแต่ประเมินเพื่อให้สถานศึกษารู้จักและเข้าใจกระบวนการทำงานของตนเอง เพื่อจะได้พัฒนาให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานสูงขึ้น 
                     จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สถานศึกษาต้องสร้างานพัฒนางานเพื่อประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา และประเมินตนเอง โดยทำงานเป็นระบบเหมือนนกสร้างรังและประเมินรังของตนทำงานไปพร้อมกับวิเคราะห์เพื่อเข้าใจสภาพและปัญหา แล้วสังเคราะห์สร้างสรรค์ทางเลือกเพื่อแก้ปัญหา ทำกิจกรรมใด เมื่อไรได้ผลอย่างไร ให้จดบันทึกไว้เพื่อนำมาประมวลผลและปรับปรุงพัฒนา ครูและสถานศึกษาต้องกล้าประเมินสภาพปัญหาและการทำงานประกันคุณภาพภายในของตน โดยอาศัยข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจเป็นพื้นฐาน ให้มากกว่าการใช้อารมณ์ ความรู้สึกและความเคยชิน 
                     ช่วงเวลาคามที่กำหนดในกฎหมายการศึกษาแห่งชาติใกล้เข้ามาแล้ว การประเมินภายนอกตามมาตรา 49 และ 72 ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2548 การประเมินภายนอกเป็นหน้าที่ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) 
                     บัดนี้ สมศ. มีความพร้อมทั้งบุคลากรและงบประมาณที่จะดำเนินการ สมศ. กำลังรอคอย “คำเชื้อเชิญ” จากสถานศึกษา สิ่งที่เรียกว่าคำเชื้อเชิญไม่ใช่จดหมายหรือบัตรเชิญ แต่สิ่งนั้นคือเอกสารการประเมินตนเองของสถานศึกษา เป็นเอกสารที่บอกเล่าถึงสภาพ ข้อมูล ความจริง ของสถานศึกษาและการปฏิบัติการเพื่อประกันคุณภาพภายในของตน ถ้าจะเทียบกับนกสร้างรัง เอกสารนี้เปรียบได้กับใบบอกว่า บัดนี้รังของข้าพเจ้าเสร็จแล้ว ลูกเต้ากำลังจะออกจากไข่ 
                     ผมทราบและเข้าใจว่าเพื่อนครูทั้งหลายทำงานหนักอยู่แล้ว จงรีบประเมินตนเองและส่งเอกสารการประเมินตนเองให้ สมศ. สมศ.จะจัดส่งคณะผู้ประเมินไปชื่นชมงานและผลงานของท่าน การประเมินภายนอกเป็นเรื่องใหม่ในวงการศึกษาไทย แต่เป็นเรื่องของการสร้างสรรค์แบบกัลยาณมิตรที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยและการปฏิรูปการศึกษา ขอให้เพื่อนครูจงมีความสบายใจที่ได้ร่วมงานนี้. 





คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียด


โดย:
งาน: งานประกันคุณภาพการศึกษา
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: คำหมาน คนไค หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน 2546

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง