[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

การไหว้ครู

                                                                                                     การไหว้ครู 

          คำว่า “ครู” หมายถึง ผู้สั่งสอนศิษย์ ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ คำว่าครูปรากฎเป็นครั้งแรก   ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงในจารึกหลักที่ 1 มีข้อความที่แสดงความหมายของคำว่าครู ในทางเป็น   ผู้สั่งสอนให้รู้บาปบุญคุณโทษและทำความดี  ผู้เป็นครูคนแรกของชีวิต   เราแต่ละคน คือ พ่อ แม่ ซึ่งอาจรวมไปถึง ปู่ ย่า ตา ยาย ที่สอนวิธีการดำเนินชีวิต ตั้งแต่การกินอยู่ หัดเดิน หัดพูด การเล่น กิริยามารยาท   ให้รู้จักการทำมาหากิน ใช้เครื่องมือทำมาหากิน หาแหล่งทรัพยากร ตลอดจนการต่อสู้ป้องกันภัย ไม่เพียง   พ่อแม่เท่านั้น ยังมี พี่ น้อง เพื่อน ญาติ ที่มีประสบการมาก่อนถ่ายทอดให้กันฟัง เพราะฉะนั้น  บ้านก็อาจจะ  ถือได้ว่าเป็นสถานศึกษาแห่งแรก แหล่งศึกษาแห่งต่อมาคือ วัด มีพระเป็นครูผู้สอน โดยท่านจะสอนให้ผู้มา  เรียนหัดอ่านเขียนหนังสือไทยและบาลีตามคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ขณะเดียวกันก็อบรมแนะนำ  ศิษย์ให้   ประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีงามด้วย ผู้ที่มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนคือ เด็กผู้ชาย เมื่อพ่อแม่เห็นลูกหลาน  ตนมีอายุพอสมควรก็นำไปฝากพระเพื่อให้ได้เล่าเรียน ขณะเดียวกันก็ต้องคอยปรนนิบัติพระที่เป็นอาจารย์ของตนด้วย การที่มารับการเรียนรู้และอบรมสั่งสอนจากพระนับเป็นการเตรียมตัวสำหรับการบวชเรียนเมื่อถึงวัยอีกด้วย ส่วนเด็กผู้หญิงก็เรียนงานบ้านงานเรือนต่างๆ เช่น งานการฝีมือ ทำกับข้าว เย็บปักถักร้อย มากกว่าในเรื่องของวิชาความรู้    ความผูกพันระหว่างศิษย์กับครูในสมัยก่อนอาจกล่าวได้ว่ามากกว่าในสมัยปัจจุบัน ในอดีตครูเป็นเหมือนปูชนียบุคคลที่ศิษย์ให้ความรัก เคารพ ยำเกรงเสมอพ่อแม่ของตน     ก็ว่าได้ความรู้สึก   นึกคิดต่อครูว่าเป็นผู้ที่ควรเทิดทูนบูชานี้ เห็นได้จากในไตรภูมิกถาที่บรรยายให้เห็นความน่ากลัวต่อบาปที่ ศิษย์ทำต่อครูอาจารย์ เช่น คนที่ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษไม่ยำเกรงผู้เฒ่าผู้แก่ ไม่รักพี่น้อง ไม่เคารพเชื่อฟังพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ย่อมทำบาปได้ทุกเมื่อเปรียบเสมือนสัตว์เดรัจฉาน และผู้ที่กล่าวโทษใส่ร้ายหรือ   ปรักปรำครูบาอาจารย์และพระสงฆ์ผู้ทรงศีลนั้นจะเกิดเป็นเปรตจำพวกหนึ่งมีร่างกายงดงามดั่งสีทอง แต่อดอยาก    มีปากเหมือนปากหมู จะเห็นได้ว่าคนสมัยก่อนให้ความสำคัญต่อครูบาอาจารย์มากๆทีเดียว คำตักเตือนสั่งสอน   ของครูบาอาจารย์เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับและนำมาปฏิบัติ ในสุภาษิตพระร่วงก็มีข้อความสอนให้เชื่อฟังครูว่า “ครูบาสอน    อย่าโกรธ โทษตนผิดพึงรู้” ธรรมดามนุษย์ทั่วไปมักไม่ชอบให้ใครมาว่ากล่าวติเตียน ชอบแต่จะฟังคำเพราะหูชมเชยอยู่เสมอ แต่คำว่ากล่าวของครูบาอาจารย์ ตลอดจนพ่อแม่จะเป็นคำว่ากล่าวที่หวังให้เราเป็นคนดีอย่างจริงใจ เพราะฉะนั้น   ก็ไม่ควรโกรธถ้าท่านตักเตือน ในนรางกุโรวาทคำกลอน ซึ่งเป็นหนังสือสำหรับผู้ใหญ่ใช้สอนเด็กของกระทรวงธรรมการ   สอนไว้ว่า “จงไว้ใจพ่อแม่แลครูบา อย่ามุสา เบือนบิด ปกปิดกริ่งสารภาพ ผิดพลั้งหลังประวิง ใช่ท่านชิงชังเมื่อไร อยากให้ดี” หนังสือนรางกุโรวาทนี้จัดเป็นตำราอบรมเด็กที่จัดเนื้อหาสาระจากง่ายไปหายาก ตามวัยของเด็ก มีข้อแนะนำผู้ใหญ่ วิธีอบรมสั่งสอนเด็ก   สมัยก่อนครูมักทำโทษนักเรียนด้วยการตีเพื่อสั่งสอน      โดยปกติแล้วจะใช้วิธีนี้ต่อเมื่อจำเป็น เช่น กรณีที่ค่อนข้างร้ายแรงต้องการให้หลาบจำ จะได้ไม่ทำอีก หรือไม่ก็สอนแล้วสอนอีกก็ไม่จำ เอาแต่เล่นอะไรทำนองนี้ ต้องตีกันเสียบ้าง จะได้ตั้งอกตั้งใจเรียนกันมากขึ้น ไม้ที่ใช้ตีคือ ไม้เรียว เชื่อว่าเราส่วนใหญ่คงจะเคยลิ้มรสกันมาแล้วไม่มาก ก็น้อย คำพังเพยที่ได้ยินกันอยู่บ่อยเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี แม้ในปัจจุบันนี้ความคิดเห็นเรื่องการตี    การทำโทษ เด็กจะมีต่างๆกัน บ้างก็เห็นด้วย บ้างก็ไม่เห็นด้วย แต่โบราณไทยเราใช้วิธีนี้เลี้ยงลูกได้ดีกันมาหลายคนแล้ว เพราะเป็นวิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กวิธีหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่เอะอะอะไรก็จะตี ท่านให้พิจารณาว่าควรตีหรือไม่อย่างไรด้วย เห็นได้จากคำกลอนของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ที่กล่าวถึงการทำโทษลูกศิษย์ว่า

            ''ให้เหตุผลครอบงำย่อมทำได้ เด็กผู้ใหญ่ครูศิษย์ไม่ผิดที่

               อบรมด้วยเหตุผลได้คนดี น้ำรักมีเมตตาเป็นยาพอ

               เก็บไม้เรียวห่อไว้ในตู้เหล็ก สำหรับเด็กเกกมะเหรกและเหลือขอ

              ทารกอ่อนเชาว์ไวใช้ลูกยอ แล้วหุ้มห่อด้วยรักจักมีชัย

              ครูเป็นผู้เพ่งจิตวิทยา ให้วิชาด้วยวิธีที่แจ่มใส

              เพื่อศิษย์ล้วนร่าเริงบันเทิงใจ ได้เจริญเชาว์ไวในชีวิต

              การเฆี่ยนตีเป็นวิธีทำลายขวัญ โทษมหันต์คุณมีกะจี้หริด

             ห้ามก้าวหน้าหาหู่อยู่เป็นนิตย์ เป็นยาพิษมีให้ใช้บำรุง''  

          จะเห็นว่าการลงโทษเป็นความจำเป็นก็จริงอยู่ แต่ก็ควรทำด้วยความมีสติและต้องรู้จักเลือกใช้วิธีลงโทษให้เหมาะสมด้วยจึงจะเกิดผลดี    ในสมัยก่อนตั้งแต่ยังไม่มีการฝึกหัดครูเป็นทางการ ใครเก่งด้านไหนก็ตั้งคนนั้นเป็นครูทางนั้น ใครมีวิชาความรู้ มีคุณธรรม ก็จะมีคนมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ การถ่ายทอดวิชาความรู้ของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นครูนี้ มักจะไม่ถ่ายทอดวิชาให้หมด จะยกเว้น “ไม้ตาย” หรือ “ไม้ครู” ไว้ แต่จะให้เฉพาะคนที่พอจะเห็นแววหรือเห็นหน่วยก้านว่าจะสามารถรับหน้าที่สืบทอดแทนตนได้เท่านั้น การเรียนในสมัยนั้น ไม่มีการเสียค่าเล่าเรียน แต่ผู้เป็นศิษย์หรือเป็นนักเรียนต้องรับใช้ปรนนิบัติผู้เป็นครู ต้องเชื่อฟังและเคารพ เพราะฉะนั้นครูจึงเป็นปูชนียบุคคลที่ผู้เป็นศิษย์ต้องเคารพบูชา    

          ในวันทั้งเจ็ดของสัปดาห์นั้น เราถือเอาวันพฤหัสบดีเป็นวันครูตามคติทางฮินดู ที่เชื่อว่าพระพฤหัสบดีมีคุณลักษณะที่เจรจา ไพเราะ บ้างว่ามีเสียงดัง จึงได้นามว่า คีษปติ แปลว่าผู้เป็นใหญ่แห่งการพูด กายของพระพฤหัสบดีมีแสงสว่าง เหลืองดุจบุษราคัม เป็นผู้ให้ความอบอุ่น มีเมตตากรุณาและส่งเสริมในเรื่องของความเฉลียวฉลาดใน  วิทยาการต่างๆ  คุณสมบัติทั้งปวงนี้อาจถือ  ได้ว่าเป็นคุณสมบัติของครู จากความสอดคล้องต้องกันนี้ เราจึงถือเอาวันพฤหัสบดีเป็นวันครูซึ่งเป็นวันมงคล ในสมัยก่อนถ้าพ่อแม่ต้องการจะฝากลูกให้เล่าเรียนหนังสือกับครูบาอาจารย์ก็จะเลือกเอาวันพฤหัสบดีนี้เป็นวันไปฝากลูกเข้าเรียน ต่างจากทุกวันนี้ที่ถือเอาวันที่สะดวกเป็นเกณฑ์ หรือวันที่โรงเรียนกำหนด   

         ในสมัยโบราณ การศึกษาอาศัยวัดและพระเป็นหลัก พ่อแม่จะพาบุตรหลานที่เป็นชายไปฝากพระเพื่อร่ำเรียนเขียนอ่าน ส่วนบุตรหลานที่เป็นหญิงจะให้เรียนรู้งานบ้านการเรือนจากผู้เป็นแม่หรือญาติภายในบ้าน การจะไปฝากตัว  กับพระ จะต้องหาดอกไม้ธูปเทียนใส่พานพร้อมหมากพลูนำไปถวายพระที่ต้องการจะฝากเนื้อฝากตัวด้วยเรียกว่า เป็นการขึ้นครู หรือไว้ครูตามประเพณีไทย    

         ในการไหว้ครู คนไทยต้องใช้ดอกไม้ที่ถือกันว่ามีความหมายเป็นมงคลและเกี่ยวข้องกับสติปัญญา คือ ดอกเข็ม ดอกมะเขือ นอกจากนี้ก็ต้องมีหญ้าแพรก ข้าวตอก พร้อมธูปเทียน ที่ว่าเกี่ยวข้องกับสติปัญญาคือ

          ดอกมะเขือ หมายถึง ความสามารถในการเกิดและแพร่กระจายได้ทั่วไปในทุกที่เปรียบเสมือน  ปัญญาความคิดที่พร้อม จะเกิดและพัฒนาได้อย่างรวดเร็วในทุกเวลาและสถานที่   

          หญ้าแพรก หมายถึง ความเจริญงอกงามอย่างรวดเร็ว คือ หญ้าแพรก แม้ในหน้าแล้งจะเหี่ยวเฉาไปบ้าง แต่ถ้าได้รับน้ำ หรือน้ำฝนเมื่อใด ก็พร้อมจะเจริญงอกงามในทันทีเปรียบเสมือนเด็กผู้มารับการเล่าเรียน เมื่อได้รับการอบรมสั่งสอนจากครูอาจารย์ ก็พร้อมที่รับรู้และนำไปปฏิบัติให้เกิดผลดีทั้งต่อตนเองและสังคมต่อไป

           ดอกเข็ม หมายถึง ความแหลมคมประดุจเข็ม เปรียบดังสติปัญญาที่มีความแหลมคมราวเข็มหรืออาวุธที่จะใช้ป้องกันตนได้ในทุกโอกาส

          ข้าวตอก  หมายถึง   ปัญญาความคิดที่แตกฉาน เพิ่มพูนมากขึ้นกว่าเดิม    เช่นเดียวกับข้าวตอกที่เมื่อโดน ความร้อนจะแตก พองออกและมีปริมาณมากขึ้น  

           ตามประเพณีไทยนั้น เราให้ความสำคัญกับพ่อแม่และครูบาอาจารย์ เพราะถือเป็นผู้มีบุญคุณ ต้องให้ความเคารพและรู้จักบุญคุณ โดยส่วนของครูนั้นเปรียบเสมือนพ่อแม่ที่สองก็ว่าได้ ถ้าศิษย์ผู้ใดดูถูกดูหมิ่นครูบาอาจารย์ของตน เชื่อกันว่าจะทำให้    ้วิชา ความรู้ ในตัวของศิษย์นั้นเสื่อมสูญไป  นอกจากจะศึกษาหาความรู้จากครูบาอาจารย์ผู้สั่งสอนโดยตรงแล้วยังมีการศึกษาหา   ความรู้   โดยอาศัยการจดจำจากผู้อื่นแล้วนำมาใช้ โดยที่ผู้สอนก็ไม่ได้รับรู้ว่าคนผู้นั้นเป็นศิษย์ของตน แต่ผู้ที่แอบจดจำความรู้เขา มานั้นก็ให้ความเคารพนับถือแก่ผู้ที่ให้ความรู้ลักษณะนี้เช่นกัน ครูลักษณะนี้เรียกว่า ครูพัก-ลักจำ  หรือ ครูพักอักษร ฉะนั้น ในพิธีกรรม “ไหว้ครู” โดยเฉพาะในท้องถิ่นจะมีการไหว้ครูพักลักจำด้วย ดังที่ สมบัติ พลายน้อย ได้ยกตัวอย่าง บทไหว้ครูบางบทของนักเพลงพื้นบ้านก่อนเริ่มการแสดงในหนังสือปกิณกะประเพณีไทย ดังนี้

            สิบนิ้วลูกจะประนม ถวายบังคมขึ้นเหนือศรีษะ

            ต่างดอกไม้ธูปเทียน ขึ้นเหนือเศียรบูชาพระ

            ไหว้ทั้งครูเฒ่าที่เก่าก่อน ได้ฝึกสอนให้มีมานะ

            ทั้งโทนทับกระจับปี่ ที่ดีดสีเป็นจังหวะ

            จะไหว้ผู้รู้ “ครูพัก” ทั้งคุณเอกอักขระ

            ไหว้ปิตุราชมาตุรงค์ ด้วยจิตจำนงอุตสาหะ''   

            การให้ความสำคัญกับการไหว้นั้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นระยะเวลาที่  สังคมไทย มีโรงเรียนหลวงเกิดขึ้น บรรดาโรงเรียนหลวงเหล่านี ้ได้จัดให้นักเรียนกล่าว คำนมัสการบูชาคุณพระรัตนตรัย ในตอนเช้าเมื่อเริ่มเข้าเรียน เมื่อเรียนเสร็จในช่วงเช้าจะกล่าวคำนมัสการคุณบิดามารดา ในช่วงบ่ายก่อนเข้าเรียนจะกล่าว คำนมัสการครูและเมื่อเลิกเรียนตอนเย็จะกล่าวคำนมัสการคุณพระมหากษัตริย์และเทวดา    พิธีไหว้ครูของ โรงเรียนต่างๆในปัจจุบันเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2486 โดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้กำหนด แบบพิธีไหว้ครู ให้ทุกโรงเรียนปฏิบัติเป็นแบบเดียวกันในภาคต้นของปีการศึกษา ต่อมาได้กำหนดเอาวันพฤหัสบดีของ เดือนมิถุนายนเป็นวันไหว้ครูของทุกโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และได้มีการประกาศให้ถือเอา  วันที่ 16  มกราคม ของทุกปีเป็นวันครูในเวลาต่อมา   

           การไหว้ครูตามความหมายที่แท้จริงอยู่ที่การแสดงความกตัญญูต่อครูของลูกศิษย์ ปลูกจิตสำนึกให้แก่เด็กและ เยาวชนได้รู้จักการรู้คุณคน ประพฤติตนให้อยู่ในลู่ทางที่ดีงาม มิใช่เห็นครูเป็นเพียงคนที่ได้รับค่าจ้างให้มาสอนไปวันๆ และเห็นพิธีกรรมไหว้ครูเป็นเพียงการแสดงอย่างหนึ่งที่ต้องประกวดประขันดอกไม้ว่าของใครสวยกว่า แพงกว่า โดยมิรู้ค่าและสาระที่แท้จริงแม้แต่น้อย     การไหว้ครูมีหลายรูปแบบ ที่กล่าวมาแล้วก็เป็นการไหว้ครูบา อาจารย์ ทั่วไปที่ประสิทธิประสาทวิชาความรู้เท่าที่ทำให้เราเขียนอ่านกันได้ ยังมีครูเฉพาะทางอีกมากมาย เช่น ครูโขนละคร     ครูดนตรี     ครูกระบี่กระบอง ครูมวย ครูนาฎศิลป์ ครูช่างด้านต่างๆ ครูเหล่านี้เป็นครูที่ประสิทธิประสาวิชาการที่จะนำไป             ประกอบอาชีพ หรือ การแสดงต่างๆอีกมากมาย พิธีไหว้ครูเหล่านี้ก็จะมีรายละเอียดและพิธีกรรมที่แตกต่างออกไป เมื่อระบบการศึกษาพัฒนาขึ้น มีโรงเรียนเกิดขึ้นมามาก ก็มีคนที่ประกอบอาชีพเป็นครูจำนวนมากเช่นเดียวกัน ในที่สุดก็เกิดการรวมตัวของบรรดาผู้มีอาชีพครู เรียกว่า “วิทยาทานสถาน” ผู้เป็นวิทยากรคนแรกคือ 
นายสนั่น         เทพหัสดิน ณ อยุธยา ต่อมาคือเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสยาบดีกระทรวงธรรมการ ในรัชกาลที่ 6 ต่อมาจากนั้นก็มีสภาไทยาจารย์ เป็นสภาสำหรับอบรมและประชุมครู มีนายตรวจแขวง แขวงบางกอกน้อย ธนบุรี ได้รับอนุญาต จากกระทรวงธรรมการให้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2443 ที่วัดใหม่วินัยชาญ หรือวัดเทพพลู   แขวงบางกอกน้อย โดยนายตรวจแขวงเป็นผู้อบรมเองทุกวันพระซึ่งเป็นวันหยุดราชการในเวลานั้น นายตรวจแขวง   คือ ผู้ที่สำเร็จการศึกษา ได้ประกาศนียบัตรจากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ นับว่าเป็นผู้มีความรู้ดี จึงได้รับการแต่งตั้งจากกรมศึกษาธิการ ให้มีหน้าที่ออกตรวจโรงเรียนตามท้องที่ที่จัดเป็นแขวงๆ โดยตรวจสถานที่ว่าเหมาะสม ถูกสุขอนามัยหรือไม่ หรือมีอุปสรรค อะไร นอกจากนี้ยังตรวจบัญชีเรียกชื่อ ทะเบียนสมุด หมายเหตุ และเข้าดูการสอนของครูในชั้นต่างๆด้วย เมื่อครบสัปดาห์นายตรวจแขวงต้องทำรายงานการตรวจโรงเรียนเสนอเจ้ากรมตรวจ กรมศึกษาธิการ ขณะนั้นคือ หลวงไพศาลศิลปสาตร เจ้ากรมก็บันทึกข้อที่จะต้องแก้ไขตักเตือนครู พอถึงวันเสาร์ก็มีการประชุมครูทุกโรงเรียนเชิญ       ครูมาฟังคำชี้แจง และตักเตือนแนะนำให้รู้ทางแก้ไขเพื่อให้การจัดโรงเรียนและการสอนดีขึ้น การประชุมเช่นนี้ต่อมาเรียกว่า ประชุมสามัคยาจารย์ เป็นที่นิยมของครูจำนวนมาก สถานที่ที่ใช้ประชุมคือ โรงเรียนอรุณราชวราราม หรือโรงเรียนทวีธาภิเษก ในปัจจุบัน ต่อมาสามัคยาจารย์ได้พัฒนาขึ้นเป็นสามัคยาจารย์สมาคม เมื่อ พ.ศ. 2447 ตั้งอยู่ในโรงเรียนมัธยมสวนกุหลาบ ตราของสมาคมเป็นภาพประดิษฐ์มีดอกกุหลาบ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบซึ่งเลิกไปแล้ว มีมือสองมือ     จับกันแน่น หมายถึง ความสามัคคี และมีรูปเครื่องดนตรี เครื่องมืองานศิลปะ และเครื่องมือสำหรับเล่นกีฬา มีพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล) ต่อมาเป็นเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ  สมัยนั้นเป็นนายก   คนแรกของสมาคม วัตถุประสงค์สำคัญของสามัคยาจารย์สมาคม คือ การพยายามทำให้ครูองอาจ สง่างามทั้งในด้านความรู้ ร่างกายและจิตใจ สามัคายาจารย์สมาคม ต่อมาก็ได้พัฒนาขึ้นเป็นคุรุสภา เป็นสภาหนึ่งในกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ พ.ศ. 2502 ในสมัยที่ ม.ล. ปิ่น มาลากุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและสามัคยาจารย์สมาคมก็กลายเป็น สามัคายาจารย์สโมสร         ไป คุรุสภามีหน้าที่หลัก 3 ประการ คือ ส่งเสริมสวัสดิการและพิทักษ์สิทธิครู ส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพครู และบริหารสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา





http://www.thaistudy.chula.ac.th/radiothai/teacher.htm


โดย:
งาน: งานห้องสมุด
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: http://www.thaistudy.chula.ac.th/radiothai/teacher.htm

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง