|
|
มลพิษทางอากาศ เมื่อฟ้าไม่สดใส จิตใจก็ห่อเหี่ยว เมื่อในอากาศมีมลพิษ สุขภาพก็เสื่อมโทรม และนี่เป็นปัญหาหนึ่งที่คุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมือง ภายใต้ท้องฟ้าผืนกว้างของเมืองไทย ประชาชนชาวไทยได้เผชิญหน้าและถูกคุกคามจากภาวะมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะในเขตเมืองมหานคร อย่างเช่น กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ในปี 2539 กรุงเทพมหานคร ถูกกล่าวหาว่าเป็นเมืองมหานครที่มีปัญหาฝุ่นละอองในบรรยากาศสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก นั่น...เป็นภาพลบที่สะเทือนความรู้สึกของประชาชนทั้งประเทศ ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วจะไม่เป็นเช่นนั้นก็ตาม แต่ปัญหามลพิษทางอากาศในขณะนั้นก็อยู่ในระดับรุนแรงและน่าวิตก ทั้งปริมาณสารตะกั่ว และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ นอกเหนือไปจากวิกฤติการณ์ของมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในเขตเมืองแล้วยังมีพื้นที่อื่นๆ ที่ประสบกับปัญหาภาวะมลพิษอากาศรุนแรง เช่น พื้นที่แม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งมีปัญหาก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นต้น ทำให้หน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบต่างเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อลบภาพสะท้อนที่เกิดขึ้น ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ร่วมแรงร่วมใจในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ปัจจุบันความรุนแรงของปัญหาได้บรรเทาเบาบางลงไปมาก ไม่ว่าจะเป็นสารตะกั่วในบรรยากาศที่พบ ค่าต่ำกว่ามาตรฐาน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และฝุ่นละอองซึ่งมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คุณภาพอากาศดีขึ้นตามลำดับ ฟ้าที่หม่นหมองจึงกลับมาสดใสเป็นสีครามอีกครั้ง ฝุ่นละออง ฝุ่นละออง เป็นอนุภาคมลสารที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน จะมีผลรุนแรงต่อปอดทำให้เกิดอาการปอดอักเสบเรื้อรังหรือฉับพลันได้ โดยผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืดจะปรากฎอาการรุนแรง ปัญหาฝุ่นละอองในเขตเมืองเป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่มีความรุนแรงอยู่ในระดับต้นๆของเมืองไทย แต่ก็ได้รับการแก้ไขปัญหาจนประสบความสำเร็จ จากปัญหาที่เข้าขั้นรุนแรงมาก จนถึงปัจจุบันเกือบทุกพื้นที่มีปริมาณฝุ่นละอองลดลง และส่วนใหญ่อยู่ในระดับมาตรฐาน การผันแปรของปริมาณฝุ่นละอองในบรรยากาศ มักจะเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะเศรษฐกิจและกิจกรรมการพัฒนาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ รวมทั้งปัญหาการจราจร การพัฒนาและเติบโตที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของชุมชนเมือง เช่น กรุงเทพมหานคร ทำให้ปริมาณฝุ่นละอองในบรรยากาศมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับแต่ปี 2532 เป็นต้นมา จนเมื่อในปี 2535 ปริมาณฝุ่นละอองริมถนนในกรุงเทพมหานครมีปริมาณสูงถึง 3.3 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานถึง 10 เท่า และลดระดับลงในปี 2536-2537 เมื่อทางด่วนพิเศษขั้นที่ 1 ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตามปริมาณฝุ่นละอองได้กลับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งจนเข้าสู่ระดับวิกฤติในช่วงปี 2538-2539 ซึ่งเป็นเวลาที่เศรษฐกิจ เฟื่องฟู มีการก่อสร้างโครงการต่างๆ มากมาย เช่น โครงการก่อสร้างทางด่วนพิเศษขั้นที่ 2 โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าธนายง (BTS) โครงการรถไฟฟ้าโฮปเวลล์ รวมไปถึงการก่อสร้างอาคารสูงต่างๆ และปริมาณการจราจรที่หนาแน่นในพื้นที่เขตชั้นในของกรุงเทพมหานคร การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองได้เริ่มอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2538 โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานครและชุมชนในประเทศไทยขึ้น พร้อมกับได้จัดทำแผนปฏิบัติการเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพมหานคร โดยยึดหลัก 3 ประการ คือ ควบคุมการระบาย ลดแหล่งกำเนิด และประชาสัมพันธ์ ซึ่งได้ก่อให้เกิดการดำเนินงานตรวจจับรถที่มีมลพิษเกินมาตรฐาน มีการตรวจสอบการก่อสร้างอาคาร ถนน และระบบขนส่งมวลชนให้มีการปฏิบัติที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง ตรวจจับรถบรรทุกขนส่งวัสดุก่อสร้างให้มีการทำความสะอาดก่อนวิ่งออกสู่ท้องถนน จัดเจ้าหน้าที่และรถล้าง กวาด และดูดสิ่งสกปรกบนพื้นถนนอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการปรับปรุงบาทวิถี ทางเท้า จัดระเบียบหาบเร่/แผงลอย และปลูกพืชคลุมดินในบริเวณพื้นที่ว่างบนเกาะกลางถนน ทำให้ปริมาณฝุ่นละอองลดการฟุ้งกระจายลง รวมไปถึงการจัดประชาสัมพันธ์และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการลดปริมาณฝุ่นละออง นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลทำให้การระบายควันดำของรถต่างๆ ลดลง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยของประเทศในช่วงปี 2540-2541 และนายพิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในสมัยนั้น ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รวมถึงภาครัฐมีมาตรการจัดการที่เข้มงวด ทำให้แนวโน้มของฝุ่นละอองในบรรยากาศมีระดับลดลงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ปัญหาดังกล่าวนี้แม้จะได้รับการแก้ไขจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม แต่บางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครก็ยังคงมีปัญหาฝุ่นละอองปรากฎให้เห็นอยู่ โดยเฉพาะพื้นที่เขตชั้นในที่มีการจราจรหนาแน่นสูง และมีรถโดยสารประจำทางโดยเฉพาะรถร่วมบริการของภาคเอกชนที่ขาดการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ เข้าไปวิ่งให้บริการซึ่งได้ระบายควันดำออกมาปริมาณมาก เป็นผลให้บริเวณริมถนนของพื้นที่ชั้นในยังคงมีฝุ่นละอองสูง อย่างไรก็ตามกรมควบคุมมลพิษ และกรุงเทพมหานครกำลังพยายามเร่งรัดการแก้ไขปัญหานี้อย่างเด็ดขาด เพื่อให้มลพิษจากฝุ่นละอองในกรุงเทพมหานครหมดไปอย่างถาวร สารตะกั่ว สารตะกั่ว เป็นสารพิษที่มีฤทธิ์ทำลายระบบประสาท และมีผลต่อกระบวนการรับรู้และการพัฒนาสติปัญญาของมนุษย์ เมื่อ 10 ปีก่อน สารตะกั่วในบรรยากาศมีปริมาณค่อนข้างสูงและอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในเขตเมือง เช่นกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีปัญหาการจราจรหนาแน่น ปริมาณสารตะกั่วในบรรยากาศมีผลมาจากการสะสมของควันพิษจากการจราจรเป็นหลัก เนื่องจากขณะนั้นน้ำมันเบนซินที่ใช้กับเครื่องยนต์มีส่วนประกอบของสารตะกั่วปะปนอยู่ ในปี 2533 พบปริมาณสารตะกั่วสะสมบริเวณริมถนนในเขตกรุงเทพมหานคร สูงถึง 5.69 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าระดับมาตรฐานถึง 4 เท่า การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุจึงถูกนำมาใช้สำหรับกรณีของสารตะกั่ว และที่สำคัญจะต้องยกเลิกการใช้น้ำมันที่มีสารตะกั่วปะปนอยู่อย่างสิ้นเชิง กรมทะเบียนการค้า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และกรมควบคุมมลพิษ จึงได้ประสานงานร่วมกันในการกำหนด มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว โดยเริ่มต้นได้ทดลองใช้และลดปริมาณสารตะกั่วในน้ำมันเบนซิน จากปี 2532 ได้ลดปริมาณสารตะกั่วในน้ำมันเบนซินทั้งชนิดธรรมดาและพิเศษ จาก 0.85 กรัม/ลิตร ลงเหลือ 0.45 กรัม/ลิตร ปี 2533 ลดลงเหลือ 0.40 กรัม/ลิตร ปี 2536 ลดลงเหลือ 0.15 กรัม/ลิตร และในปี 2537 ได้เปลี่ยนน้ำมันเบนซินธรรมดาทั้งหมดเป็นน้ำมันไร้สารตะกั่ว สำหรับเบนซินชนิดพิเศษได้เปลี่ยนเป็นไร้สารตะกั่วทั้งหมดในปี 2539 ทำให้แนวโน้มปริมาณสารตะกั่วริมถนนมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากการลดปริมาณสารตะกั่วในน้ำมันแล้ว สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้จัดทำแผนรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อแขนงต่างๆ ให้ประชาชนรู้จักน้ำมันไร้สารตะกั่วและหันมาใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วมากขึ้น โดยในปี 2534 ได้จัดทำการประชาสัมพันธ์โดยใช้มนุษย์ตะกั่วเป็นตัวเอกในการนำเสนอเรื่องทำให้น้ำมันไร้สารตะกั่วเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และในช่วงแรกของการรณรงค์ได้ปรับลดภาษีน้ำมันไร้สารตะกั่วลงต่ำกว่าราคาปกติเพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วมากขึ้น รวมทั้งการเติมสาร additive ในน้ำมันไร้สารตะกั่วเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้รถยนต์เก่า ว่าหากใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วแล้วจะไม่ทำให้เกิดปัญหากับเครื่องยนต์ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องดังกล่าวทำให้ประชาชนมีความเข้าใจและเห็นความสำคัญถึงปัญหาพิษภัยจากน้ำมันที่มีสารตะกั่วปะปน ปัจจุบันน้ำมันเบนซินที่ใช้กันอยู่จึงเป็นน้ำมันไร้สารตะกั่วทั้งหมดส่งผลให้ปริมาณสารตะกั่วในบรรยากาศต่ำกว่าระดับมาตรฐานมาก ผลสำเร็จของการลดปริมาณสารตะกั่วในบรรยากาศนี้ แสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานที่จริงจังและต่อเนื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ โดยเฉพาะความตั้งใจจริงของเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ที่อดทนต่อปัญหาอุปสรรค และแรงคัดค้านของกลุ่มคนบางกลุ่ม จนในที่สุดก็สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้สำเร็จ นอกจากนี้แนวทางของการดำเนินงานแก้ไขปัญหาซึ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบเก่าๆ ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการแก้ไขปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นมลพิษที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ และได้ชื่อว่าเป็น ''มลพิษไร้สีไร้กลิ่น'' หรือ ''ฆาตรกรเงียบ'' หากมนุษย์ได้รับในปริมาณมากจะทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจนและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต สำหรับในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเมืองหลักต่างๆ แหล่งกำเนิดหลักของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์มาจากรถต่างๆ ที่วิ่งอยู่บนท้องถนน และเครื่องยนต์เบนซินที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในภาวะการจราจรหนาแน่นและติดขัด ซึ่งทำให้เกิดการสะสมตัวของมลพิษในปริมาณมาก การแก้ไขปัญหาก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2536 โดยมีการบังคับใช้อุปกรณ์ขจัดมลพิษในระบบไอเสียรถยนต์เบนซินใหม่ที่ใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วให้ติดตั้งอุปกรณ์แปรสภาพไอเสีย หรือ Catalytic Converter เพื่อลดการระบายก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในบรรยากาศ และบริเวณท้องถนนเริ่มลดปริมาณลง อย่างไรก็ตามในปี 2537 ปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ยังเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมาตรการในการบังคับใช้ Catalytic Converter ต้องดำเนินการต่อเนื่องจากการยกเลิกใช้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วก่อน ช่วงแรกของการปรับเปลี่ยนบนท้องถนนทั่วไปจึงยังคงมีรถยนต์เก่าที่ไม่ได้มีการติดตั้ง Catalytic Converter วิ่งอยู่เป็นจำนวนมาก ครั้นในปี 2538 เมื่อปริมาณรถยนต์ใหม่ที่ติดตั้ง Catalytic Converter มากขึ้น ปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จึงค่อยๆลดลง จนปัจจุบันอยู่ในระดับเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ยังได้จัดทำมาตรการต่างๆ ควบคู่ไปกับการติดตั้งระบบอุปกรณ์ขจัดมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดมาตรฐานการระบายมลพิษจากไอเสียรถยนต์ โดยกำหนดเป็นมาตรฐานสำหรับรถยนต์ใหม่ตามมาตรฐานของกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่ ปี 2535 พร้อมกับมีการปรับปรุงให้มีความเข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันรถยนต์ใหม่มีการระบายมลพิษอยู่ในระดับต่ำมาก สำหรับรถจักรยานยนต์ใหม่นั้นได้มีการปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษจากไอเสียให้มีความเข้มงวดมากขึ้นตามลำดับ และส่งเสริมให้มีการผลิตและใช้รถจักรยานยนต์ 4 จังหวะ ที่มีการระบายมลพิษต่ำ รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเบนซินโดยปรับปริมาณ Oxygenate เพื่อช่วยให้เครื่องยนต์เผาไหม้ได้สมบูรณ์มากขึ้น และการดำเนินโครงการ ''คลินิกไอเสีย'' ซึ่งเป็นการอบรมช่างเทคนิคประจำอู่ซ่อมรถให้สามารถปรับแต่งและซ่อมเครื่องยนต์เพื่อลดมลพิษ ตลอดจนการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนดูแลรักษาสภาพรถ ผลจากการดำเนินงานในหลายๆ มาตรการข้างต้น ทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในบรรยากาศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ส่วนใหญ่เกิดจากการสันดาปของเชื้อเพลิงที่มีองค์ประกอบของกำมะถัน เป็นก๊าซที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพโดยทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ผิวหนัง และเยื่อบุตา หากรับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากและเป็นเวลานานจะมีผลต่อหลอดลม และอาจทำให้ถึงตายได้ ในปี 2535 มลพิษทางอากาศจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ได้เป็นที่รู้จักและโด่งดังไปทั่วทั้งประเทศ เมื่อโรงไฟฟ้าแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ระบายก๊าซดังกล่าวออกสู่บรรยากาศในระดับสูง โดยตรวจพบ เฉลี่ย 1 ชั่วโมง สูงสุด 3,418 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่แม่เมาะเจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก พืชผลและสัตว์เลี้ยงได้รับความเสียหาย และอาจกล่าวได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นครั้งแรกที่โครงการขนาดใหญ่ของรัฐเป็นผู้ที่สร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมในระดับที่รุนแรงที่สุด การดำเนินการแก้ไขปัญหา ได้เริ่มตั้งแต่ปี 2535 โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะมลพิษ และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมบริเวณโรงไฟฟ้าแม่เมาะขึ้น และให้กรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน และการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ปัญหาเร่งด่วนที่ทำในขณะนั้นก็คือ ลดอัตราการผลิตกระแสไฟฟ้าชั่วคราวในช่วงเวลาที่บรรยากาศไม่เหมาะสม เพื่อลดปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเพื่อเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ดำเนินการติดตั้งระบบกำจัดก๊าซ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Flue Gas Desulfurization : FGD) ซึ่งมีการลงทุนเกือบหมื่นล้านบาท กำหนดมาตรฐานเบื้องต้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศ เฉลี่ย 1 ชั่วโมง ไม่เกิน 1,300 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร รวมทั้งการกำหนดมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ผลจากการดำเนินงานต่างๆ ทำให้ปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในปี 2541 ปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในพื้นที่แม่เมาะได้เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง อันเนื่องมาจากข้อผิดพลาดในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และขาดการเตรียมพร้อมในการรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งนับแต่นั้นมาปัญหาดังกล่าวก็ได้รับการแก้ไขและมีความระมัดระวังในการปฏิบัติงานมากขึ้น โดยปัจจุบันพบว่าปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์มีปริมาณต่ำกว่ามาตรฐาน เฉลี่ย 1 ชั่วโมง 780 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ผลจากการดำเนินงานแก้ไขปัญหาก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในพื้นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะนี้ ถึงแม้ว่าประชาชนในพื้นที่บางส่วนจะยังมีความวิตกกังวลอยู่มาก ว่าอาจจะเกิดปัญหามลพิษทางอากาศขึ้นมาอีกในอนาคต แต่ในภาพรวมแล้วปัญหาก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในพื้นที่แม่เมาะก็ได้รับการแก้ไขจนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะสามารถปรับลดปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศ ให้อยู่ในระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไปได้ นอกจากการแก้ไขปัญหาก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในพื้นที่แม่เมาะ จังหวัดลำปางแล้ว ยังมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ โดยการปรับลดปริมาณกำมะถันที่ผสมในน้ำมันเตาลง สำหรับน้ำมันเตาชนิดที่ 1 และ 2 กำหนดให้มีกำมะถันไม่เกินร้อยละ 2 โดย น้ำหนัก จากเดิมกำหนดไม่เกินร้อยละ 2.5 และ 3 น้ำมันเตาชนิดที่ 3 และ 4 กำหนดให้มีไม่เกินร้อยละ 3 จากเดิมซึ่งได้กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 3.2 นอกจากนี้ยังได้กำหนดพื้นที่บังคับใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำในหลายพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา กระบี่ และภูเก็ต การดำเนินการ ดังกล่าวนี้คาดว่าจะทำให้ปริมาณการระบายก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ของประเทศลดลงกว่าร้อยละ 33 ตัวอย่างความสำเร็จของการจัดการมลพิษทางอากาศเหล่านี้ ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายาม ความร่วมมือร่วมใจ และความตั้งใจอย่างแท้จริงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบุคคลต่างๆ ที่ยอมทุ่มเท สละเวลา ซึ่งควรค่าแก่การยกย่อง และเป็นแบบอย่างที่ดีของการดำเนินงานจัดการมลพิษสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามความสำเร็จที่เกิดขึ้นใช่ว่าจะเสร็จสิ้นเพียงแค่นี้ ตราบใดที่การพัฒนาต่างๆ ยังไม่หยุดยั้งปัญหาอีกนานับประการย่อมรออยู่เบื้องหน้า การดำเนินงานแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจึงยังคงต้องดำเนินอยู่ต่อไป เพื่อคุณภาพอากาศที่ดี และลมหายใจที่สะอาดของประชาชนชาวไทย |
คลิกที่นี่ |
โดย: งาน: งานห้องสมุด อ้างอิงแผนงาน : - อ้างอิงโครงการ : - แหล่งที่มา: http://www.pcd.go.th/Information/Success/air.htm |
Vote | |
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อฉัน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
มีประโยชน์ต่อทุกคน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |