|
|
อารมณ์อันเกิดจากอาหาร
อาหาร เห็นหัวเรื่องอย่าเพิ่งคิดว่า เป็นอารมณ์โมโห ที่เกิดจากการสั่งอาหารแล้ว ได้ช้าบ้าง ได้มาแบบผิดๆ บ้าง แต่เรื่องนี้ เป็นเรื่องของอารมณ์ที่เป็นผลจากการรับประทานอาหารจริงๆ เวลาที่คุณโมโหหรืออารมณ์ไม่ดี เคยมีใครยื่นช็อกโกแลตให้คุณบ้างมั้ย ? หรือแม้แต่การส่งน้ำเย็น ขนมหวาน ให้ทาน พร้อมคำพูดว่า “ดื่มน้ำก่อน ทานนี่ก่อน จะได้ใจเย็นๆ” การกระทำเช่นนี้ ใช่ว่าเขาจะทำกันไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะในความเป็นจริงนั้น อาหาร และอารมณ์มีความสัมพันธ์กันอย่างค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากสมองจะสร้างสารเคมีที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณของระบบประสาทขึ้นจากสารอาหารที่ได้รับ มีการศึกษาพบว่า อาหารบางอย่างมีผลต่อการสร้างและการปล่อยตัวส่งสัญญาณประสาทบางชนิดในร่างกาย ก็เท่ากับว่าอาหารมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และพฤติกรรมของคน เช่น อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต แป้ง และน้ำตาล มีส่วนในการเพิ่มระดับของสารซีโรโทนิน ซึ่งเป็นตัวส่งสัญญาณประสาทที่มีคุณสมบัติทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ช่วยในการนอนหลับและคลายอาการซึมเศร้าบางอย่าง ฉะนั้น คนที่รับประทานอาหารประเภทนี้ จึงมักรู้สึกสงบและง่วงนอน ก็เพราะร่างกายมีระดับของสารซีโรโทนินเพิ่มขึ้นนั่นเอง หรืออย่างการรับประทานช็อกโกแลตแล้วรู้สึกว่าอารมณ์ดี สบายใจ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากฤทธิ์ของเฟนิลเอธิลามีน ซึ่งเป็นสารเคมีในโกโก้ที่ใช้ทำช็อกโกแลต และเป็นสารที่สมองสามารถสังเคราะห์เองได้ แต่การจะหลั่งสารนี้ออกมาก็ต่อเมื่อมีสิ่งที่มากระทบอารมณ์ ดังนั้น เมื่อรับประทานช็อกโกแลตเข้าไป ร่างกายก็จะได้รับสารเฟนิลเอธิลามีน โดยที่ร่างกายอาจไม่ได้มีสิ่งใดมากระทบอารมณ์ จึงทำให้รู้สึกอารมณ์ดี สบายใจขึ้นไปอีก นอกจากนั้นในช็อกโกแลตยังมีสารกระตุ้นอื่นๆ เช่น คาเฟอีน ซึ่งจะทำให้ร่างกายมีความตื่นตัวและกระปรี้กระเปร่าขึ้น ตัวอย่างข้างต้นนี้ เป็นเรื่องของอารมณ์ที่เกิดเพราะร่างกายได้รับสารนั้นๆ เพิ่มมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากร่างกายเกิดขาดสารอะไรสักอย่าง ร่างกายก็อาจแสดงออกทางอารมณ์ได้เช่นกัน กรณีการขาดวิตามินบีชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น การขาดวิตามินบี 6 ซึ่งเชื่อว่าภาวะนี้มักจะเกิดกับผู้หญิงในช่วงก่อนมีประจำเดือน เนื่องจากการย่อยสลายของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ตับในช่วงนี้จะมีผลกระทบต่ออารมณ์ของผู้หญิง ฉะนั้น การขาดวิตามินบี 6 จึงทำให้รู้สึกหงุดหงิดและเครียดได้ การที่ร่างกายขาดน้ำตาลหรือมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำก็ทำให้อารมณ์แปรปรวนได้เหมือนกัน เนื่องจากการรับประทานอาหารไม่เป็นเวลาหรือการอดอาหารเป็นเวลานาน ล้วนส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อเป็นเช่นนั้นสมองก็จะใช้สารคีโทน ซึ่งเป็นสารที่ได้จากการย่อยสลายไขมันมาเป็นพลังงานทดแทนน้ำตาลกลูโคสที่มีระดับลดลง เพราะร่างกายไม่ได้รับเพิ่มจากอาหาร การที่ร่างกายดึงเอาสารคีโทนมาใช้นั้น จะก่อให้เกิดความรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ หากใครสักคนจะชวนคุณไปรับประทานอะไรสักอย่าง หรือทานอาหารมื้อหนักๆ สักมื้อ ด้วยเหตุผลเพื่อคลายเครียด คุณก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ร่างกายเขาเรียกร้อง บางทีอารมณ์อย่างนี้ คุณก็มีเหมือนกันไม่ใช่หรือ ? ข้อมูล...นิตยสารใกล้หมอ |
http://www.pop.co.th/health/content.phtml?oldid=2189&cid=16 |
โดย: งาน: งานห้องสมุด อ้างอิงแผนงาน : - อ้างอิงโครงการ : - แหล่งที่มา: http://www.pop.co.th/health/content.phtml?oldid=2189&cid=16 |
Vote | |
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อฉัน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
มีประโยชน์ต่อทุกคน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |