[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ดินเปรี้ยว

                                                                                                       ดินเปรี้ยว
 

            เนื่องจากพื้นที่ที่ดินเปรี้ยวหรือดินที่มีระดับความเป็นกรดจัดส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม ซึ่งเหมาะแก่การทำนา  แต่พื้นที่เหล่านี้ให้ผลผลิตอยู่ในระดับต่ำไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูง และในขณะเดียวกันทรัพยากรที่ดินมีอยู่อย่างจำกัด จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะได้มีการส่งเสริมให้มีการปรับปรุงและบำรุงดิน  เพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเพียงพอต่อความต้องการของประชากร

ความหมายของคำว่า  ดินเปรี้ยว

                        ดินเปรี้ยว (acid sulphate soils)  หรือดินกรดจัด  หมายถึงดินที่อาจจะมีหรือกำลังมีหรือเคยมีกรดกำมะถันอยู่ในชั้นหน้าตัดของดิน (soil profile)  และจะมีลักษณะของจุดประสีเหลืองฟางข้าว (Jarosite) อยู่ในชั้นล่างด้วย  ซึ่งดินมีสภาพเป็นกรดจัดเป็นปัญหา  อุปสรรคต่อการปลูกพืช

                        นอกจากนี้ยังมีดินสองประเภทซึ่งได้รวมอยู่ในดินเปรี้ยว  คือ

                        ๑. para-acid sulfate soils หรือ pseudo acid sulfate soils หมายถึง ดินซึ่งได้เกิดกรดกำมะถันขึ้นในชั้นหน้าตัดของดินแล้ว  แต่ในระหว่างที่มีการเกิดกรดนี้ขึ้นนั้นส่วนใหญ่ของกรดได้ถูกชะล้างออกไป (leached0 หรือถูกทำงานไปจนเกลือปริมาณเพียงเล็กน้อยไม่เป็นอันตรายหรือเป็นปัญหากับพืช แต่ดินนี้ยังคงมีลักษณะของจุดประสีเหลืองฟางข้าวในชั้นดินล่างอยู่

                        ๒. potential acid sulfate soils  หมายถึงดินซึ่งมีกำเนิดมาจากการตกตะกอนของน้ำทะเล  มีปริมาณ ซัลไฟด์ (sulfide) โดยเฉพาะ ไพไรท์ (pyrite) สูงประมาณ ๑ - ๒.๕ %  แต่จะมีปริมาณของตะกอนที่เป็นปูนและตะกอนแร่ต่าง ๆ  ที่มีคุณสมบัติเป็นด่างต่ำ  ดินนี้ยังคงอยู่ในสภาพน้ำขังหรือยังไม่มีการระบายน้ำ และยังไม่มีการทำปฏิกริยากับอากาศของไพไรท์เกิดขึ้น ชั้นของดินบนยังมีพีเอช (PH) เป็นกลางหรือด่างอย่างอ่อน (pH  ๗.๐ – ๘.๐) อยู่ ถ้าเมื่อใดดินนี้ได้รับการระบายน้ำและมีการถ่ายเทอากาศดีเกิดขึ้นในชั้นของดิน  ดินนี้จะกลายเป็นดินกรดจัดเนื่องจากมีกรดกำมะถันเกิดขึ้น

การกำเนิดดินเปรี้ยว

                        ดินเปรี้ยวเกิดจากการทับถมของตะกอนจากน้ำทะเลและน้ำกร่อยซึ่งบริเวณพื้นที่น้ำกร่อยมักจะมีพืชพวกแสม  โกงกาง  ลำพู  จาก  ขึ้นอยู่ทั่วไป  เมื่อพืชเหล่านี้ตายจะกลายเป็นอินทรีย์วัตถุสะสมอยู่ในดินและมีจุลอินทรีย์ คือ Thiobacillus thiooxidans และ Thiobacillus ferrooxidans  ซึ่งเจริญเติบโตได้ดีในอินทรีย์วัตถุเหล่านี้จะเปลี่ยนสารประกอบซัลเฟตในดินที่ได้รับจากน้ำทะเลให้กลายเป็นสารประกอบซัลไฟด์  นอกจากนั้นสารประกอบซัลไฟด์จะทำปฏิกริยากับธาตุเหล็กเกิดเป็นสารประกอบเหล็กซัลไฟด์ ( FeS)  ต่อไปนาน ๆ สารประกอบเหล็กซัลไฟด์จะเปลี่ยนแปลงเป็นสารประกอบไพไรท์ ( FeS2 ) สะสมอยู่ในดินชั้นล่างและจะอยู่ลึกมากยิ่งขึ้นตามจำนวนตะกอนที่ทับถมเพิ่มขึ้น  เมื่อบริเวณนี้แห้งสารประกอบไพไรท์จะทำปฏิกริยากับอากาศทำให้ได้สารประกอบเหล็กซัลเฟต Fe2(SO4 )3  และกรดกำมะถันสะสมในดินและหลังจากนั้นสารประกอบเหล็กซัลเฟตจะทำปฏิกริยากับน้ำต่อไปอีกครั้งจนเกิดกรดกำมะถันมากขึ้นอีกและสารสีเหลืองฟางข้าวที่เรียกว่าจาไรไซท์ในรูปของ Fe(OH)SO4  อยู่ในดินชั้นล่างการแสดงระดับความเป็นกรดและด่างของดินด้วยค่า pH

                        ความเป็นกรดหรือความเป็นด่างของดินสามารถแสดงได้ด้วยค่า pH  ซึ่งบอกถึงจำนวนไอออนของไฮโดรเจน ( H+ ion )  ในสารละลายในดิน ด้วยการใช้เครื่องมือหรือน้ำยาเคมี  ถ้าค่า pH  ของสารละลายดินน้อยกว่า ๗.๐  ดินนั้นจะแสดงความเป็นกรดและยิ่งแสดงเป็นกรดมาก  เมื่อค่า pH  ยิ่งน้อยเพราะค่า pH  ที่มีค่าน้อยหมายถึงการมีไอออนของไฮโดรเจนซึ่งแสดงความเป็นกรดอยู่ในดินจำนวนมากนั่นเอง

ลักษณะทั่วไปของดินเปรี้ยว
                        ดินชั้นบนลึกตั้งแต่ ๒๐ - ๔๐  ลักษณะดินเป็นดินเหนียวจัด มีสีเทาหรือสีเทาเข้มถึงดำ  มีจุดประสีน้ำตาลแก่ สีแดงปนเหลืองและสีแดง มี pH  ประมาณ ๔.๕ – ๖.๕  ส่วนดินชั้นล่างเป็นดินเหนียวที่มีสีพื้นเป็นสีน้ำตาลปนเทาถึงสีเทา มีจุดประสีเหลืองปนน้ำตาล สีแดงและสีเหลืองฟางข้าว ซึ่งดินจะแสดงความเป็นกรดมากกว่าชั้นบน มี pH  ประมาณ ๓.๕ – ๓.๘  ดังนั้นดินจะเปรี้ยวมากหรือน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับดินชั้นล่างซึ่งมีจุดประสีเหลืองฟางข้าวว่าอยู่ใกล้หรือลึกจากผิวดิน เช่นดินชุดองค์รักษ์, ดินชุดรังสิต  มีดินชั้นล่างอยู่ลึกจากผิวดิน ๔๐ ซม.  จึงจัดเป็นดินเปรี้ยวจัด และดินชุดมหาโพธิ์, ดินชุดอยุธยา  อยู่ลึกจากผิวดิน ๑.๐ เมตร  จึงจัดเป็นดินเปรี้ยวน้อย  เป็นต้น

แหล่งดินเปรี้ยวในประเทศไทย
                        จากการสำรวจพบว่าบริเวณดินเปรี้ยวในประเทศไทยมีประมาณ ๙ ล้านไร่ โดยปริมาณกรดในดินมีมากหรือน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น  พบว่าในบริเวณภาคกลางมีดินเปรี้ยวอยู่มากครอบคุม  หลายจังหวัด  คือ อยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา นครปฐม นครนายก สระบุรี สมุทรปราการ สุพรรณบุรี และชลบุรี  คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๖ ล้านไร่  โดยเป็นดินเปรี้ยวจัด ๒ ล้านไร่ ส่วนบริเวณดินเปรี้ยวที่เหลืออยู่กระจัดกระจายตามบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันตกเฉียงใต้  โดยเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำจันทบุรี และตามชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกและด้านตะวันออกของคาบสมุทรภาคใต้  โดยเฉพาะในท้องที่จังหวัดสงขลา นราธิวาส และปัตตานี  รวมประมาณ ๓ ล้านไร่

 คุณสมบัติของดินเปรี้ยวไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก

                        ๑. ดินเปรี้ยวมักมีเนื้อดินเป็นดินเหนียวซึ่งทำให้คุณสมบัติทางกายภาพไม่ดี  เนื่องจากมีการอัดตัวกันจนแน่น อากาศถ่ายเทได้ยากและการระบายน้ำออกตามธรรมชาติไม่ดีทำให้ดินแข็งเมื่อแห้งและนิ่มเละเป็นโคลนเมื่อเปียกน้ำ เป็นลักษณะดินไม่สะดวกในการใช้เครื่องมือและเครื่องทุ่นแรงในการเพาะปลูก

                        ๒. ดินเปรี้ยวซึ่งมีกรดมดกจะเป็นสาเหตุให้ธาตุอาหารที่สำคัญของพืชในดิน เช่น  N, P, K เปลี่ยนเป็นรูปสารประกอบที่ไม่ละลายน้ำ  รากพืชไม่สามารถนำแร่ธาตุเหล่านั้นไปใช้ได้

                        ๓. ดินเปรี้ยวความอุดมสมบูรณ์ต่ำ  ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชมีอยู่ในดินน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช

                        ๔. ความเป็นกรดทำให้เกิดสารประกอบของเหล็ก มังกานีสและอลูมินัมละลายอยู่ในดินจนถึงระดับเป็นพิษต่อพืช

                        ๕. ดินที่เป็นกรดจัดจะทำให้จุลินทรีย์ บักเตรี และราที่เป็นประโยชน์ต่อพืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้

 

การปรับปรุงดินเปรี้ยวมีอยู่ ๔ วิธี
                        ๑. การใช้น้ำขังในแปลงนาแล้วระบายออกเป็นครั้งคราว  เพื่อนำสารพิษออกจากดินและลดการเกิดกรด เช่น ก่อนปักดำให้มีน้ำขังอยู่ในแปลงนาประมาณ ๑ เดือนแล้วระบายออกและในพื้นที่เป็นกรดเพียงเล็กน้อยจนเกือบปานกลางการขังน้ำไว้นาน ๆ อาจจะเพียงพอต่อการเพิ่ม

                        ด้วยวิธีการใช้น้ำขังในแปลงนาถ้าหากมีน้ำชลประทานเพียงพอสมควรอย่างยิ่งทำนา ๒ ครั้งตลอด  จนช่วยลดปริมาณสารพิษต่าง ๆ  ลงได้มาก

                        ๒. การใส่ปูนมาร์ล

                            ปูนมาร์ลหรือปูนขาว  คือแคลเซี่ยมคาร์บอเนตมีลักษระร่วนซุยมีดินเหนียวและอินทรีย์วัตถุปะปนอยู่บ้างมากน้อยแตกต่างกันไปแต่ละแห่ง  และยังมีแมกนีเซียมคาร์บอเนตผสมอยู่บ้างไม่มากนัก  ปูนมาร์ลเกิดจากหินปูนสลายตัวเป็นตะกอนถูกน้ำพัดพามาตกตะกอนอยู่ในบริเวณหนองและบึงขนาดใหญ่  หรือพื้นที่ลุ่มที่มีน้ำขังนิ่ง  ปูนมาร์ลช่วยปรับปรุงดินได้ดังนี้
                            ๑. เพิ่มแคลเซี่ยมซึ่งพืชต้องการให้กับดิน
                            ๒. ลดความเป็นกรดให้น้อยลง
                            ๓. ลดความเป็นพิษของสารในดินได้แก่ เหล็ก อลูมินัมทำให้เกลือน้อยลง
                            ๔. ช่วยทำให้ขบวนการทางชีวภาพของจุลินทรีย์ในดินดีขึ้นจนเป็นประโยชน์แก่พืชที่ปลูก
                           ๕. ปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพของดินให้ดีขึ้น

                        จากการทดลองของกรมพัฒนาที่ดินจำนวนปูนมาร์ลที่ใส่สำหรับปรับปรุงให้เหมาะสมกับระดับความเป็นกรดหรือระดับ pH  ของดิน  เพื่อให้สามารถทำการเกษตรกรรมหรือการทำนาได้ผลผลิตสูงขึ้น

                        ดินเปรี้ยวจัด pH  ต่ำกว่า ๔.๐  ควรใส่ปูนมาร์ลในอัตรา ๑-๓ ตันต่อไร่

                        ดินเปรี้ยวปานกลาง pH  ๔.๑ – ๔.๗ ควรใส่ปูนมาร์ลในอัตรา ๑-๒ ตันต่อไร่

                        ดินเปรี้ยวเล็กน้อย  pH ๔.๗ - ๖.๐  ควรใส่ปูนมาร์ลในอัตรา ๑/๒ - ๑ ตันต่อไร่

                        วิธีการใส่ปูนมาร์ลลงในดินนั้นทำได้โดยการหว่านให้ทั่วพื้นที่โดยใช้แรงคนหรือเครื่องจักรกลสำหรับหว่านปลูกก็ได้  ทำการหว่านปูนก่อนการเตรียมดินก่อนปลูกพืชประมาณ ๒ สัปดาห์หรืออาจใช้เวลานานกว่านั้น  ซึ่งจะได้ผลเช่นเดียวกัน  แล้วแต่ความสะดวกในการขนปูนมาร์ล

๓. ใช้หินฟอสเฟตบดร่วมกับปุ๋ยไนโตรเจน

                        จากการทดลองของกรมวิชาการเกษตร  ใช้หินฟอสเฟตบดละเอียดในอัตรา ๑๐๐ กก./ไร่  ร่วมกับปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ๒๐ กก./ไร่

                        วิธีใส่ปุ๋ย  หลังจากเตรียมดินไถดะ  ไถแปร  ไถคราดเก็บหญ้าออกให้หมดแล้วเอกหินฟอสเฟตบดในอัตราไร่ละ ๑๐๐ กก. (๒ กระสอบ)  ร่วมกับแอมโมเนียมซัลเฟต ๑๐ กก.  แล้วคราดกลบลงไปในดินซึ่งทำก่อนปักดำหรือก่อนหว่านข้าวงอกสำหรับนาน้ำตม  ส่วนแอมโมเนียมซัลเฟตที่เหลืออีก ๑๐ กก. ร่วมกับหินฟอสเฟตบด ๑๐๐ กก. หว่านคราวเดียวกัน  ก่อนหว่านพันธุ์ข้าว

๔. การใช้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมในสภาพพื้นที่ดินเปรี้ยว

                        ๑. นาปักดำและนาหว่านน้ำตมได้แก่พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ ๑๐๕, กข.๗  กข.๙

                        ๒. ข้าวนาหว่าน  ได้แก่พันธุ์ข้าวตะเภาแก้ว ๑๖๑ เล็บมือนาง

การคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ทนความเป็นกรดปลูกเป็นสิ่งจำเป็นมาก
                        ๑. พื้นที่ดินเปรี้ยวจัดควรใช้พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ ๑๐๕,  เล็บมือนาง ๑๑๑  ตะเภาแก้ว ๑๖๑  เหลืองบังใบ  และหอมมะลิ

                        ๒. พื้นที่ดินเปรี้ยวปานกลางควรใช้พันธุ์ข้าว  เผือกน้ำ ๔๓  ขาวปากหม้อ ๑๔๘  หางยี ๗๑  นางมล  S-๔ ขาวเศรษฐี  เหลืองหลวง  ขาวห้าร้อยและแตงมันปู

                        ๓ พื้นที่ดินเปรี้ยวเล็กน้อย  ควรใช้พันธุ์ข้าวจำปาเป๋เมล็ดสั้นและเมล็ดยาว  เหลืองเตี้ย  และเหลืองประทิว

 





คลิกที่นี่


โดย:
งาน: งานห้องสมุด
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: http://203.150.73.21/rid11/srt/acidsoil.html

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง