|
|
การพูดในชีวิตประจำวัน
ในวันหนึ่งๆ เราต้องติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการสื่อสารในรูปแบบของ ''การพูด'' อาทิเช่น การสนทนาทั่วไป การสนทนาทาง โทรศัพท์ การทักทาย การแนะนำตน การปรึกษาหารือ การตัดเตือน การตำหนิ เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น ที่เราควรจะทราบถึงวิธีการพูด ในรูปแบบต่างๆ ที่ถูกต้อง เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับบุคคลอื่นต่อไป การสนทนาทั่วไป การสนทนา หมายถึง การพูดคุยระหว่างบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป โดยมีจุดประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิด ความเห็น ในสิ่งที่มีความสนใจอยู่ร่วมกัน โดยต่างฝ่ายต่างผลัดกันเป็นผู้พูดและผู้ฟัง ซึ่งในการสนทนานั้นคู่สนทนาอาจมีความคิดเห็นที่ตรงกัน คล้อยตามกัน หรือขัดแย้งกันก็ได้ การสนทนาที่ดีจะต้องสร้างและกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างคู่สนทนา ดังนั้นคู่สนทนาที่ดีจึงควรทั้งแสดงความคิดเห็นของตนเอง และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นไปด้วย ไม่ควรเอาชนะหรือแสดงแสดงความเด่นเหนือผู้อื่น เพราะผู้ที่ชอบแสดงตนโอ้อวดเอาชนะผู้อื่นจะหาคู่สนทนาได้น้อยลงทุกที การสนทนามีประโยชน์หลายอย่าง อาทิ ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ความตรึงเครียด เป็นเครื่องมือในการสร้างมนุษย์สัมพันธ์ กระชับความสัมพันธ์อันดี ช่วยให้เกิดความเข้าใจอันดีและความสำเร็จในการทำงานทุกอย่าง การสนทนาอาจแบ่งเป็น ๒ แบบ คือ แบบไม่เป็นทางการ คือ การสนุกสนานเฮฮาไปตามสบายและเรื่องที่สนทนาก็ไม่จำกัด กับแบบเป็นทางการ ซึ่งมีการตระเตรียมเรื่องที่พูดมาเป็นอย่างดี สำหรับมารยาทในการสนทนาโดยทั่วไป คู่สนทนาควรปฏิบัติดังต่อไปนี้ ตั้งใจฟังคู่สนทนา พูดให้เป็นธรรมชาติ ไม่ทำเสียงสูงต่ำ ทุ้มแหลม จนเกินงาม และไม่ควรลอยหน้าลอยตาจีบปากจีบคอพูดจนดูผิดปกติ พูดด้วยความจริงใจ ไม่พูดกระทบกระเทียบเปรียบเปรยคู่สนทนา ไม่พูดจาโผงผางแบบขวานผ่าซาก พูดแต่เรื่องที่ทำให้คู่สนทนาหรือผุ้ที่อยู่ในกลุ่มสบายใจและเป็นเรื่องที่ไม่เป็นผลเสียกับใคร ในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของผู้อื่น ควรระมัดระวังโดยพูดในลักษณะที่เป็นกลาง หรือถ้าจะชมผู้ใดก็ไม่ควรพูดจนเกินจริง เพราะจะทำให้ผู้ได้รับคำชมกระดาก ออกสียงในภาษาที่ชัดเจนถูกต้อง โดยเฉพาะเสียง ร ล และเสียงควบกล้ำ เพราะบางครั้งการออกเสียงไม่ถูกกต้องจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจเรื่องที่พูดผิดไปได้ พูดให้สุภาพ ระมัดระวังการใช้ภาษาให้เหมาะสมกับบุคคล โอกาส และสถานที่ ไม่พูดข่มขู่ดึงดันเพื่อเอาชนะผู้อื่น อย่าขัดคอคู่สนทนาเพราะจะเกิดความขัดแย้งขึ้นได้ ไม่ควรข้ามไปพูดเรื่องอื่น ในขณะที่คู่สนทนากำลังสนใจหรือเพลิดเพลินอยู่กับเรื่องเดิมอยู่ เพราะจะกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงเรื่อง โดยไร้มารยาทและคู่สนทนาอาจน้อยใจหรือไม่พอใจได้ ไม่ผูกขาดการพูดไว้คนเดียว แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรทำตัวเป็นเพียงผู้รับฟังอย่างเดียว ควรซักถามหรือพูดจาโต้ตอบในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อแสดงว่าเป็นผู้ฟังที่ดีและสนใจเรื่องที่กำลังสนทนาอยู่ ไม่ควรนินทาผู้อื่น เพราะอาจทำให้คู่สนทนาไม่ไว้วางใจได้ ไม่ควรถามซอกแซกในเรื่องส่วนตัวของผู้ที่เพิ่งรู้จักกัน เพราะจะทำให้คู่สนทนาเกิดความอึดอันได้ ไม่ควรซุบซิบ หรือ ใช้ภาษาถิ่น หรือใช้ภาษาเฉพาะกลุ่มกับคนใดคนหนึ่งในวงสนทนา เรื่องที่สนทนาควรเป็นเรื่องกลางๆ ที่ทุกคนสนใจ เช่น กีฬา ดินฟ้าอากาศ ภาพยนตร์ ฯลฯ เมื่อมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นในระหว่างการสนทนา ต้องพยายามไกล่เกลี่ยไม่ให้เกิดความร้าวฉานหรือความหมองใจขึ้นได้ โดยอาจเปลี่ยนหัวข้อสนทนา ไปสู่เรื่องที่ไม่ตึงเครียด และถ้าจำเป็นต้องฟังเรื่องที่ไม่สบอารมณ์หรือไม่ชอบ ควรฟังอย่างสงบอย่าลุกหนีไปเฉยๆ การสนทนาทางโทรศัพท์ โทรศัพท์เป็นเครื่องมือสื่อสารที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในโลกยุคปัจจุบัน การสนทนาทางโทรศัพท์ถือเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แต่อย่าไรก็ตามผู้พูดจะต้องระมัดระวัง ในการพูดทางโทรศัพท์มากกว่าการสนทนาต่อหน้า เพราะผู้ที่เราติดต่อด้วยไม่ได้เห็นหน้าตาของเราจึงมักจะเดาบุคลิกภาพของเราจากน้ำเสียงที่ได้ฟัง ดังนั้นผู้พูดทางโทรศัพท์จึงต้องสร้างภาพอันดีงามให้แก่ตนเอง โดยการใช้คำพูดที่สุภาพอยู่เสมอ ปรับสียงให้นุ่มนวล ไม่ห้วนกกระด้าง พูดให้ชัดถ้อยชัดคำ ไม่รวบรัดจนฟังไม่เข้าใจ และขณะพูดก็ไม่ควรเคี้ยวหรืออมสิ่งใดไว้ เพราะจะทำให้เสียงพูดไม่น่าฟัง ข้อควรคำนึงในการสนทนาทางโทรศัพท์ มีดังนี้ - ในการฝากข้อความไว้กับผู้รับโทรศัพท์ ถ้าผู้พูดประสงค์จะฝากข้อความที่สำคัญไว้กับผู้รับโทรศัพท์ในขณะที่ผู้พูดประสงค์จะติดต่อด้วยไม่อยู่ ผู้พูดควรจะสอบถามก่อนว่าผู้ที่จะฝากข้อความไว้เป็นใคร มีหน้าที่อะไร เพื่อที่จะได้พิจารณาว่าสมควรจะฝากข้อความสำคัญไว้หรือไม่ - ในการสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องใดก็ตาม ผู้พูดต้องตั้งคำถามไว้ล่วงหน้าก่อนว่าต้องการทราบเกี่ยวกับอะไร แล้วจดบันทึกคำถามไว้อย่างย่อ ๆ เพื่อที่จะได้ไม่ลืมเวลาพูดโทรศัพท์ในลักษณะของคำถามควรสั้นและเข้าใจง่ายเพื่อผู้รับฟังโทรศัพท์จะได้ตอบให้ตรงประเด็น เมื่อพูดจาจบแล้วควรขอบคุณผู้รับโทรศัพท์ด้วย - ในการต่อโทรศัพท์ให้ผู้อื่น ผู้พูดควรจดเลขหมายโทรศัพท์และชื่อบุคคล หรือหน่วยงานที่เขาประสงค์จะพูดด้วยให้ถูกต้องครบถ้วน - ในกรณีที่ผู้พูดเป็นผู้รับโทรศัพท์ เมื่อรับโทรศัพท์ควรบอกชื่อหน่วยงานของผู้พูดหรือเลขหมายโทรศัพท์ในทันที แต่ถ้าหากเขามารับสายไม่ได้ควรบอกเหตุผลอย่างนุ่มนวลและขอให้สั่งข้อความไว้ - ถ้ามีการโทรศัพท์เข้ามาผิดสถานที่ หากเป็นหน่วยงานเดียวกันควรโอนสายหรือบอกเลขหมายโทรศัพท์ใหม่ให้ แต่ถ้าเป็นคนละหน่วยงานหรือผิดสถานที่ควรบอกให้ผู้โทรศัพท์เข้ามาทราบอย่างสุภาพ ข้อแนะนำในการสนทนาทางโทรศัพท์ มีดังนี้ - รับโทรศัพท์ในทันทีที่กริ่งแรกดังขึ้น - ไม่กระแทรกเครื่องรับโทรศัพท์ - ควบคุมอารมณ์อย่าได้แสดงอารมณ์โกรธ หรือไม่พอใจ อย่าพูดด้วยเสียงที่ก้าวร้าวหรือใช้ถ้อยคำหยาบคาย และไม่ใช้คำพูดที่กวนไม่รู้เรื่อง - อย่าตะโกนเรียกผู้อื่นมารับโทรศัพท์โดยไม่ได้ปิดส่วนที่พูด และอย่าพูดกับผู้อื่นในขณะที่กำลังรับโทรศัพท์ - ควรมีกระดาษและปากกา วางไว้ใกล้โทรศัพท์ เมื่อมีการรับฝากข้อความ ควรจดให้อ่านง่ายและอ่านทบทวนก่อนส่งให้ผู้รับ - การพูดทางโทรศัพท์ต้องแสดงความสุภาพ ด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลเหมือนกันหมด ไม่ว่าผุ้ที่โทรศัพท์เข้ามาหรือผู้รับโทรศัพท์จะเป็นคนสำคัญหรือไม่ - ถ้าพิจารณาเห็นว่าผู้โทรศัพท์เข้ามาจะต้องคอยนานกว่าที่จะได้พูดกับบุคคลที่ต้องการหรือกว่าที่จะได้รายละเอียด ควรบอกให้ผู้นั้นโทรศัพท์เข้ามาใหม่ หรือขอเบอร์โทรศัพท์ของผู้นั้นไว้ เพื่อจะได้ติดต่อกลับไปอีกครั้ง - ถ้าต่อโทรศัพท์ผิดเลขหมายไม่ควรวางหูโดยทันที ควรกล่าวคำขอโทษอย่างสุภาพก่อน - ไม่ควรใช้คำพูดหรือคำถามเหล่านี้ในการสนทนาทางโทรศัพท์ เช่น ''ที่นั่นที่ไหนคะ?'' ''ใครพูด'' ''จะพูดกับใคร'' ''มีธุระอะไร'' ''โทรมาทำไม'' เป็นต้น - ถ้าต้องรอโทรศัพท์ไม่ควรแสดงกิริยาอาการหรือพูดให้ผู้ที่กำลังโทรศัพท์อยู่รีบหยุดพูดโดยเร็ว ควรรอด้วยความอดทน ส่วนผู้ที่กำลังใช้โทรศัพท์ก็ควรพูดธุรกิจให้เสร็จสิ้นโดยเร็วเพื่อที่ผู้อื่นจะได้ใช้บ้าง - หากต้องติดต่อทางโทรศัพท์กับหน่วยงานอื่นอยู่บ่อยๆ ควรจัดทำแผนผังแสดงเลขหมายโทรศัพท์ที่ใช้ติดต่ออยู่เป็นประจำ โดยแยกเป็นหมวดหมู่ไว้ เช่น บริษัทนำเที่ยว สายการบิน โรงแรม สถานทูต โรงพยาบาล และสถานที่ราชการต่างๆ เป็นต้น ในแต่ละหมวดควรจัดเรียงลำดับตามอักษรเพื่อสะดวกต่อการค้นหา ในเรื่องการสนทนาทางโทรศัพท์นี้ เพชรบูรณ์ โรจนธรรมกุล ได้ให้เคล็ดลับขั้นตอนในการต่อโทรศัพท์และรับโทรศัพท์ไว้ดังนี้ ขั้นตอนในการต่อโทรศัพท์ ๑. พร้อม ความพร้อมก่อนหมุนหรือกดเลขหมายโทรศัพท์ ๒. ฟัง ฟังสัญญาณว่าโทรศัพท์มีสัญญาณว่างที่จะโทรได้ ๓. หมุน หมุนหรือกดเลขหมายที่ต้องการ ๔. ฟัง ฟังคำพูดจากผู้รับ หรือสอบถามเลขหมาย/สถานที่ ๕. ตัด ตัดสินใจดำเนินการตามที่เตรียม เช่น - ขอพูดกับบุคคลที่ต้องการ - ฝากข้อความและให้ผู้รับทวนข้อความ ๖. จบ จบคำพูด ๗. วาง วางโทรศัพท์ ๘. บัน บันทึกรายการภายหลังโทรศัพท์แล้ว สูตร พร้อม ฟัง หมุน ฟัง ตัด จบ วาง บัน การพูดในโอกาสพิเศษ การอภิปราย คำว่า ''อภิปราย'' เป็นคำยืมมาจากภาษาบาลีสันสกฤต ซึ่งในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง ''ก. พูดชี้แจงแสดงความคิดเห็น'' จบการนิยามความหมายของคำว่า ''การอภิปราย (Discussion)''โดยนักวิชาการหลายท่านพอจะสรุปได้ว่าการอภิปราย หมายถึง การพูดเพื่อแสดงความคิด ความเห็น ความรู้ หรือประสบการณ์ของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปให้อีกกฝ่ายหนึ่งได้รับทราบ โดยผู้อภิปรายจะต้องแสดงความคิด ความเห็น ความรู้ หรือประสบการณ์ในหัวข้อเรื่องที่กำหนดไว้ให้ โดยแต่ละคนอาจจะมีแนวความคิดที่เหมือนกันหรือแตกต่างออกไปก็ย่อมทำได้ เพราะการพูดแบบอภิปรายนั้นเป็นการเปิดโอกาสผู้ร่วมอภิปรายได้ใช้ความรู้ความสามารถในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องนั้นๆ ได้อย่างเต็มที่ หลักเกณฑ์ทั่วไปในการอภิปราย กิจกกรรมการอภิปราดำเนินไปได้ด้วยดีและเกิดประโยชน์ที่แท้จริงแก่ทุกฝ่ายนั้นจำเป็นจะต้องมีหลักเกณฑ์หรือข้อกำหนดบ้าง มิฉะนั้นผู้อภิปรายก็จะอภิปรายกันอย่างกระจัดกระจายตามความพอใจของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว อันอาจทำให้เกิดความสับสนขึ้นในวงอภิปรายได้ ซึ่งหลักเกณฑ์ทั่วไปในการอภิปรายมีดังนี้ ๑. การอภิปรายเป็นการแสดงความคิดร่วมกันกับผู้อื่นเพื่อช่วยกันหาคำตอบ ดังนั้นในการคิดร่วมกันเพื่อช่วยกันหาคำตอบนั้น จำเป็นต้องช่วยกันคิดเป็นขั้นๆ ไป จะได้ไม่เกิดความสับสน ลำดับขั้นในการคิดอาจเป็นดังนี้ ขั้นที่ ๑ ผู้ร่วมอภิปรายพยายามทำความเข้าใจในตัวปัญหาให้ตรงกันเสียก่อน เพราะถ้าเข้าใจต่อปัญหาไม่ตรงกันแล้ว ย่อมไม่มีการตกลงกันได้ ซึ่งยิ่งอภิปรายไปก็ยิ่งเพิ่มความสับสนขึ้นทุกที ดังนั้นข้อสำคัญจึงไม่ควรรีบทึกทักว่า ทุกคนเข้าใจ ต่อปัญหาตรงกันแล้ว ควรจะต้องชี้ปัญหาให้ชัดเจนแจ่มแจ้งเสียก่อน ด้วยการเขียนลงไปให้เป็นประโยคคำถาม แล้วอ่าน ให้ทุกคนฟัง เขียนให้ชัดเจนเพียงหนึ่งคำถาม จะมีคำถามย่อยด้วยหรือไม่ก็ได้ ถ้ามีก็ไม่ควรให้มากเกินไปนัก ขั้นนี้เป็นขั้นที่สำคัญมาก เพระมิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นว่าพูดกันคนละปัญหาไป ขั้นที่ ๒ เมื่อเข้าใจปัญหาตรงกันแล้วก็ก็ช่วยกันพิจารณาปัญหานั้น โดยแยกแยะให้เห็นว่ามีประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง สาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดประเด็นปัญหามีอะไร มีใครที่เกี่ยวข้อง กับการแก้ไขปัญหานั้นบ้าง ซึ่งในขั้นนี้ผู้ร่วมอภิปราย ควรจะร่วมตกลงกันให้ได้ว่า ถ้าจะแก้ปัญหานั้นผลที่มุ่งหวังคืออะไร ทั้งนี้เพื่อจะได้ช่วยกันคิดหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไปในขั้นที่ ๓ ขั้นที่ ๓ ช่วยกันเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาด้วยวิธีต่างๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ พร้อมทั้งพิจารณาดูข้อดีข้อเสีย ของแนวทาง แก้ปัญหาเหล่านั้น โดยพิจารณาด้วยว่าผลที่คาดว่าจะได้จาการแก้ปัญหานั้นเป็นไปตามที่มุ่งหวังไว้ในขั้นที่ ๒ หรือไม่เพียงใด ขั้นที่ ๔ เลือกแนวทางในการแก้ปัญหาที่เห็นว่าดีที่สุด ซึ่งอาจมีมากกว่าหนึ่งแนวทางก็ได้ ขั้นที่ ๕ ศึกษาแนวทางในเชิงปฏิบัติการว่า ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาที่ผู้ร่วมเสนอภิปราย ได้ช่วยกันคิดออกมานั้น จะนำไปสู่การปฏิบัติจริง ได้อย่างไร ในบางกรณีผู้ร่วมอภิปรายอาจลองนำไปปฏิบัติด้วยตนเองก่อน ๒. ในการอภิปรายจำเป็นต้องมี ''ผู้นำอภิปราย'' เพื่อคอยกำกับให้คำแสดงความคิดเห็นตรงตามประเด็นที่ตั้งไว้ ซึ่งผู้นำอภิปราย จะทำหน้าที่ทั้งคอย กระตุ้นให้ผู้อภิปราย แสดงความคิดเห็นออกมา และควบคุมไม่ให้ผู้อภิปรายคนใดคนหนึ่งใช้เวลาของรวมแสดงความคิดเห็นของตนเองมากเกินไป จนเป็นการผูกขาดพูดเสียคนเดียว นอกจากนี้ยังต้องคอนระวังไม่ให้การอภิปรายออกนอกประเด็นเพื่อจะได้หาข้อยุติได้ภายในเวลาอันสมควร ๓. ในการอภิปราย ผู้ร่วมอภิปรายอาจเปลี่ยนความคิดเห็นของตนไปตามเหตุผลและข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ได้รับฟังจากผู้ร่วมอภิปรายคนอื่น หลักข้อนี้สำคัญมาก เพราะการอภิปรายไม่ใช่การโต้เถียงเพื่อเอาชนะแต่เป็นการช่วยกันแสดงความคิดเห็น ดังที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นความเชื่อหรือ ความเข้าบางอย่าง ที่ผู้ร่วมอภิปรายคนใดคนหนึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว อาจเปลี่ยนไปได้เมื่อได้ฟังเหตุผลหรือข้อเท็จจริงใหม่ที่มีน้ำหนักมากกว่า ๔. ผู้ร่วมอภิปรายควรมีความเตรียมตัวมาก่อน เพื่อให้มีข้อมูลมากพอสำหรับการพิจารณาร่วมกัน เพราะถ้าหากผู้ร่วมอภิปรายเข้าร่วมอภิปราย โดยไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้าแล้ว ย่อมจะขากข้อมูล ขาดความมั่นใจ และขาดความกระตือรือร้นที่จะร่วมแสดงความคิดเห็นในวงอภิปราย ๕. ในการอภิปรายต้องใช้ทักษะในการพูดและการฟังเป็นพิเศษ ในด้านทักษะในการพูดผู้ร่วมอภิปราย จำเป็นต้องพูดเพื่อแสดงความคิดเห็นของตน อย่างสุภาพ รวบรัด และตรงประเด็น ผู้ที่มีทักษะในการพูดต่อหน้าที่ประชุมอาจจะไม่มีทักษะในการอภิปรายกลุ่มก็ได้ เพราะคุ้นเคยกับ การผูกขาดการพูด เสียคนเดียว และอาจจะใช้ศิลปะในการโน้มน้าวใจมากเกินไปก็ได้ การพูดในเชิงอภิปรายจะหนักไปทางการพูดเพื่อค้นหาคำตอบ และพูดเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจมากกว่าในทางอื่น สำหรับทักษะในการฟังนั้น ผู้อภิปรายต้องฟังคำพูดของผู้ร่วมอภิปรายคนอื่นๆ โดยใช้ความคิดอยู่ตลอดเวลา ต้องจับสาระสำคัญ ที่ผู้ร่วมอภิปรายคนอื่นๆ พูดออกมาให้ได้ ต้องรู้จักสังเกตถ้อยคำ น้ำเสียงและกิริยาท่าทางของผู้พูดประกอบด้วย เพื่อจะได้ตีความได้ตรงตามที่ผู้พูดมุ่งหมายจริงๆ การแบ่งประเภทการอภิปราย การอภิปรายแบ่งออกได้เป็นประเภทใหญ่ๆ ๒ ประเภท คือ การอภิปรายในกลุ่ม และการอภิปรายหน้าที่ประชุม ๑. การอภิปรายในกลุ่ม แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ ๑.๑ การอภิปรายอย่างเป็นกันเอง การอภิปรายประเภทนี้มีลักษณะคล้ายๆ กับการสนทนากันเป็นกลุ่ม แต่แตกต่างกันตรงที่ว่าผู้ที่ร่วมอยู่ในวงสนทนานั้น มีวัตถุประสงค์ในการสนทนาที่ค่อนข้างชัดเจน เช่น ต้องการทำความเข้าใจหรือต้องการแก้ปัญหาเกี่ยวเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ถึงแม้จะเป็นการพูดจากนอย่างเป็นกันเอง แต่ก็มีขั้นตอนในการคิดร่วมกันเป็นระยะ ๆ ไป การอภิปรายอย่างเป็นกันเองนี้แม้จะไม่มีผู้นำอภิปรายอย่างเป็นทางการ แต่ก็อาจเกิดผู้นำในการอภิปรายขึ้นได้โดยไม่รู้สึกตัว ๑.๒ การอภิปรายในการประชุมปรึกษา การอภิปรายประเภทนี้ ตามปกติแล้วจะกระทำกันอย่างมีระเบียบแบบแผน อาจจะเป็นในรูปคณะกรรมกการ คณะผู้ปฏิบัติงาน หรือคณะบุคคล ที่เข้าร่วมประชุม กลุ่มย่อยในโอกาสต่างๆ การอภิปรายประเภทนี้จะมีประธานของที่ประชุมทำหน้าที่เป็นผู้อภิปราย มีเลขานุการ ทำหน้าที่บันทึก รายงานการอภิปราย มักจะอภิปรายกันตามหัวข้อหรือตามวาระที่กำหนดไว้ ผู้ร่วมอภิปรายจะปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เพื่อให้ได้มติหรือข้อสรุปออกมา หรือเพื่ออาจตัดสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ได้ การอภิปรายประเภทนี้คล้ายๆ กับการอภิปรายอีกชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า ''การอภิปรายโต๊ะกลม'' ซึ่งเป็นการประชุมของคณะบุคคลกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งประกอบไปด้วยผู้นำประชุมและผู้เข้าประชุม ซึ่งทั้งผู้นำประชุมและผู้เข้าประชุมจะนั่งล้อมรอบโต๊ะ เป็นวงกลมโดยไม่จำเป็น ต้องนั่ง โต๊ะกลมเสมอไป อาจใช้เฉพาะเก้าอี้ล้อมเป็นวงก็ได้ มักจะอภิปรายกันในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่ เช่น ปัญหาการกักตุนสินค้า การอนุรักษ์สภาวะแวดล้อม เป็นต้น ผลของการอภิปรายโต๊ะกลม อาจนำมาเสนอต่อผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ให้พิจารณา ดำเนินการต่อไป และบางทีก็อาจเผยแพร่ต่อสาธารณะชนด้วย ๒. การอภิปรายหน้าที่ประชุม แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ ๒.๑ การอภิปรายเป็นคณะ การอภิปรายประเภทนี้ ประกอบด้วย ผู้ดำเนินการอภิปราย และคณะผู้อภิปรายซึ่งมีประมาณ ๔-๘ คน (อาจมากหรือน้อยกว่านั้นบ้างเล็กน้อยก็ได้) มาทำการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยเบื้องหน้าของที่ประชุมประกอบไปด้วยผู้ฟังจำนวนมาก การอภิปรายประเภทนี้ จะมีหัวข้อ กำหนดไว้แน่นอน ผู้ดำเนินการอภิปรายจะมีการเตรียมเค้าโครงและขั้นตอนในการอภิปรายไว้ด้วยเพื่อไม่ให้การอภิปรายออกนอกประเด็น ๒.๒ การอภิปรายเชิงบรรยาย การอภิปรายประเภทนี้จะมีผู้ดำเนินการอภิปราย และผู้อภิปรายอยู่จำนวนหนึ่งที่นำการอภิปรายเบื้องหน้าที่ประชุม เช่นเดียวกับ การอภิปราย เป็นคณะ แต่แตกต่างกันตรงที่การอภิปรายประเภทนี้ ผู้อภิปรายแต่ละคนจะใช้วิธีการบรรยายอย่างสั้นๆ ตามที่ตนได้เรียบเรียงมาไว้แล้วเป็นอย่างดี การบรรยายของแต่ละคนจะไม่ซ้ำซ้อนกัน ผู้ดำเนินการอภิปรายจะทำหน้าที่ย้ำให้เห็นความสำคัญของหัวข้อบรรยายของผู้อภิปรายแต่ละคน อาจสรุปสารระสำคัญที่ได้พูดไปแล้วอย่างรวบรัดและชี้ให้ผู้ฟังเห็นความเกี่ยวโยงกันระหว่างแง่มุมต่างๆ ที่ผู้บรรยายแต่ละคนได้บรรยายไปแล้ว ในการอภิปรายหน้าที่ประชุมทั้ง ๒ แบบนี้ ผู้ดำเนินการอภิปรายมีหน้าที่แนะนำผู้ร่วมอภิปรายต่อที่ประชุมอย่างสั้น ๆ โดยบอกชื่อ นามสกุล สถานที่ทำงาน และความรู้ความชำนาญพิเศษให้ที่ประชุมทราบตามสมควร การจัดสถานที่ในการอภิปราย สถานที่ในการอภิปรายมีความสำคัญไม่น้อย เพราะถ้าสถานที่ไม่เหมาะสมแล้วการอภิปรายก็ยากที่จะดำเนินไปได้ด้วยดี หลักทั่วไปในการจัดสถานที่ ในการอภิปรายคือ ๑. สถานที่ควรสงบปราศจากเสียงรบกวน ๒. ตำแหน่งที่นั่งของผู้อภิปราย ควรจัดให้ทุกคนมองเห็นกันได้ ๓. บรรยากาศทั่วไปและความสะดวกอื่นๆ ช่วยเอื้ออำนวยในการคิดร่วมกันดำเนินไปได้ด้วยดี การโต้วาที ดร. สุจริต เพียรชอบ ได้อธิบายถึงการโต้วาทีอย่างน่าสนใจว่า การโต้วาที คือ กิจกรรมการพูดที่บุคคลสองฝ่ายพูดโต้คารมหรือถกเถียงกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผู้พูดจะพยายามใช้ศิลปะการพูดหรือวาทศิลป์อันคมคาย ใช้หลักการ เหตุผล และหลักฐานต่างๆ เพื่อให้คำพูดของตนเป็นที่น่าเชื่อถือ และโน้มน้าวใจ ให้ผู้ฟัง เกิดความคิดคล้อยตาม การโต้วาทีเป็นการอภิปรายรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจาการอภิปรายแบบอื่น คือ ในการอภิปรายโดยทั่วๆ ไปนั้น ผู้ร่วมอภิปราย จะแสดง ความคิดเห็นแย้งกันบ้าง คล้อยตามกันบ้าง หรืออาจจะเป็นความคิดที่ประนีประนอมกัน แต่สำหรับการโต้วาทีนั้น ผู้พูดมุ่งเอาชนะกันด้วยเหตุผลหรือวาทศิลป์ การโต้วาทีมี ๒ ลักษณะ คือ การโต้วาทีโดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน และการโต้วาทีโดยมีรูปแบบ ๑. การโต้วาทีโดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน อันที่จริงแล้วในชีวิตประจำวันของคนเราก็มักจะมีการถกเถียงโต้แย้งกันเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ อยู่ตลอดเวลา โดยผู้เสนอนโยบายจะพยายามให้หลักการ เหตุผลและวาทศิลป์อย่างดี เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความคิดคล้อยตามรับหลักการและนโยบายเหล่านั้น ผู้ฟังบางคนอาจจะไม่เข้าใจ หรือไม่เห็นด้วยก็จะพยายาม ซักถาม และให้เหตุผลต่างๆ คัดค้าน มีการถกเถียงโต้ตอบกันไปมาจนในที่สุดก็อาจจะต้องมีการลงมติกันว่า จะยึดถือหรือดำเนินการตามนโยบาย หรือหลักการนั้นหรือไม่ การถกเถียงหรือโต้แย้งกันในสภาหรือในศาลก็เช่นเดียวกัน มักจะต้องแสดงความเคารพเอาชนะกันด้วยคำพูด และเหตุผลอยู่เสมอ แม้แต่การพูดคุยกันในชีวิตประจำวันก็มักจะต้องมีการพูดจาโต้แย้ง แสดงเหตุผลกันอยู่เป็นนิจ ๒. การโต้วาทีโดยมีรูปแบบ เป็นการโต้วาทีที่เป็นแบบแผน มีพิธีการ มีการจัดสถานที่ไว้สำหรับผู้โต้วาทีโดยแบ่งออกกันเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายเสนอและฝ่ายค้าน แต่ละฝ่าย ก็จะมีผู้สนับสนุน ฝ่ายละสองคนบ้างสามคนบ้างตามแต่ผู้จัดจะเห็นสมควร มีประธานเป็นผู้ดำเนินการ มีการเชิญคณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นผู้ตัดสิน ว่าฝ่ายใดมีคารมคมคาย ใช้เหตุผลดี มีความสามารถในการพูดก็จะตัดสินให้เป็นฝ่ายชนะ การโต้วาทีแบบนี้จะต้องดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัด ประธานจะต้องกล่าวเปิดการโต้วาที ประกาศญัตติให้ผู้ฟังทราบว่าจะโต้กันเรื่องอะไร แต่ละฝ่ายจะใช้เวลาในการพูดคนละกี่นาที วิธีการตัดสินเป็นเช่นไร จุดมุ่งหมายของการโต้วาที มีหลายประการ คือ ๑. เพื่อฝึกให้ผู้โต้วาทีรู้จักเสนอความคิดเห็นของตนให้ถูกต้องตามปรารถนา รู้จักพูดอย่างมีหลักการและมีเหตุผล เมื่อถึงเวลาที่จะแสดงความคิดเห็น คัดค้านก็สามารถใช้วาทศิลป์โต้แย้งข้อคิดเห็น ของผู้อื่นอย่างฉลาดมีไหวพริบ ๒. เพื่อส่งเสริมให้ผู้พูดสามารถโน้มน้าวใจผู้ฟังให้มีความคิดคล้อยคามความคิดเห็นของตน ๓. เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสนใจในการพูด ได้ศึกษาหลักเกณฑ์และศิลปะในการโต้วาที และฝึกฝนเพื่อให้มีทักษะในการพูดดียิ่งขึ้น ๔. เพื่อฝึกทักษะในการฟัง ให้เป็นผู้ฟังที่ดี ไม่หลงเชื่อคำพูดของผู้ใดโดยง่าย ในขณะที่ฟังก็จะได้คิดใคร่ครวญอย่างมีเหตุผล การเลือกญัตติของการโต้วาที ญัตติิ คือ หัวข้อหรือปัญหา ซึ่งระบุขอบข่ายและข้อขัดแย้งซึ่งจะนำมาใช้โต้วาทีได้ เพราะฉะนั้นความจริงที่เป็นอมตะ เช่น การเกิดแก่เจ็บตาย จึงไม่อาจนำมาเป็นญัตติในการโต้วาทีได้ หลักวิชาที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นความจริง เช่น หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสองก็เช่นเดียวกัน ไม่อาจที่จะนำมาใช้โต้วาทีได้ เพราะไม่มีข้อที่จะมาเถียงหรือคัดค้านได้ ญัตติที่ควรใช้โต้วาที ควรมีลักษณะที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัว ยั่วยุให้คิดไปได้หลายแง่หลายมุม ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เช่น ''มีปัญญาดีกว่าทรัพย์'' ''ประสบการณ์ดีกว่าการศึกษา'' เป็นต้น เกณฑ์ในการเลือกญัตติ ๑. เป็นเรื่องที่คนในสังคมส่วนใหญ่มีความสนใจ ๒. เป็นเรื่องที่มีสารประโยชน์ผู้ฟังได้รับความรู้เกิดความคิดและมีสติปัญญาแตกฉานและลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม ๓. ญัตตินั้นไม่ขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม หรือ ไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกร้าวฉานขึ้นในหมู่คณะ ๔. ญัตตินั้นควรเป็นข้อขัดแย้งที่ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้เปรียบ เสียเปรียบกัน ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มโต้วาที ๕. เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบาย หลักการ หรือคุณค่าของสิ่งต่างๆ ซึ่งเมื่อโต้คารมกันไปแล้ว จะเกิดประโยชน์และมีความก้าวหน้าในเรื่องนั้นๆ ๖. เป็นญัตติที่เข้าใจง่าย ใช้ข้อความสั้นๆ ถ้อยคำชัดเจน การจัดบุคคลเพื่อการโต้วาที บุคคลที่เกี่ยวข้องในการโต้วาทีมีดังนี้ คือ ๑. ประธานการโต้วาที ๑ คน ๒. ผู้โต้วาทีฝ่ายเสนอ ๓-๔ คน ประกอบด้วย หัวหน้าฝ่ายเสนอ ๑ คน ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ ๑ ๑ คน ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ ๒ ๑ คน ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ ๓ ๑ คน ๓. ผู้โต้วาทีฝ่ายค้าน ๓-๔ คน ประกอบด้วย หัวหน้าฝ่ายค้าน ๑ คน ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ ๑ ๑ คน ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ ๒ ๑ คน ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ ๓ ๑ คน ๔. ผู้ตัดสิน ๒-๓ คน ๕. ผู้จับเวลา ๒ คน การจัดที่นั่ง การจัดที่นั่งเพื่อการโต้วาทีนั้นนิยมจัดให้ผู้โต้วาทีทั้งหมด ซึ่งได้แก่ ประธาน ผู้โต้ฝ่ายเสนอและผู้โต้ฝ่ายค้าน นั่งบนเวทีหันหน้าเข้าหาผู้ฟัง แบ่งเป็น ๒ แถว เรียงหน้ากระดานหรือเฉียงเล็กน้อยประธานมีที่นั่งแยกออกต่างหาก อาจจะนั่งอยู่ตรงกลางหรือนั่งอยู่ข้างๆ ก็ได้ ที่นั่งของหัวหน้าฝ่ายเสนอและฝ่ายค้านนั้นมักจะนั่งอยู่ตรงข้าม ผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่ายก็จะนั่งเรียงตามลำดับ และมักจะนั่งเรียงกันตามลำดับผู้พูดก่อนหลัง บนเวทีจะมีแท่นยืนแยกออกมาเป็นพิเศษ มักจะล้ำออกมาข้างหน้าเวทีเล็กน้อย เพื่อให้มองเห็นได้ชัด แต่ไม่ควรบังผู้อื่น นอกจากการจัดที่นั่งสำหรับผู้โต้วาทีแล้ว เจ้าหน้าที่ต่างๆ ซึ่งได้แก่ กรรมการ ผู้ตัดสิน ผู้จับเวลา อาจจัดให้นั่งบนเวทีใกล้ๆ กับประธาน หรืออาจจะจัดให้นั่งด้านหน้าผู้ฟังก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ขนาดของเวทีหรือแล้วแต่ผู้จัดสถานที่จะเห็นสมควร กำหนดเวลา เวลาที่ใช้ในการโต้วาทีนั้นไม่ได้มีกฎข้อบังคับ หรือหลักเกณฑ์ตายตัวว่าจะใช้เวลานานเท่าใด ปริมาณเวลายืดหยุ่นหรือมีความคล่องตัวพอสมควร ผู้จัดโต้วาทีอาจกำหนดเวลาได้ตามความเหมาะสม ซึ่งตามปกติแล้วการโต้วาทีจะใช้เวลาประมาณ ๑-๒ ชั่วโมง ถ้าเป็นการโต้วาทีในชั้นเรียนเพื่อการฝึกฝนมักจะใช้เวลา ๑ ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นการโต้วาทีในที่ประชุมสาธารณะซึ่งมีผู้ฟังเป็นจำนวนมาก จะใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง การกำหนดเวลาสำหรับผู้โต้วาทีแต่ละคน อาจทำได้ดังนี้ คือ ๑. ประธานการโต้วาทีกล่าวเปิดการโต้วาที ระบุญัตติที่จะโต้ และแนะนำผู้โต้ทั้งสองฝ่ายใช้เวลาได้ตามความเหมาะสมตามที่ประธานกำหนดเอง แต่ควรระวังว่าไม่ควรใช้เวลานานจนเกินไปนัก ๒. หัวหน้าฝ่ายเสนอ ใช้เวลาเสนอเหตุผลต่างๆ ใช้เวลาประมาณ ๕-๑๐ นาที ๓. หัวหน้าฝ่ายค้าน ใช้เวลาพูดค้านข้อเสนอของฝ่ายเสนอ ใช้เวลาประมาณ ๕-๑๐ นาที เช่นเดียวกัน ๔. ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอและฝ่ายค้านแต่ละคน ใช้เวลาพูดประมาณคนละ ๓-๕ นาที ๕. หัวหน้าฝ่ายค้านกล่าวสรุป ใช้เวลาประมาณ ๓-๘ นาที ๖. หัวหน้าฝ่ายเสนอกล่าวสรุป ใช้เวลาประมาณ ๓-๘ นาที ๗. ประธานการโต้วาทีสรุปผลการตัดสินโต้วาทีและกล่าวปิดการโต้วาทีใช้เวลาพ |
คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียด |
โดย: งาน: กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย อ้างอิงแผนงาน : - อ้างอิงโครงการ : - แหล่งที่มา: มหาวิทยาลัยศรีปทุม |
Vote | |
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อฉัน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
มีประโยชน์ต่อทุกคน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |