|
|
วันหนึ่งครูสมบูรณ์หอบแฟ้มเอกสาร เกี่ยวกับการวิจัย ที่เพิ่งผ่านการอบรมมาหมาด ๆ ควบคู่กับแผนการสอนที่มีการบันทึกสิ่งที่พบเห็นประจำวัน เกี่ยวกับนักเรียน พร้อมที่จะตอบคำถามของครูที่มองด้วยสายตางุนงง ปนสงสัยว่า อะไรกันแน่ที่ทำให้ คุณครูสมบูรณ์มีความสุขกับการสอนเด็ก โดยจัดกิจกรรมสร้างความสุขทั้งผู้เรียนและผู้สอนอย่างดียิ่ง
ก่อนหน้านั้นทั้งครูวิเชียรและครูเธียรก็เคยคิดปรึกษา หารือกันหลังจากได้อ่าน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวด 4 ว่าด้วยแนวการจัดการศึกษา หมวดเดียว นับคำว่า ''วิจัย'' ได้ถึง 3 ครั้ง คงสรุปได้ว่าจำเป็นแน่นอน เราจะทำอย่างไรกันดี เพราะ คำนี้ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายการศึกษาไปแล้ว และภาพที่เห็นครูแก่นจากคนที่เคยสนุกสนาน แต่พอมาเรียนปริญญาโท และต้องทำวิจัยอีกต่างหาก นอกจากต้องเรียนวิชาอื่น ๆ ในหลักสูตรแล้ว ครูแก่นก็กลายเป็นอีกคน ที่ผิดไปจากเดิมมาก แล้วเราจะทำอย่างไรให้ครูของเราซึ่งส่วนหนึ่งก็ไม่ได้ จบปริญญาตรี แต่ต้องหันมารับรู้เรื่องวิจัย เมื่อมีความจำเป็นต้องจัดการให้ครูรู้ และทำวิจัยให้ได้ ผู้บริหารโรงเรียนจึงเริ่มเสาะแสวงหาวิทยากรที่มีความรู้ มากประสบการณ์ และสำคัญก็คือพูดอย่างไร ไม่ให้คตรูเครียดแล้วทำอะไรไม่ได้ ฟังแล้วหนาว แต่เมื่อจำเป็นต้องจัด และคิดว่าเกิดประโยชน์แน่ ๆ ก็ได้จัด ตารางอบรมเชิงปฏิบัติการขึ้นก่อนปิดภาค มีวิทยากร 3 คน ใช้เวลา 3 วัน คิดว่าถ้าได้ผลก็ค่อยมีกิจกรรม ต่อเนื่องต่อไป ครูเธียร ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับรองจากครูวิเชียร ยิ้มตลอดทั้ง เดือน จากที่เคยเคร่งเครียดกับการบริหารจัดการมาก่อน แต่ภายหลังได้เชิญวิทยากรมาพูดเรื่องการวิจัย ในชั้นเรียนเพียง 3 วันแล้ว ครูเกือบทุกคนก็โล่งใจ ไม่เคร่งเครียดเหมือนครูแก่น ที่กำลังเรียนปริญญาโทอยู่ ต่างอำเภอ และต้องทำวิจัยเช่นเดียวกัน ภาพรวมของการวิจัยจากที่ได้อ่านจากหนังสือพิมพ์และฟังผู้รู้ พูดไว้ ความว่า ประเทศไทยถ้าเปรียบเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว เรามีนักวิจัยน้อยมาก ทำให้ไม่มีฐานทาง วิชาการที่จะคิดประดิษฐ์หรือพัฒนาตนได้เอง ต้องพึ่งพาคนอื่นอยู่เรื่อยไป การวิจัยจะเป็นการหาคำตอบ ช่วยให้มีแนวทางในการแก้ปัญหาที่ชัดเจน หากทำวิจัยกันมาก ๆ แล้วเก็บอย่างมีระบบ เราก็จะมีฐานความรู้ ที่กว้างเป็นแหล่งค้นคว้าอ้างอิงได้ กลายเป็นแรงขับให้การทำวิจัยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การอบรมวันแรก ๆ วิทยากรพูดให้กำลังใจกับครูทุกคนว่าไม่ยาก ให้แต่ละคนคิดถึงปัญหาจริง ๆ ในห้องเรียน แล้วลอง ตั้งชื่อเรื่อง ที่จะทำวิจัย จากการระดมความคิดที่ครูได้จากห้องเรียน นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ตรงประเด็น ยกตัวอย่าง เรื่องที่นำเสนอเข้ามาง่าย ๆ 4 เรื่อง คือ 1. โจทย์ปัญหาคณิตคิดโดยเด็ก เรื่องนี้ปัญหาคือ เด็กแก้โจทย์ปัญหาไม่ได้ เพราะโจทย์จากหนังสือ ส่วนใหญ่จะยกมาจากเรื่องที่อยู่ไกลตัว เด็กอ่านยังไม่รู้เรื่อง จึงให้เด็กช่วยกันคิดโจทย์ปัญหาขึ้นมาเอง 2. หาคำคล้องจองเพื่อฝึกอ่านตัวสะกดแม่กก กด กบ ปัญหาคือ เด็กอ่านคำที่มีตัวสะกดไม่ชัด จึงฝึกให้อ่านโดยเทียบกับ คำคล้องจอง 3. สถานการณ์จำลองเพื่อสร้างความมั่นใจในการพูด ปัญหาคือ เด็กไม่มีความกล้าหาญที่จะออกมาพูดในที่สาธารณะ 4. เสริมสร้างความมีระเบียบวินัยในตนเองโดยการเสริมแรง ปัญหาคือเด็กบางคนขาดระเบียบวินัยในการอยู่ร่วมกัน เช่น การเข้า คิวรับของ การมาเรียนตรงเวลา การเข้าห้องเรียนตรงเวลา การส่งงานตรงเวลา นิสัยชอบเอาเปรียบ คนอื่นเป็นต้น หลังจากหกชั่วโมงผ่านไป ครูก็ได้ตั้งชื่อแล้ว โดย เริ่มต้นจากปัญหาในชั้นเรียน (Problem - Based Management) วิทยากรย้ำว่า การทำวิจัยในชั้นเรียนไม่ยาก และชี้ให้ครูเข้าใจเพิ่มเติมว่า การวิจัยที่กำลังพูดถึงนี้ ต้องทำควบคู่ไปกับการเรียนการสอนปกติ ซึ่งใน กระบวนการเรียนการสอนนั้น ต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาไปในตัว ครูสอนไปก็สังเกตเด็กไปด้วย ในขณะที่ เรียน เล่น และตรวจผลงาน สมุดงาน มีการพูดคุย ซักถาม และสัมภาษณ์เด็กเป็นบางครั้ง ก็ค่อย ๆ รู้ปัญหา ของเด็กแต่ละคน แต่ละกลุ่ม แล้วจะมาสรุปเป็นปัญหาที่แท้จริง แล้วค่อยคิดหาสาเหตุ ซึ่งผิดกับครูแก่นตอนเรียนปริญญาโท อาจารย์ที่สอนบอกว่า วิชาวิจัยเป็นวิชาบังคับที่ต้องเรียน การทำวิจัยต้องเริ่มตั้งแต่หาปัญหา เพื่อจะมากำหนด เป็นหัวข้อวิจัย เวลาตั้งชื่อก็ต้องระบุตัวแปรต้น ตัวแปรตาม กลุ่มตัวอย่าง และมีขอบเขตการวิจัย เพียง เท่านี้ครูแก่นก็ต้องสาละวนอยู่กับเอกสารกองโตในห้องสมุด เพื่อศึกษาค้นคว้า เพื่อหาปัญหามาทำวิจัยให้ได้ เมื่อไม่มีปัญหาก็ไม่สามารถตั้งชื่องานวิจัย เมื่อไม่มีงานวิจัย ก็ไม่ได้ปริญญาโท นั่นคือ ครูแก่นกำลังจะเป็น คนมีปัญหา สิ่งที่ครูแก่นกำลังเรียนเป็นวิจัยที่นักวิชาการระดับปริญญา โทใช้การวิจัยเพื่อขยายองค์ความรู้ในศาสตร์ของตนเอง มีวิธีการที่เคร่งครัด ต้องรับการฝึกฝน และเรียนกัน เป็นเวลาถึง 1 ภาคเรียน ต้องเรียนวิชาสถิติควบคู่ไปด้วย ปัญหาที่เกิดขึ้นกับครูแก่น ซึ่งเคยเกิดขึ้นกับครูคนอื่น ๆ ที่เรียน ปริญญาโทมาก่อนแล้ว คือครูต้องทุ่มเทเวลาศึกษาเอกสารมากมาย ปัญหาซ้ำ ๆ กัน คนอื่นที่เรียนก่อนเขาก็ทำ ก่อนแล้ว และจะเลียนแบบ หรือตั้งชื่อซ้ำก็ไม่ได้ สถิติก็ยากเย็น บางทีชื่อยังเรียกผิดเป็น สติถิ ก็ยังมี ครูแก่นเคยฟังครูแขกซึ่งจบปริญญาโทมาหมาด ๆ เล่าอย่าง ภูมิใจที่จบออกมาได้ และเอกสารรายงานการวิจัยหนา หุ้มปกเดินทองอย่างดีวางไว้บนหิ้งและไม่เคยเปิดดูอีก เลย จบออกมาก็รู้สึกเข็ดขยาดกับการวิจัยไปตลอดชีวิต หากใคร ถามเกี่ยวกับการวิจัย ก็ตอบอย่างชัดเจนว่า เลิกแล้วค่ะ แต่เมื่อฟังวิทยากรพูดถึงการวิจัยที่จะมาพัฒนาการเรียนรู้ของ เด็ก ทำกันในห้องเรียนกลับสนุกยิ่งกว่า โดยเฉพาะเมื่อได้แบ่งกลุ่มอภิปราย แลกเปลี่ยนปัญหาระหว่างกัน ก็ ทำให้ทราบว่า ปัญหาของแต่ละคนที่พบในห้องเรียนเป็นปัญหาเล็ก ๆ จากการสอนตามปกติ ทำกันเป็นวิจัย ขนาดเล็ก ๆ (Small Scale) มุ่งแสวงหาคำตอบเกี่ยวกับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียน ซึ่งครูไม่สามารถ ใช้วิธีการเดิม ๆ ไปแก้ไข วิธีแก้ปัญหาในชั้นเรียนมีหลายหลากวิธี นักเรียนบางคนใช้วิธี ง่าย ๆ และให้ความสนใจเป็นพิเศษ คอยเสริมแรงให้ถูกจังหวะก็ไปได้แล้ว ในขณะที่บางคนต้องมีที่ปลอบขวัญ สรรเสริญ ให้กำลังใจ จึงจะคลายปัญหาไปได้ ปัญหาการอ่านคำที่มีตัวสะกดผิด ซึ่งเมื่ออ่านผิดก็ ทำให้เขียนผิดไปด้วย ตัวอย่างคำที่ครูบันทึกไว้ว่าเด็กอ่านผิดกันมากได้แก่ ฉีดยา เด็กอ่านว่า ฉิ ยา แถวตรง เด็กอ่านว่า แถวตรม วิธีหนึ่งที่ครูให้เด็กฝึกพูดตามคือ หาคำคล้องจองแล้วมาผูก เป็นกลอน ครูชาตรี สำราญ เคยยกตัวอย่างบ่อย ๆ คุณหมอประณีต ช่วยฉีดยาให้ ยามฉันป่วยไข้ ได้หมอฉีดยา คำอื่น ๆ ก็ลองคิดขึ้นในทำนองนี้ แล้วลองให้เด็กฝึกตาม ให้ เด็กลองเปลี่ยนคำ ครูก็คอยฟัง ให้กำลังใจเป็นช่วงจังหวะอันควร ปัญหาการพูดในที่ชุมชน เด็กจะไม่มีความมั่นใจ เพราะ ขาดการฝึก จึงพบว่า บ่อยครั้งเมื่อให้ออกมาพูดหน้าชั้น เด็กจะออกมาอ่านตามที่จดไว้ วิธีหนึ่งที่นำมาฝึกคือ ให้เด็กลองบรรยายภาพให้เพื่อนฟัง แล้ว สลับกันพูด จนเกิดความมั่นใจ จึงขยายกลุ่มคนฟังจาก 1 คนเป็น 10 คน จากเรื่องเดิมและพูดเรื่องใหม่กับ นักเรียนทั้งชั้น โดยมีครูคอยให้กำลังใจ นักเรียนช่วยปรบมือทุกครั้งที่พูดจบ ในที่สุดก็ให้พูดโดยไม่ต้องมีภาพประกอบ พูดสด ๆ พูดเรื่อง ใหม่ ๆ ได้ ปัญหาเด็กขาดระเบียบวินัยในการอยู่ร่วมกัน สังเกต จากการไม่เข้าแถวรับของที่ครูจัดให้เรียงตามลำดับ การมาโรงเรียนสาย การส่งงานไม่ตรงเวลา วิธีแก้ปัญหาคือใช้การเสริมลักษณะนิสัยและจริยธรรม มีการบันทึก พฤติกรรม ให้นักเรียนได้ฟังเรื่องที่ครูคัดเลือกจากนวนิยาย จากภาพยนตร์ แล้วแสดงความคิดเห็น เปิดโอกาส ให้เด็กวิจารณ์ พูดถึงปัญหาอุปสรรค และครูเป็นผู้สรุป เสริมแรง ตอกย้ำสิ่งที่ถูกต้อง รวมถึงการวางตัว เป็นต้นแบบที่ดี จากนั้นก็บันทึกผลเป็นระยะ ๆ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ผลจากการบันทึกติดต่อกัน 8 สัปดาห์ พบว่าพฤติกรรมของ นักเรียนที่ทำผิดระเบียบวินัยค่อย ๆ ลดลงจากสัปดาห์แรกที่ยังไม่ได้ลงมือแก้ปัญหา และสัปดาห์สุดท้ายของ การบันทึกพฤติกรรม เหลือนักเรียนที่ทำความผิด เช่น มาสายเพียง 5 คน ซึ่งเป็นนักเรียนที่ยากจนต้องช่วย พ่อแม่ทำงานก่อนมาโรงเรียน หลังจากรับการอบรมเชิงปฏิบัติการไปแล้ว ทำให้ครูได้รับความรู้ เพิ่มขึ้น และความรู้จากการอภิปรายมากขึ้นภายในกลุ่มเดียวกัน มีความมั่นใจเมื่อวิทยากรสรุป ซึ่งตรงกับที่คิด ไว้แล้ว หรือที่ได้จากข้อสรุปในกลุ่ม ตอนสุดท้ายวิทยากรยังมีของแถมคือ แนะนำวิธีใช้เครื่องคิดเลข ราคาถูกในการคิดเลขง่าย ๆ ทำให้เพื่อนครูหลายคนเริ่มเปรียบเทียบว่าวิจัยที่ครูแก่นเรียนกับวิจัยในชั้นเรียน มี ความแตกต่างกันบ้างในวิธีดำนินการ แต่มีข้อที่เหมือนกันในหลักการใหญ่ ๆ ครูบางคนเริ่มสงสารครูแก่น มีครูคนหนึ่งบอกจะแวะไปคุยและ ถามความก้าวหน้างานวิจัยของครูแก่นด้วย เพราะเริ่มมั่นใจว่า ตัวเองมีพื้นฐานเรื่องการวิจัยอยู่บ้าง คงจะคุย กับครูแก่นได้ดีกว่าเดิม วันสุดท้ายครูสมบูรณ์ก็ย้ายที่นั่งจากแถวกลางไปนั่งแถวหน้าใกล้ กับวิทยากรเรียบร้อยแล้ว คุณครูมองเห็นแนวทางที่ชัดเจน และมีกำลังใจในการทำวิจัยในห้องเรียนให้สำเร็จ ต่อไป มีหลายสิ่งที่พูดกันในการประชุมที่ครูสมบูรณ์และครูคนอื่น ๆ ได้ เคยทำกันมาแล้ว แต่ไม่เคยมีคนบอกว่า เป็นการวิจัย เช่น หลังจากรู้ว่าเด็กมีปัญหา ก็หาทางแก้ไข โดยใช้วิธีต่าง ๆ และเห็นผลมาแล้ว เด็กจบไปหลายรุ่นแล้ว แต่ยังไม่เคยเล่าให้ใครฟัง ดังนั้นเวลาที่เหลือจึงต้องตั้งใจฟังให้เข้าใจว่า จะเขียนรายงานอย่างไรให้คนทั่วไปรู้ว่า...เราเองก็ทำวิจัยมานานแล้ว โดยไม่รู้ตัว อ้างอิง เธียร พานิช. การจัดกิจกรรมการเรรียนการสอนให้สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้เรียน โรงเรียนสมถวิลหัวหิน : 2544 อัดสำเนา. |
คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียด |
โดย: งาน: งานวิจัยและพัฒนา อ้างอิงแผนงาน : - อ้างอิงโครงการ : - แหล่งที่มา: ชัยพจน์ รักงาม |
Vote | |
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อฉัน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
มีประโยชน์ต่อทุกคน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |