[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

มูลนิธิฯ ต้องบริหารงานบุคคลภายในขอบเขตของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ด้วยหรือไม่ เพียงใด

1.1 การยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541ข้อเท็จจริง1. “สถาบัน…” จัดตั้งขึ้นตามกฎบัตรของสถาบัน… ซึ่งมีประเทศภาคีสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความเห็นชอบร่วมกันในการจัดตั้ง เป็นองค์กรอิสระ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนราษฎร์ และกฎหมายว่าด้วยสภาการศึกษาแห่งชาติ อีกทั้งให้ได้รับยกเว้นอากรแสตมป์ซึ่งเรียกเก็บตามประมวลรัษฎากร อากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร รวมถึงได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่
2. วัตถุประสงค์ของสถาบันฯ คือ การดำเนินกิจการสถาบัน…ทั้งภายในและ ภายนอกประเทศ บนมูลฐานของการไม่แบ่งสรรกำไร รวมทั้งดำเนินกิจการวิทยาลัย โรงเรียนและองค์การวิจัยที่มีความสัมพันธ์กับสถาบันฯ ทั้งนี้ โดยเพ่งเล็งการศึกษาขั้นบัณฑิต และเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมประเมินคุณค่า และเผยแพร่วิชาความรู้ โดยการสอน ศึกษา วิจัยในวิชาวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิชาอื่น ๆ อีกทั้งมีส่วนร่วมในโครงการส่วนภูมิภาคเกี่ยวกับการสอน การศึกษา และการวิจัย ทั้งนี้ สถาบันฯ มี อำนาจหน้าที่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายไทยหรือกฎหมายของประเทศอื่น ดังต่อไปนี้
2.1 ได้มาและจำหน่ายซึ่งอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าโดยการซื้อ การให้ การให้มรดก การลงทุน การให้กู้ยืม หรือโดยวิธีการอื่น เช่น การจัดตั้งทรัสต์ หรือการมีกรรมสิทธิ์สมบูรณ์ และถือกรรมสิทธิ์ครอบครอง จัดการให้เช่า จำนำ จำนอง โอน ลงทุนทรัพย์ดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ภายใต้บังคับของทรัสต์ เงื่อนไขหรือข้อจำกัดใดที่ใช้บังคับอยู่
2.2 กระทำการโดยมิได้รับค่าตอบแทน ในฐานะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม เป็นทรัสตีตามพินัยกรรม นิติกรรมจำเพาะ หรือนิติกรรมอื่นใด หรือในฐานะผู้ดูแลทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นในกองมรดกหรือทรัสต์ที่สถาบันฯ อาจมีผลประโยชน์ไม่ว่าประเภทใดทั้งสิ้น
2.3 ทำสัญญา ดำเนินกิจการ ทำนิติกรรม และยื่นเสนอเอกสารทั้งมวล เกี่ยวกับการเหล่านี้ 
2.4 ดำเนินคดีตามกฎหมายในประเทศไทย หรือประเทศอื่น
2.5 ทำการกู้ยืมเงินเพื่อวัตถุประสงค์ของสถาบันฯ และจัดหาเงินโดยการจำนอง ให้กู้เงิน ทรัพย์และสินทรัพย์เพื่อวัตถุประสงค์ของสถาบันฯ โดยมีหรือไม่มีสิ่งประกัน
2.6 แต่งตั้งและว่าจ้าง คณาจารย์ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ผู้จัดการ ตัวแทนและ ลูกจ้าง
2.7 จัดให้มีการคัดเลือกนักศึกษา จัดการปกครอง และสวัสดิการของ นักศึกษา คณาจารย์ และพนักงาน
2.8 วางหลักสูตร มาตรฐานการศึกษา ให้ประกาศนียบัตร ประกาศนียบัตร ชั้นสูง และปริญญาต่าง ๆ
2.9 ตรากฎข้อบังคับและระเบียบ ซึ่งไม่ขัดต่อกฎบัตรฯ และกฎหมายไทย เพื่อจัดการทรัพย์สินและสินทรัพย์ 
2.10 มีอำนาจที่จำเป็นหรือสอดเสริมการใช้อำนาจที่ได้ระบุไว้ข้างต้นนี้รายละเอียดปรากฏตามสำเนากฎบัตรของสถาบันฯ 

3. การบริหารงานของสถาบันฯ อยู่ภายใต้อำนาจของคณะกรรมการอำนวยการ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารเป็นผู้ใช้อำนาจตามที่คณะกรรมการอำนวยการมอบหมายภายใต้กฎข้อบังคับ
4. สถาบันฯ ได้รับยกเว้นจากข้อจำกัดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการเข้าเมือง และ ข้อจำกัดที่เกี่ยวกับภาษีอากร ศุลกากรสำหรับสินทรัพย์ของสถาบันฯ รายได้ และการดำเนินธุรกรรมของสถาบันฯ ซึ่งกฎบัตรฯ ได้ให้อำนาจไว้ และเป็นการดำเนินกิจการตามปกติวิสัยของสถาบันฯ
5. สถาบันฯ ได้เคยหารือปัญหากฎหมายต่อกรมแรงงาน และกรมแรงงานได้ ตอบข้อหารือตามหนังสือ ที่ มท. 1204/12217 ลงวันที่ 10 กันยายน 2517 ว่า กิจการและวัตถุประสงค์ของสถาบันฯ ตั้งอยู่บนมูลฐานที่ไม่แบ่งสรรกำไร และถือได้ว่าสถาบันฯ มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นกิจการที่กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศกำหนดมิให้ใช้บังคับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 26. สภาพการดำเนินกิจการโดยทั่วไปของสถาบันฯ นอกจากจะมีรายได้มาจาก ค่าใช้จ่ายของนักศึกษา เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าหน่วยกิต ค่าบำรุง ค่าหอพักนักศึกษา สถาบันฯ ยังมีรายได้จากการประกอบธุรกิจอื่น ๆ ดังนี้ 
1) กิจการร้านอาหาร ภัตตาคาร โดยมีอัตราค่าบริการ ดังนี้ - อาหารเช้าแบบทั่วไป 110 บาท - อาหารเช้าแบบอเมริกัน 140 บาท - อาหารกลางวันแบบชุด 145 บาท 
2) สนามกอล์ฟ 
3) กิจการโรงแรม มีทั้งให้พักชั่วคราวและถาวร โดยบุคคลภายนอกเข้าพัก จะต้องเสียค่าใช้จ่ายตามอัตราค่าเช่าห้อง ดังนี้- ห้องปกติ เตียงเดี่ยว 1,200 บาท เตียงคู่ 1,300 บาท- ห้องพิเศษ เตียงเดี่ยว 1,400 บาท เตียงคู่ 1,500 บาท- ห้องชุดพิเศษ 1 ห้องนอน 3,000 บาท- ห้องชุด VIP 2 ห้องนอน 3,500 บาท- ห้องชุดครอบครัว 2 ห้องนอน 3,500 บาท
4) ห้องประชุมใหญ่ และห้องสัมมนาของสถาบันฯ บุคคลภายนอกสามารถ ขอใช้ได้ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับสถาบันฯ ซึ่งจะเป็นในส่วนของค่าใช้จ่ายในการจัดสถานที่ รวมทั้งค่าน้ำและค่าไฟ
5) สถาบันฯ รับจัดการฝึกอบรมสัมมนาให้แก่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานราชการ และหน่วยงานเอกชนทั่วไป ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการอบรมหรือใช้สถานที่ในการอบรมสัมมนา หรือตั้งสำนักงานในการติดต่อธุรกิจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับสถาบันฯ
6) สถาบันฯ มีห้องพักสำหรับผู้ที่มาสัมมนาจากต่างประเทศ ซึ่งผู้เข้าพักจะต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง อีกทั้งสถาบันฯ ยังเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกสามารถเข้าพักได้โดยเสียค่าใช้จ่ายให้กับสถาบันฯ 
7) กิจการเกี่ยวกับการจำหน่ายตั๋วเครื่องบินและรับจองโรงแรมทั่วโลก
8) นอกจากการประกอบธุรกิจตามข้อ 1 – 7 แล้ว สถาบันฯ ยังมีรายได้มาจากเงินอุดหนุนช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย และเงินบริจาคจากต่างประเทศสถาบันฯ จะนำรายได้ทั้งหมดนี้มาเข้ากองทุน… เพื่อนำมาพัฒนาสถาบันฯ และจ่ายเป็นค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างของสถาบันฯ7. งบการเงินและรายงานของผู้สอบบัญชีสถาบัน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2541 และ 2540 และปีสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2539 และ 2538 ปรากฏส่วนเกินของยอดรายรับสูงกว่ารายจ่าย - ปี พ.ศ. 2538 ยอดรายรับสูงกว่ารายจ่ายเป็นจำนวนเงิน 106,022 บาท - ปี พ.ศ. 2539 ยอดรายรับสูงกว่ารายจ่ายเป็นจำนวนเงิน 38,779,113 บาท - ปี พ.ศ. 2540 ยอดรายรับสูงกว่ารายจ่ายเป็นจำนวนเงิน 60,767,007 บาท - ปี พ.ศ. 2541 ยอดรายรับสูงกว่ารายจ่ายเป็นจำนวนเงิน 245,412,823 บาทอนึ่ง ในแต่ละปีเมื่อปรากฏว่ายอดรายรับสูงกว่าจ่ายจะตกเป็นยอดคงเหลือสำหรับการดำเนินงานในปีต่อไป 

8. สถาบันฯ และสหภาพแรงงานฯ ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 ซึ่งสาระสำคัญของข้อตกลงฯ ดังกล่าว จะอิงตามมาตรฐานที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้กำหนดไว้ เช่นข้อ 15 การพ้นสภาพการจ้างพนักงานจะพ้นสภาพการจ้างจากสถาบันฯ เมื่อ 

ฯลฯ 

15.3 สถาบันฯ เลิกจ้างโดยแจ้งให้พนักงานทราบเป็นลายลักษณ์อักษร ล่วงหน้าเป็นเวลาหนึ่งเดือน หรือโดยมิต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าในกรณีที่พนักงานกระทำความผิด ในหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างจะต้องระบุสาเหตุที่สถาบันฯ เลิกจ้างด้วยข้อ 16 เงินชดเชย16.1 พนักงานของสถาบันฯ ซึ่งผ่านการทดลองปฏิบัติงานแล้ว ยกเว้นผู้ที่สถาบันฯ จ้างโดยมีกำหนดเวลาจ้างแน่นอน หากถูกสถาบันฯ สั่งให้พ้นสภาพการจ้างมีสิทธิได้รับเงินชดเชย ดังต่อไปนี้16.1.1 พนักงานประจำที่ทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลา 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี รวมทั้งวันหยุด วันลา และวันหยุดที่สถาบันฯ กำหนดจะได้รับเงิน ค่าชดเชยเท่ากับเงินเดือน 30 วัน ของอัตราค่าจ้างครั้งสุดท้ายฯลฯ 

ประเด็นปัญหา 

การดำเนินกิจการของสถาบันฯ เป็นกิจการที่มิได้แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ และจะได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือไม่อย่างไรข้อกฎหมาย 

1. กฎบัตรของสถาบัน…ข้อ 2 วัตถุประสงค์วัตถุประสงค์ของสถาบัน คือ การดำเนินกิจการสถาบัน…ทั้งภายในและ ภายนอกประเทศ บนมูลฐานของการไม่แบ่งสรรกำไร ซึ่งรวมทั้งการดำเนินกิจการวิทยาลัย โรงเรียน และองค์การวิจัยที่มีความสัมพันธ์กับสถาบัน ทั้งนี้ โดยเพ่งเล็งเฉพาะการศึกษาชั้นบัณฑิต และเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมประเมินคุณค่า และเผยแพร่วิชาความรู้โดยการสอน ศึกษา วิจัย ในวิชาวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วย และให้ประกาศนียบัตร ประกาศนียบัตรชั้นสูง และปริญญาต่าง ๆ และดำเนินการและมีส่วนร่วมในโครงการส่วนภูมิภาคเกี่ยวกับการสอน การศึกษา และการวิจัย
2. พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสถาบัน… พ.ศ. 2510มาตรา 
3 ในพระราชบัญญัตินี้“สถาบัน” หมายความว่า สถาบัน…ซึ่งประเทศภาคีสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความเห็นชอบร่วมกันจัดตั้งขึ้นตามกฎบัตรของสถาบัน…มาตรา 4 เพื่อคุ้มครองการดำเนินงานในประเทศไทยของสถาบันให้บรรลุตามความมุ่งประสงค์ให้ยอมรับนับถือว่า สถาบันเป็นนิติบุคคล และให้ถือว่ามีภูมิลำเนาในประเทศไทย 

ให้สถาบันได้รับยกเว้นจากการปฏิบัติตามกฎหมาย ว่าด้วยโรงเรียนราษฎร์และกฎหมายว่าด้วยสภาการศึกษาแห่งชาติ 

มาตรา 5 ให้สถาบันได้รับยกเว้น
(1) อากรแสตมป์ซึ่งเรียกเก็บตามประมวลรัษฎากร สำหรับเงินที่สถาบันได้รับจากการบริจาคและค่าธรรมเนียมการศึกษา
(2) อากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร และภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากรสำหรับอุปกรณ์ และวัสดุของสถาบันที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการศึกษาและวิจัยอันเป็นการดำเนินงานตามปกติวิสัยตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน ทั้งนี้ เฉพาะเมื่อสถาบันได้รับความเห็นชอบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรจากกระทรวงการต่างประเทศแล้ว
(3) ภาษีโรงเรือนและที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ สำหรับทรัพย์สินของสถาบันซึ่งใช้เกี่ยวกับการศึกษา หรือทรัพย์สินที่ใช้เป็นหอพัก หรือเป็นบ้านพักของนักศึกษา หรือพนักงานของสถาบัน ซึ่งอยู่ในบริเวณที่ตั้งของสถาบัน ทั้งนี้ เฉพาะทรัพย์สินที่กระทรวงการต่างประเทศให้ความเห็นชอบในการให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมาตรา 6 ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเพียงเท่าที่พระราชบัญญัตินี้ มิได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรตราบเท่าที่อยู่ในฐานะ ดังต่อไปนี้ ให้ได้รับยกเว้นจากข้อจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเกี่ยวกับจำนวนคนเข้าเมือง และระยะเวลาที่จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร 
(1) กรรมการในคณะกรรมการอำนวยการ 
(2) กรรมการในคณะกรรมการบริหาร 
(3) พนักงานของสถาบัน
(4) คู่สมรส บุตรหรือญาติซึ่งอยู่ในความอุปการะและเป็นส่วนหนึ่งแห่งครัวเรือน และคนใช้ซึ่งเดินทางมาจากต่างประเทศของบุคคลใน (1) (2) และ (3)(5) นักศึกษา คู่สมรสและบุตรซึ่งอยู่ในความอุปการะ และเป็นส่วนแห่งครัวเรือนของนักศึกษาทั้งนี้ เฉพาะที่กระทรวงการต่างประเทศให้ความเห็นชอบในการยกเว้นนั้น ๆ 

 ฯลฯ
3. พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 4 พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่1. ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น 

2.รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์นอกจากกรณีตามวรรคหนึ่ง จะออกกฎกระทรวงมิให้ใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแก่นายจ้างประเภทหนึ่งประเภทใดก็ได้ 

4. กฎกระทรวง (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 วรรคสอง และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ การมิให้ใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนบังคับแก่นายจ้างประเภทหนึ่งประเภทใด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ฯลฯ 

(3) มิให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 12 มาตรา 16 มาตรา 18 และมาตรา 22 ของ หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 การใช้แรงงานทั่วไป ตั้งแต่มาตรา 23 ถึงมาตรา 37 หมวด 3 การใช้แรงงานหญิง ตั้งแต่มาตรา 38 ถึงมาตรา 43 หมวด 4 การใช้แรงงานเด็ก ตั้งแต่ มาตรา 44 ถึงมาตรา 52 หมวด 5 ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ตั้งแต่มาตรา 53 ถึงมาตรา 77 เว้นแต่การจ่ายค่าจ้างตามมาตรา 53 มาตรา 54 มาตรา 55 และมาตรา 70 หมวด 6 คณะกรรมการค่าจ้าง ตั้งแต่มาตรา 78 ถึงมาตรา 91 หมวด 7 สวัสดิการ ตั้งแต่มาตรา 92 ถึงมาตรา 99 หมวด 9 การควบคุม ตั้งแต่มาตรา108 ถึงมาตรา 115 หมวด 10 การพักงาน ตั้งแต่มาตรา 116 ถึงมาตรา 117 หมวด 11 ค่าชดเชย ตั้งแต่มาตรา 118 ถึงมาตรา 122 และหมวด 13 กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ตั้งแต่มาตรา 126 ถึงมาตรา 138 บังคับแก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจแนวคำตอบ 

สถาบัน…เป็นองค์กรอิสระ มีฐานะเป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นตามกฎบัตรของสถาบันฯ ซึ่งประเทศภาคีสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความเห็นชอบร่วมกันจัดตั้งขึ้น มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการสถาบัน… ทั้งภายในและภายนอกประเทศไทย รวมทั้งดำเนินกิจการวิทยาลัยโรงเรียน และองค์การวิจัยที่มีความสัมพันธ์ กับสถาบันฯ บนมูลฐานของการไม่แบ่งสรรกำไร สถาบันฯ มีอำนาจหน้าที่ตามข้อ 3 แห่งกฎบัตรของสถาบันฯ เช่น ได้มาและจำหน่ายซึ่งอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ กระทำการโดยมิได้รับค่าตอบแทน ในฐานะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมที่สถาบันฯ อาจมีผลประโยชน์ ทำการกู้ยืมเงินเพื่อวัตถุประสงค์ของสถาบันฯ และจัดหาเงินโดยการจำนองหรือโดยวิธีอื่นใด สถาบันฯ ได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนราษฎร์และกฎหมายว่าด้วยสภาการศึกษาแห่งชาติ และได้รับยกเว้นภาษีอากร ภาษีการค้า ภาษี โรงเรือนที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ สำหรับเงินที่สถาบันฯ ได้รับจากการบริจาค อุปกรณ์และวัสดุที่นำเข้ามาเพื่อการศึกษาวิจัย และทรัพย์สินที่ใช้เกี่ยวกับการศึกษา หอพัก หรือบ้านพักสำหรับนักศึกษาและพนักงานของสถาบันฯ อีกทั้งยังได้รับยกเว้นจากข้อจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ตามนัยมาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสถาบัน… พ.ศ. 2510การดำเนินงานของสถาบันฯ มิได้มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการสถาบัน…ทั้งภายในและภายนอกประเทศ กิจการวิทยาลัย โรงเรียน และองค์การวิจัยที่มีความสัมพันธ์กับสถาบันฯ เท่านั้น แต่สถาบันฯ ยังมีรายได้จากการประกอบธุรกิจอื่น ๆ เช่น กิจการร้านอาหาร สนามกอล์ฟ กิจการโรงแรม ห้องพัก ห้องประชุมใหญ่ และห้องสัมมนา กิจการจำหน่ายตั๋วเครื่องบินและรับจองโรงแรมทั่วโลก และยังรับจัดฝึกอบรมสัมมนาให้แก่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของราชการและหน่วยงานเอกชนทั่วไป แม้ว่าสถาบันฯ จะมีรายได้ส่วนหนึ่งมาจากเงินอุดหนุนช่วยเหลือของรัฐบาลไทย และเงินบริจาคจากต่างประเทศก็ตาม ก็มิได้แสดงว่าการดำเนินงานของสถาบันฯ จะไม่มีรายได้ หรือมิใช่เพื่อหารายได้ในทางการค้าแต่อย่างใด เพราะการดำเนินธุรกิจของสถาบันฯ มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายและค่าบริการทั้งสิ้น ซึ่งมีอัตราไม่แตกต่างจากการประกอบธุรกิจของเอกชนทั่วไป และวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการของสถาบันฯ ตามข้อ 2 แห่งกฎบัตรฯ ตั้งอยู่บนมูลฐานของการไม่แบ่งสรรกำไรเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าได้ระบุวัตถุประสงค์มิใช่เพื่อการแสวงหากำไรไว้เลย และแนวตอบข้อหารือตามหนังสือกรมแรงงานได้เคยตอบข้อหารือตามหนังสือกรมแรงงาน ที่ มท. 1204/12217 ลงวันที่ 10 กันยายน 2517 ว่ากิจการและวัตถุประสงค์ของสถาบันฯ ตั้งอยู่บนมูลฐานของการไม่แบ่งสรรกำไร และสถาบันฯ มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการและวัตถุประสงค์ของสถาบันฯ ได้แจ้งในขณะนั้น คือ การดำเนินการสอนการศึกษาและการวิจัยในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี่เท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากข้อเท็จจริงในปัจจุบัน เพราะสถาบันฯ มีรายได้และเงินทุนหมุนเวียนมาบริหารและพัฒนาองค์กร โดยใน ทางปฏิบัติถ้าสถาบันฯ มีรายรับสูงกว่ารายจ่ายก็จะตกเป็นทุนในการดำเนินงานปีต่อไปพฤติการณ์เช่นนี้ แสดงว่า การดำเนินกิจการของสถาบันฯ มีลักษณะแสวงหากำไร มิใช่เป็นการให้เปล่า หรือเก็บค่าใช้จ่ายเพียง เท่าที่จำเป็นแก่การ ดำเนินงาน แม้จะมิได้นำรายได้มาแบ่งปันแก่ผู้ใดในฐานะผลกำไรหรือเงินปันผลก็ตาม ดังนั้น สถาบันฯ จึงเป็นกิจการที่แสวง หากำไรในทางเศรษฐกิจ จึงตกอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครอง แรงงาน พ.ศ. 2541ตามหนังสือ ที่ รส 0603/08814 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 25421.2 การบริหารงานของมูลนิธิข้อเท็จจริง 

ผู้หารือเป็นมูลนิธิฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสนับสนุนและให้ทุนในการพัฒนาและการดำเนินงานของสถาบันฯ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษา และฝึกอบรมแก่บุคลากรให้มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการพัฒนากิจกรรมเพิ่มผลผลิตของประเทศ ฯลฯ ซึ่งมูลนิธิฯ เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล และจดทะเบียนตามกฎหมาย 

ประเด็นปัญหา 

มูลนิธิฯ ต้องบริหารงานบุคคลภายในขอบเขตของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ด้วยหรือไม่ เพียงใดข้อกฎหมาย 

1. พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 4 พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น 

รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 

นอกจากกรณีตามวรรคหนึ่ง จะออกกฎกระทรวงมิให้ใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแก่นายจ้างประเภทหนึ่งประเภทใดก็ได้ 

2. กฎกระทรวง (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครอง แรงงาน พ.ศ. 2541อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 วรรคสอง และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้การมิให้ใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนบังคับแก่นายจ้างประเภทหนึ่งประเภทใด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ฯลฯ 

(3) มิให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 12 มาตรา 16 มาตรา 18 และมาตรา 22 ของหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 การใช้แรงงานทั่วไป ตั้งแต่มาตรา 23 ถึง มาตรา 37 หมวด 3 การใช้แรงงานหญิง ตั้งแต่มาตรา 38 ถึงมาตรา 43 หมวด 4 การใช้แรงงานเด็ก ตั้งแต่มาตรา 44 ถึงมาตรา 52 หมวด 5 ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และ ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ตั้งแต่มาตรา 53 ถึงมาตรา 77 เว้นแต่การจ่ายค่าจ้างตามมาตรา 53 มาตรา 54 มาตรา 55 และมาตรา 70 หมวด 6 คณะกรรมการค่าจ้าง ตั้งแต่มาตรา 78 ถึงมาตรา 91 หมวด 7 สวัสดิการ ตั้งแต่มาตรา 92 ถึงมาตรา 99 หมวด 9 การควบคุม ตั้งแต่มาตรา 108 ถึงมาตรา 115 หมวด 10 การพักงาน ตั้งแต่มาตรา 116 ถึงมาตรา 117 หมวด 11 ค่าชดเชย ตั้งแต่มาตรา 118 ถึงมาตรา 122 และหมวด 13 กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ตั้งแต่มาตรา 126 ถึงมาตรา 138 บังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้ แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจแนวคำตอบ 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 วรรค 2 และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ออกกฎกระทรวง ฉบับลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ข้อ 3 กำหนดให้การจ้างงานที่มิได้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจเป็นงานที่ได้รับการยกเว้น ไม่อยู่ใน ข่ายบังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับนี้ ตามข้อเท็จจริง มูลนิธิฯ สังกัดกระทรวง อุตสาหกรรมได้จัดตั้งขึ้น ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2537 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสนับสนุนและส่งเสริม การศึกษา และฝึกอบรมแก่บุคลากรให้มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการพัฒนากิจกรรมเพิ่มผลผลิตของประเทศ ฯลฯ ดังนั้น จึงได้รับการ ยกเว้นไม่อยู่ในข่ายบังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็มิได้ยกเว้นการ คุ้มครองหมดทุกเรื่องยังคงมีบางส่วนที่อยู่ในข่ายบังคับ กล่าวคือ ห้ามนายจ้างเรียกหรือรับเงินประกันการทำงาน หรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบ เกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเป็นเงินตราไทย ณ ที่ทำงานของลูกจ้าง หากประสงค์จะจ่ายค่าจ้างเป็นตั๋วเงินก็ดี เงินตราต่างประเทศก็ดี จ่ายค่าจ้างที่อื่นซึ่งไม่ใช่ที่ทำงานของลูกจ้างก็ดี นายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนสำหรับงวดการจ่ายค่าจ้างนั้น นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง เป็นอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง ก็ย่อมทำได้ เช่น ตกลงกันจ่ายค่าจ้างเดือนละ 2 ครั้ง เป็นต้นตามหนังสือ ที่ รส 0603/03490 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2543 1.3 สิทธิในการได้รับค่าชดเชยข้อเท็จจริง 

ลูกจ้างทำงานในสถานประกอบกิจการที่มิได้แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ เช่น สมาคม มูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศล จะได้รับการคุ้มครองเฉพาะการจ่ายค่าจ้างตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แต่มีกรณีที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด เหมือนกับลูกจ้างของธุรกิจทั่วไปประเด็นปัญหา 

ลูกจ้างในกิจการดังกล่าว เมื่อถูกเลิกจ้างจะได้รับความคุ้มครองเรื่องค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือไม่ อย่างไรข้อกฎหมาย 

1. พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 4 พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่ (1) ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น (2) รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์นอกจากกรณีตามวรรคหนึ่ง จะออกกฎกระทรวงมิให้ใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแก่นายจ้างประเภทหนึ่งประเภทใดก็ได้ 

2. กฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 วรรคสอง และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้การมิให้ใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนบังคับแก่นายจ้างประเภทหนึ่งประเภทใด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ฯลฯ(3) มิให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 12 มาตรา 16 มาตรา 18 และมาตรา 22 ของ หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 การใช้แรงงานทั่วไป ตั้งแต่มาตรา 23 ถึงมาตรา 37 หมวด 3การใช้แรงงานหญิง ตั้งแต่มาตรา 38 ถึงมาตรา 43 หมวด 4 การใช้แรงงานเด็ก ตั้งแต่ มาตรา 44 ถึงมาตรา 52 หมวด 5 ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ตั้งแต่มาตา 53 ถึงมาตรา 77 เว้นแต่การจ่ายค่าจ้างตามมาตรา 53 มาตรา 54 มาตรา 55 และมาตรา 70 หมวด 6 คณะกรรมการค่าจ้าง ตั้งแต่มาตรา 78 ถึงมาตรา 91 หมวด 7 สวัสดิการ ตั้งแต่มาตรา 92 ถึงมาตรา 99 หมวด 9 การควบคุม ตั้งแต่มาตรา 108 ถึงมาตรา 115 หมวด 10 การพักงาน ตั้งแต่มาตรา 116 ถึงมาตรา 117 หมวด 11 ค่าชดเชย ตั้งแต่มาตรา 118 ถึงมาตรา 122 และหมวด 13 กองทุนสงเคราะห์ ลูกจ้าง ตั้งแต่มาตรา 126 ถึงมาตรา 138 บังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้ แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ 

แนวคำตอบ 

กรณีการเลิกจ้างนั้น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยเมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง โดยที่ลูกจ้างมิได้กระทำความผิด นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อให้ลูกจ้างได้มีเงินเป็นค่าใช้จ่ายในระหว่างที่ยังไม่สามารถจะหางานใหม่ทำได้ แต่กรณีองค์การสาธารณกุศลซึ่งมีวัตถุประสงค์ไม่แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ ไม่มีรายได้หลักจากการดำเนินธุรกิจ รายได้ส่วนใหญ่ได้มาจากเงินบริจาค เงินทุนอื่น ๆ นั้น ตาม กฎกระทรวง (พ.ศ. 2541) ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ซึ่งออกตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้กำหนดคุ้มครองลูกจ้างไว้เฉพาะบางเรื่อง เช่น การจ่ายค่าจ้าง การเรียกเก็บเงินประกัน เป็นต้น แต่ไม่คุ้มครองกรณีของการเลิกจ้าง ดังนั้น หากลูกจ้างในกิจการที่ไม่แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจถูกเลิกจ้าง ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามหนังสือ ที่ รส 0603/02690 ลงวันที่ 12 เมษายน 2542 

 





คลิ๊กที่นี่เพื่อไปเวบของ บริษัท เอช อาร์ เซ็นเตอร์


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: โดยบริษัท เอช อาร์ เซ็นเตอร์ จำกัด

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง