[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

นานาทรรศนะต่อบทบาท''รมต.ซีอีโอ.'' ''อดิศัย โพธารามิก''เจ้ากระทรวงศึกษาฯ

จากนโยบายของนายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) คนใหม่ ที่ออกมาแทบทุกวันในระยะนี้ และดูเป็นนโยบายที่ค่อนข้างชัดเจนในลักษณะให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ จนหลายๆ คนมองว่าเป็นการสวมบทบาทรัฐมนตรีซีอีโอ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ให้เร็วที่สุดภายในช่วงเวลาที่เหลือวาระรัฐบาลชุดนี้อีกเพียงปีเศษ 

ไม่ว่าจะเป็นนโยบายให้มหาวิทยาลัยในภูมิภาครับนักศึกษาในพื้นที่เข้าเรียนมากขึ้น โดยไม่ต้องสอบ, การสั่งสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาชะลอโครงการให้สวัสดิการสมาชิกครูผ่อนซื้อรถยนต์โดยไม่มีเงินดาวน์ เพื่อสกัดปัญหาหนี้ครูที่มีอยู่หลายแสนล้านบาทแล้ว, การสั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ทบทวนหลักสูตรการเรียนและเวลาเรียนเพื่อให้เด็กๆ เรียนอย่างมีความสุข, การเปลี่ยนแนวทางให้เงินอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรี 12 ปี ที่จะแตกต่างระหว่างเด็กรวยกับเด็กจน, การสั่งปรับแผนปฏิบัติการโครงการ Education Net มูลค่าหมื่นล้านบาท เพื่อให้เด็กๆ ทั่วประเทศได้เข้าถึงไอที และคอมพิวเตอร์เร็วขึ้น 

จากบทบาทของนายอดิศัยในลักษณะดังกล่าวนี้ ''มติชน'' จึงได้สัมภาษณ์คนในแวดวงการศึกษา เพื่อสอบถามความคิดความเห็นว่า เป็นทิศทางที่ถูกต้องแล้วหรือไม่?? 

นายอมเรศ ศิลาอ่อน ประธานกรรมการบริหารสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) 

''ผมว่าเป็นสัญญาณที่ดี ในฐานะที่นายอดิศัยเป็นนักบริหารจากภาคเอกชน จะเข้าใจปัญหาจากมุมมองภาคเอกชนได้ดี ส่วนว่าบทบาทของนายอดิศัยที่ออกมาในระยะนี้ถูกต้องแล้วหรือไม่นั้น คงต้องถามคนวงการศึกษาทั่วๆ ไปด้วย ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็ต้องช่วยกันท้วงติง แต่ถ้าเห็นว่าถูกต้องก็ต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางนั้น''

''ส่วนตัวผมสิ่งที่นายอดิศัยทำอยู่เวลานี้คิดว่าเดินมาถูกทางแล้ว แต่กระบวนการผลักดันยังไม่เร็วพอ และการเปลี่ยนแปลงในองค์กรขนาดใหญ่จะช้า เพราะคนที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญต่างๆ กลัวเสียอำนาจ ผู้ที่มีอำนาจก็ต้องปลอบโยน ดังนั้นต้องคิดอย่างเดียวว่าจะทำอย่างไรให้เด็กรุ่นต่อไปฉลาดกว่าเรา ถ้ายึดอย่างนี้ไม่ผิดทางแน่นอน'' 

นายอมรวิชช์ นาครทรรพ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

''นโยบายของนายอดิศัยที่ออกมาโดยรวมค่อนข้างดี ผมไม่มีข้อขัดแย้งเชิงนโยบาย นายอดิศัยพยายามสนองที่เป็นปัญหาได้ดี แต่ผมอยากเสนอให้ท่านปรับยุทธศาสตร์ ซึ่งมี 3 ข้อ คือ 1.วิธีคิดเชิงเดี่ยว ควรจะกำหนดมาตรการหลากหลาย แทนที่จะใช้มาตรการเดียวครอบจักรวาล อย่างเรื่องการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะให้ลดเวลาเรียนเหลือ 4-5 ชั่วโมงต่อวัน แล้วชดเชยด้วยกิจกรรมกีฬาและดนตรีนั้น ต้องยอมรับว่าโรงเรียนบ้านเราคุณภาพไม่ได้เท่าเทียมกันเหมือนในอเมริกา ฉะนั้น บางแห่งอาจพร้อมทำได้ แต่บางแห่งอาจไม่พร้อม ซึ่งผมคิดว่าส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมมากกว่า 2.การคิดนโยบายไม่ได้ฟังเสียงข้างล่าง ยังขาดข้อมูลและงานวิจัย การกำหนดนโยบายโดยไม่ได้มีข้อมูลจากงานวิจัยเป็นพื้นฐาน เป็นสิ่งอันตรายมาก อย่างเรื่องหลักสูตร ก่อนจะปรับต้องดูก่อนว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ซึ่งผมคิดว่าปัญหากว่า 70% คืออยู่ไกลปืนเที่ยง เด็กไม่มีพี่เลี้ยง หากได้มีการวิจัยหาปัญหาเสียก่อนก็จะเป็นเรื่องดี และ 3.การกำหนดนโยบายใดๆ ควรต้องคิดมาตรการไปสู่การปฏิบัติด้วย นั่นคือมีระบบติดตาม ดูแล และตรวจสอบการทำงาน'' 

นายวิจิตร ศรีสอ้าน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร

''ผมว่าโอกาสที่ดีที่สุดของคนวงการศึกษาคือ ตอนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯอีกตำแหน่ง เพราะเราต้องยอมรับว่าท่านเป็นนักบริหารที่ประสบความสำเร็จ และเราหวังว่าท่านจะนำความสำเร็จนั้นมาสู่วงการศึกษาไทย แต่น่าเสียดายที่อยู่แค่เพียง 4 เดือน ฉะนั้น เราคงจะตั้งความหวังสูงเช่นเดียวกับนายกฯไม่ได้ ทั้งยังมีเงื่อนเวลาของรัฐบาลจำกัด ผมเห็นใจคนที่มาทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เพราะเงื่อนเวลาเหลือน้อย ซึ่งจากประสบการณ์ของรัฐบาลที่ผ่านมาแม้จะใช้เวลา 2 ปีกว่า แต่ก็สามารถผลักดันผ่านกฎหมายปฏิรูปการศึกษาได้ไม่กี่ฉบับ และกฎหมายที่ค้างเหลืออยู่ก็สำคัญด้วย ไม่เช่นนั้นจะปฏิรูปได้ไม่เต็มที่ และในเวลาที่เหลืออยู่ปีกว่าการจะผ่านกฎหมายทั้งหมดจึงค่อนข้างลำบาก ซึ่งด้วยความไม่ต่อเนื่องและความจำกัดของเงื่อนเวลา จึงทำให้เรามั่นใจเต็มที่ไม่ได้''

''สิ่งที่นายอดิศัยทำอยู่ในขณะนี้จะถูกทิศทางหรือไม่นั้น ผมคงต้องบอกว่าจริงๆ แล้วทิศทางมีอยู่ในกฎหมายปฏิรูปการศึกษาอยู่แล้ว กฎหมายกำหนดไว้หมดแล้ว เหลือเพียงศิลปะที่ต้องเดินไปตามทิศทางให้ได้ ซึ่งสิ่งที่นายอดิศัยเดินมาก็ไม่ขัดกฎหมาย แต่ถ้าจะไปรื้อโครงสร้างใหม่ คงต้องไปออกกฎหมายใหม่ ขณะนี้หน้าที่คือทำให้โครงสร้างเคลื่อนที่ ปฏิบัติให้ได้ ไม่ใช่มีแต่โครง ไม่มีวิญญาณ อย่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ถือว่ามีแต่โครง แต่ไม่มีคณะกรรมการบริหาร เพราะกำลังจะถูกรื้อถูกยกเลิกอยู่ หรือแม้แต่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 175 เขตทั่วประเทศ ถึงเวลานี้ผู้อำนวยการตัวจริงก็ยังตั้งไม่ได้'' 





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: มติชนรายวัน ฉบับที่ 9383 [หน้าที่ 20 ] ประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2546

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง