|
|
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการหารือกับผู้บริหารโรงเรียนประมาณ 20 กว่าโรงถึงนโยบายการปรับลดชั่วโมงเรียนวิชาการของนายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ผู้บริหารโรงเรียนโดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวนี้ ซึ่งในบางโรงเรียนก็ได้ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยการให้นักเรียนมีการวิ่งสะสมไมล์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่าหากจะดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวนั้น ควรแก้ไขในเรื่องของหลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งอาจจะเปิดให้มีชุมนุมกีฬาภายในโรงเรียนมากขึ้น จัดให้เด็กได้เล่นกีฬาในช่วงเวลาประมาณ 15.00-17.00 น. เป็นต้น หรือในบางโรงเรียนได้ใช้วิธีการบูรณาการ โดยก่อนที่จะมีการเรียนวิชาลูกเสือ เนตรนารีก็อาจจะให้เด็กได้เล่นกีฬาไปด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอว่า ในกรณีที่ต้องมีการวัดและประเมินผลด้านกีฬานั้น ควรใช้วัดว่าผ่านหรือไม่ผ่าน หากจำเป็นต้องนำไปคิดเป็นหน่วยกิตวิชาเรียน อาจจะโอนมาเป็นเกรดเฉลี่ยก็ได้
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อห่วงใยเรื่องสถานที่ที่ไม่เพียงพอให้เด็กได้เล่นกีฬานั้น อาจจะใช้วิธีการแก้ปัญหาให้โรงเรียนระดับประถมศึกษาจับมือกับโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา เพื่อใช้สนามกีฬาร่วมกันได้ หรืออาจจะขอใช้พื้นที่สนามกีฬาจากจังหวัด หรือหน่วยงานเอกชน ค่ายทหาร และมีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟให้แก่หน่วยงานเหล่านั้น ซึ่งเชื่อว่าหากเป็นนโยบายของรัฐบาลการดำเนินการขอความร่วมมือก็จะสะดวกขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าอาจไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับทุกโรงเรียน แต่ก็เป็นทางเลือกให้ในหลายโรงเรียนสามารถดำเนินการได้ ส่วนการเรียนดนตรีนั้น พบว่าจะมีปัญหาลำบากมากกว่ากีฬา เพราะการเล่นดนตรีนั้นก็ขึ้นอยู่กับพรสวรรค์ของแต่ละบุคคล ดังนั้นจึงได้มีข้อเสนอว่า นักเรียนทุกคนที่จบการศึกษาภาคบังคับควรจะสามารถเล่นดนตรีได้คนละ 1 อย่าง หากคนใดที่ไม่ไหวจริงๆ ก็อาจจะเป็นดนตรีที่ง่ายๆ เช่น ตีฉิ่ง ตีฉาบ เป็นต้น รวมทั้งจะมีการขอสนับสนุนอุปกรณ์ดนตรีกับทางภาควิชาดนตรีของมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์ดนตรีด้วย ในส่วนเนื้อหาสาระของหลักสูตรทั้ง 8 กลุ่มสาระนั้นยังคงอยู่ แต่อาจจะมีการวิเคราะห์และวิจัยดูว่าในวิชาใดที่อาจจะไม่จำเป็นต้องเรียนซ้ำกันทุกปี โดยอาจจะใช้เป็นการเรียนในช่วงชั้นปีแทน แต่ก็ยังไม่มีการฟันธงในเรื่องนี้ชัดเจน ซึ่งคงต้องไปดูอีกครั้งหนึ่งก่อน และการให้มีกิจกรรมกีฬา ดนตรีนั้นก็ไม่ใช้เป็นแพทเทิร์นเดียวกันว่า ทุกโรงเรียนต้องให้เด็กใช้เวลาในช่วง 3-5 โมงเย็นเด็กต้องเล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมดนตรี แต่เชื่อว่าในปีการศึกษา 2547 ทุกโรงเรียนน่าจะสามารถทำตามนโยบายดังกล่าวได้ครบหมด คุณหญิงกษมา กล่าว นายวิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับนโยบายปรับลดชั่วโมงเรียนให้น้อยลง และสนับสนุนการเรียนด้านกีฬา ดนตรี ศิลปะ เนื่องจากที่ผ่านมาเด็กไทยเป็นหุ่นยนต์มามาก มีชีวิตอยู่เพื่อผู้ใหญ่ เพื่อพ่อ แม่ ที่เอาลูกเข้าสู่กระบวนการแข่งขัน การปรับลดวิชาการเพื่อให้เด็กมีเวลาในการเป็นตัวตนของเขา มีโอกาสได้เล่น มีเสรีภาพ ได้พัฒนาความเป็นมนุษย์อีกด้านหนึ่งแทนที่จะเอาตัวเองไปทุ่มกับการเรียน จนบางครั้งเครียดกับการทำคะแนนไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนไขว่าเมื่อลดชั่วโมงเรียน ต้องปรับกระบวนการเรียนการสอน แทนที่จะเอาเนื้อหาสาระไปให้เด็ก แล้วอัดๆ เหมือนในอดีต ต้องกลับมาสู่การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในกระบวนการทัศน์ใหม่ ที่ให้เด็กค้นคว้าและเรียนรู้ ได้เป็นตัวเขาเอง ให้กระบวนการเรียนรู้ของเขาติดตัวไปตลอดชีวิต |
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม |
โดย: งาน: งานนโยบายและแผน อ้างอิงแผนงาน : - อ้างอิงโครงการ : - แหล่งที่มา: บ้านเมือง ฉบับที่ 14875 [หน้าที่ 13 ] ประจำวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 |
Vote | |
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อฉัน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
มีประโยชน์ต่อทุกคน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |