|
|
ผู้เคยได้ชมการแสดงแฟชั่นโชว์ต่างๆ อย่างแอล กรุงเทพฯ แฟชั่น วีค (Elle Bangkok Fashion Week) ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อไม่นาน สร้างความฮือฮาจากเสียงสะท้อนตามมาอย่างมาก ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่างานเหล่านั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ส่วนหนึ่งมาจากฝีมือของกลุ่มนักศึกษาตัวเล็กๆ ที่ทำงานอยู่เบื้องหลังการแสดงแฟชั่นโชว์ในฐานะของคนทำงานเบื้องหลัง (BACK STAGE) Back Stage ถือเป็นอาชีพผู้ที่ดูแลงานเบื้องหลังเวทีต่างๆ ตั้งแต่คนขนย้ายเสื้อผ้า เปลี่ยนเสื้อผ้าให้นายแบบ นางแบบ หรือที่เรียกกันว่า Dresser พนักงานประสานงาน คนคอยดูแลความเรียบร้อยต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นมดงานของการแสดงแฟชั่นก็ว่าได้ งานเหล่านี้ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 เป็นนักศึกษาที่มาทำงานพาร์ตไทม์หารายได้และประสบการณ์เสริม เป็นกำไรชีวิตระหว่างเรียน นายกฤษฎดา ระลึก ''แป็ก'' ก้าวเข้าสู่วงการนี้ได้กว่าหนึ่งปีแล้วกล่าวว่า เริ่มทำมาตั้งแต่งานแอล กรุงเทพฯ แฟชั่น วีค ปีที่แล้ว มีเพื่อนที่รู้จักกับพี่ที่ทำงานกับโปรดักชั่นที่จัดงานเดินแบบให้กับแอล ชวนให้มาทำ เพราะว่าตอนนั้นเขาต้องการคนเป็นจำนวนมาก ก็เลยชวนกันมาทำทั้งกลุ่มและก็ทำเรื่อยมาจนปัจจุบัน ''อาชีพนี้เหมาะที่จะทำเป็นงานพาร์ตไทม์ยึดเป็นอาชีพหลักได้ยาก เพราะไม่ได้มีงานเป็นประจำสม่ำเสมอ มันเป็นตามฤดูกาล นานๆ ถึงจะมีงานที แต่เวลามีก็จะทำต่อเนื่องกันหลายวัน บางทีเป็นอาทิตย์เลย เพราะมีการซ้อมล่วงหน้า วันซ้อมเราก็ต้องไปด้วย นายแบบ นางแบบซ้อมเดิน เราก็เรียนรู้เสื้อผ้าไป ซ้อมคิวไป ลองฝึกก่อนวันจริงจะได้คล่องๆ ไม่พลาด เราต้องรู้คิวการเดิน เรียนรู้เสื้อผ้าก่อน ว่าชุดนี้ต้องใส่ยังงัย ผ้าต้องพันอย่างไร การทำงานก็จะแยกชาย-หญิง ผู้ชายก็ดูแลนายแบบ ผู้หญิงก็ดูแลนางแบบ และดูแลรับผิดชอบกันเป็นคนๆ ไป รับผิดชอบงานใครงานมัน'' ส่วนเรื่องค่าตอบแทนนั้น แป็กบอกว่า ทั่วไปรายได้ตกประมาณวันละ 500 บาท ถ้างานใหญ่ก็อาจได้มากกว่านี้นิดหน่อย แต่ถ้าเป็นลูกมือหรือผู้ช่วยหัวหน้าที่ต้องช่วยดูแลงานต่างๆ ทำงานหนักกว่าคนอื่นจะได้ค่าแรงมากกว่าปกติเล็กน้อย ถือว่าน้อยเพราะทำทั้งวัน เช้าจรดเย็น และงานหนักมาก ค่าตอบแทนได้ไม่มากอย่างนี้แต่ก็ทำต่อเนื่องมาเป็นปี แป็กอธิบายว่า ''เงินอาจจะได้ไม่มาก แต่ได้ประสบการณ์มาก เราได้เรียนรู้การทำงาน ได้เปิดหูเปิดตา รู้จักคนมากมาย ถือเป็นประสบการณ์ชีวิตที่สำคัญ จะมีสักกี่คนที่ในชีวิตได้สัมผัสกับนายแบบ นางแบบชื่อดังใกล้ชิดอย่างเรา'' ''เข้ามาทำอาชีพนี้เราจะได้ประโยชน์หลากหลาย ฝึกความอดทนเพราะต้องทำงานกับคนจำนวนมาก และเบื้องหลังเวทีก็วุ่นวายมาก มันก็เลยมีบ้างที่ทีมงานอารมณ์เสีย วีนใส่ เราก็ต้องเข้าใจถึงการทำงานร่วมกับคนหมู่มากที่ต้องอาศัยการประสานจากหลายฝ่าย ฝึกสมาธิเพราะต้องทำงานให้เสร็จภายในระยะเวลาที่จำกัดและต้องละเอียดด้วย คือไม่ใช่เปลี่ยนทันเวลาแต่ติดกระดุมสับเม็ดหรือใส่เสื้อกลับด้าน ต้องทำอย่างเร็ว และเรียบร้อยด้วย ฝึกความรับผิดชอบ แฟชั่นโชว์เป็นงานที่ต้องประสานงานกับหลายฝ่าย ถ้าเราช้าหรือพลาดจะกระทบไปทั้งหมดไม่ใช่แค่เราคนเดียว ที่สำคัญที่สุดแป็กบอกว่า เมื่องานเสร็จสิ้นลงเราจะเกิดความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงาน ยิ่งถ้างานประสบความสำเร็จ จะเกิดความภาคภูมิใจลึกๆ ว่า เราก็เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จนั้น ด้านนายจิระศักดิ์ ก้อนพรหม''อ้วน'' นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน เป็นอีกคนหนึ่งที่ทำอาชีพนี้ กล่าวว่า ''ทำงานนี้มาก็ 2 ปีกว่าแล้ว ได้อะไรที่ป็นประโยชน์มากมาย แต่ขอบอกว่าถ้าจะเข้ามาเพื่อหวังเงินรายได้ มันไม่คุ้มอย่างยิ่ง เพราะงานหนักและเหนื่อยมาก อย่างบางงานเริ่มตั้งแต่ 8 โมงเช้ากว่าจะเลิกก็เที่ยงคืน เพราะต้องรอเก็บข้าวของเคลียร์พื้นที่ทุกอย่างให้เรียบร้อย และต้องวิ่งวุ่นตลอดวัน เหนื่อยสุดๆ'' มีงานเดินแบบอยู่ครั้งหนึ่งที่ประทับใจมาก เป็นงานของโนเกีย จัดที่เซ็นเตอร์พอยต์เมื่อต้นปี ประทับใจเพราะเราต้องเปลี่ยนชุดให้กับนายแบบประมาณ 5 คนได้ งานวุ่นมาก มีนายแบบนางแบบประมาณ 30 คนได้ แต่มี Back Stsge ไม่ถึง 10 คน เนื่องจากที่ด้านหลังแคบมากประมาณ ใช้ทีมงานเยอะไม่ได้ต้องคัดคนมาทำ ขนาดจำกัดคนแค่นั้นยังเบียดกันชนิดที่ว่ายืนได้อย่างเดียวเดินไปเดินมาไม่ได้เลย เราต้องเอาตัวเข้าไปซุกอยู่ตรงราวแขวนเสื้อแล้วยื่นแค่มือออกมาเปลี่ยนชุด แถมแคตวอล์กยังสั้นมากด้วย นายแบบเดินไปแป็ปเดียวก็กลับมาแล้วเลยยิ่งต้องเปลี่ยนให้ไว เราเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ความอดทน การตรงต่อเวลา ความรับผิดชอบ การทำงานเป็นทีมเวิร์ก ความละเอียดรอบคอบ และที่สำคัญการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพราะโชว์มันต้องต่อเนื่อง หยุดไม่ได้ มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเราต้องใช้สมองเอาตัวรอด อย่าให้งานเสีย ได้เรียนรู้อะไรแปลกๆ ใหม่ๆ อ้วนบอกว่า แต่ก่อนไม่รู้เลยว่าการใส่เสื้อผ้านี่ต้องมีเทคนิค อย่างเสื้อเชิ้ตจะใส่ให้เร็ว ใส่แขนที่ละข้างไม่ได้ ต้องจับแขนนายแบบทั้ง 2 ข้างยื่นไปข้างหลังแล้วสวมขึ้นมาเลย หรือความรู้รอบตัวอย่าง ถุงน่องสีชมพูนี่ต้องไปหาซื้อที่ไหน ที่ปิดหัวนมนี่มีขายที่ไหน ถ้าของขาดเราก็ต้องวิ่งไปหาซื้อมา การรีดเสื้อเขาไม่ได้ใช้เตารีด มีเครื่องสตรีม ไอน้ำจ่อพ่นกับเสื้อที่เหมือนเครื่องดูดฝุ่น เรียบกว่าใช้เตารีดอีก อีกอย่างที่สำคัญได้ฝึกภาษาไปด้วย เพราะส่วนใหญ่นายแบบเป็นชาวต่างชาติ ต้องสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ ''งานนี้มันเป็นงานชั้นล่างสุดของแฟชั่นโชว์ เป็นพวกใช้แรงงานเลยก็ว่าได้ หลายคนอาจดูถูกแต่ว่าถ้าเราหัดเรียนรู้ไป เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปมันก็ก้าวหน้าได้ เอาเป็นอาชีพได้ อย่างเจ้าของโปรดักชั่นจัดงานทั้งหลายก็ไต่เต้ามาจากเด็กหลังเวทีเป็นลูกมือก่อน พอเชี่ยวชาญก็ก้าวไปเป็นหัวหน้า เป็นออร์กาไนเซอร์ มีทุนพอก็ตั้งบริษัทได้ เราเรียนรู้จากล่างสุด รู้งานทุกอย่างและรู้จักคนในวงการ ทั้งนายแบบ นางแบบ ดีไซเนอร์ สไตลิสต์ดังๆ เจ้าของห้องเสื้อ แบรนด์ดังๆ ทั้งหลาย ทำงานก็ได้ไอเดียในการสร้างสรรค์จัดงาน ดูว่าเขาทำงานอย่างไรถึงได้ออกมาดี ต้องประสานงาน แบ่งงานอย่างไรไม่ให้วุ่นวาย นำความรู้ตรงนี้ไปปรับใช้กับการทำงานในอนาคต เป็นประสบการณ์ที่มีค่า สิ่งเหล่านี้เป็นอะไรที่มีเงินหาซื้อไม่ได้ ไม่ว่าจะรวยขนาดไหนก็ตาม |
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม |
โดย: งาน: งานนโยบายและแผน อ้างอิงแผนงาน : - อ้างอิงโครงการ : - แหล่งที่มา: มติชนรายวัน ฉบับที่ 9385 [หน้าที่ 26 ] ประจำวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 |
Vote | |
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อฉัน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
มีประโยชน์ต่อทุกคน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |