[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

เลี้ยงเด็กอย่างไรให้มีอีคิวดี

เลี้ยงเด็กอย่างไรให้มีอีคิวดี 


ตรอง อายุ ๑๗ ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ เป็นวัยรุ่นที่ร่าเริงมีความมั่นใจในตนเอง ถึงแม้จะไม่ได้เรียนเก่งมาก เขาเป็นคนที่มีความรู้สึกดีต่อตนเองและผู้อื่น ไม่ค่อยมีปัญหากับความเครียด ไม่เคยแสดงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งกับเพื่อนฝูง ไม่เคยเกี่ยวข้องกับสารเสพติด สามารถควบคุมอารมณ์โกรธได้ดี เป็นที่รักใคร่ในกลุ่มเพื่อน 
ตรอง คือตัวอย่างของวัยรุ่นที่มีความฉลาดทางอารมณ์ ที่มีความรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง และสามารถควบคุมอารมณ์ได้ ตลอดจนเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่นด้วย ตรองจึงมีโอกาสที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและประสบความสำเร็จในชีวิต 
เมื่อมองย้อนเข้าไปในวัยเด็กพบว่า ตรองได้รับการเลี้ยงดูด้วยบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย พ่อแม่ของเขายินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นและความรู้สึกของลูกเสมอ เมื่อมีความขัดแย้ง ก็จะชี้แจงด้วยถ้อยคำที่ตรงไปตรงมา ไม่มีการค่อนแคะ กระทบกระเทียบเปรียบเปรย พ่อแม่ของตรองจะเคยทะเลาะกันกี่ครั้งตรองไม่รู้ รู้แต่ว่าเขาไม่เคยเห็นพ่อแม่ตะโกนใส่กัน หรือทุ่มเถียงทะเลาะกันแรง ๆ ตรองเติบโตมาด้วยบรรยากาศที่อบอุ่น ทุกคนคุยกัน ฟังกัน และเข้าใจกัน 
ความฉลาดทางอารมณ์ของตรองจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้นมาเอง เพราะหากปราศจากซึ่งการอบรมเลี้ยงดูที่ดีจากพ่อแม่ ตรองาอจจะไม่มีวันนี้ที่แตกต่างจากที่เป็นเป็นอยู่ 
ดังเช่น การศึกษาวิจัยระยะยาวตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยผู้ใหญ่ พบว่า เด็กที่เติบโตขึ้นเป็นคนที่ขาดความรู้สึกเห็นใจผู้อื่น ล้วนมาจากการเลี้ยงดูที่เคยถูกทำร้ายทั้งทางอารมณ์และร่างกายจากพ่อแม่ 
ขณะที่การศึกษาเด็กก่อนวัยเรียน ๒ กลุ่มที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมซึ่งยากจนเหมือนกัน แต่ได้รับการเลี้ยงดูที่ต่างกันก็พบว่า เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างอบอุ่น จะแสดงความเห็นใจเมื่อเห็นเด็กอื่นร้องไห้เสียใจ ขณะที่เด็กซึ่งถูกทำร้ายจิตใจ จะไม่แสดงความสนใจเหมือนเด็กกลุ่มแรก แต่อาจจะแสดงปฏิกิริยาต่อเด็กที่กำลังร้องไห้ด้วยความกลัว โกระ หรือแม่แต่เข้าไปทำร้าย่างกาย 
คำพูดและการกระทำของพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูมีผลอย่างมากต่อการพัฒนาทางอารมณ์และบุคลิกภาพของเด็ก เพราะนับจากวัยทารกเป็นต้นมา เด็กจะรู้สึกผูกพันใกล้ชิดกับปฏิกิริยาโต้ตอบทางอารมณ์ของพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู 
ท่าทีและสภาพแวดล้อมในการอบรมเลี้ยงดูตั้งแต่แรกเกิดจึงมีอิทธิพลอย่างมากต่อบุคลิกภาพและความแลาดทางอารมณ์ของเด็ก 
ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดที่พ่อแม่จะเลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ มีความมั่นคง เข้มแข็ง และรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ก็คือการเป็นต้นแบบที่ดีนั่นเอง 
แต่นอกจากการเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูกแล้ว พ่อแม่สามารถส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์ให้ลูกได้ดังนี้คือ 
สอนให้เด็กรู้จักตัวเอง 
สอนให้เด็กรู้จักจัดการกับอารมณ์ตนเองได้ 
สอนให้เด็กรู้จักรอคอยได้ มีวินัย 
สอนให้เด็กรู้จักเข้าใจคนอื่น เห็นอกเห็นใจคนอื่น 
สอนให้เด็กรู้จักการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี รู้จักที่จะผูกมิตรกับผู้อื่น 

เทคนิค ๕ ประการเพื่อความฉลาดทางอารมณ์ของเด็ก 
๑. ด้วยรักและเข้าใจ พ่อแม่ควรแสดงความเข้าใจ ยอมรับ เห็นอกเห็นใจให้ความสำคัญกับสิ่งที่ลูกสนใจแทนการตำหนิ บังคับ วิจารณ์หรือลงโทษ ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็จะต้องระวังการแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่อาจจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีสำหรับลูก 
๒. ใช้โอกาสให้เกิดประโยชน์ ใช้โอกาสหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความใกล้ชิดสนิทสนม และสอนให้เด็กรู้จักเรียนรู้เรื่องอารมณ์ เช่น เวลาที่เด็กเกิดความกลัวขณะดูรายการโทรทัศน์ที่เป็นเรื่องตื่นเต้น อันตราย พ่อแม่อาจใช้โอกาสนี้ โดยการเข้าไปนั่งใกล้ ๆ แล้วปลอบใจและสอนให้ลูกเข้าใจอารมณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมอธิบายด้วยเหตุผลเพื่อให้เด็กกล้าเผชิญสภาพการณ์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน 
๓. เรียนรู้ร่วมกัน รับฟังความรู้สึกและอารมณ์ของเด็กด้วยความตั้งใจ เอื้ออาทรและพยายามตรวจสอบความรู้สึกของเด็กโดยการพิจารณาจากสถานการณ์ พฤติกรรม ท่าทางและอากัปกิริยาที่แสดงออก ในขณะที่รับฟังพ่อแม่อาจช่วยสะท้อนหรือสรุปประเด็น พร้อมหาเหตุผลมาอธิบายให้เด็กเข้าใจในแง่มุมอื่นบ้าง แต่ไม่ควรสรุปเรื่องราวต่าง ๆ ในลักษณะการชี้นำ 
๔. ไม่ปิดกั้นความรู้สึก ฝึกให้เด็กบอกอารมณ์ความรู้สึกของตนได้อย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันการเก็บกดปัญหาแล้วมาระบายออกโดยขาดการควบคุมการแสดงอารมณ์ที่เปิดเผย ตรงไปตรงมา คือพื้นฐานที่ดีของผู้มีความฉลาดทางอารมณ์ เช่น รู้ตัวว่ากำลังโกรธ เสียใจ น้อยใจ ขี้อิจฉาเพื่อนำไปสู่การจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสมด้วยตนเองต่อไป 
๕. เรื่องธรรมดาที่ต้องพอดี เมื่อพ่อแม่เห็นว่าเด็กเข้าใจอารมณ์ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตนและเล็งเห็นพฤติกรรมที่ควรทำแล้ว พ่อแม่ควรบอกให้เด็กทราบว่า การมีอารมณ์ต่าง ๆ เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ควรระมัดระวังการแสดงออกให้เหมาะสมกับบุคคล เวลาและสถานที่ 

เด็กเรียนรู้จากชีวิต 
ถ้าเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่การตำหนิติเตียน พวกเขาจะเรียนรู้ที่กล่าวโทษผู้อื่น 
ถ้าเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตร พวกเขาจะเรียนรู้ที่ต่อสู้ 
ถ้าเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว พวกเขาจะกลายเป็นคนหวาดระแวง 
ถ้าเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่การสมเพชเวทนา พวกเขาจะกลายเป็นคนสงสารตัวเอง 
ถ้าเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่การเยาะเย้ย พวกเขาจะกลายเป็นคนขลาดอาย 
ถ้าเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเต็มไปด้วยความริษยา พวกเขาจะเรียนรู้ที่จะอิจฉาผู้อื่น 
ถ้าเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความละอายต่อการทำผิด พวกเขาจะเรียนรู้ที่จะสำนึกผิด 
ถ้าเด็กอยู่ในสภาพแวดที่เต็มไปด้วยความอดกลั้น พวกเขาจะกลายเป็นคนอดทน 
ถ้าเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยกำลังใจ พวกเขาจะกลายเป็นคนเชื่อมั่น 
ถ้าเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการยกย่องชื่นชม พวกเขาจะเรียนรู้การขอบคุณ 
ถ้าเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการยอมรับ พวกเขาจะเรียนรู้ที่จะชอบตัวเอง 
ถ้าเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการให้ด้วยยินดี พวกเขาจะรู้จักค้นหาความรักในโลก 
ถ้าเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการตระหนักรู้ พวกเขาจะมีเป้าหมายของตัวเอง 
ถ้าเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการแบ่งปัน พวกเขาจะเป็นคนมีเมตตา 
ถ้าเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สัตย์ซื่อและเป็นธรรม พวกเขาจะรู้จักความจริงแท้และความยุติธรรม 
ถ้าเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย พวกเขาจะมีศรัทธาในตัวเองและคนรอบข้าง 
ถ้าเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร พวกเขาจะรู้ว่าโลกเป็นที่ที่น่าอยู่ 
ถ้าเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สงบสุข พวกเขาจะมีสันติภาพในจิตใจ 
แล้วเด็ก ๆ ของคุณอยู่ในสภาพแวดล้อมอย่างไร 
โดโรธี แอล. นอลเต้





ข้อมูลจากเวบนี้


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง