[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ทปอ.นัดทบทวนสอบวัดความรู้-เพิ่มจีพีเอ

ศ.ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยกรณีที่นายอดิศัย โพธารามิก รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) สั่งทบทวนความเหมาะสมในการจัดสอบวัดความรู้ เดือนตุลาคม ในการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษา (เอ็นทรานซ์) ว่าการสอบวัดความรู้ 1 หรือ 2 ครั้งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ).จะรวบรวมข้อเสนอให้นายอดิศัย พิจารณา

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาขณะนี้เป็นปัญหาเฉพาะมหาวิทยาลัย ที่มีคนต้องการเข้าเรียนมากกว่าที่นั่ง จึงต้องหาวิธีประเมินที่ยุติธรรม ไม่เล่นพรรคเล่นพวก ทั้งนี้อยากเห็นการปรับปรุงระบบการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยใหม่ เพราะหากยังใช้เกณฑ์เดิมก็คงเถียงกันไม่จบ เพราะมีจุดอ่อนคือโรงเรียนมาตรฐานไม่เท่ากัน โดยอาจไปอีกระบบคือมีหน่วยจัดสอบให้นักเรียนไปสอบ และยื่นผลสอบให้มหาวิทยาลัย ซึ่งผลสอบนี้ใช้ได้ทั้งสมัครเรียน สมัครงาน และอื่นๆ ส่วนระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาใหม่ (แอดมิชชั่น) ก็เป็นเพียงรูปแบบการคัดเลือกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ ถ้าไม่เอาปัญหาที่เกิดขึ้นมาผูกเป็นปัญหาระดับชาติ การให้สถาบันอุดมศึกษารับตรง และรับเองดีที่สุด แต่ต้องเปิดรับพร้อมกันเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กวิ่งรอกสมัคร และเกิดการสละสิทธิ์

ด้าน ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) กล่าวว่า เรื่องนี้จะมีการหารือในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ ม.เทคโนโลยีสุรนารี วันที่ 29 พ.ย.นี้ ซึ่งการทำอะไรควรมีข้อมูลชัดเจน และหากผลสำรวจไปในทิศทางตรงข้ามกับข้อเสนอ รมว.ศธ.ก็ต้องปรับ ส่วนการจะเพิ่มสัดส่วนคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมปลายหรือจีพีเอ และค่าตำแหน่งลำดับที่หรือพีอาร์แล้วยกเลิกสอบหรือสอบบางส่วนเป็นสิ่งที่ดี คาดว่าอีกไม่กี่ปีก็คงสามารถพัฒนาไปถึงจุดนั้นได้ แต่ขณะนี้ไม่ควรรีบร้อน ต้องพบกันครึ่งทาง ส่วน รศ.ดร.สุมณฑา พรหมบุญ อดีตอธิการบดี ม. ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า เป็นเป้าหมายที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กำหนดไว้ตั้งแต่แรกแล้ว แต่ถูกต่อต้าน ทำให้ยังทำไม่ได้และต้องลดเหลือแค่ 10% เพราะความไม่แน่ใจในคุณภาพของ ร.ร.ที่ยังไม่เท่าเทียมกัน

ขณะที่ รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เป็นสิ่งดีที่จะปรับเพิ่มเพื่อให้เด็กสนใจเรียนใน ร.ร.มากขึ้น และนำไปสู่การสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันในการศึกษา แต่การเพิ่มค่าจีพีเอและพีอาร์ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการลดการกวดวิชาให้น้อยลง เพราะยิ่งเพิ่มก็เปิดโอกาสให้ สถาบันอุดมศึกษารับนักศึกษาด้วยระบบโควตาหรือรับตรงมากขึ้น โอกาสการกวดวิชาก็อาจจะยิ่งเพิ่มขึ้นหลายเท่าตามไปด้วย.





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ไทยรัฐ ฉบับที่ 16745 [หน้าที่ 15 ] ประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง