[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ผู้ใหญ่เขียนหนังสือเยาวชน.... กึ๋น...สำคัญต้องเร้าความเป็นเด็ก แนะ...รัฐหนุนวรรณกรรมฝีมือไทย


ขณะที่หลายฝ่ายพยายามจะพัฒนาเด็กไทยให้มีคุณภาพ โดยให้เด็กรักการอ่าน นายปรีดา ปัญญาจันทร์ อาจารย์พิเศษ วิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร กลับเห็นว่าผู้ใหญ่ที่จะมาพัฒนาเด็กจะต้องมีเด็กอยู่ในหัวใจ และมีหัวใจที่เป็นเด็ก ถึงจะพัฒนาสื่อการอ่านสำหรับเด็กได้ ถึงจะเป็นการแก้ปัญหาด้านการอ่านของเยาวชนได้ถึงรากลึกว่า รัฐบาลพยายามพัฒนาการศึกษาและส่งเสริมให้เด็กรักการอ่าน ซึ่งธรรมชาติของเด็กชอบสิ่งตื่นเต้นและเร้าใจ แต่ปัญญาหาก็คือ เรากำลังขาดนักเขียนหนังสือเด็กฝีมือดีที่สามารถเขียนหนังสือดึงดูดใจเด็กได้ ปัจจุบันนักเขียนมืออาชีพที่เป็นที่ยอมรับมีนับได้ไม่ถึง 5 คน

นายปรีดาจึงเสนอรัฐบาลว่า รัฐต้องทุ่มงบฯซื้อหนังสือเด็กที่ได้รับรางวัลในงานหนังสือแห่งชาติ หรืองานประกวดหนังสือเด็กทั่วๆ ไป และนำไปกระจายตามโรงเรียนต่างๆ เพิ่มจำนวนพิมพ์หนังสือจะทำให้ต้นทุนต่ำลง จะส่งผลดีกับเด็กที่สามารถอ่านหนังสือที่รัฐส่งมาให้ทางโรงเรียน และเด็กที่ต้องการมีหนังสือเป็นของตนเองในราคาที่ไม่แพงมาก เป็นการเพิ่มช่องทางให้เด็กรักการอ่านมากขึ้น เมื่อสำนักพิมพ์ต่างๆ เห็นว่ารัฐบาลให้การสนับสนุนสำนักพิมพ์ที่นักเขียนในสังกัดได้รับรางวัล ก็เป็นสิ่งที่กระตุ้นสำนักพิมพ์ให้พยายามคัดเลือกนักเขียนฝีมือดีจริงๆ ออกมา ทั้งเป็นการสร้างกำลังใจให้นักเขียนรุ่นใหม่พัฒนาการเขียน

''วรรณกรรมเยาวชนของไทยไม่ได้รับความนิยมจากเด็กไทยเท่าวรรณกรรมต่างชาติ เหตุเพราะวิธีการดำเนินเรื่องของไทยยังสร้างความเร้าใจได้ไม่ดี นักเขียนไทยยังไม่เข้าใจธรรมชาติของเด็กที่ชอบความตื่นเต้นเร้าใจดีพอ ลักษณะการเขียนจึงเป็นในแง่ของผู้ใหญ่สอนเด็ก ขณะที่นักเขียนต่างประเทศนำเสนอในแง่ของเด็กชี้นำเด็กด้วยกัน ทำให้ความน่าสนใจจึงต่างกัน''

''สิ่งสำคัญ ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจความเป็นเด็ก ไม่ลืมว่าตอนเป็นเด็ก เราต้องการอะไร ซึ่งผู้ใหญ่ส่วนมากมักจะลืม จึงเขียนหนังสือเด็กในลักษณะที่ผู้ใหญ่สอนเด็ก ผลคือเนื้อหาไม่มีอะไรหวือหวา เด็กเห็นเป็นสิ่งน่าเบื่อ และหันไปอ่านหนังสือวรรณกรรมต่างชาติ หรือไม่เช่นนั้นก็จะหันไปหาสิ่งรุมเร้าอื่นๆ เช่น โทรทัศน์ที่ผู้ใหญ่มักเปิดแช่ให้เด็กดูทั้งวัน แต่หนังสือไม่ค่อยมีใครเปิดแช่ให้เด็กอ่าน''

ตรงนี้ผู้ใหญ่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม พยายามนำหนังสือมาให้เด็ก พร้อมทั้งยั่วยุเด็กให้อ่านหนังสือ พยายามโฆษณาว่าหนังสือที่ยื่นให้นั้นดีอย่างไร แต่การยื่นให้ก็จะต้องดูวัยของเด็กด้วย วัยของตัวละครต้องเป็นวัยเดียวกับเขา และวิธีคิดของผู้เขียนก็จะต้องตรงกับวัยผู้อ่านเช่นกัน ส่วนในกรณีที่เด็กวัยรุ่นส่วนหนึ่งมักจะหมกมุ่นอยู่กับสื่อลามก ผู้ใหญ่ก็จะต้องพยายามเสนอสิ่งอื่นๆ ที่ใหม่กว่า น่าสนใจกว่าสิ่งเหล่านี้

ผู้ใหญ่ที่รับรู้ก็คงต้องพยายามรำลึกถึงความหลังครั้งยังเป็นเด็กกันสักหน่อยว่า ในขณะนั้นความรู้สึกนึกคิดของเราเป็นอย่างไร เผื่อจะเข้าใจความคิดของเด็กมากขึ้น และสามารถพัฒนาคุณภาพเด็กไทยได้ดีขึ้น... 





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: มติชนรายวัน ฉบับที่ 9392 [หน้าที่ 26 ] ประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง