[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

เปิดฎีกาทัดทานร่าง พ.ร.บ.ระเบียบครูฯ


หมายเหตุ - หลังจากสภาผู้แทนราษฎรได้ยืนยันผ่านร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาฉบับสภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่มีบัญชีเงินเดือนครูแนบท้าย เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งขั้นตอนจากนั้นต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อโปรดเกล้าฯทรงลงพระปรมาภิไธย โดยระหว่างขั้นตอนดังกล่าวกลุ่มองค์กรครูและผู้บริหารการศึกษาได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกาเพื่อทัดทาน ขอความเป็นธรรม เนื่องจากเห็นว่าจะได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เช่นกรณีสมาคมนักพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย ที่ทูลเกล้าฯถวายฎีกาเพื่อขอความเป็นธรรมเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเห็นว่าผู้บริหารนอกสถานศึกษาระดับอำเภอประมาณ 3,000 คนทั่วประเทศ จะได้รับผลกระทบจากร่าง พ.ร.บ.นี้ โดยไม่มีตำแหน่งใดรองรับ ต้องสับสนเคว้งคว้างและเสียกำลังใจในการทำงาน ดังรายละเอียดที่นำมาเสนอ



ด้วยสมาคมนักพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยผู้ช่วยหัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอ/กิ่งอำเภอ และผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอ ซึ่งเป็นผู้บริหารนอกสถานศึกษาได้ประชุมกรรมการบริหารสมาคมฯ ผู้แทนภาค ผู้แทนจังหวัด ผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสมาชิกนักพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2546 ณ หอประชุมคุรุสภากระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร ที่ประชุมมีมติให้นำคำร้องทุกข์กราบเรียน ราชเลขาธิการเพื่อขอความกรุณานำความกราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เพื่อขอความเป็นธรรมในการขอให้กำหนดตำแหน่งผู้บริหารนอกสถานศึกษาไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพราะเมื่อพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2546 ยังผลให้หน่วยงานทางการศึกษา ซึ่งได้แก่สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอ/กิ่งอำเภอ และสำนักงานศึกษาธิการอำเภอถูกยุบไปตามโครงสร้างใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ และได้มีการนำบุคลากรตลอดทั้งบรรดาทรัพย์สินมาหลวมรวมขึ้นกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่โดยนิตินัย

จากการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 ส่งผลให้ตำแหน่งผู้บริหารนอกสถานศึกษา ในระดับอำเภอ/กิ่งอำเภอ ทุกตำแหน่งต้องถูกยุบไปโดยปริยาย ซึ่งทางผู้บริหารนอกสถานศึกษาและสมาคม ก็ได้นำเสนอเหตุผลให้รัฐสภา รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดตำแหน่งรองรับผู้บริหารนอกสถานศึกษาที่จะถูกยุบไป แต่ก็มิได้รับความใส่ใจใดๆ จากผู้มีอำนาจ จวบกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมาทางสมาคมเคยนำเสนอตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้ตรวจการศึกษา ต่อสภาผู้แทนราษฎร กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานข้าราชการครู(ก.ค.) และผู้มีอำนาจ แต่ก็มิได้รับการดำเนินการให้ใดๆ ในกรณีที่มิได้กำหนดในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หมวด 3 มาตรา 38 (ข) และ (ค), มาตรา 39 (ข) (ค) และ (ง) เหมือนกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นนั้น ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ เกิดความลักลั่น ทำให้กลุ่มผู้บริหารนอกสถานศึกษาในระดับอำเภอ/กิ่งอำเภอ จำนวนประมาณ 3,000 คน ไม่มีตำแหน่งใดรองรับต้องเคว้งคว้างสับสนเสียขวัญกำลังใจ หาความแน่นอนในชีวิตราชการมิได้ จึงย่อมส่งผลกระทบต่อสถานะ ภารกิจ บทบาทหน้าที่ของผู้บริหารนอกสถานศึกษาอย่างมาก เพราะเดิมเคยมีหน้าที่ ภารกิจ และความรับผิดชอบในการใช้รับสนองคุณแผ่นดินในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา สร้างประโยชน์ต่อชาติ สังคม เด็ก และเยาวชนมาโดยตลอดนับเนื่องหลายสิบปี สำหรับตำแหน่งผู้บริหารนอกสถานศึกษานั้นเคยเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการครู ข้าราชการพลเรือนและลูกจ้างประจำในระดับอำเภอ/กิ่งอำเภอ และได้สร้างคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง มายาวนานแต่ผลที่ข้าพเจ้าและกลุ่มผู้บริหารนอกสถานศึกษาได้รับในขณะนี้เสมือนดังว่า ''เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล'' จึงทำให้พวกข้าพเจ้าได้รับความทุกข์ จากพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

การปฏิรูปการศึกษาถือเป็นวาระแห่งชาติที่จะต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนสังคม และในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเป็นรอยต่อที่สำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ที่ให้โรงเรียนมีบทบาท หน้าที่และภารกิจที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพงานทางด้านวิชาการ งานบุคลากร งบประมาณและงานบริหารทั่วไป ในฐานะสถานศึกษาเป็นนิติบุคคล และผู้บริหารนอกสถานศึกษาถือได้ว่าเป็นบุคลากรทางการศึกษาที่ทรงคุณค่าเพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ และประสบการณ์ทางด้านการบริหารจัดการศึกษา ดังนั้น ผู้มีอำนาจในรัฐสภา รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ควรกำหนดบทบาทหน้าที่เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นมีโอกาสได้ใช้ความรู้ความสามารถแก่วงการศึกษา สถานศึกษาเพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมืองต่อไป จึงจำเป็นจะต้องกำหนดกฎหมายรองรับตำแหน่งผู้บริหารนอกสถานศึกษา ไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างชัดเจน เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนสถานศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษา และจะเป็นการสร้างขวัญ กำลังใจให้กับบุคลากรกลุ่มดังกล่าว เฉกเช่นที่ข้าราชการกลุ่มอื่นได้รับในกฎหมายฉบับเดียวกันนี้

ดังนั้น ข้าพเจ้าในฐานะนายกสมาคม และสมาชิกสมาคมนักพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย ดังรายชื่อที่แนบมาพร้อมนี้มีความประสงค์จะขอทูลเกล้าฯถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานความเป็นธรรม ทางสมาคมจึงใคร่ขอความกรุณาจากราชเลขาธิการ หากเห็นสมควร ขอได้โปรดนำความบังคมทูลเกล้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

นายบุญรัตน์ สมคเณ

นายกสมาคมนักพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย 





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: มติชนรายวัน ฉบับที่ 9392 [หน้าที่ 20 ] ประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง