[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

วันครู

วันครู 
ความหมาย
            ครู หมายถึง ผู้อบรมสั่งสอน ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ 
ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง 
ของสังคมและประเทศชาติ
ความเป็นมา
           วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐
สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา 
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า
คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่
ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความ
เห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และ วิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวง
ศึกษาธิการ ควบคุม จรรยาและวินัยของครูรักษาผลประโยชน์ 
ส่งเสริมฐานะของครู จัด สวัสดิการให้ครูและครอบครัว ได้รับ
ความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคี
ของครู
            ด้วยเหตุนี้ในทุก ๆ ปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญ
คุรุสภาประจำปี    เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลง
ผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และชักถามปัญหาข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับ
การดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา
เป็นผู้ตอบข้อสงสัย   สถานที่ ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุม
สามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และใน
ระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา
            ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. 
พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา 
กิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า
            ''ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณ 
เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมี 
สักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพ 
สักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับ 
คนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณ
บังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละ 
ทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลอง 
ปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง''
            จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดง
ออกทางสื่อมวลชนและอื่น ๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็น
วันแห่งการรำลึก ถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ 
ประกอบคุณงามความดี เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน
เป็นอันมากในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภา สามัญประจำปีจึงได้
พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มี ีวันครูเพื่อเสนอ คณะ
กรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะ
ได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรม
ระหว่างครูและเพื่อส่งเสริม ความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับ
ประชาชน
            ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน
๒๔๙๙ ให้วันที่ ๑๖ มกราคมของทุกปีเป็น ''วันครู'' โดยถือเอา
วันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา    เมื่อ
วันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘    เป็นวันครูและให้กระทรวง
ศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุด ในวันดังกล่าวได้
            การจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม 
พ.ศ. ๒๕๐๐ ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็น
ที่จัดงานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครู
ไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู 
หนังสือที่ระลึกวันครู และ สิ่งก่อสร้างเป็นถาวรวัตถุ
            การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้
สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา ในปัจจุบัน
ได้จัดรูปแบบ การจัดงานวันครูจะมีกิจกรรม ๓ ประเภทใหญ่ ๆ 
ดังนี้
            ๑. กิจกรรมทางศาสนา
            ๒. พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธี
ปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์
            ๓. กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู 
ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬาหรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น
            คำปฏิญาณตนของครู มีดังนี้
            ข้อ ๑. ข้าจะบำเพ็ญตนให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู
            ข้อ ๒. ข้อจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ
            ข้อ ๓. ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครูและบำเพ็ญตนให้เป็น 
ประโยชน์ต่อสังคม
            นายกรัฐมนตรีมอบรางวัลครูดีเด่นประจำปี มอบของที่ระลึก 
ให้ครูอาวุโสนอกและในประจำการ
จรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู 
๑. เลื่อมใสการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ 
     เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ
๒. ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น
๓. ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เกิดผลดีด้วย 
     ความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตนให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือ
   ทอดทิ้งหน้าที่การงานไม่ได้
๔. รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้าม 
     ประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียง
   ของครู
๕. ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถาน
   ศึกษา  และปฏิบัติตามคำสั่งของ ผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้า
   ที่การงาน      โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของ
   สถานศึกษา
๖. ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำ 
     หรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริต
   หรือเป็นภัยต่อมนุษย์ชาติ
๗. ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการโดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบ
   อ้างเป็นผลงานของตนและไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงาน
   ของผู้อื่นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน
๘. ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตน 
     ด้วยความเที่ยงธรรมไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือ
   ผู้อื่นโดยมิชอบ
๙. สุภาพเรียบร้อยประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์       
     รักษาความลับของศิษย์ของผู้ร่วมงานและของสถานศึกษา
๑๐. รักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือกันในหน้าที่
    การงาน 
 





เวบไซต์กระทรวงศึกษาธิการ


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: หนังสือวันสำคัญโครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทยฯ

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง