[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ปัญหาสังคมสะท้อนปัญหาการศึกษา


เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ''แสงแดด'' ยังมีหลากหลายประเด็นที่ ''ค้างคาใจ'' อยู่กับปัญหาระบบการศึกษาในบ้านเราที่สะสมหมักหมมมานาน ซึ่งสรรพปัญหานั้นเป็นทั้ง ''ไข่ขาวและไข่แดง'' กล่าวคือ ปัญหาระบบการศึกษาเมืองไทยเกิดจากปัญหาเนื้อในและรุมเร้าจากภายนอก 



หรือกล่าวง่ายๆ ก็หมายความว่า ความเรื้อรังของปัญหาการศึกษาบ้านเราเกิดจากความอ่อนแอของโครงสร้าง ระบบ และตัวบุคคลคือ ''ผู้บริหาร-ครู'' ที่เป็นเนื้อในแท้ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวกับการศึกษา กอปรกับสารพัด ''เชื้อโรค'' ที่กระจัดกระจายอย่างดาษดื่นในสังคมที่ไม่เอื้ออำนวย พร้อมทั้งไม่เป็น ''โรงเรียนที่ดีของสังคม'' ช่วยพยุง และ/หรือ ผลักดันให้ระบบการศึกษาได้ ''ลืมตาอ้าปาก'' ได้ 



ในกรณีนี้หมายถึง สังคมเป็นสภาพแวดล้อมขนาดใหญ่ที่มีหน้าที่ในการเป็น ''โรงเรียนนอกระบบ'' ที่ต้องคอยส่งเสริมให้ ''ระบบการศึกษา'' ในประเด็นของการ ''ประเทืองปัญญา-สร้างระเบียบวินัย-เคารพในสิทธิเสรีภาพ-เคารพกฎหมาย'' และที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างระบบความคิดของคนในสังคมรู้จักแยกแยะว่า ''อะไรถูกผิด-อะไรควรมิควร'' รวมทั้งรู้จักแยกแยะ ''ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี'' โดยสังคมขนาดใหญ่ต้องเป็นพื้นฐานการศึกษาที่ดีเพียงพอกับการสร้างความเป็น ''ธรรม'' ทั้งหลายไม่ว่า ''จริยธรรม-มโนธรรม-คุณธรรม-ศีลธรรม-สุจริตธรรม-ยุติธรรม''



ความเจริญก้าวหน้าของสังคมวัดได้จาก ''คน'' ที่อยู่ในสังคมนั้นว่ามี ''วิถีชีวิต-การดำเนินชีวิต'' อย่างไร แน่นอนประวัติศาสตร์และอารยธรรมนั้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด เพราะนั่นคือรากฐานของวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีผลกระทบอย่างมากต่อ ''ค่านิยม-ความเชื่อ'' ตลอดจน ''ความศรัทธา'' ที่รู้จักว่า ''ความดี-ความชั่ว'' แบ่งแยก ณ จุดใด ต่อจากนั้นจึงมีผลกระทบต่อ ''พฤติกรรม'' ของคนในสังคมในการประพฤติดีปฏิบัติตน ตลอดจนการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพต่างๆ เพราะฉะนั้น ''คน'' และ ''ความเป็นคน'' จึงเป็นทรัพยากรสำคัญที่สามารถชี้วัด ''คุณภาพ'' ของสังคมนั้นๆ ได้



นานาอารยประเทศที่มีความเจริญเติบโตทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ มักจะมีประชากรที่มี ''การศึกษา'' ที่ดี ซึ่งไม่จำเป็นว่าประชาชนในสังคมนั้นๆ ต้องมีระดับการศึกษาที่ ''สูง'' ยกตัวอย่างประชาชนชาวอเมริกันจำนวนมากที่สำเร็จการศึกษาเพียงแค่ระดับมัธยมศึกษา (HIGH SCHOOL) หรือไม่ก็จบเพียงแค่ระดับอนุปริญญา หรือระดับโรงเรียนเทคนิค เพื่อมี ''ความรู้และทักษะ'' ในการประกอบอาชีพเท่านั้น 



ถามว่าประชาชนจำนวนมากเหล่านี้ ''ด้อยคุณภาพ'' หรือ ก็ต้องตอบว่า ''ไม่ใช่ !'' 



ว่าไปแล้วประชาชนอเมริกันส่วนมากหรือแม้กระทั่งชาวยุโรปส่วนใหญ่มิได้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทั้งหมด ประชาชนชาวอเมริกันและชาวยุโรปอาจสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี น่าเชื่อว่าไม่เกินครึ่งหรือห้าสิบเปอร์เซ็นต์ แต่ ''คุณภาพ'' ของประชาชนโดยส่วนใหญ่คือ หนึ่ง อ่านออกเขียนได้ หรือระดับ LITERACY ค่อนข้างสูง สอง ระดับภูมิปัญญา หรือ MENTALITY สูง หรือระดับ สติปัญญามีระบบการคิดที่มีหลักตรรกะ (LOGIC) สาม ระดับ ''ธรรม'' ค่อนข้างสูงที่ยึดมั่นในระบบคุณธรรม ยุติธรรม จริยธรรม เป็นต้น สี่ การเคารพสิทธิเสรีภาพต่อตนเองและผู้อื่นอยู่ในระดับสูง ห้า การเคารพและเกรงกลัวกฎหมายอยู่ในระดับสูง หก ระบบเกียรติศักดิ์ หรือ HONOR-SYSTEM ที่มี ''หิริโอตตัปปะ'' รู้จักละอายและเกรงกลัวต่อ ''การโกง-บาป'' เจ็ด ระดับ ''ความซื่อสัตย์-สุจริต'' หรือ HONESTY มีสูง แปด การดำเนินชีวิต ''สายกลาง'' ที่มุ่งเน้นในความพอดี หรือดำเนินชีวิตตาม ''อัตภาพ'' ที่เป็นปรัชญาชีวิตของชาวตะวันตก เก้า ''ความประหยัดมัธยัสถ์'' เป็นสรณะสำคัญของชาวอเมริกันและชาวยุโรปที่ยึดถือโดยส่วนใหญ่ และ สิบ ''การช่วยเหลือพึ่งพาตนเอง'' รวมทั้งการช่วยเหลือผู้อื่น หรือการมีน้ำใจก็เป็นองค์ประกอบสำคัญของ ''ความมีคุณภาพ'' ที่นานาอารยประเทศที่เจริญแล้ว มักยึดถือปฏิบัติเป็น ''สรณะ'' ในการดำเนินชีวิต



องค์ประกอบ และ/หรือ ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นสภาพสังคมที่เป็น ''องค์รวม'' ของสภาพแวดล้อมในสังคมที่เป็น ''ไข่ขาว'' คอยประคบประหงมมิให้ ''ไข่แดง'' บิดเบือนหรือออกนอกรูปแบบที่สังคมขนาดใหญ่พึงจะเป็น 



กล่าวอย่างง่ายๆ ก็หมายความว่า ปัจจัยสภาพแวดล้อมต่างๆ ในสังคมเปรียบเสมือน ''ไข่ขาว'' ที่ล้อมกรอบและเป็นทรัพยากร และ/หรือ แหล่งอาหารสำคัญที่คอยดูแลหล่อเลี้ยงระบบการศึกษา หรือ ''ไข่แดง'' ให้เจริญเติบโตพัฒนาและฟักเป็นตัวได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นไข่แดงจะไม่บรรลุเป้าหมายได้ถ้าปราศจากไข่ขาวที่สมบูรณ์



ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่า ปัญหาการศึกษาในบ้านเรานั้นเป็นปัญหาที่เกิดจากสององค์ประกอบสำคัญ ทั้งจากภายในและภายนอกระบบ จึงก่อให้เกิด ''ความพิกลพิการ'' ของระบบการศึกษาในบ้านเรา



ปัญหาภายในนั้นได้กล่าวไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ถึงปัญหาโครงสร้างระบบ หลักสูตร วิธีการเรียนการสอน และที่สำคัญที่สุดคือ ''ครู'' ที่เป็นวัตถุดิบหรือ ซอฟท์แวร์ (SOFTWARE) สำคัญสำหรับการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ สู่นักเรียนนักศึกษา แต่ในขณะเดียวกันปัจจัยต่างๆ จากสภาพแวดล้อมในสังคมก็เป็นปัญหาหลักเช่นเดียวกัน



เรายอมรับหรือไม่ว่า สภาพแวดล้อมทางสังคมขนาดใหญ่ของเรามีปัจจัยปัญหาเยอะมาก ทั้งๆ ที่เรามีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันยาวนาน ในขณะเดียวกันสังคมไทยเป็นสังคมพุทธศาสนา และเป็นสังคมเก่าแก่ซึ่งน่าจะยึดมั่นในหลักการและองค์ประกอบต่างๆ ที่ได้กล่าวไว้ว่าสังคมอเมริกันก็ดี สังคมชาวยุโรปก็ดี ''ยึดมั่น-ยึดติด'' กับองค์ประกอบเหล่านั้นมาก แต่ทำไมสังคมไทยก็เก่าแก่ไม่แพ้กันกลับ ''สวนทาง'' กับแนวทางต่างๆ เหล่านั้นเกือบจะสิ้นเชิง 



ไม่ว่าจะเป็น ''ค่านิยม'' ที่ผิดๆ กับ ''การบริโภคนิยม'' และ ''ด้อยเกียรติศักดิ์ - ซื่อสัตย์สุจริต'' ที่สังคมในภาพรวม ''ยกย่องคนโกง-ยกย่องโจร'' ทั้งในคราบ ''โจรกระจอก'' จนเลยไปถึง ''โจรเสื้อนอก'' เหตุผลสำคัญก็คือสังคมไทยในปัจจุบัน ''เห็นเงินเป็นพระเจ้า'' โดยไม่คำนึงถึงที่มาที่ไปของ ''แหล่งทุน-เงิน'' เหล่านั้นมาจากที่ใด



ในขณะเดียวกัน การยอมรับความถูกต้อง การเคารพกฎหมาย การเคารพสิทธิเสรีภาพผู้อื่นแทบจะไม่มีเลย นานาสารพัดเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็น ''การสร้างภาพ-ภาพลวงตา'' แทบทั้งสิ้น 



การไม่เคารพตนเอง การทุจริต บกพร่องความซื่อสัตย์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่รู้จัก ''ความพอดี'' ซึ่งว่าไปแล้ว สังคมชาวพุทธอย่างไทยเราน่าจะตระหนักมากที่สุดกับ ''มัชฌิมาปฏิปทา'' หรือ ''ทางสายกลาง'' ตามหลักคำสั่งสอนของพุทธศาสนา 



แต่ในทางกลับกันสังคมไทย ''ฟุ้งเฟ้อ-ฟอนเฟะ-น้ำเน่า'' และที่สำคัญคือ ''การเห็นกงจักรเป็นดอกบัว'' 



ถามว่า ก้นบึ้งของจิตใจคนไทยนั้นรู้ซึ้งดีหรือไม่ว่า ''อะไรเป็นอะไร !'' ก็ต้องตอบว่า ''รู้ดี -รู้ทั้งนั้น !'' เพียงแต่ว่าสังคมไทยทุกวันนี้เป็น ''สังคมเอาตัวรอด-ใครดีใครอยู่-มือใครยาวสาวได้สาวเอา !'' ทั้งนั้น 

หรือจะขอฟันธงแบบตรงไปตรงมาก็คือ ''ความเห็นแก่ตัว !'' ครอบงำวิถีชีวิตคนไทยมากขึ้น เนื่องด้วยคนไทยนิยม ''บริโภค'' อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ''สังคมทุน-สังคมการตลาด'' มีอิทธิพลครอบงำเป้าหมายชีวิตมากขึ้น ทั้งนี้เราจะตำหนิคนไทยทั้งมวลคงไม่ได้ เนื่องด้วย ''กระแสสังคม'' ทั้งหมดพุ่งไปที่ตรงนั้น และถ้าใครยังยึดมั่น ''คุณงามความดี'' ตามหลักการที่พึงจะเป็นเช่นนั้น ก็จะ ''ตกขบวน-เอาตัวไม่รอด'' ความจำเป็นที่ต้อง ''ฝืนใจ'' ตัวเองจึงเกิดขึ้น ''ระบบเกียรติศักดิ์'' จึงเกิดยากกับสังคมไทย



เหตุการณ์ต่างๆ สามารถสะท้อนถึงข้อสมมติฐานข้างต้นได้ ดูจาก ''สื่อ'' ต่างๆ ที่นำเสนอสู่สายตาประชาชน โดยเฉพาะ ''สื่อโทรทัศน์'' ที่ ''น้ำเน่า'' มากที่สุดกับบรรดาละคร เกมส์โชว์ทั้งหลายที่ปราศจากการประเทืองปัญญา และชี้นำประชาชนให้ยึดถือเชื่อมั่น พร้อมเข้าใจผิดกับ ''ค่านิยมผิด !'' 

นอกเหนือจากนั้นสื่อแขนงต่างๆ ''ปกปิด'' ความจริงที่ควรให้ประชาชนรับรู้รับเห็น จะเนื่องด้วยเหตุผลกลใดก็ตามแต่ เพราะฉะนั้นสภาพแวดล้อมของสังคมไทยจึงเป็น ''ไข่ขาว'' ที่ ''บกพร่อง-ด้อยคุณภาพ'' เราจึงจะมาเอาอะไรกับ ''ไข่แดง'' ระบบการศึกษาในบ้านเรา



การปฏิรูปการศึกษามิใช่เพียงแค่มุ่งเน้นไปที่กระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น ซึ่งก็เป็นปัญหาใหญ่โตมโหระทึกอยู่แล้ว เราคงจะต้อง ''ปฏิรูป-สังคายนา'' สังคมขนาดใหญ่ทั้งหมด เพราะ ''การศึกษา'' เป็นปรากฏการณ์ที่ต้องอาศัยการพลิกผันจากทุกฝ่าย



หรืออาจจะเป็นว่า ถ้าคนไทยมีการศึกษาดี จะนำพาไปสู่การมีจิตสำนึกที่ดี และเมื่อมีจิตสำนึกที่ดี ก็สามารถแยกแยะว่า ''ผิด-ถูก'' ควรแบ่งเส้นที่ใด แต่สำคัญที่สุดคือ รู้จักที่จะ ''ตัดสินใจ'' ได้ถูกว่า ''อะไรจริง-อะไรปลอม !'' 





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ผู้จัดการรายวัน ฉบับที่ 4044(4042) [หน้าที่ 9 ] ประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง