[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

คุมคุณภาพตำราเรียนหวั่นเอกชนพิมพ์เพี้ยน


นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เกี่ยวกับหนังสือแบบเรียนต่างๆ พบว่า การที่ สพฐ.วางกรอบกว้างๆ ให้สำนักพิมพ์ จัดพิมพ์ตำรา แบบเรียน ตามใจชอบนั้น ทำให้เกิดความสับสนว่าหนังสือเล่มใดมีเนื้อหาที่มีคุณภาพมากกว่ากัน ซึ่งตนคิดว่าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป เนื้อหาในตำราแต่ละเล่มอาจไม่เหมือนกัน ดังนั้น สพฐ.จึงควรที่จะกำหนดมาตรฐานตำราให้มากขึ้น โดยเฉพาะมาตรฐานด้านเนื้อหา ให้มีเนื้อหาที่เพียงพอต่อการเรียนรู้ของเด็ก และเหมาะสมกับค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ไม่ใช่นำตำรามาใช้ในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากในแต่ละปี เด็กประถมมีค่าใช้จ่ายในการซื้อตำราเรียนประมาณ 400-500 บาท ขึ้นกับกิจกรรมของแต่ละโรงเรียน ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ ควรที่จะผลิตตำราเรียนฉบับมาตรฐาน เป็นต้นแบบให้สำนักพิมพ์ต่างๆ เข้ามาประมูลเพื่อจัดพิมพ์ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะเริ่มต้นในปีการศึกษา 47 นี้ 

รมว.ศธ.กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของโครงการโรงเรียน 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน ซึ่งกำลังจัดทำแผนปฏิบัติการและเป้าหมายการเป็นโรงเรียนในฝัน คาดว่าจะนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี ภายในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ สำหรับการปรับปรุงหลักสูตรนั้น จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาทั้งระบบ โดยการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น จะต้องปรับปรุงโดยยึด 8 กลุ่มสาระวิชา ประกอบกับการเรียนด้านกีฬา ดนตรี เพื่อให้เด็กเป็นคนที่สมบูรณ์ ซึ่งขณะนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากโรงเรียนขนาดใหญ่ ส่วนเรื่องการออกข้อสอบวัดความรู้นั้น จากรายงานของ สพฐ.พบว่า ผลการวัดความรู้ของเด็กในช่วงเดือน ต.ค. ในแต่ละปี เปรียบเทียบกับผลการวัดความรู้ของเด็กในเดือน มี.ค.ซึ่งเป็นเด็กที่เรียนจบชั้น ม.6 แล้วนั้น จะเห็นว่า ผลการสอบเดือน มี.ค.สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้สูงกว่า ดังนั้น จึงต้องให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และ สพฐ.ร่วมกันทบทวนว่า การสอบวัดความรู้ในเดือน ต.ค. มีความจำเป็นหรือไม่ และทำแล้วมีประโยชน์หรือไม่ 

นายอดิศัย กล่าวต่อว่า สำหรับแนวคิดเรื่องการเพิ่มสัดส่วนคะแนนสะสมเฉลี่ย ม.ปลายหรือ จีพีเอ และค่าตำแหน่งลำดับที่ หรือค่าพีอาร์ นั้น กรณีที่สถาบันอุดมศึกษาต้องให้ สพฐ.ยกระดับคุณภาพของโรงเรียนก่อนจึงค่อยเพิ่มค่าจีพีเอนั้น จากรายงานการวิจัยของ สพฐ.พบว่า คุณภาพของโรงเรียนไม่แตกต่างกัน และแม้ว่าสถาบันอุดมศึกษาจะใช้จีพีเอหรือไม่ ก็ต้องรับนักเรียนมัธยมเข้าศึกษาต่ออยู่ดี จึงไม่มีเหตุผลที่ต้องเลื่อนออกไป ก็ควรเพิ่มน้ำหนักจีพีเอในปีการศึกษาหน้าทันที โดยให้ สพฐ.และ สกอ.ตั้งกรรมการพิจารณาร่วมกัน 

ด้าน คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า การจัดทำหนังสือต้นแบบนั้น เพื่อต้องการควบคุมคุณภาพเนื้อหาของตำรา และเพื่อไม่ให้หนาเกินไป ส่วนจะส่งผลกระทบต่อนโยบายสื่อเสรีหรือไม่นั้น เรื่องนี้ยังไม่มีการหารือ แต่ รมว.ศธ. ก็เห็นด้วยที่จะให้สำนักพิมพ์เอกชนต่างๆ เข้ามาประมูลจัดพิมพ์ 






ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: บ้านเมือง ฉบับที่ 14882 [หน้าที่ 13 ] ประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง