[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ปฏิบัติการ ยกเครื่องห้องสมุด สาระดี ๆ สำหรับผู้รักการอ่าน

                                                                                          ปฏิบัติการ
                                                                                  “ยกเครื่องห้องสมุด”

การแสวงหาความรู้ในโลกยุคไร้พรมแดน  ได้ก้าวข้ามข้อจำกัดในด้านแหล่งเรียนรู้ ด้วยสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัยก้าวล้ำควบคู่กับเทคโนโลยีที่ถูกออกแบบมาให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างอรรถประโยชน์ นี่คืออีกขั้นแห่งการเรียนรู้ แต่ถึงแม้ทุกอย่างจะหมุนเวียนเปลี่ยนตามโลกที่เต็มไปด้วยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเราไม่อาจปฏิเสธได้ ทว่าห้องสมุด แหล่งแสวงหาความรู้ที่เก่าแก่ที่สุด และมีสื่อพื้นฐานที่สุดอย่างหนังสือ ก็ยังคงโดดเด่นในฐานะตัวชูโรงแห่งการร้อยเรียงเรื่องราวต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและดีที่สุด จัดเป็นสื่อที่ได้รับความนิยม และสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีไปได้
ห้องสมุดคือแหล่งรวมความรู้ที่ใหญ่ที่สุด  เป็นเสมือนที่เก็บรวบรวมเรื่องราวความรู้เกือบทุกชนิดไว้ในนั้น เมื่อก่อนเราจึงอาศัยค้นคว้าสิ่งที่เราอยากรู้จากการอ่านหนังสือในห้องสมุด  แม้ทุกวันนี้ห้องสมุดจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือหลากหลายทันสมัย  และหลายคนก็ไม่จำเป็นต้องค้นหาสิ่งที่อยากรู้จากการอ่านหนังสือในห้องสมุดอีกแล้ว  เพียงเพราะสามารถแสวงหาความรู้อื่น ๆ ได้จากเทคโนโลยีที่เรียกว่า อินเทอร์เน็ต จนหลายคนอาจลืมเลือนนิยาม ความสำคัญของคำว่า “ห้องสมุด”  ไปชั่วขณะ
อย่างไรก็ตาม มีเสียงสะท้อนเบา ๆ ตอบกลับมาว่า “ก็ห้องสมุดอย่างเดิม ๆ มันน่าเบื่อ ซ้ำซากจำเจ  มีแต่ชั้นหนังสือที่บางเล่มก็เก่าแสนเก่า  มองไปมุมไหนก็ให้อึดอัด  ไม่ผ่อนคลาย  บางแห่งบรรณารักษ์ยังหน้าดุอย่างกับนางยักษ์  ขาดไร้ซึ่งน้ำมิตรไมตรีจิต ไม่ชวนให้ใช้บริการ แล้วอย่างนี้จะไม่ให้น่าเบื่อได้อย่างไรกัน
ด้วยเหตุนี้เอง  อุทยานการเรียนรู้ (ทีเค ปาร์ค) จึงได้จัดโครงการประกวดห้องสมุดมีชีวิต ทีเค ปาร์ค เพื่อนำความมีชีวิตไปเติมเต็มห้องสมุดทั่วประเทศให้เป็นห้องสมุดแห่งความสุข  หลีกหนีความจำเจ น่าเบื่อ ให้กลับกลายเป็นห้องสมุดที่มีชีวิตชีวาน่าเข้าไปใช้บริการอีกครั้ง  ผู้เขียนเองได้พยายามรวบรวมเทคนิคการยกเครื่องแปลงโฉมห้องสมุดจากบรรดาบรรณารักษ์ตัวแทนห้องสมุดต่าง ๆ จากทั่วประเทศ ที่ผ่านการการันตีโดยทีเค ปาร์ค แล้วว่า เป็นสุดยอดของการจัดห้องสมุดให้มีชีวิตมาฝากตัวแทนบรรณารักษ์ห้องสมุดอื่น ๆ กัน และไม่สงวนสิทธิ์  หากบางท่านจะนำไปประยุกต์ดัดแปลงใช้บ้าง

แต่งองค์ทรงเครื่องห้องสมุด
ห้องสมุด คงเปรียบได้เหมือนส่วนประกอบต่าง ๆ ของบ้านหนึ่งหลัง เป็นแหล่งรวมหลากหลายชีวิตและเรื่องราวในนั้น กอปรด้วยความรักความอบอุ่น เหมือนบรรณารักษ์ที่มีหัวใจพร้อมบริการอย่างเต็มเปี่ยม  มีหนังสือหลากหลายถูกใจผู้ใช้บริการ (ลูกบ้าน)  ดังนั้น เพื่อเติมเต็มให้บ้านหลังนี้มีความสุขจึงต้องเติมสิ่งที่พร่องอยู่ให้เต็ม ถือเป็นพื้นฐานในการเปลี่ยนรูปแปลงโฉมห้องสมุดให้โฉบเฉี่ยว มีชีวิตชีวาอย่างง่าย ๆ เป็นห้องสมุดที่มีกิจกรรมเคลื่อนไหวอยู่ตลอดให้ความรู้สึกผ่อนคลาย บรรยากาศเป็นมิตร และที่สำคัญ  คือ มีจิตวิญญาณอันเกิดจากจิตใจของผู้ให้ที่ปรารถนาจะแบ่งปันอย่างไม่มีรอ โดยเริ่มต้นจากการมองให้กว้าง  พร้อมปรับเปลี่ยนทัศนคติเดิมที่มีอยู่ ขณะเดียวกันยอมรับและกล้าคิดค้น พัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ มาปรับใช้เพื่อพัฒนาห้องสมุดของตนและชุมชนให้มีชีวิตชีวา
ศาสตราจารย์คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต  นายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า “ห้องสมุดมีชีวิตต้องเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่พร้อมจะเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตเสมือนกับต้นไม้ใหญ่ที่พร้อมจะเจริญเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาตลอดเวลา”
ผ่องศรี  ปิยะยาตรัง  บรรณารักษ์ตัวแทนห้องสมุดประชาชนเทศบาลนครระยอง จ.ระยอง  “ห้องสมุดมีชีวิตเป็นสถานที่ที่ทุกคนเข้ามาแล้วต้องมีความสุข  และได้รับความพึงพอใจกลับไป ห้องสมุดของเรามีจุดเด่นตรงขนาดพื้นที่กว้างขวาง สามารถนั่งหรือนอนอ่านหนังสือได้เต็มที่ ครบครันด้วยอุปกรณ์ไอทีและอินเทอร์เน็ต และกิจกรรมให้ร่วมมากมาย เช่น กิจกรรม Play and Learn เพลินวันอาทิตย์ เปิดเวทีให้เด็ก ๆ ได้แสดงออก กิจกรรม Happy Book Day กิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอ่าน หรือกิจกรรมล่าสุดตลาดนัด รวมพลเยาวชนคนเก่ง เพื่อแข่งขันหาคนเก่งรอบด้าน เป็นต้น”
อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่เป็นเสมือนตัวแทนห้องสมุดเล็ก ๆ แต่ถึงพร้อมด้วยพลังอันยิ่งใหญ่ ที่แสดงให้เห็นว่าการเป็นห้องสมุดมีชีวิตนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นห้องสมุดที่มีอาคารใหญ่โต โอ่อ่า หรือแวดล้อมไปด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยเท่านั้น แต่สำหรับห้องสมุดเล็ก ๆ ก็สามารถที่จะแปลงโฉมเป็นห้องสมุดที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา มีการเคลื่อนไหว เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนั้น ๆ ได้ และนี่คือห้องสมุดโรงเรียนเมืองเด็กวิทยา จ.เชียงใหม่
จินดา  ปัญจเรือง บรรณารักษ์ตัวแทนห้องสมุดโรงเรียนเมืองเด็กวิทยา เผยว่า “ห้องสมุดของเรามีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา  แม้จะมีอุปสรรคเรื่องสถานที่เพราะเป็นห้องสมุดมุงจากอยู่  แต่เราก็มีหนังสือจำนวนมากและหลากหลายประเภทให้เลือกอ่าน ทั้งยังสร้างบรรยากาศให้รู้สึกอบอุ่นเสมือนอ่านหนังสือที่บ้านของตัวเองด้วยการนำวัสดุท้องถิ่น เช่น ตุง กระบอกไม้ไผ่ ดอกไม้ประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติ เป็นต้น มาประดับตกแต่ง นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น ครอบครัวรักการอ่าน โดยให้คนเฒ่าคนแก่มาอ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้เด็ก ๆ ฟัง กิจกรรมด้านหัตถกรรมจักสาน เราจะนำห้องสมุดของเราไปแนะนำให้ชุมชนได้รู้จัก เช่น หากมีหนังสือน่าอ่านเราก็จะนำไปประชาสัมพันธ์ที่ศูนย์กระจายข่าวของชุมชน จัดทำห้องสมุดเคลื่อนที่ โดยนำตู้หนังสือขนาดเล็กไปวางไว้ที่บ้านของผู้ปกครองหมุนเวียนกันไป”
จุรี  ศรัยทอง  บรรณารักษ์ตัวแทนห้องสมุดประชาชน จ.สงขลา  “ห้องสมุดเป็นของทุกคน  เราต้องเรียนรู้ที่จะมองชุมชน มองถึงคนในสังคมของเราว่า เราจะทำให้พวกเขาเป็นคนที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียนได้อย่างไร  จะทำให้เขาเข้ามาหาความรู้ หรือร่วมกิจกรรมกับห้องสมุดของเราได้อย่างไร และเราต้องเรียนรู้ที่จะมองที่ปลายทาง เพื่อสังคมเราจะเป็นสังคมแห่งการใฝ่รู้ใฝ่เรียน เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาให้ห้องสมุดของเราเป็นห้องสมุดมีชีวิตให้ได้  เพราะถ้าพวกเขาได้รับความรู้จากกิจกรรมดี ๆ จากหนังสือที่ดี ๆ ความรู้พวกนั้นจะติดตัวพวกเขาไปได้ตลอด  เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่า  สำหรับอนาคตก็อยากจะพัฒนาให้ห้องสมุดของเราเป็นศูนย์ประสานงานเรื่องการเรียนรู้ เป็นที่แลกเปลี่ยนความรู้ของกันและกัน เป็นที่ทำกิจกรรมร่วมกันของชุมชน ห้องสมุดเป็นเหมือนกับแหล่งรวมความคิดของผู้คนที่มีชีวิต  และคนที่ตายไปแล้ว เป็นการสื่อสารระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์  แต่สำหรับห้องสมุดมีชีวิต  ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับคน  ต้องดูดี  มีบุคลิกที่ดี มีชีวิตชีวา แต่ภายในก็ต้องฉลาด มีไหวพริบ  มีทัศนคติที่ดี เพื่อจะได้ช่วยกันพัฒนาชุมชนของเราต่อไป”
และอีกหนึ่งห้องสมุดที่มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน  ก็คือ ห้องสมุดเด็ก โรงเรียนอนุบาลจิดาภา  ห้องสมุดที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น  และความรู้มากมายที่แฝงอยู่ในหนังสือการ์ตูนหลากปกหลายสีสัน  คอยแต่งแต้มพลังและความคิดสร้างสรรค์สำหรับเด็ก  โดยคุณครูวารุณ นุตกุล  เผยว่า  การจัดห้องสมุดที่ดี ต้องคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ให้เขาสามารถเลือกหยิบเลือกอ่านเล่มโปรด หรือเล่มที่สนใจได้โดยสะดวก มีมุมเล็ก ๆ สำหรับไว้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ที่สำคัญห้องสมุดของเรายังเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ได้หยิบยืมเล่มโปรดกลับไปอ่านที่บ้านได้  และทุกเช้าวันศุกร์จะมีกิจกรรมรักการอ่าน ในโครงการสื่อสัญจร เพื่อบูรณาการนิทานเข้ากับสาระการเรียนรู้หน่วยต่าง  ๆ ที่เด็กได้เรียนรู้ในห้องเรียน
นี่คือปฏิบัติการส่วนหนึ่งจากคนห้องสมุด  เป็นข้อปฏิบัติง่าย ๆ ที่แต่ละท่านต่างหยิบยกมาแบ่งปันไอเดียให้สมาชิกวารสารวงการครูและผู้ปกครอง ได้เลือกหยิบใช้ตามประสงค์เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นห้องสมุดขวัญใจมหาชน




เอกสาร : 8866.doc


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: คุณสุพัชรี ผุดผ่อง

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง