[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ความรัก และ การแต่งงาน

''ความรัก'' และ ''การแต่งงาน''

โดย เตรูโอะ อะวาโมโต้ SJ
กองบรรณธิการ ชูชาติ ศรีวิชัยรัตน C.Ss.R.
เรียบเรียงโดย บัณฑิต ประดิษฐานุวงษ์


แด่คนสองคนที่กำลังคิดจะแต่งงาน



การพิจารณาตัวเองก่อนการแต่งงาน

ลองย้อนกลับไปคิดถึงอดีตเมื่อครั้งที่คุณทั้งสองเริ่มรู้จักกัน จนถึงตอนที่คุณตัดสินใจแต่งงานกัน

คุณเข้าใจอุปนิสัยที่แท้จริงของคู่แต่งงาน มากน้อยเพียงไร

โดยปกติแล้ว คนทั่วไปที่มิไช่คู่แต่งงานมักจะมองการกระทำของผู้อื่นในแง่ “ลบ” แต่สำหรับคู่แต่งงานแล้วทั้งคู่จะมอง
โลกในแง่ “บวก” ที่เต็มไปด้วยความสุข ไม่ว่าการกระทำของคู่ตน จะเป็นเช่นไร ทั้งคู่ต่างเห็นดีเห็นงามตามกันเสมอ ซึ่งการ
กระทำเช่นนี้ อาจก่อให้เกิดการมองที่ผิดพลาดจากความเป็นจริง และ อาจทำให้ คุณผิดหวังในภายหลังได้ ดังนั้นการมองการกระทำของผู้อื่นไม่ว่า ในแง่ “บวก” หรือ “ลบ” ก็ดี ถือว่าเป็นการเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ในกรณีของ คู่แต่งงานนั้นทั้งคู่ต่างมีหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ไม่ไช่สิ่งหน้าตำหนิแต่อย่างใด หากแต่ระวังการหลงเชื่อ แบบไร้เหตุผล ให้พึงระวังอยู่เสมอว่าความรักสามารถทำให้คนตาบอดได้ ซึ่งในที่สุดก็จะพาทั้งคู่ไปพบกับความผิดหวัง

คู่แต่งงานควรศึกษาอุปนิสัยของกันและกันอย่างละเอียด คุณควรรู้ทั้งข้อดีและข้อเสียของคู่แต่งงานว่าเป็นอย่างไร และคุณยอมรับมันได้แค่ไหน ลองคิดดูว่าคุณพร้อมที่จะเผชิญกับมันอย่างไร ถ้าคุณยอมรับในตัวเขาไม่ได้ทั้งหมดการแต่งงานคงเป็นไปได้ยาก คุณไม่ควรตั้งเงื่อนไข หรือปฎิเสธนิสัยของคู่แต่งงานเพราะลักษณะนิสัยของคนเราเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปตลอดชีวิต แต่ทว่านิสัยที่ชอบทำร้ายผู้อื่นหรือทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บอย่างขาดสติ ถือเป็นเรื่องที่เราควรปรับปรุงและแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ยอมรับซึ่งกันและกันได้หรือไม่?

เพื่อให้ตัวเองได้รับรู้และเข้าใจคู่แต่งงานอย่างถูกต้องคุณควรเปิดใจแก่กันในระดับใด คุณมั่นใจได้แค่ไหนว่าเขารับความเป็นตัวของคุณได้จริงๆ และคุณสามารถรับความเป็นตัวของเขาได้จริงหรือไม่

คุณทั้งสองต่างมีหน้าที่ที่จะแสดงความรู้สึกที่แท้จริงของกันและกันออกมาให้มากที่สุด

ลองถามตัวเองว่าคนที่คุณจะแต่งงานด้วย ได้ผ่านความเห็นชอบจากคนที่คุณรักและนับถือ เช่น พ่อแม่ พี่หรือเพื่อนสนิทแล้วหรือยัง ปฎิกิริยาของพ่อแม่ พี่หรือเพื่อนสนิทแล้วหรือยัง ปฎิกิริยาของครอบครัวเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในกรณีที่คู่ถูกต่อต้านจากพ่อแม่ คุณทั้งคู่ตั้งใจจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

การแต่งงานจึงเป็นเรื่องที่คู่รักจะต้องเตรียมปรึกษาหารือและตัดสินใจมากมายบางเรื่องคุณไม่สามารถตัดสินใจโดยลำพังได้คู่แต่งงานจึงควรรับฟังความคิดเห็นของพ่อแม่ทั้ง 2 ฝ่าย ก่อนที่จะเดินหน้าต่อไป บางครั้งคู่แต่งงานก็เห็นด้วยกับคำแนะนำนั้น บางครั้ง ก็โอนอ่อนผ่อนตาม บ้างก็ต้องจำยอมและบางทีก็ยอมอย่างมีเงื่อนไข อย่างไรเสียก็ต้องจัดการ กันให้เรียบร้อย

หากเป็นที่ทำงานทุกอย่างอย่างเป็นธุรกิจเมื่อมีการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งไปแล้วสิ่งนั้นถือเป็นข้อยุติ แต่ระหว่างคน 2 คนในครอบครัวมันมิได้เป็นเช่นนั้น ถึงภายนอกจะกำหนดด้วยคำพูดแต่ภายในใจนั้นอาจมีคำถามมากมายซ่อนอยู่ทำให้เราเกิดความไม่พอใจ เสียใจ ไม่สนุก และในที่สุด เมื่อมีเรื่องเพียงเล็กน้อยมากระทบมันก็จะเป็นชนวนจุด ให้ระเบิดออกมา นำไปสู่สภาวะที่ไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้

ดังนั้นการประนีประนอม การโอนอ่อนผ่อนตามเป็นเรื่องที่ทั้ง 2 ฝ่ายควรกระทำ สิ่งที่สำคัญคือการที่ต่างฝ่ายต่างต้องพยายามเข้าใจซึ่งกันและกันเอาใจเขามาใส่ใจเรามากที่สุด และความรู้สึกไม่พอใจก็จะหมดไป

เวลาที่อยู่ด้วยกัน 2 คน คุณรู้สึกสบายใจหรือไม่?

เวลาพบกัน คุณรู้สึกปลอดภัย อบอุ่น รู้สึกเป็นตัวของตัวเองหรือรู้สึกสงบหรือไม่? คุณอาจค้นพบคำตอบได้จากการสังเกตความรู้สึก ที่ละเอียดอ่อนเหล่านี้เมื่อถูกกระตุ้นจากเหตุการณ์ภายนอก
ความรู้สึกที่น่ายินดีต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น มิได้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่นำเราไปสู่การแต่งงาน มิไช่เกิดจากอารมณ์ชอบหรือเกลียด การแต่งงานไม่ได้เป็นจุดสูงสุดของความรักและไม่ไช่ปลายทางเช่นกันเพราะที่ถูกต้องแล้ว มันเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่ชีวิตใหม่ของคน 2 คนต่างหาก

คุณสามารถจัดการกับสิ่งรอบตัวคุณได้หรือไม่

ในการตัดสินใจแต่งงาน คุณมีเรื่องคาใจหรือปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกบ้างหรือไม่ ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์โดยเฉพาะเรื่องของเพศตรงข้ามควรจะมีการปรับความเข้าใจกันให้เรียบร้อย คุณควรคิดว่าตัวเองมีหน้าที่ที่จะเปิดเผยอดีตและปัจจุบันของคุณทั้งหมดให้กับเขาหรือไม่อย่างไร?

ต่างฝ่ายต่างยังเป็น “บุคคลที่มีอิสระ”

ถึงแม้ว่าในตอนนี้ คู่แต่งงานต่างตัดสินใจและตกลงด้วยวาจาว่าจะแต่งงานกันแล้วก็ตาม จงอย่าลืมว่าตัวเองยังเป็น “บุคคลที่มีอิสระ” (อย่างน้อยก็ในทางนิตินัย) ที่จะเลือกคนอื่น การประกาศเจตนาว่าจะแต่งงานต่อหน้าพระเจ้า ต่อตัวเอง ต่อคู่แต่งงานหรือต่อสาธารณชนนั้น เป็นเรื่องของพิธีแต่งงาน เพราะฉะนั้นก่อนการตัดสินใจประกาศการแต่งงานจงระวังอย่าผูกมัดตัวเองกับฝ่ายตรงข้ามพูดด้วยคำพูด หรือ พฤติกรรมที่รีบด่วนเกินไป

การเริ่มชีวิตแต่งงานด้วยสภาพที่รู้สึกว่ายังมีสิ่งที่ตัวเองยอมรับไม่ได้ หรือยังมีอะไรคาอยู่ในใจนั้น จะกลายเป็นเรื่องที่ต้อง “เสียใจ” ไปตลอดชีวิต

จงตัดสินใจแต่งงานด้วยการตัดสินใจที่เป็นอิสระและตนเองต้องการจริงๆ โดยไม่มีอะไรค้างคาใจทั้งสิ้น



มีชีวิตอยู่เพื่อความสุขของทุกคน

การแต่งงานไม่ไช่เพื่อหลีกหนีความโดดเดี่ยว

ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือชีวิตประจำวัน การใช้ชีวิตคู่ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าการใช้ชีวิตคนเดียว ในทางกลับกันสำหรับคนที่ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเอง โดยเฉพาะด้านจิตใจนั้นชีวิตแต่งงานอาจเป็นเรื่องยากก็ได้ ดังนั้นคนคงไม่แต่งงานเพราะไม่สามารถ เป็นตัวของตัวของตัวเองทางด้านจิตใจ และคงไม่แต่งงานเพื่อความสบาย ในชีวิตเพียงอย่างเดียวเช่นกัน การก้าวเดินไปบนเส้นทางของตัวเอง และด้วยขาของตัวเอง อย่างเข้มแข็งและมั่นคงนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญไม่ว่าจะสำหรับคนโสดหรือคนแต่งงานแล้ว ก่อนที่จะแต่งงาน เรามาลองสำรวจตัวเองอีกครั้งให้มั่นใจ เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับพ่อแม่ คู่แต่งงาน หรือเพื่อนฝูงโดยตรงทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการค้นหา “ตนเอง” ในส่วนลึกที่สุดของตัวเอง

พวกเราเติบโตมาท่ามกลางความรักความอบอุ่นของครอบครัวได้ทำงานในที่ทำงานที่ทำให้ชีวิตสมบูรณ์ มีเวลาแห่งความสุขห้อมล้อมไปด้วยเพื่อนฝูง มีชีวิตมาได้ด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันของผู้คนมากหน้าหลายตา แต่ถ้าลองคิดดูดีๆ ไม่ว่าใครก็คงจะรู้สึกถึง “ตัวตนที่เกิดมาเพียงลำพัง ใช้ชีวิตคนเดียวและตายอย่างโดดเดี่ยว” ไม่ว่าคุณจะมีพ่อแม่ คุ่แต่งงาน คนที่เจตนาดีกับคุณ หรือคนที่รักคุณมากมายเท่าใดก็ตาม คุณก็คงไม่สามารถปฏิเสธหรือหลีกหนีความเป็นจริงที่ว่า “เราเป็นตัวเราเอง” ได้ ถึงจะแต่งงานไปแล้วก็ตาม “ความเป็นตัวเราเอง” ก็ไม่ได้หายไป เพราะมันเป็นเนื้อแท้ของความเป็นมนุษย์

ความสุข คืออะไร?

นี่เป็นสิ่งที่มีเนื้อหามากมายจนไม่สามารถอธิบายออกมาได้ด้วยคำพูดเพียงประโยคเดียว แล้ววิธีที่จะรู้สึกถึงมันนั้น ก็คงจะต่างกันไปแล้วแต่คน แต่ถ้าลองมองดูในใจของตัวเองดู คนที่สามารถรู้สึกได้ถึงความอิ่มเอิบสมหวัง ความรุ้สึกทางกาย ความรู้สึกมีคุณค่า และความรู้สึกท้าทายตรงนั้น น่าจะเรียกได้ว่ามีความสุข

ความรู้สึกเมื่อได้อิ่มเอิบเมื่อได้สมหวัง เช่น ชีวิตจนถึงตอนนี้ ไม่ว่าจะเมื่อวานหรือวันนี้เป็นที่พอใจ คุ้มค่า ไม่ได้เสียเปล่าไปเลยแม้แต่น้อย มีการตอบสนอง ไม่ว่างเปล่า

ความรู้สึกทางกาย ไม่ไช่แค่เรื่องร่างกายเท่านั้น แต่รวมความสุขที่เกิดจากการไม่ได้ใช้ชีวิตที่เหมือนรู้สึกผิดและกลัวสายตาของผู้อื่นชีวิตที่สามารถพบปะใครก็ได้อย่างเสรี ชีวิตที่ไม่ต้องอับอายต่อมโนธรรมมีคืนวันอันสดชื่น เป็นต้น

ความรู้สึกท้าทาย คนที่ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก คนที่ฝ่าฟันอุปสรรค หรือบรรดานักกีฬาที่กำลังรอสัญญาณปล่อยตัวอยู่ที่จุดสตาร์ทของการแข่งขันมาราธอนน่าจะมีความสุข คนที่มีกำลังใจคนที่มุ่งมั่เพื่อก้าวไปข้างหน้าเสมอ คือคนที่มีความสุข

ความสุขของตัวเองเป็นความรับผิดชอบส่วนตัว

ตัวเองจะมีความสุขหรือไม่มีความสุขนั้น เป็นความรับผิดชอบของตัวเอง ไม่ไช่เพราะคนอื่น การที่จะมีความสุขนั้นไม่ไช่เป็นแค่สิทธิของตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นหน้าที่อีกด้วย
ความสุขที่แท้จริงเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาภายในใจเราเอง เป็นสิ่งที่คุณฟูมฟักมันมา ไม่ไช่สิ่งที่ได้รับจากผู้อื่นหรือของที่หยิบยืมกันได้ความสุขที่ตัวเองสร้างขึ้นมานั้น เปรียบเหมือนดอกไม้ที่ถูกตัดออกจากต้น ถ้าในจิตใจเราไม่มีรากที่จะยึดมันเอาไว้ ไม่ช้าไม่นานก็คงเหี่ยวเฉาไป

เพียงแค่เงินทองหรือสิ่งของนั้น ไม่ได้เป็นของความสุขมากมายอย่างที่คนเราคิดกัน ทรัพย์สมบัติกองเท่าภูเขาหรือความรักความหวังดีของผู้คนนั้น ถ้าหากเราไม่เปิดใจแล้วซึมซับมันเข้าไป ก็คงไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อความสุขของตัวเองเท่าใดนัก
การแสวงหาความสุขใส่ตัวไม่ไช่ความเห็นแก่ตัว จากการที่เขาได้พยายามด้วยความสามารถของตัวเองจนได้ที่ 1 ในการที่เขาได้พยายามด้วยความสามารถของตัวเองจนได้ที่ 1 ในการแข่งมาราธอน จะไม่มีใครพูดว่าคุณเป็นคนที่เห็นแก่ตัวจากการใช้ความสามารถของตัวเองเพื่อความสุขของตัวเองอย่างแน่นอน เพราะว่ามันเป็นการดูแลสุขภาพจิตของตัวเอง

ความเห็นแก่ตัวคือ กรณีที่ละเมิดหรือฉกฉวยเอาผลประโยชน์ของคนอื่นมาเพื่อประโยชน์สุขของตัวเอง ถ้าในการแข่งขันมาราธอนคุณไปขัดขาคนข้างๆจนเขาพลาดล้ม หรือใช้ศอกผลักเพื่อให้ตัวเองขึ้นมานำละก็ นั่นเรียกว่าความเห็นแก่ตัว เป็นการทำผิดกติกา

คุณจะมีความสุขได้ด้วยการแต่งงานหรือไม่ ?

การแต่งงานเป็นสิทธิของมนุษย์ไม่ไช่หน้าที่ แต่การมีความสุขเป็นทั้งสิทธิและหน้าที่ในเวลาเดียวกัน เพราะพวกเราเป็นผู้ที่ได้รับเชิญให้ตัวเองมีความสุข ดังนั้น คุณจึงต้องทำให้ตัวเองมีความสุขด้วยตัวคุณเอง หรืออย่างน้อยก็ต้องไม่ทุกข์ไปมากกว่าที่เป็นอยู่

ในขณะนี้ คุณต้องหยุดคิดให้ดีๆ ว่า การดำเนินชีวิตโสดต่อไปเป็นความสุขของคุณ หรือการแต่งงานเป็นความสุขกันแน่ ถ้าคุณสามารถยืนยันอย่างหนักแน่นกับตัวเองได้ว่า “การแต่งงานทำให้คุณมีความสุขแน่นอน” ก็ควรตัดสินใจแต่งงาน

ตอนเลือกคู่แต่งงานก็เช่นเดียวกัน คุณคงเลือกคนที่ทำให้คุณมีความสุข หรืออีกนัยหนึ่งก็คือคนที่รักหมดหัวใจเพราะอะไรนะหรือ ก็เพราะว่าความรักทำให้เกิดความสุข ดังนั้นจะแต่งหรือไม่แต่ง หรือจะแต่งกับใครนั้น เป็นเรื่องที่ต้องกำหนดด้วยตัวเองที่มีความรับผิดชอบต่อความสุขของตัวเอง หาไช่เรื่องที่กำหนดโดยพ่อแม่หรือคู่แต่งงานไม่ สมมุติว่าหลังแต่งงานเกิดไม่มีความสุขขึ้นมานั่นเป็นความรับผิดชอบของตัวเองมากกว่าความรับผิดชอบของผู้อื่น

สิ่งสำคัญนั้นขึ้นอยู่ที่ว่า ก่อนการแต่งงานคุณได้ศึกษาคู่แต่งงานให้ละเอียดถี่ถ้วนแล้วหรือยัง และหลังแต่งงานคุณพยายามหาความสุขจากความรักของคุณหรือไม่

ทั้งตอนนี้ที่ยังเป็นโสด ทั้งอนาคตหลังการแต่งงานต้องเตือนตัวเองว่า การจะมีความสุขหรือไม่มีนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้อื่น แต่เป็นความรับผิดชอบของตัวเองต่างหาก

หากคุณอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ หรือไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดีแล้วละก็ คุณยังไม่พร้อมที่จะพูดเรื่องแต่งงาน





http://www.catholic.or.th/spiritual/article/article07/5.html


โดย:
งาน: กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: http://www.catholic.or.th/spiritual/article/article07/5.html

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง