[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

มารู้จักเทศกาลมหาพรต เทศกาลที่สำคัญเทศกาลหนึ่งของศาสนาคริสต์ กันดีกว่า!!!!!!

เทศกาลมหาพรต
''เทศกาลมหาพรต'' มีชื่อเป็นภาษาลาตินว่า ''Quadragesima'' ซึ่งแปลว่า ''ที่สี่สิบ'' (ภาษาอังกฤษเรียกเทศกาลนี้ว่า ''Lent'') คือช่วงเวลาที่เริ่มตั้งแต่ ''วันพุธรับเถ้า (Ash Wednesday)'' ไปจนถึง ''ช่วงบ่ายของวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์'' ซึ่งกินเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ (7 สัปดาห์ในพระศาสนจักรตะวันออก) หรือ 42 วัน โดยจะหักวันอาทิตย์ออกเนื่องจากทุกวันอาทิตย์ถือว่าเป็นวันปัสกาเสมอ ทำให้เหลือ 36 วัน ดังนั้น จึงต้องบวกวันให้ครบ 40 วัน เทศกาลมหาพรต จึงต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันพุธรับเถ้า ซึ่งจะบวกถึงวันเสาร์ อีก 4 วัน อันเป็นช่วงเวลาแห่งการเตรียมตัวเข้าสู่เทศกาลมหาพรต รวมเป็น 40 วันพอดี เทศกาลนี้มีขึ้นเพื่อเตรียมสมโภชปัสกา ซึ่งเป็นวันฉลองที่ยิ่งใหญ่ และสำคัญที่สุดในรอบปีของพระศาสนจักร เพราะปัสกา เป็นวาระแห่งการเฉลิมฉลองการที่พระเยซูเจ้าทรงรับทรมาน สิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนม์ชีพ เพื่อกอบกู้มนุษยชาติให้คืนดีกับพระเจ้ามารับชีวิตร่วมกับพระองค์

ทำไมต้อง 40 วัน?
ตัวเลข 40 มีความหมายต่อคริสตชนในหลายแง่มุม ตามที่ปรากฏในพระคัมภีร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอดอาหารของพระเยซูเจ้าในถิ่นทุรกันดารก่อนที่ปฏิบัติภารกิจของพระองค์ ตลอดจนเรื่องราวอื่นๆในประวัติศาสตร์ของชนชาติอิสราเอล ไม่ว่าจะเป็น ฝนที่ตกติดต่อกัน 40 วัน 40 คืน ในสมัยโนอาห์ 40 วัน 40 คืน ที่โมเสสจำศีลอดอาหารบนภูเขาซีนาย 40 วัน ที่ประกาศกเอลียาห์เดินทางไปยังภูเขาโฮเร็บ 40 ปี ของการเดินทางของประชากรอิสราเอลในทะเลทรายก่อนเข้าสู่ดินแดนแห่งพันธสัญญา และ 40 วัน ของการที่ประกาศกโยนาห์ประกาศการกลับใจแก่ชาวนินะเวห์ ดังนั้น เมื่อมีพัฒนาการเกี่ยวกับการจำศีลในเทศกาลมหาพรต พระศาสนจักรจึงให้ความสำคัญกับเลข 40 เพื่อให้คริสตชนได้ดำเนินชีวิตร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้าในพระทรมาน และกลับคืนชีพพร้อมกับพระองค์

สาระและกิจกรรมในช่วงเทศกาลมหาพรต
คริสตชนฉลองปัสกาเพื่อระลึกถึงการผ่านจากความตายเข้าสู่ชีวิตพร้อมกับองค์พระคริสต์เจ้า ดังนั้น ในเทศกาลมหาพรตซึ่งเป็นการเตรียมสมโภชปัสกานี้ พระศาสนจักรจึงย้ำถึงความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตโดยการกลับใจละทิ้งบาป และกิจการชั่วร้ายต่างๆ ที่ทำให้เราเหินห่างจากพระเจ้า จะได้หันกลับมาหาพระองค์เพื่อรื้อฟื้นชีวิตใหม่ในพระคริสตเจ้าให้เข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้นทุกปี เทศกาลมหาพรตจึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการเตรียมตัวคริสตชนสำรอง เพื่อรับศีลล้างบาปในคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองปัสกาที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงมีชัยชนะต่อบาป และความตายกลับคืนพระชนม์ชีพนอกจากนั้นยังเป็นโอกาสที่พระศาสนจักรจะอภัยบาปแก่คริสตชนที่ทำบาปหนัก และต้องการจะคืนดีกับพระเจ้าและพระศาสนจักร เพราะฉะนั้นเทศกาลมหาพรตจึงเป็นระยะเวลาที่คนบาปเช่นนี้แสดงการกลับใจ โดยปฏิบัติกิจใช้โทษบาปที่พระศาสนจักรกำหนดให้ เป็นเทศกาลแห่งการเตรียมตัว โดยเน้นที่การฟื้นฟูชีวิตฝ่ายจิต ประกอบด้วยการจำศีล ภาวนา อดอาหาร การกลับใจโดยการทำทาน ปฏิบัติกิจเมตตา ชดเชยบาป ทำกิจศรัทธาเพิ่มมากขึ้น

การถือศีลอดอาหาร การทำพลีกรรมสะกดอดใจไม่ทำอะไรตามใจตัวเอง การฝืนใจทำความดีที่เราถอยหนี ไม่อยากสวดเพราะเบื่อหน่าย การอดออมเงินที่เราอยากไปใช้เพื่อความสุขส่วนตัวเก็บลงกระปุกมหาพรตเพื่อนำไปช่วยคนที่ยากลำบากกว่าเราเป็นรูปแบบของการสร้างสมบุญกุศลที่เอาตัวเองเป็นเครื่องบูชาแบบพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขน และสัมฤทธิ์ผลก็โดยอาศัยร่วมทุกข์ไปกับบารมีแห่งมหาทรมานของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขน

สำหรับคริสตชนผู้ใหญ่ที่รับศีลล้างบาปแล้วตั้งแต่เป็นเด็ก แต่ไม่ได้รับการพัฒนาในด้านความเชื่อ หรือยังไม่ได้รับศีลกำลัง หรือยังไม่ได้รับศีลมหาสนิท เทศกาลมหาพรต ต้องเป็นโอกาสสั่งสอนหลักความเชื่อ (cathechesis) อย่างเข้มข้น เพื่อเตรียมจิตใจพวกเขาเหล่านั้นให้รับศีลอภัยบาป ซึ่งอาจจะจัดให้มี ''วจนพิธีกรรมขอสมาโทษ (penitential services)''
สำหรับผู้ที่ได้รับเลือกให้รับศีลล้างบาป หรือคริสตชนสำรอง ซึ่งหมายถึงผู้ใหญ่ที่ขอสมัครเรียนคำสอนเพื่อเตรียมตัวรับศีลล้างบาปเป็นคริสตชนคาทอลิก โดยปกติ จะมีการสอนคำสอนอย่างต่อเนื่องมาประมาณ 1 ปี ก่อนที่จะเข้ารับศีลล้างบาป พิธีเกี่ยวกับคริสตชนสำรองจึงมีขั้นตอนตามลำดับ ประกอบด้วย ''พิธีเลือกสรร (Rite of Election)'' และมีลำดับขั้นตอนต่างๆในทุกวันอาทิตย์ตลอดเทศกาล รวมเรียกว่า ''พิธีรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน (Christian Initiation)'' ดังนี้
พิธีเลือกนักบุญองค์อุปถัมภ์ พ่อ-แม่ทูนหัว และลงทะเบียนรายชื่อสำหรับการรับศีลล้างบาป
พิธีตรวจสอบคุณสมบัติและพิธีไล่ปีศาจ ที่เชื่อมโยงกับการอ่านพระวรสารนักบุญยอห์น
พิธีมอบสัญลักษณ์ของความเชื่อ (หรือการมอบบทสัญลักษณ์อัครสาวก) และบทข้าแต่พระบิดาฯ ซึ่งถือเป็นบทสังเคราะห์ความเชื่อและการภาวนา
พิธีเตรียมตัวขั้นสุดท้ายก่อนรับศีลล้างบาป

รายละเอียดพิเศษต่างๆในเทศกาลมหาพรต
เทศกาลมหาพรตเริ่มตั้งแต่วันพุธรับเถ้า ซึ่งมีพิธีเสก และโปรยเถ้าบนศีรษะของคริสตชน ''ขี้เถ้า'' มาจากใบลานที่คริสตชนใช้แห่ในวันอาทิตย์ใบลานเมื่อเริ่มต้นสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ของปีก่อนหน้า นำมาเผาให้กลายเป็นเถ้า เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายภายนอกของความเป็นทุกข์ถึงบาป และสภาพของมนุษย์ที่เป็นคนบาป และได้พยายามแสดงความสำนึกผิดของตนต่อพระเจ้าด้วยการแสดงออกมาเป็นพิธีภายนอก เครื่องหมายประการนี้จึงเป็นการเริ่มเดินทางมุ่งสู่การกลับใจ การเสกและโปรยเถ้าจะทำในพิธีมิสซาของวันพุธรับเถ้า ในพันธสัญญาเดิมมีกล่าวถึงการใช้เถ้าโปรยศรีษะเป็นเครื่องหมายแสดงการไว้ทุกข์หรือการกลับใจ เช่น ยชว 7:6;2 ซมอ 13:19; อสค 27:30; โยบ 2:12,42; ยนา 3:6; อสธ 4:3; ยดธ 9:1; อสย 58:5-7; ดนล 9:3; ยอล 2:12-13 เป็นต้น มีหลักฐานปรากฏว่า คริสตชนเริ่มใช้เถ้าโรยศีรษะเป็นเครื่องหมายแสดงการเป็นทุกข์กลับใจเมื่อเริ่มเทศกาลมหาพรตนี้ ตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 10 เท่านั้น ในดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำไรน์ แต่ก็เป็นเพียงกิจศรัทธาส่วนตัว ต่อมาธรรมเนียมนี้ขยายเข้ามาในคาบสมุทรอิตาลีในศตวรรษที่ 11 เข้ามาที่กรุงโรมในศตวรรษที่ 12 และถูกรับเข้ามาในหนังสือพิธีกรรมของพระศาสนจักรที่กรุงโรมในศตวรรษที่ 13 เท่านั้น

พิธีรับเถ้าในวันพุธเริ่มเทศกาลมหาพรต ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงกิจศรัทธาส่วนตัวและต่อมาถูกรับเข้ามาในพิธีกรรมทางการของพระศาสนจักรนั้น ยังเป็นโอกาสให้เราเริ่มเทศกาลศักดิ์สิทธิ์ ด้วยความสำนึกถึงสภาพต่ำต้อยของเราดังถ้อยคำของพิธีกรรมที่บอกเราว่า ''มนุษย์เอ๋ย จงระลึกเถิดว่าท่านเป็นเถ้าธุลีและจะกลับเป็นเถ้าธุลีอีก'' ส่วนถ้อยคำอีกแบบหนึ่งของพิธีโปรยเถ้า ที่ว่า ''จงกลับใจใช้โทษบาปและเชื่อพระวรสาร (''ข่าวดี'') เถิด'' (เทียบ มก 1:15) นั้น ชี้แนะแนวทางที่เราจะต้องเดินตลอดเทศกาลมหาพรตนี้ เพื่อเข้าร่วมอยู่ในพระอาณาจักรของพระเจ้าและรวมเป็นหนึ่งเดียวกับองค์พระคริสตเจ้า ผู้ทรงกลับคืนพระชนม์ชีพซึ่งเราจะสมโภชในเทศกาลปัสกา

เนื่องจาก เป็นเทศกาลที่เน้นการใช้โทษบาป การเป็นทุกข์ถึงบาป และการกลับใจเพื่อเตรียมตัวเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกของการกลับคืนพระชนม์ชีพอย่างรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าในเทศกาลปัสกา พิธีกรรมในวัดช่วงนี้ จึงงดการตกแต่งประดับประดาที่เกินความจำเป็น เช่น ไม่ตกแต่งดอกไม้บนพระแท่น ไม่เล่นดนตรีระหว่างพิธี การเว้นขับร้องบท ''พระสิริรุ่งโรจน์ (Gloria)'' และบท ''อัลเลลูยา (Alleluia)'' การเลือกบทเพลงในพิธีควรจะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของเทศกาล และตัวบทของพิธีกรรม นอกจากนี้ ควรส่งเสริมกิจศรัทธาที่เข้ากันได้ดีกับเทศกาลเช่น ''การเดินรูปสิบสี่ภาค'' เป็นต้น บทอ่านในพิธีกรรมวันพุธรับเถ้านี้ทั้งสามบท ยังเชิญชวนเราให้มองชีวิตจากแง่มุมต่างกัน บทอ่านบทแรกจากหนังสือประกาศกโยเอล (ยอล 2:12-18) เตือนเราไม่เพียงแต่ฉีกเสื้อผ้าเป็นเครื่องหมายแห่งการไว้ทุกข์ภายนอกเท่านั้น แต่เราต้อง ''ฉีกจิตใจ'' คือเป็นทุกข์กลับใจละทิ้งบาป และความชั่วอย่างจริงจัง พระเมตตาของพระเจ้าพร้อมที่จะให้อภัยความผิดของเราทุกคน บทอ่านที่สองจากจดหมายของนักบุญเปาโลอัครสาวกถึงชาวโครินธ์ (2 คร 5:20 , 6;2) เตือนให้เรากลับคืนดีกับพระเจ้า และกับเพื่อนมนุษย์ ใช้เวลาที่พระเจ้าประทานให้ในเทศกาลศักดิ์สิทธิ์นี้ประกอบกิจการดี ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดสำหรับทุกคนส่วนพระวรสาร (มธ 6:1-6,16-18) เตือนให้เราปฏิบัติกิจการดีของตนอย่างซื่อสัตย์ จริงใจ โดยไม่โอ้อวด หรือแสวงหาคำชมจากคนที่เห็นกิจการดีของเรา ข้อความที่บอกให้เราเข้าไปในห้องชั้นใน เพื่ออธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาเจ้าโดยตรงนั้น ไม่ได้ห้ามเราที่จะมาร่วมพิธีกรรมส่วนร่วมพร้อมกับพี่น้องคริสตชนคนอื่นๆ ตรงกันข้าม พิธีกรรมในเทศกาลมหาพรตแต่ละวันมีบทสอนคริสต ชนทุกคนทั้งที่กำลังเตรียมตัวจะรับศีลล้างบาป และผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วให้ดำเนินชีวิตคริสตชนได้อย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น และคริสตชนก็มีธรรมเนียมมาร่วมพิธีกรรมในเทศกาลมหาพรตนี้เป็นพิเศษตลอดมาอีกด้วย คำเตือนของพระวรสารจึงบอกให้เราระวังไม่ให้การอธิษฐานภาวนาของเรา เป็นเพียงการโอ้อวดภายนอกเท่านั้น การอธิษฐานภาวนาของเราต้องเป็นการสนทนาส่วนตัวกับพระบิดาเจ้าด้วย

วันอาทิตย์แรกของเทศกาลมหาพรต เป็นการเริ่มต้นการปฏิบัติกิจการมหาพรตประจำปี พระสังฆราชควรประกอบพิธี ''เลือกสรร'' ให้กับคริสตชนสำรอง ในอาสนวิหาร หรือในวัดอื่นที่เหมาะสม และในวันอาทิตย์ที่สี่ของเทศกาล เรียกว่า ''อาทิตย์ Laetare'' อาจบรรเลงดนตรีและใช้ดอกไม้ตกแต่งพระแท่นบูชาได้ และยังอาจใช้อาภรณ์พระสงฆ์เป็นสีกุหลาบได้ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีธรรมเนียมคลุมไม้กางเขนและรูปต่างๆในวัด ด้วยผ้าคลุมสีม่วง ในช่วงเทศกาลมหาพรตด้วย ซึ่งเป็นธรรมประเพณีตามแต่ละท้องถิ่น ภายใต้การกำหนดของสภาพระสังฆราชประจำท้องถิ่นนั้น

การเดินทางของความเชื่อในเทศกาลมหาพรต

ทัศนะบางประการ ในเทศกาลมหาพรต
การอดเนื้อ 

คริสตชนคาทอลิก จะอดเนื้อในวันศุกร์ทุกสัปดาห์ตลอดทั้งปี เพราะถือว่าเป็นวันพลีกรรมทั่วไป แต่ในเทศกาลมหาพรต จะต้องอดเนื้อใน วันพุธรับเถ้า และวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ในตรีวารปัสกา เพิ่มขึ้นมา

''เนื้อ'' ในที่นี้หมายถึงเนื้อสัตว์สี่เท้า, สัตว์ปีก เพราะถือว่าเป็นสัตว์ใหญ่ เช่น หมู, วัว, ไก่, นก ฯลฯ อีกทั้งเนื้อเหล่านี้ในอดีต (แม้ในปัจจุบัน) มีราคาแพง จุดประสงค์ของการอดเนื้อก็เพื่อเข้าร่วมทุกข์กับองค์พระเยซูเจ้า เราจึงอดอาหารที่มีราคาแพง หรืออร่อยลิ้น เพราะนำมาปรุงอาหารได้หลากหลาย แต่จะกินอาหารเรียบง่ายไม่ฟุ่มเฟือย เช่น ผัก, เต้าหู้ หรือแป้งแทน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่กินความไปถึงสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง, ปู, ปลา, หอย ฯลฯ เพราะสัตว์เหล่านี้แต่เดิมเป็นสัตว์เล็กราคาไม่แพง ทอดแหหาตามริมคลอง, ตลิ่งหน้าบ้าน ฯลฯ คล้ายๆ เด็ดยอดผักริมรั้วมาทำอาหารกิน ไม่ได้ฟุ่มเฟือยอะไร

พึงเข้าใจว่า แม้พระศาสนจักรมิได้ห้ามอาหารทะเล หรือสัตว์น้ำก็จริง แต่ตามจิตตารมณ์ที่เราอดเนื้อก็เพื่อร่วมทุกข์กับพระเยซูเจ้า จึงไม่สมควรที่จะทานอาหารซีฟู้ดราคาแพงๆซึ่งเป็นการไม่มัธยัสถ์
ใครที่ต้องอดเนื้อ?
ตามข้อบังคับพระศาสนจักร คริสตชนคาทอลิกที่มีอายุ ตั้งแต่ 14 ปี ขึ้นไป จนถึง 60 ปี ต้องอดเนื้อ ยกเว้นผู้ป่วย

ปัญหา : เมื่อทำงานนอกบ้านหรือโรงงานที่เขาทำอาหารให้คนงานทาน มีแต่อาหารประเภทเนื้อ ในวันศุกร์เราจะทำอย่างไร?
-: เราไม่มีทางเลือก อาจจะเขี่ยเนื้อออกไป, ไม่ตักเนื้อ แต่ถ้าจำเป็นถึงที่สุดก็ทานได้ เพราะไม่มีตัวเลือก แต่ต้องไปทำกิจศรัทธาอื่นชดเชย เช่น สวดภาวนา สวดสายประคำ หรือไปเฝ้าศีลมหาสนิทในวัด แทนได้
การถือศีลอดอาหาร
การจำศีลอดอาหารเพื่อเตรียมฉลองปัสกานี้ แต่เดิมถือกันเพียงสองหรือสามวันก่อนสมโภชปัสกาเท่านั้น ตามที่เราทราบจากงานเขียนของ Eusebius นักประวัติศาสตร์พระศาสนจักรที่บอกว่า นักบุญอิเรเนโอในปลายศตวรรษที่ 2 กำหนดไว้เช่นนี้ แต่ต่อมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 4 เมื่อมีการกำหนดเทศกาลมหาพรตเพื่อเตรียมฉลองปัสกาขึ้นโดยเฉพาะ ระยะเวลาการจำศีลก็ขยายออกไปถึง 40 วัน ตลอดเทศกาลมหาพรต และปฏิบัติอย่างเคร่งครัด กินอาหารอิ่มได้เพียงวันละมื้อเดียวเท่านั้น เพื่อระลึกถึงการจำศีลอดอาหารของโมเสสของประกาศกเอลียาห์ และของพระเยซูเจ้า แต่เนื่องจากคริสตชนมีธรรมเนียมไม่จำศีลอดอาหารในวันอาทิตย์ (และวันเสาร์ด้วยในพระศาสนจักรตะวันออก) วันจำศีลอดอาหารในเทศกาลมหาพรต 6 สัปดาห์ (หรือ 7 สัปดาห์ในพระศาสนจักรตะวันออก) จึงเหลือจริงเพียง 36 วัน และต้องเพิ่มวันจำศีลในวันธรรมดาก่อนอาทิตย์แรกในเทศกาลมหาพรตอีก 4 วัน คือวันพุธ พฤหัสบดี ศุกร์ และเสาร์ให้ครบ 40 วัน เทศกาลมหาพรตจึงเลื่อนมาเริ่มในวันพุธซึ่งเป็นวันธรรมดา แทนที่จะเริ่มในวันอาทิตย์แรกของเทศกาลเช่นเดียวกับในเทศกาลอื่นๆ
ในปัจจุบัน พระศาสนจักรลดหย่อนข้อบังคับเรื่องการจำศีลอดอาหารในเทศกาลมหาพรตลงเหลือเพียง สองวัน คือในวันพุธรับเถ้าเมื่อเริ่มเทศกาล และในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ระลึกถึงพระทรมาน และการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสตเจ้าบนไม้กางเขน (Apostolic Constitution ''Paenitemini'' 1966) ถึงกระนั้น พระศาสนจักรยังคงรักษาจิตตารมณ์แท้จริงของเทศกาลมหาพรตไว้ไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือการกลับใจสละน้ำใจของตนเพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้าให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเหมือนองค์พระเยซูเจ้า เพื่อจะได้พร้อมที่กลับคืนชีพพร้อมกับพระองค์ในคืนวันปัสกา

คำว่า ''อดอาหาร'' หมายถึง พระศาสนจักรให้ทานได้เพียง 1 มื้อ ในวันดังกล่าว และถ้าหากจำเป็นกลัวว่าจะเป็นลม หิวเพราะต้องทำงาน ก็ทานมื้อที่เหลือได้ครึ่งท้อง หมายความว่าทานพอกันเป็นลม มิใช่ทานอย่างปกติทั้งนี้และทั้งนั้นหากใครอดได้ทั้งวันเลยหรือทานเพียงมื้อเดียวจริงๆ ก็เป็นผลดี
จิตตารมณ์การอดเนื้อนี้ก็เช่นกันเพื่อเข้ารวมส่วนมหาทรมานของพระเยซูเจ้า นับเป็นการพลีกรรม ก่อเกิดบุญกุศลชดใช้โทษบาปของเราเองและของผู้อื่น บุญกุศลนี้เป็นผลเพราะร่วมในมหาทรมานของพระเยซูเจ้า ดังนั้นเมื่ออดอาหารก็ต้องกระทำเพราะเห็นแก่พระเยซูเจ้า มิใช่เพื่ออวดความดีของตนเอง หรือไปข่มผู้อื่น คริสตชนที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ จนถึง 60 ปี จะต้องถือศีลอดอาหาร ยกเว้นผู้ป่วยที่แพทย์ให้ทานอาหารปกติ
จะเห็นว่า เราสามารถทำพลีกรรมอย่างอื่นชดเชยก็ได้ หากเราลืมอดอาหารในวันดังกล่าว จะอดในวันถัดไปที่จำได้ หรือกระทำกิจศรัทธาอื่นเพื่อชดเชยที่เราไม่ได้อดอาหาร แต่ก็ควรเป็นการกระทำความดีตามเจตนารมณ์ของพระศาสนจักร

ปัญหา : เด็กๆที่อายุยังไม่ถึง 18 ปี จะอดอาหารบ้างได้หรือไม่?
-: ได้…แต่เด็กๆ ยังอยู่ในวัยที่กำลังเจริญเติบโต สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญต้องดูแล ดังนั้น อาจจะทำพลีกรรมอย่างอื่นแทน เช่น อดขนมขบเคี้ยวนอกเวลาอาหาร งดซื้อของเล่น รูปถ่าย สติ๊กเกอร์ ฯลฯ ที่ฟุ่มเฟือย 
บทสรุป
ในความเข้าใจของคริสตชนจำนวนไม่น้อย เทศกาลมหาพรตเป็นเพียงเทศกาลที่เราต้องทรมานกายใช้โทษบาป โดยการจำศีลอดอาหารหรือทำพลีกรรมอื่นๆ เท่านั้น อันที่จริง เทศกาลมหาพรตเป็นการเดินทางมุ่งหน้าด้วยความยินดีไปเฉลิมฉลองปัสกาซึ่งเป็นยอดวันฉลองในรอบปี ในช่วงเวลาการเดินทางนี้ เราจึงต้องละทิ้งกิจการชั่วร้ายและนิสัยไม่ดีต่างๆ ที่ทำให้ภาพลักษณ์ของพระคริสตเจ้าในชีวิตของเราต้องจางลงหรือเปื้อนหมองไป การจำศีลอดอาหาร การอธิษฐานภาวนา การให้ทานจึงเป็นโอกาสให้เราคิดถึงความรักต่อพระเจ้า และต่อเพื่อนพี่น้องด้วยการช่วยเหลือแบ่งปันให้แก่กัน ไม่ใช่เพื่อลงโทษร่างกายให้มีความทุกข์เท่านั้น การจำศีลอดอาหารช่วยให้เรารู้จักประมาณในการกินดื่ม เพื่อไม่ปล่อยตัวให้กินดื่มจนเมามาย ซึ่งจะเป็นเหตุให้เราตกในบาปได้โดยง่าย การจำศีลอดอาหารในความหมายแท้จริง จึงต้องพิจารณาควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิตคริสตชนให้ครบทุกด้าน ไม่ใช่แยกอยู่อย่างเอกเทศ เทศกาลมหาพรตเป็นเทศกาลแห่งการกลับใจ เราต้องมีความใกล้ชิดกับพระเจ้ายิ่งขึ้นไม่ใช่เพียงด้วยการอธิษฐานภาวนาเท่านั้น เรายังต้องใกล้ชิดกับพระองค์ผ่านทางเพื่อนพี่น้องซึ่งก็เป็นบุตรของพระเจ้าด้วย โดยการแสดงความรัก ช่วยจุนเจือความขัดสนของเขา ด้วยการเสียสละเงินทองส่วนหนึ่งที่ได้มาจากการประหยัด เพราะอดอาหารช่วยให้ผู้หิวโหยได้มีอาหารเพียงพอ
พระเยซูเจ้าเสด็จมาในโลกนี้เพื่อไถ่บาปมนุษย์ สมานความแตกแยกนี้ให้กลับคืนมาใหม่ อาศัยมหาทรมานบนไม้กางเขนของพระองค์ฉันใด ชีวิตของเราก็ต้องเข้าส่วนในทรมานของพระองค์เพื่อสมานรอยแตกร้าว ที่เราต่างก็ได้เคยทำเอาไว้กับพระเป็นเจ้า กับผู้คน กับธรรมชาติฉันนั้น





รายละเอียดของเทศกาลมหาพรต


โดย:
งาน: งานอภิบาล
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: www.saranae.com

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 1

อ่าน 0 ครั้ง