[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

''ฟ้าใหม่''ที่โดมรังสิต จำลองโลกดวงดาว

วันนี้พาเพื่อนๆ ขึ้นยานอวกาศจอดลงที่ย่านรังสิตเพื่อมาชมท้องฟ้าจำลองโฉมใหม่ ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา รังสิต ตั้งอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี (คลองหก) ซึ่งกำลังจะเปิดให้เพื่อนๆ เข้าชมฟรีในวันที่ 22-23 ก.พ. ก่อนจะเปิดบริการอย่างเป็นทางการวันที่ 1 มี.ค.นี้

ก่อนอื่นจะพาไปทำความรู้จักเด็กผู้ชายตาโต ที่ตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ กันก่อน เขาคือมาสคอต ''พลูโตบอย''

''พลูโตบอยถือกำเนิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ดาวพลูโตถูกปลดออกจากดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ พลูโตบอยเป็นเด็กช่างคิด มีคำถามต่างๆ มากมาย ไว้ผมตั้ง มีหัวแหลมคล้ายมิสเตอร์สป๊อกในภาพยนตร์ตะลุยจักรวาลสตาร์คิว และมีหน้าที่สำคัญในการกลับมาทวงถามและมาเล่าเรื่องราวต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ให้ชาวโลกรับฟัง'' คำบอกเล่าของคุณลุงสุรนันท์ ศุภวรรณกิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา รังสิต

คุณลุงสุรนันท์ เล่าว่า ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ซึ่งตั้งอยู่ที่เอกมัย สร้างขึ้นเป็นแห่งแรก มีมานานกว่า 42 ปีแล้ว เป็นท้องฟ้าจำลองที่ใช้เครื่องฉายระบบออปโต้แม็กคานิก ยังใช้มือควบคุม มีหลอดไฟฉายดาวเหมือนไปบนท้องฟ้าบนโดมที่มีความสูง 13 เมตร

ส่วนท้องฟ้าจำลองที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา รังสิต ถือว่าทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้เครื่องฉายดาว สตาร์มาสเตอร์ ZMP-ID ที่ทำงานได้ 2 ระบบ คือเครื่องฉายดาวหลัก ระบบกลไกมอเตอร์และเลนส์ (ออปติคอล แอนด์ แม็กคานิคอล) ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมการฉาย ใช้ไฟเบอร์ออปติกทำให้แสงดาวสุกใสกว่า และระบบดิจิตอล ซึ่งฉายจากโปรเจ็กเตอร์ 6 ตัวที่ต่อกันทำให้เกิดเป็นภาพเหมือนจริง 3 D ให้ความตื่นเต้นมากกว่า เหมือนเข้าไปอยู่ในพื้นที่นั้น ซึ่งเป็นสเป๊กของเทคโนโลยีเมื่อ 4 ปีที่แล้ว และมีที่นั่งเอน 20 องศา ทั้งยังสามารถนำหนังวิทยาศาสตร์หลายๆ เรื่องมาฉายได้ ซึ่งต้องเป็นหนังที่ทำเฉพาะฉายในจอ 360 องศา

ส่วนในต่างประเทศ ที่ฮาซาฮิกาว่า ไซน์ เซ็นเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ใช้เครื่องฉายเหมือนบ้านเรา เป็นรุ่นเดียวกัน แต่การจัดนิทรรศการดีกว่า แสง สี ระบบอิเล็กทรอนิกส์เยอะกว่า ขณะที่จีนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเช่นกัน โดยติดตั้งเก้าอี้อินเตอร์แอ๊กทีฟ และใช้โปรเจ็กเตอร์ 2 ตัวยิงแสงเลเซอร์ฉายทั่วโดม

อาคาร 3 ชั้นของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา รังสิต สร้างตามลักษณะสถาปัตยกรรมแบบใหม่ เรียกว่า โพสต์เทนชั่น (Post Tension) ซึ่งไม่มีคานรับน้ำหนัก อาศัยแรงดึงจากเสาเทน ส่วนท้องฟ้าจำลองมีโดมเอียง เส้นผ่านศูนย์กลาง 18 เมตร เก้าอี้นั่งชมเป็นขั้นบันไดแบบภาพยนตร์ รองรับผู้ชมได้ 160 ที่นั่ง ฉายวันละ 6 รอบ ราคาเดียวคือ 30 บาท หยุดเฉพาะวันจันทร์

ผู้เข้าชมจะได้เรียนรู้เรื่องเกียรติภูมิดาราศาสตร์ไทย และเรื่องราวการกำเนิดระบบสุริยะ ทรงกลมบนท้องฟ้า ดวงดาวและอวกาศ ปรากฏการณ์แห่งจักรวาล พร้อมสนุกตื่นเต้นไปกับภาพยนตร์เต็มโดม 360 องศา เรื่องอินฟินิตี้ เอ็กซ์เพรส ขณะที่นิทรรศการจัดตามสาระการเรียนรู้ของกระทรวงศึกษาธิการตามช่วงชั้นของเด็ก

คุณลุงสุรนันท์ เล่าว่า ความจริงที่นี่เปิดมา 7 ปีแล้วแต่ด้วยงบประมาณจำกัดทำให้ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย อาศัยเล่าต่อแบบปากต่อปาก ปีหนึ่งๆ มีผู้เข้าชม 80,000 ราย นิทรรศการในแต่ละชั้นบางส่วนก็เก่า จึงปรับปรุงซ่อมแซม และเพิ่มเติมเนื้อหาองค์ความรู้ รูปแบบการนำเสนอในแต่ละนิทรรศการให้น่าสนใจและคงทนถาวรตามยุคสมัย

สำหรับนิทรรศการภายในอาคาร ชั้น 1 เป็นนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ประทีปแห่งแผ่นดิน นิทรรศการโลกล้านปี โลกดาวเคราะห์ มหัศจรรย์แห่งชีวิต เปิดโลกสิ่งแวดล้อม และนิทรรศการเมืองเด็กแดนวิทยาศาสตร์มหัศจรรย์

ชั้น 2 เป็นนิทรรศการดาราศาสตร์และอวกาศ วิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน นิทรรศการกีฬากับวิทยาศาสตร์ และนิทรรศการเทคโนโลยีการขนส่ง

ชั้น 3 เป็นนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์วิทยาศาสตร์ไทย วิทยาศาสตร์การกีฬา นิทรรศการเทคโนโลยีการสื่อสารกับชีวิตประจำวัน นิทรรศการเทคโนโลยีการออกอากาศ และนิทรรศการเทคโนโลยีการเกษตร

นอกจากนิทรรศกายภายในแล้ว ยังมีไซน์ปาร์กบริเวณสนามหญ้าด้านนอกอาคารให้ศึกษาอีกมากมาย อาทิ เวลาดาราศาสตร์ การออกกำลังกายแบบกลศาสตร์ เป็นต้น







โดย:
งาน: งานผลิตเอกสาร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา รังสิต

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง