[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

แพทย์อังกฤษระบุยาปลอมระบาดทั่วเอเชีย!!

                องค์การอนามัยโลกยอมรับคร่าชีวิตคนหลายแสน เภสัชกรแนะวิธีเลือกซื้อยาเอง ต้องซื้อจากร้านที่มีเภสัชกรประจำเท่านั้น พร้อมอย่าลืมดูวันหมดอายุ ยาเม็ดไม่เกิน 5 ปี ยาน้ำไม่เกิน 3 ปี ระบุผู้ป่วยโรคหัวใจ-ความดัน-เบาหวาน ไม่ควรซื้อยากินเอง

                สำนักข่าวดีพีเอรายงานเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ว่ายาปลอมกำลังแพร่ระบาดทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีคนไข้หลายแสนคนตกเป็นเหยื่อจนเสียชีวิตจากการใช้ยาปลอมนี้ โดยแพทย์ชาวอังกฤษผู้หนึ่งซึ่งทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลในกรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่ายารักษาโรคมาลาเรียในลาวส่วนใหญ่เป็นยาปลอม โดยบนภาชนะบรรจุยาปลอมเหล่านั้น ทำได้เหมือนของจริงไม่มีผิดเพี้ยน

              ขณะที่องค์การอนามัยโลก (ฮู) ประเมินว่าผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรีย 2 แสนคนจากทั้งหมด 1 ล้านคนในแต่ละปีจะรอดชีวิตหากได้ใช้ยาจริง และว่ายาปลอมที่พบไม่ได้มีเพียงแค่ยารักษาโรคมาลาเรียเท่านั้น แต่ยังพบในยารักษาโรคภัยร้ายแรงถึงขั้นที่อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ด้วย เช่น ยาต้านเชื้อเอชไอวี ยารักษาวัณโรค ยารักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ยารักษาโรคไทฟอยด์ ยารักษาโรคนิวมอเนีย    แม้กระทั่งยาต้านเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ซึ่งฮูได้เผยอีกว่า 30% ของประเทศทั่วโลกไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับควบคุมการใช้ยาที่ดีพอ

                ทั้งนี้ องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (เอฟดีเอ) ประเมินว่ายาที่วางจำหน่ายอยู่ในเอเชียและแอฟริกาเป็นยาปลอมถึง 50% พร้อมเสริมว่าผู้เชี่ยวชาญไม่ได้เป็นห่วงเรื่องที่ประชาชนต้องเสียชีวิต ทั้งที่ไม่ควรจะเสียเท่านั้น แต่ยังเป็นกังวลว่าโรคต่างๆ เหล่านี้จะดื้อยามากขึ้น และพลอยทำให้คนไข้คิดว่าการรักษาไม่ได้ผล

                ด้าน ดร.พอล นิวตัน ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ยาเขตร้อนแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งทำงานอยู่ในกรุงเวียงจันทน์ กล่าวว่า การที่ยารักษาโรคมาลาเรียปลอมมีการแพร่หลายเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีการปลอมอย่างแนบเนียนแสดงให้เห็นว่ามีการผลิตยาปลอมกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันถึงขั้นที่ทำเป็นอุตสาหกรรมแล้วโดยฐานการผลิตส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน

                ด้านสำนักข่าวซินหัวของทางการจีน รายงานเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่ามีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการจีน 3 คนถูกจับกุมตัวเพราะรับเงินสินบนแลกกับการลงชื่ออนุมัติยาปลอม โดยเครือข่ายการจัดจำหน่ายยาปลอมนั้นคล้ายกับขบวนการค้าเฮโรอีนในอดีตซึ่งกระจายเข้าสู่มือผู้จัดจำหน่ายในประเทศไทยโดยได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนและการฟอกเงินในฮ่องกง

                รายงานข่าวแจ้งว่าขณะนี้เป้าหมายหลักของผู้ผลิตยาปลอม คือ ยารักษาโรคมาลาเรียชนิดใหม่ที่มีชื่อว่า ''อาร์เทมิสินิน'' (artemisinin) โดยสารสกัดจากพืชที่ชื่อว่า ''อาร์เทซูเนตส์'' ในยาตัวนี้นั้นให้ผลการรักษาโรคมาลาเรียได้ดีกว่ายาชนิดเก่าอย่าง ''คลอโรควิน'' ซึ่งเชื้อมาลาเรียเกิดการดื้อยาแล้ว ดร.นิวตัน และทีมงานยังค้นพบว่าบริษัทกุ้ยหลิน ฟาร์มาของจีนซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตสารอาร์เทซูเนตส์ที่ใหญ่ที่สุดกำลังตกเป็นเป้าการปลอมยา โดยมีการผลิตกล่องใส่ยาที่เหมือนกับของจริงแทบไม่ผิดเพี้ยนออกมา และมียาปลอมที่ถูกผลิตออกมาภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทกุ้ยหลิน ฟาร์มาถึง 12 ชนิด

                ภ.ญ.พิศมร กลิ่นสุวรรณ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวกรณีมีรายงานว่าในเอเชียมียาปลอมจำหน่ายมาก ว่าการจะเลือกซื้อยามารับประทานเองทุกครั้ง ผู้ซื้อควรพิจารณา 10 ข้อหลัก ได้แก่

                1.ซื้อยาจากร้านยาที่ได้รับอนุญาตและมีเภสัชกรประจำอยู่เท่านั้น
                2.ยาที่จะซื้อต้องวางจำหน่ายในตู้ที่สะอาด ไม่ร้อนหรืออับชื้นมากเกินไป
                3.ภาชนะบรรจุยาสะอาด ฉลากยาอ่านชัดเจน ชื่อยาที่ปรากฏ มี 2 ชนิด คือ ชื่อสามัญ (generic name) และชื่อการค้า (trade name)

                ''ชื่อสามัญเป็นชื่อเรียกตามสูตรทางเคมี หรือเป็นส่วนประกอบของสารประเภทใด เช่น แอสไพริน (aspirin) เป็นชื่อเรียกสูตรเคมีของยาแก้ปวด ส่วนชื่อการค้าเป็นชื่อที่ผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายยาเป็นผู้ตั้งและขอจดทะเบียนไว้กับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) การตั้งชื่อทางการค้า จะเป็นชื่อที่น่าสนใจ จำง่าย เช่น ยาซาร่า ชื่อสามัญคือยาพาราเซตามอล'' รองผอ.อภ.กล่าว

                4.ไม่ควรซื้อยาตามตัวอย่างที่มีอยู่ เพราะยามีมากมาย ยาที่มีรูปร่างและสีเดียวกัน แต่ใช้รักษาโรคแตกต่างกันมีมาก
                5.สอบถามวิธีใช้ยาที่ถูกต้องให้แน่ชัดจากผู้ขายหรือที่ปรากฏบนฉลากยา เช่น ในกรณียาน้ำ 1 ช้อนชาจะเท่ากับ 2 ช้อนกาแฟหรือ 1 ช้อนกินข้าว และ 1 ช้อนโต๊ะเท่ากับ 6 ช้อนกาแฟ หรือ 3 ช้อนกินข้าว
                6.ยากลุ่มปฏิชีวนะ ควรซื้อในจำนวนที่รักษาโรคให้หายโดยคำแนะนำของเภสัชกรประจำร้าน ไม่ควรซื้อยามาเก็บไว้เพื่อมีอาการอีกในภายหลัง
                7.ในกรณีที่ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนที่ได้ ก็ควรถูกนำตัวไปซื้อยาด้วย เพื่อให้เภสัชกรผู้ขายยาสามารถสอบถามอาการเจ็บป่วยได้ละเอียดมากขึ้น
                8.ควรสอบถามอาการข้างเคียงของยาที่อาจจะเกิดขึ้น ที่สำคัญต้องบอกยาที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้
                9.ควรอ่านสลากยาหรือเอกสารกำกับยา ซึ่งระบุ ชื่อยา วันผลิต และวันหมดอายุยา ลักษณะยาไม่เสื่อมสภาพ และข้อห้ามใช้ ซึ่งในกรณีที่ไม่มีการกำหนดวันหมดอายุยา โดยทั่วไปดูจากวันผลิต กรณียาเม็ดไม่เกิน 5 ปี และกรณียาน้ำ และยาทาเฉพาะที่ไม่เกิน 3 ปี และ
              10.เมื่อมีปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ควรรีบปรึกษาเภสัชกรประจำร้านที่ท่านซื้อยาทันที

                ''ในการเลือกซื้อยามาใช้เอง ที่สำคัญที่สุดจะต้องเลือกซื้อยาจากร้านที่ได้มาตรฐาน มีเภสัชกรประจำอยู่ เพื่อที่จะได้รับคำแนะนำอย่างละเอียด ป้องกันการใช้ยาผิด และผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม กรณีที่เป็นโรคเกี่ยวกับเลือด หัวใจ ความดัน เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง จะต้องไปตรวจเช็คที่โรงพยาบาล'' ภ.ญ.พิศมร กล่าวในตอนท้าย





รายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบัญชี - งบประมาณ
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง