[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

เปลี่ยนความคิดพิชิตความเศร้า

ความคิด, อารมณ์, ความเศร้า, และโรคซึมเศร้า

ถ้าเราเดินสวนกับเพื่อนคนหนึ่งแล้วเขาไม่ทักเราเราอาจเกิดความรู้สึกได้ต่างๆกันไปแล้วแต่ว่าเราคิดถึงเรื่องนี้ว่าอย่างไร ถ้าเราคิดว่าเพื่อนไม่ทักเราเพราะว่าเรามันคงไม่ดีพอ ไม่อยู่ในสายตา ไม่สำคัญ ผู้คนเขาคงไม่อยากเสียเวลามาคบหาเรา! เราก็จะมานั่งเศร้าซึม ท้อแท้ใจ แต่ถ้าเราคิดว่าเพื่อนคนนี้นิสัยไม่ดี ไม่มีมารยาท เราก็จะรู้สึกโกรธ แต่ถ้าเราคิดว่าเขาคงกำลังรีบร้อนไม่ทันเห็นเราเราก็คงจะรู้สึกเฉยๆไม่เดือดร้อนใจอะไร

นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงว่าเมื่อมีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นเราอาจเกิดความรู้สึกได้หลายแบบ โดยที่เราจะรู้สึกอย่างไรขึ้นกับว่าเราคิดอย่างไรกับเรื่องนั้น

คนที่ซึมเศร้าง่ายมักคิดถึงเรื่องต่างๆในทางที่เลวร้ายกว่าความเป็นจริง วิธีคิดแบบนี้เป็นสิ่งที่สั่งสมมาจากประสบการณ์ในอดีตจนเกิดเป็นแนวโน้มหรือ ''นิสัย'' ในการคิดแบบหนึ่งทำให้ต้องรู้สึกเศร้าโดยไม่จำเป็นบ่อยๆ

ความคิดดังกล่าวนี้เกิดขึ้นรวดเร็วมากและเรามักเชื่อว่าสิ่งที่เราคิดนั้นเป็นความจริง แต่เราสามารถแก้ไข ''นิสัย'' ในการคิดได้และเมื่อความคิดเปลี่ยนอารมณ์ของเราก็จะเปลี่ยน

หัดจับความคิดที่ผุดขึ้นมา

เมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกซึมเศร้าท้อแท้ใจให้หยุดสักประเดี๋ยวแล้วลองนึกดูว่าตะกี้เกิดอะไรขึ้น เช่นเจ้านายดุเอา ลูกค้าปฏิเสธไม่ซื้อของ เห็นเด็กคนหนึ่งถูกเพื่อนรังแกเห็นผู้ชายผู้หญิงเดินด้วยกัน หรือการนึกถึงเรื่องเก่าๆ

ให้สังเกตุว่าพอเกิดสิ่งนั่นขึ้นแล้วเราเกิดความคิดอะไรผุดขึ้นมา? เช่นอาจเกิดความคิดผุดขึ้นมาในสมองว่า “เราทำผิดอีกแล้ว“ “เรามันคนไม่มีอะไรดี” “ใครๆเขาคงจะมองว่าเราโง่” “ใครๆเขาก็ไม่อยากคบเรา” “ทำไมคนอื่นเขามีความสุขหวานชื่นกันแต่ตัวเรามีแต่ความอ้าวว้างเปล่าเปลี่ยว” ฯลฯ การคอยจับความคิดที่ผุดขึ้นมานี้ไม่ใช่สิ่งที่เราทำกันตามปกติดังนั้นในช่วงแรกๆอาจรู้สึกว่ามันไม่ค่อยง่ายเท่าไรแต่เมื่อเราหัดทำและเริ่มคุ้นเคยเราจะทำได้เร็วขึ้น

ความคิดที่ผุดขึ้นมานั้น “แม่น” แค่ไหน?

เมื่อเราจับความคิดที่ผุดขึ้นมาและทำให้เราเศร้าได้แล้วให้ลองพิจารณาว่าความคิดอันนั้นมันถูกหรือผิดอย่างไร ความคิดอันนั้นอาจจะ ''ถูก'' ก็ได้ ให้พยายามหาคำตอบว่ามันน่าจะ ''ถูก'' เพราะอะไร เหตุผลที่นำมาสนับสนุนว่าความคิดนี้ ''ถูก'' อาจมีได้หลายอย่างเช่น คนตะกี้อาจจะคิดว่าเราโง่จริงๆเพราะดูเขาเบื่อๆเวลาคุยกับเรา หรือ วันก่อนเราก็โดนเพื่อนๆโห่เอาและมีคนพูดว่าเราถามคำถามอะไรโง่ๆ

ขั้นต่อไปคือลองพิจารณาว่าความคิดอันนั้นมันอาจจะไม่ค่อยถูกเท่าไรก็ได้เพราะอะไรบ้าง เช่น อาจจะมีบางคนคิดว่าเราโง่แต่คงไม่ทุกคนหรอกและคงเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะคิดเหมือนกันไปหมด

สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือถ้าเราคิดได้ว่าความคิดที่ผุดขึ้นมานั้นมันไม่จริงหรือไม่ค่อยแม่นเท่าไรอารมณ์ของเราจะดีขึ้นทันทีอย่างน้อยก็ชั่วขณะหนึ่งจนกว่าเราจะเผลอไปคิดแบบเดิมอีกซึ่งเราก็ต้องมาทบทวนความคิดใหม่อีก เมื่อเราฝึกการตรวจสอบความคิดแบบนี้จนชำนาญขึ้นเราก็จะไม่ค่อยต้องรู้สึกซึมเศร้าโดยไม่จำเป็นบ่อยนัก

แล้วถ้าเกิดคิดได้ว่ามันไม่เลวร้ายจริงแต่อารมณ์ก็ยังไม่ดีขึ้นล่ะ?

เหตุการณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นได้และมักเกิดจากการตอบไม่ตรงกับใจ คือตัวเราเองอาจจะไม่เชื่อคำตอบที่เราคิดออกมาว่าความคิดที่ผุดขึ้นมานั้นจริงหรือไม่จริงเพราะอะไร หรืออาจเป็นเพราะเชื่อ ''แต่.....'' คือมีความคิดในแง่ร้ายบางอย่างผุดขึ้นมาหักล้างมัน ดังนั้นถ้าคิดได้ว่าความคิดเดิมไม่แม่นแล้วก็ยังไม่ดีขึ้นให้ลองคิดดูใหม่ ถ้ามี ''แต่...'' ก็ให้ทำแบบเดียวกับ ''แต่...'' อันนั้นคือ ''แต่...'' อาจจะจริงเพราะ... หรืออาจจะไม่จริงเพราะ...

แล้วถ้าคิดออกมาแล้วมันจริงล่ะ?

เราไม่ได้พยายามโน้มน้าวให้ใครๆพยายามมองโลกในแง่ดีเอาไว้ก่อนแต่เราอยากให้ทุกคนฝึกการมองโลกให้แม่นขึ้น หลายๆครั้งความคิดที่ทำให้เรารู้สึกเศร้าซึมอาจจะแม่นก็ได้ เพื่อนๆมองว่าเราโง่จริงๆ เพื่อนๆมองว่าเราไม่มีความสามารถ ไม่สำคัญ เวลาเดินสวนกันก็ไม่ทักเราซึ่งเป็นความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีเลย สิ่งที่เราทำได้ก็คือ ''คิด'' ต่อ โดยมีแนวคิดได้ 2 ทางคือ

ถ้ามันเป็นอย่างนั้นขึ้นมาจริงๆแล้วจะเป็นอะไรไป?
ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆแล้วเราจะทำอย่างไร?
ถ้ามันเป็นอย่างนั้นขึ้นมาจริงๆแล้วจะเป็นอะไรไป?

ถ้าเราคิดทบทวนดูแล้วเราก็ยังเชื่ออยู่ว่าสิ่งที่เราคิดนั้น “จริง” เราอาจจะลองคิดต่อไปว่าถ้ามัน “จริง” แล้วจะเป็นอะไรไป?

เราอาจจะตอบตัวเองว่าถ้าเพื่อนไม่อยากคบเรา เราก็คงจะไม่มีเพื่อน ซึ่งฟังๆดูก็น่าเห็นใจ ให้ถามตัวเองต่อไปว่าถ้าไม่มีเพื่อนจริงๆแล้วมันจะเป็นอะไรไป?

เราอาจจะตอบว่าเราก็คงจะเหงา ก็น่าเห็นใจจริงๆนะครับ แต่ให้ถามตัวเองต่อไปอีกว่าถ้าเราเหงาจริงๆแล้วมันจะเป็นอะไรไป?

ถามตัวเองและตอบคำถามแบบนี้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดเรามักจะพบว่าจริงๆแล้วมันก็ไม่ได้เลวร้ายมากนัก เช่น การที่เราไม่ใช่คนสำคัญในหมู่เพื่อนและเพื่อนๆมักจะมองข้ามเรานั้นอย่างมากก็มีเพื่อนน้อยลง ซึ่งเราก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ สามารถเรียนจบทำงานได้แม้ว่า connection หรือเส้นสายจะน้อยไปสักหน่อยแต่ก็ไม่ถึงกับจะหาความเจริญก้าวหน้าไม่ได้ การที่เราพบคำตอบแบบนี้จะทำให้อารมณ์ของเราดีขึ้นทันที

แต่ถ้าเมื่อถามตัวเองแล้วพบว่าสำหรับเราแล้วเรื่องนี้ยังมีความสำคัญมีความหมายมากอยู่ดี ให้พิจารณาขั้นตอนถัดไป

ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆแล้วเราจะทำอย่างไร?

หลักมีอยู่ว่า ''ทุกปัญหามีทางออกเสมอ'' ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ไม่ว่าปัญหาจะเลวร้ายเพียงใด มีทางออกเสมอและก็มักจะมีหลายทางออกด้วย เช่นคนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ก็มีทางออกตั้งหลายทางเช่นเรียนมหาวิทยาลัยเปิดหรือมหาวิทยาลัยเอกชน รอสอบใหม่ปีหน้า หางานทำ หาอะไรเรียนเล่นๆไปก่อน หรือแม้แต่อยู่บ้านเฉยๆนั่งกินนอนกินไปสักปี แต่คนที่กำลังอยู่ในอารมณ์ซึมเศร้าจะคิดอะไรไม่ออก มองไม่เห็นทางออกทางอื่นนอกจากตายดีกว่า

หลักข้อต่อไปก็คือ ''ทุกทางออกจะทั้งข้อดีและข้อเสีย'' ไม่มีทางใดที่มีแต่ข้อดี ในขณะเดียวกันก็ไม่มีทางใดที่มีแต่ข้อเสีย เข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ก็ไปเรียนมหาวิทยาลัยเปิดก็ได้ ข้อดีก็คือได้ที่เรียนข้อเสียก็คืออาจจะต้องขวยขวายช่วยตัวเองในการเรียนมากหน่อยหรือสำหรับคนที่ยึดติดกับ ''ยี่ห้อ'' ก็อาจรู้สึกต่ำต้อยกว่าเพื่อนฝูงหรือรู้สึกเสียหน้าไปหน่อย การเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนอาจทำให้รู้สึก ''ยืด'' ขึ้นมานิดหนึ่งแต่ก็ต้องจ่ายเพิ่มมากกว่ากันอีกมาก แม้แต่การ ''ตายดีกว่า'' ก็มีข้อดี เพราะตายแล้วไม่ต้องรับรู้อะไร แต่ก็มีข้อเสียมากมายอย่างที่เราก็ทราบกัน ดังนั้นทุกทางออกมีทั้งข้อดีและข้อเสียทั้งนั้น

ข้อดีอย่างเดียวกันสำหรับคนๆหนึ่งอาจมีความหมายมากแต่สำหรับอีกคนหนึ่งอาจไม่ค่อยสำคัญนัก ในทำนองเดียวกันข้อเสียอย่างเดียวกันสำหรับคนๆหนึ่งก็อาจเลวร้ายมากแต่สำหรับอีกคนหนึ่งเขาอาจจะรู้สึกเฉยๆไม่ค่อยเดือดร้อนมากนัก

ในคนๆเดียวกันในขณะหนึ่งเรื่องบางเรื่องอาจจะสำคัญมากแต่ในอีกเวลาหนึ่งอาจจะไม่ค่อยสำคัญก็ได้ดังนั้นเมื่อคิดได้ว่าเราน่าจะเลือกทางออกทางไหนดีแล้วถ้ายังไม่รีบมากให้ชลอเรื่องไว้ก่อนอย่าเพิ่งลงมือทำ อีก 2-3 วันลองกลับมาคิดเรื่องเดิมใหม่เพราะเมื่ออารมณ์เปลี่ยนไปน้ำหนักของความสำคัญของข้อดีและข้อเสียแต่ละข้อจะเปลี่ยนไปทางออกที่เราจะเลือกก็จะเปลี่ยนไป แต่เมื่อเราคิดใหม่หลายๆครั้งสิ่งที่เราจะเลือกจะเริ่มไม่ค่อยเปลี่ยนและน่าจะเป็นทางออกที่สมเหตุผลและตรงกับใจของเราที่สุด

สรุป

ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นเราจะรู้สึกอย่างไรขึ้นกับว่าเราคิดถึงเรื่องนั้นว่าอย่างไร คนที่ซึมเศร้าง่ายมักมีแนวโน้มที่จะคิดถึงเรื่องต่างๆในแง่ร้ายทำให้รู้สึกเศร้าโดยไม่จำเป็นอยู่บ่อยๆ

เราสามารถแก้ไขความคิดของเราได้โดยพิจารณาความคิดที่เกิดขึ้นว่ามีส่วนถูกหรือไม่ถูกอย่างไร ถ้าเราพบว่าความคิดนั้นไม่ค่อยถูกนักอารมณ์เศร้าของเราจะดีขึ้นทันที

แต่ถ้าเราคิดแล้วพบว่าความคิดนั้นถูกต้องสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเลวร้ายจริงเราสามารถคิดต่อไปได้ 2 แนวทางคือ

แล้วมันจะเป็นอะไรไป บ่อยครั้งเรามักจะพบว่าสิ่งที่เรากังวลนั้นมันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง เป็นการหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น ทุกปัญหามีทางออก แต่ทุกทางออกจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เลือกทางออกที่สำหรับเราแล้วมีข้อดีมากที่สุดและข้อเสียน้อยที่สุด





http://www.mahidol.ac.th/mahidol/ra/rapc/spain7.html


โดย:
งาน:
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ผศ.นพ.สเปญ อุ่นอนงค์

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง