[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : วัยรุ่นตื่นสายวันหยุดอาจทำให้เรียนไม่ดี จิตแพทย์ไทยรับนอนดึกทำให้เตี้ย-เรียนรู้ต่ำ

          นิวยอร์ก-ผู้เชี่ยวชาญแนะว่าวัยรุ่นไม่ควรนอนตื่นสายกว่าปกติในวันหยุด เพราะผลวิจัยใหม่พบว่า อาจส่งผลให้การเรียนแย่ลงได้ เนื่องจากนาฬิกาในร่างกายถูกปรับให้สายขึ้น ทำให้รู้สึกงัวเงีย และมีสมาธิน้อยลงในช่วงเช้าวันจันทร์ ด้านจิตแพทย์ไทยยันยังไม่มีการวิจัยเรื่องนี้ มีเพียงการนอนดึกทำให้เตี้ย-การเรียนรู้ต่ำ

          สเตฟานี เจ โครว์ลีย์ แห่งมหาวิทยาลัยบราวน์ รัฐโรดไอแลนด์ สหรัฐ นำเสนองานวิจัยที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาต่อที่ประชุมประจำปีของสมาคมผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับครั้งที่ 21 หรือ SLEEP 2007 ที่นครนิวยอร์กว่า รูปแบบการนอนช่วงวันปกติของวัยรุ่นมักถูกจำกัดตายตัวอยู่แล้วคือ เข้านอนดึกเพราะทำการบ้าน และตื่นเช้าไปโรงเรียน ส่งผลให้วัยรุ่นอยากนอนตื่นสายช่วงวันหยุดเพื่อชดเชย โครว์ลีย์ กำลังศึกษาว่ารูปแบบดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างไรกับวัยรุ่น

          ผลการศึกษาเบื้องต้นที่ได้จากการศึกษากับอาสาสมัครนักเรียนระดับมัธยมศึกษา 6 คน อายุ 15-16 ปี พบว่า การเข้านอนดึกและตื่นสายช่วงวันหยุด ทำให้นาฬิกาในร่างกายถูกปรับให้สายขึ้น ส่งผลให้รู้สึกงัวเงียในช่วงเช้าวันจันทร์ เปรียบได้กับอาการเจ็ทแล็ก หรืออาการง่วงนอนหลังจากบินในระยะทางไกล แม้ไม่ได้ขึ้นเครื่องบินเลยก็ตาม นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าการนอนชดเชยช่วงวันหยุดทำให้วัยรุ่นมีสมาธิน้อยลงในเช้าวันจันทร์

          ผู้เชี่ยวชาญโดยทั่วไปแนะนำให้วัยรุ่นนอนไม่ต่ำกว่าคืนละ 9 ชั่วโมง แต่ในความเป็นจริงแล้ววัยรุ่นส่วนใหญ่นอนหลับเพียงคืนละ 7 ชั่วโมงเท่านั้น 

          ด้าน พ.ญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีการวิจัยในเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นงานวิจัยที่ต้องควบคุมตัวแปรอย่างสูง ยากมากที่จะจำกัดเพียงแค่เรื่องของการนอนอย่างเดียว ซึ่งงานวิจัยของสหรัฐที่ออกมาจึงไม่แน่ใจว่าการเรียนรู้ของวัยรุ่นที่ลดน้อยลงนั้น เป็นผลมาจากการนอนไม่เพียงพอในวันธรรมดาหรือการนอนชดเชยในวันหยุด หรือเป็นผลจากรูปแบบการนอนที่ไม่สม่ำเสมอกันแน่ จึงต้องมาพิจารณางานวิจัยดังกล่าวอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้งหนึ่ง

          ที่ผ่านมีการศึกษาวิจัยของหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ระบุชัดเจนว่าการที่เด็กหรือวัยรุ่นอดนอน นอนน้อย นอนดึก หรือนอนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย รูปร่างเตี้ย ไม่แข็งแรง ความสามารถในการเรียนรู้น้อยกว่าคนที่นอนหลับอย่างเพียงพอ เนื่องจากในระหว่างการหลับสนิท โกรทฮอร์โมนจะหลั่ง ส่งผลให้คนที่เจริญเติบโตยังไม่เต็มที่ร่างกายสูง แข็งแรง ส่วนในคนที่ร่างกายเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว จะช่วยให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า แจ่มใสร่าเริง ซึ่งช่วงเวลาโดยเฉลี่ยที่ควรนอนในแต่ละวันอยู่ที่ 8 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม แต่ละช่วงวัยต้องการการนอนที่แตกต่างกัน เด็กจะต้องการนอนมากกว่าผู้ใหญ่





รายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบัญชี - งบประมาณ
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 15 มิถุนายน 2550

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง