รายการ ''ระดมสมองอนาคตการศึกษาไทย'' เรื่อง ความพร้อมการเข้าสู่โครงสร้างใหม่กระทรวงศึกษาธิการ


เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2546 รายการระดมสมองอนาคตการศึกษาไทย เสนอเรื่อง ความพร้อมการเข้าสู่โครงสร้างใหม่กระทรวงศึกษาธิการ ทางสถานีโทรทัศน์ TTV 1 ประกอบด้วย ดร.สิริพร บุญญานันต์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ นายไพบูลย์ เสียงก้อง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และดร.สุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ 
ดร.สิริพร กล่าวดังความตอนหนึ่งว่า ''การปฏิรูปการศึกษา แบ่งออกได้เป็น 2 เรื่องใหญ่ ประกอบด้วย การปฏิรูปการเรียนรู้และการปฏิรูปโครงสร้าง การปฏิรูปการเรียนรู้ได้มี การดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มมีการประกาศใช้พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ทั้งนี้เพื่อมุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข เติบโตขึ้นเป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพสมดังเจตนารมณ์ตามพ.ร.บ.การศึกษาฯ ซึ่งความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือ ความมีอิสระในการบริหารจัดการของโรงเรียนเอง โรงเรียนจะมีอำนาจมากขึ้น


เมื่อพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการมีผลบังคับใช้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ จะเปลี่ยนไปเป็นสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยสภาการศึกษาจะเป็นองค์กรคณะบุคคล ประกอบด้วย ผู้แทนจากองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ จำนวน 59 ท่าน ส่วนหน่วยงานภายใน แบ่งเป็น 6 สำนัก ประกอบด้วย สำนักอำนวยการ สำนักนโยบายและแผน สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สำนักประเมินผลการจัดการศึกษาและสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา ทั้งนี้เพื่อรองรับกับบทบาทและหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาศึกษา คือจะทำหน้าที่รับผิดชอบด้านนโยบาย แผน มาตรฐานการศึกษา การวิจัย การติดตามและการประเมินผล ให้ความเห็นด้านกฎหมาย รวมทั้งการกำหนดยุทธศาสตร์ต่างๆ


ปัจจุบันสภาการศึกษาได้มีการทดลองจัดองค์กรและพัฒนาปรับปรุงลักษณะของการดำเนินงานดังกล่าวมาแล้วอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นองค์กรไม่ใหญ่มากนัก บุคคลากรมีไม่มาก และที่สำคัญบทบาทหน้าที่หลักส่วนใหญ่เป็นเรื่องเดิม อาจจะมีเพิ่มขึ้นมาบ้างบางเรื่อง ทำให้การปรับและทดลองดำเนินการทำได้ไม่ยาก…''
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ''ถ้าพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการมีการประกาศใช้ สิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 การจัดระเบียบบริหาราชการส่วนกลาง คือ การรวมกระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัยและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติเข้าด้วยกันเป็น กระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วย 6 ส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ส่วนที่ 2 การจัดระเบียบบริหารราชการเขตพื้นที่การศึกษา ประกอบด้วย 2 ส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา และส่วนที่ 3 การจัดระเบียบบริหารราชการในสถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาระดับปริญญาที่เป็นนิติบุคคล หมายถึง สถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคลจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป


สำหรับโครงสร้างทั้ง 5 ส่วนราชการ แบ่งเป็น 3 ส่วนราชการเดิมภายในกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ 1.สำนักงานปลัดกระทรวงใหม่ ทำหน้าที่หลัก คือเป็นผู้ประสานงานกระทรวง ปฏิบัติราชการในภาพรวมที่ไม่ใช่ของส่วนราชการอื่นใด ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวง กรมการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู กรมพลศึกษา(จำนวน 2 กอง คือ กองลูกเสือและกองยุวกาชาด และกองสารวัตรนักเรียน) 2.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทำหน้าที่ ดำเนินการจัดการศึกษาด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กรมสามัญศึกษา กรมวิชาการ และ 3.สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือกรมอาชีวศึกษาเดิม ทำหน้าที่ ดำเนินการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษา 


ส่วนสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ทำหน้าที่ เป็นสภานโยบาย ศึกษาทิศทางการจัดการศึกษา ระบบการศึกษาโดยรวม พัฒนาระบบกฎหมายการศึกษา โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวง ทำหน้าที่ เป็นผู้ประสานงานกลาง เพื่อนำแผนและนโยบายมาเป็นแผนปฏิบัติการ รวมทั้งจัดทำแผนรวมด้านงบประมาณด้านการศึกษา


เมื่อพ.ร.บ.ระเบียนบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการมีผลบังคับใช้ คงจะไม่สร้างความสับสนให้กับหน่วยงานต่างๆ มากนัก เพราะข้าราชการมีความเข้าใจเป็นอย่างดีและได้มีการทดลองดำเนินการมาบ้างแล้วบางส่วน บางหน่วยงาน สำหรับข้อมูลที่ได้มานั้นได้มาจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เกิดจากการระดมความคิดเห็นของนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมาก ทุกคนจึงรับรู้ถึงความเคลื่อนไหวต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องเขตพื้นที่ การศึกษาจะเปิดโอกาสให้ข้าราชการหรือผู้บริหารที่อยู่ในเขตพื้นที่การศึกษานั้นๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อร่วมกันพิจารณาและดำเนินการ การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้เราต้องการ ทำในเชิงของการปฏิรูปทั้งระบบ คือ ทั้งระบบโครงสร้าง ระบบวิธีคิดและได้มีการจัดส่วนงานและลักษณะงานเพื่อส่งเสริมการปฏิรูปการศึกษา รวมทั้งมีการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับผู้ปกครองและประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง


สิ่งที่ต้องดำเนินการภายหลังพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการมีผลบังคับใช้ คือ 1.การออกกฎกระทรวงเพื่อรองรับโครงสร้าง 5 ส่วนราชการที่เป็นนิติบุคคล ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาสำหรับสำนักงานรัฐมนตรีจะไม่มีสถานภาพเป็นนิติบุคคล แต่จะเป็นส่วนราชการที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขณะนี้ได้เตรียมเสนอร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว และ 2.กฎกระทรวงว่าด้วยคณะกรรมการทั้ง 4 องค์กร ในวันที่กฎหมายบังคับใช้จะมีคณะกรรมการเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย ดังนี้ คณะกรรมการการการศึกษาแห่งชาติเป็นสภาการศึกษา คณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัยเป็นคณะกรรมการอุดมศึกษา ส่วนคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้ใช้อำนาจไปก่อน อย่างไรก็ตามจะมีการประกาศกฎกระทรวงเพื่อสรรหาคณะกรรมการทั้ง 4 คณะ พร้อมกับกฎกระทรวงเรื่องโครงสร้าง 6 ส่วนราชการต่อไป ทั้งนี้จะมีหัวหน้าส่วนราชการมาเป็นผู้บังคับบัญชาในวันที่กฎหมายบังคับใช้ จำนวน 3 คน ได้แก่ 1.ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการใหม่ 2.ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และ 3.เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการสภาศึกษา ส่วนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กฎหมายระบุไว้ว่า ในวันที่กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งคนที่เป็นข้าราชการ ระดับรองปลัดหรืออธิบดีในวันที่กฎหมายใช้บังคับเป็นผู้รักษาราชการแทน รวมทั้งการเตรียมการเพื่อจัดทำกรอบอัตรากำลัง ทุกเรื่องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าพ.ร.บ.ระเบียบบริหาราชการกระทรวงศึกษาธิการจะยังไม่เรียบร้อย แต่ได้มีการดำเนินการเรื่องของกฎกระทรวงหลักต่างๆ จำนวน 10 ฉบับเสร็จเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งกฎกระทรวง 4 ฉบับที่จะใช้ในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ประกอบด้วย กฎกระทรวงที่ว่าด้วยคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา หลักเกณฑ์วิธีการแบ่งส่วนราชการในเขตพื้นที่การศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาและการแบ่งส่วนราชการในสถานศึกษา…''


ดร.สุชาติ กล่าวว่า ''ทบวงมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนไปเป็นสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โดยปลัดทบวงมหาวิทยาลัยเปลี่ยนไปเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำหรับกรณีการสอบคัดเลือกเข้า มหาวิทยาลัยจะมีการปรับรูปแบบวิธีการรับใหม่ ซึ่งจะไม่เหมือนการสอบคัดเลือกในปัจจุบัน แบบใหม่วิชาที่สอบอาจจะไม่มากนักหรืออาจให้มหาวิทยาลัยรับโดยตรง เพื่อความสะดวกและง่ายขึ้น 


สำหรับทบวงมหาวิทยาลัยในส่วนกลาง แบ่งหน่วยงานภายในออกเป็น 9 สำนัก ทำหน้าที่ ดูแลมหาวิทยาลัยของรัฐทั้ง 24 แห่ง มหาวิทยาลัยเอกชน 54 แห่ง สถาบันราชภัฏ 41 แห่ง สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน 1 แห่ง รวมทั้งวิทยาลัยชุมชน 10 แห่ง จากปัจจุบัน 78 แห่ง จะเป็นประมาณ 140 แห่ง นี่เป็นภาพรวมของส่วนโครงสร้างทั้งหมด 

ส่วนเรื่องระบบของงานเมื่อมีการปรับตามแนวทางปฏิรูปเพื่อความเป็นเอกภาพในการบริหารงานแล้วจะต้องกระจายอำนาจไปสู่มหาวิทยาลัย เช่น การส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ รวมทั้งมอบอำนาจให้มหาวิทยาลัยเอกชนมีความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้นและสร้างมาตรฐานเดียวกันเหมือนกับมหาวิทยาลัยของรัฐ


กรณีสถาบันราชภัฏ เดิมเป็นสถาบันสังกัดสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ มี 41 แห่ง ทั่วประเทศ โครงสร้างเดิมต่างจากมหาวิทยาลัยทั่วไป เพราะต้องขึ้นอยู่กับส่วนกลาง แต่เมื่อกฎหมายออกจะมีสถานภาพเป็นนิติบุคคลเหมือนมหาวิทยาลัยทั่วไป โดยจะมีการเตรียมพร้อมและเติมเต็มด้านการบริหารจัดการ ปัจจุบันยังขาดแคลนบุคคลากรในส่วนที่เป็นสายสนับสนุน ในอนาคตจะให้อาจารย์ทำหน้าที่ด้านการสอนและการวิจัยเท่านั้นและจะเติมเต็มกำลังพลมาทำหน้าที่ด้านธุรการหรือสายสนับสนุนมากขึ้น


สรุปแล้วกระทรวงศึกษาธิการใหม่ หมายรวมถึง สำนักงานปลัดกระทรวง ที่เปรียบเสมือนสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เปรียบเสมือน 3 เหล่าทัพหรือเป็นฝ่ายรบ ส่วนสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เปรียบเสมือนกองบัญชาการทหารสูงสุด…'' 
 

อ้างอิงอัลบั้มภาพ


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

จำนวนผู้อ่าน 409 ครั้ง

Keep