[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

จังหวัดฉะเชิงเทรา

                                                                                            ประวัติจังหวัดฉะเชิงเทรา 
จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือ แปดริ้ว เป็นจังหวัดในภาคตะวันออก มีประวัติปรากฏมาตั้งแต่สมัย กรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินของพระเจ้าบรมไตรโลกนาถ ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำบางปะกงและลำคลองทั่วไป โดยมี''หลวงพ่อโสธร'' เป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวแปดริ้ว ในอดีตฉะเชิงเทรามีฐานะเป็นเมืองจัตวาอยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหม ต่อมาได้ขึ้นอยู่ในสังกัดกรมมหาดไทย และคงอยู่อย่างนี้เรื่อยมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งรัชกาลที่ 5 เมื่อทรงเปลี่ยนการปกครองแผ่นดินใหม่ เมืองฉะเชิงเทราจึงมีฐานะเป็นเมือง ๆ หนึ่งในมณฑลปราจีนบุรี และในปี 2459 จึงได้เปลี่ยนจากเมืองเป็นจังหวัด เรียกว่า ''จังหวัดฉะเชิงเทรา'' คำว่าฉะเชิงเทราเป็นภาษาเขมรแปลว่า คลองลึก ส่วนชื่อแปดริ้วนั้น ได้มาจากคำบอกเล่าว่าในเมืองนี้มีปลาช่อนขนาดใหญ่ชุกชุมมาก เมื่อนำมาตากแห้งต้องแล่เนื้อปลาถึง 8 ริ้ว  
                                                                                                         อาณาเขต 
จังหวัดฉะเชิงเทรามีพื้นที่ 5,351 ตารางกิโลเมตร อาณาเขต คือ... 
ทิศเหนือจดจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดนครนายก 
ทิศใต้จดจังหวัดชลบุรีและจังหวัดจันทบุรี 
ทิศตะวันออกจดจังหวัดสระแก้วและจังหวัดปราจีนบุรี 
ทิศตะวันตกจดจังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร 
 
                                                                                              ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ 
สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม และที่ราบลุ่มแม่น้ำ พื้นที่ติดทะเลเป็นป่าชายเลน ส่วนทางด้านตะวันออกในอำเภอสนามชัยเขต เป็นที่สูงชันและภูเขา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 300 เมตรขึ้นไป 
ฉะเชิงเทรามีสภาพอากาศแบบฝนเมืองร้อน ในฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้จะมีอากาศชุ่มชื้นและฝนตกตลอดฤดู ในฤดูหนาวอากาศแห้งแล้ง มีฤดูกาลต่างกัน 3 ฤดู อุณหภูมิตลอดปีเฉลี่ยประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส 
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตที่ราบลุ่ม ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 2.069 ล้านไร่ หรือประมาณ 61.87 %ของพื้นทีทั้งหมด เป็นพื้นที่ใช้ในการเกษตร กล่าวคือ 1.033 ล้านไร่ (49.96%) ใช้ในการทำนา ที่เหลือในในการทำไร่ ทำสวน และมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง มะม่วง หมาก มะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ ข้าวโพด อ้อย ยางพารา สับปะรด และยูคาริปตัส เป็นต้น 
 
                                                                                                     การปกครอง 
จังหวัดฉะเชิงเทราแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ กับ 2 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว อำเภอบางปะกง อำเภอบางคล้า อำเถอพนมสารคาม อำเภอแปลงยาว อำเภอสนามชัยเขต อำเภอราชสาส์น กิ่งอำเภอท่าตะเกียบ และกิ่งอำเภอคลองเขื่อน 
ประชากรประมาณ 603,952 คน ชาย 299,322 คน หญิง 304,630 คน (สำรวจเมื่อเดือนมิถุนายน 2538) 
 
                                                           การเดินทาง จากกรุงเทพฯสามารถเดินทางมาจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ 2 ทาง คือ 
1. ทางรถยนต์ 
จากกรุงเทพฯคือสถานีขนส่งสายเหนือ(หมอชิต) ผ่านมีนบุรี มาตามทางหลวงหมายเลข 304 ระยะทางประมาณ 82 กิโลเมตร รายละเอียดการเดินทางติดต่อ 02-2720299-300 
จากกรุงเทพฯ คือ สถานีขนส่งสายตะวันออก(เอกมัย) มาตามทางหลวงหมายเลข 34(บางนา-ตราด) แล้วเลี่ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 314 (บางปะกง-ฉะเชิงเทรา) ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร รายละเอียดการเดินทางติดต่อ 02-3922391 
จากกรุงเทพ คือ สถานีขนส่งสายตะวันออก(เอกมัย) มาตามทางหลวงหมายเลข 3 (สุขุมวิท) แล้วมาเลี้ยวมาต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 314(บางปะกง-ฉะเชิงเทรา) ระยะทางประมาณ 106 กิโลเมตร รายละเอียดการเดินทางติดต่อ 02-3922391 
2. ทางงรถไฟ จากสถานีกรุงเทพฯถึงสถานีรถไฟฉะเชิงเทรา ระยะทาง 61 กิโลเมตร มีขบวนรถไฟไป-กลับวันละ 9 เที่ยว ตั้งแต่ 05.30 - 19.30 น. รายละเอียดติดต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย โทร 02-2237010 , 02-2237020  


                                                                                     สถานที่ที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอบางคล้า 

วัดโพธิ์บางคล้า
อยู่ห่างจากตัวเมืองฉะเชิงเทรา 23 กิโลเมตร เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 304 (สายฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี) ประมาณ 17 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 3121 ไปอีก 6 กิโลเมตร เข้าตัวอำเภอบางคล้า ผ่านศาลเจ้าตากสินมหาราชแล้วเลี้ยวซ้ายประมาณ 500 เมตร หรือสามารถเดินทางโดยทางเรือจากตลาดตัวเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งท่าเรือจะอยู่บริเวณด้านหลังของห้างตะวันออกพลาซ่ามาขึ้นที่ท่าน้ำของวัดก็ได้ วัดโพธิ์บางคล้าเป็นวัดที่น่าชมอย่างยิ่ง เนื่องจากต้นไม้ใหญ่ทุกต้นในบริเวณวัดเต็มไปด้วยค้างคาวแม่ไก่จำนวนนับแสนตัว ค้างคาวแม่ไก่มีปีกสีดำ หน้าตาเหมือนสุนัขป่า คือ มีจมูกและใบหูเล็ก ตาใหญ่ ขนสีน้ำตาลแกมแดง ในเวลากลางวันจะเกาะห้อยหัวลงตามกิ่งไม้อยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ ยามพลบค่ำก็ออกไปหากิน เป็นที่น่าแปลก ว่าแม้ค้างคาวพวกนี้จะกินผลไม้เป็นอาหาร แต่ไม่เคยไปทำความเสียหายให้กับสวนผลไม้ของชาวบางคล้าเลย 

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ตั้งอยู่ในตัวอำเภอบางคล้า สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงใช้เมืองฉะเชิงเทราเป็นเส้นทางเดินทางทัพผ่านในการกอบกู้เอกราชหลังเหตุการณ์เสียกรุง เล่ากันว่าก่อนหน้านั้นเคยเป็นที่ตั้งของเจดีย์อนุสรณ์ชัยชนะของพระองค์เมื่อสู้รบกับพม่าที่บริเวณนั้น ภายหลังเจดีย์ได้พังทลายลงในปี พ.ศ. 2484 โดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ยังคงเล่าเรื่องราวสืบต่อกันมา และได้สร้างศาลพร้อมอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราชนี้ขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2531 

                                                                               สถานที่ที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอพนมสารคาม 

เขาหินซ้อน
ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 304 (สายฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี) กิโลเมตรที่ 53 อยู่ห่างจากตัวเมืองฉะเชิงเทรา 53 กิโลเมตร เป็นภูเขาที่มีความสูงไม่มากนัก ประกอบด้วยก้อนหินขนาดใหญ่น้อยรูปทรงต่างๆ เรียงรายอยู่ตามธรรมชาติ บริเวณเขาหินซ้อนจัดเป็น “สวนรุกขชาติสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ” เป็นที่ตั้งของศาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งประดิษฐานพระบวรราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาลนี้เมื่อปี พ.ศ. 2522 ด้านหลังของศาลนี้เป็นที่ตั้งของวัดเขาหินซ้อน 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน
ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 304 กิโลเมตรที่ 51-52 ในเขตตำบลเขาหินซ้อนและตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 1,929 ไร่ เป็นศูนย์ศึกษาพัฒนาการเกษตรแผนใหม่ โดยความร่วมมือทั้งจากส่วนราชการและเอกชน มีการจำแนกพื้นที่ภายในศูนย์เพื่อทำการสาธิตลักษณะงานต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาที่ดิน การปลูกพืช การปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ งานศิลปาชีพและโครงการสวนป่าสมุนไพร โดยจัดตั้งเป็น “สวนพฤกษศาสตร์ภาคตะวันออก” เพื่อดูแลงานวิจัยเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของพืชต่างๆ ทั้งสมุนไพรและต้นไม้หายาก ได้แก่ ต้นลาพรรษาและต้นชมพูภูคา ซึ่งขณะนี้พบได้ที่นี่แห่งเดียวในโลก ภายในอาคารจัดเป็นนิทรรศการบรรยายและสาธิตการผลิตสมุนไพรต่างๆ 

ทางศูนย์ฯ มีที่พักสำหรับเยาวชนที่มาทัศนศึกษาได้ประมาณ 120-150 คน ติดต่อล่วงหน้าหรือทำหนังสือถึงพัฒนาชุมชน จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือที่หน่วยงานรวมศูนย์พัฒนาเขาหินซ้อน โทร. (038) 599009 และสำหรับผู้ที่จะเข้าชมเป็นหมู่คณะ ต้องการเจ้าหน้าที่นำชม ต้องทำหนังสือติดต่อล่วงหน้าที่นี่เช่นเดียวกัน 
 สถานที่ที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอบางปะกง 

เขาดิน
อยู่ห่างจากตัวเมืองฉะเชิงเทราไปตามลำน้ำบางปะกงประมาณ 14 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวเข้าคลองอ้อมไปอีก 2 กิโลเมตร สองฝั่งคลองเป็นป่าจาก มีบ้านเรือนของชาวบ้านตั้งอยู่เป็นระยะ ลักษณะของเขาดินเป็นเนินหินแกรนิตอย่างหินเขาสามมุข สูงประมาณ 15 เมตร ตั้งอยู่โดดเดี่ยวล้อมรอบด้วยทุ่งนาและป่าจากบนยอดเขาซึ่งมีต้นไม้ขนาดเล็กขึ้นอยู่นั้น เป็นที่ตั้งของ “วัดเขาดิน” หรือ “วัดปถวีปัพตาราม” ภายในวัดมีมณฑปร้างเหลือแต่อิฐสีแดงอยู่หลังหนึ่งเก่าแก่มาก เข้าใจว่าเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท 

                                                                            สถานที่ที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอสนามชัยเขต 

อ่างเก็บน้ำลาดกระทิง
ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลลาดกระทิง ห่างจากที่ว่าการอำเภอไป 9 กิโลเมตร ตามเส้นทางพนมสารคาม-หนองคอก จากนั้นจะมีแยกเข้าไปทางขวามืออีก 2 กิโลเมตร เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียง 

                                                                               สถานที่ที่น่าสนใจ ในเขตกิ่งอำเภอท่าตะเกียบ 

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน
เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ครอบคลุมพื้นที่ 643,750 ไร่ ตั้งอยู่ในใจกลางขอพื้นที่ป่าผืนใหญ่ซึ่งเป็นรอยต่อ 5 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และปราจีนบุรี อันเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของภาคตะวันออก สภาพภูมิประเทศทั่วไปมีความลาดชันไม่มากนัก โดยทั่วไปมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 30-150 เมตร มีพื้นที่ป่าปกคลุมเป็นบริเวณกว้าง เป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางปะกงทางด้านจังหวัดฉะเชิงเทรา คลองโตนดในจังหวัดจันทบุรี และแม่น้ำประแสร์ในจังหวัดระยอง บริเวณป่ามีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกพันธุ์ต่างๆ นอกจากนั้นยังมี น้ำตกอ่างฤาไน ซึ่งอยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์ป่าประมาณ 2 กิโลเมตร 

การเดินทาง จากตัวเมืองใช้เส้นทางฉะเชิงเทรา-พนมสารคาม จากอำเภอพนมสารคามใช้เส้นทางหมายเลข 3245 ถึงกิ่งอำเภอท่าตะเกียบ จากนั้นไปตามเส้นทางราดยางสู่บ้านหนองคอก ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร จากนั้นใช้เส้นทางสู่อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้วอีกประมาณ 15 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนและสถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทราซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน ผู้ที่มีความประสงค์จะเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะต้องขออนุญาตจากกองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ โดยติดต่อไปที่ 579-4847 
 
















 





เว็บที่ใช้ค้นคว้าhttp


โดย:
งาน: งานห้องสมุด
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: เว็บ google ประวัติจังหวัดฉะเชิงเทรา

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง