[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

พลังงานไม่มีขาย อยากได้ต้องร่วมสร้าง...

 พลังงานไม่มีขาย อยากได้ต้องร่วมสร้าง...

ลองคิดดูสิ จะเป็นอย่างไรถ้าคุณสามารถชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือของคุณได้ด้วยการ “เดิน” เท่านั้น

คุณอาศัยอยู่ในเมืองที่วุ่นวายที่สุดเมืองหนึ่ง ทุกๆ ชั่วโมงมีรถมากมายหลายพันคันใช้ประตูหน้าบ้านของคุณเป็นทางลัดวิ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่แทนที่คุณจะก่นด่าสาปแช่งบรรดารถต่างๆ ที่แผดเสียงคำรามก่อความรำคาญเหล่านี้ คุณกลับพอใจมาก เพราะรถแต่ละคันที่วิ่งผ่านไป ทำให้ค่าไฟฟ้าในบ้านของคุณลดลง และคุณก็ยังชอบใจบรรดานักช็อปในย่านกลางเมืองเป็นอย่างยิ่ง เพราะความวุ่นวายของพวกเขาทำให้เกิดพลังงานสำหรับหลอดไฟส่องทางข้างถนน และผู้คนเหล่านี้สามารถชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือหรือเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คได้ด้วยการเดินย่ำไปบนทางเท้า หรือแค่กินอาหารกลางวันเท่านั้น

นี่คือภาพเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งนักวิทยาศาสตร์มองว่าเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน พวกเขาเชื่อว่า วิธีการผลิตและจ่ายพลังงานในรูปแบบเดิมนั้นไม่มีความยืดหยุ่นเพียงพอ ทำไมเราต้องพึ่งพาแต่กระแสไฟฟ้าที่มาตามสายไฟเท่านั้น และใครล่ะที่อยากวุ่นวายกับการเปลี่ยนหรือชาร์จแบตเตอรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อบรรดาอุปกรณ์ไร้สายต่างๆ นั้น “แบตหมด”

บรรดานักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า มีพลังงานที่ยังไม่ได้ใช้เป็นจำนวนมากล่องลอยอยู่รอบๆ ตัวเรา ซึ่งเราอาจ “จับ” มาใช้ได้ พลังงานจากการจราจร การสั่นสะเทือนของเครื่องจักร คลื่นวิทยุ หรือจากผู้คนที่เดินทางอยู่นั้น ล้วนแต่เป็นเป้าหมายในการ “จับ” พลังงานทั้งสิ้น

แน่นอนละว่า เราเคย “เก็บกวาด” พลังงานที่อยู่รอบตัวเรามาแล้ว เช่น เราใช้พลังงานจากลมและพลังงานจากน้ำมาเป็นเวลานานนับพันปีแล้ว และในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา เราก็ใช้เซลล์แสงอาทิตย์กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่การติดตั้งบนหลังคาบ้านไปจนถึงการติดตั้งบนนาฬิกาข้อมือ แต่รูปแบบการเก็บรวบรวมพลังงานแบบนี้ก็ไม่เหมาะสมหรือยืดหยุ่นเพียงพอสำหรับเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ซึ่งมีขนาดเล็ก หรือไมโครโปรเซสเซอร์ที่ใช้พลังงานน้อยมากที่จะถูกติดตั้งอยู่ในสิ่งของทุกอย่างตั้งแต่ตู้เย็น เสื้อผ้า กุญแจประตูอิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงป้ายสัญญาณบอกทาง และป้ายรถเมล์ บรรดานักวิจัยกล่าวว่า อุปกรณ์เหล่านี้จะสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ และจะมีการติดตั้งชิปไมโครโปรเซสเซอร์ในโทรศัพท์ และของใช้ขนาดพกพาด้วย

แทด สตาร์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเก็บรวบรวมพลังงานจากสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจียในแอตแลนตาตั้งคำถามว่า เราจะหาพลังงานมาสนับสนุนอุปกรณ์ดังกล่าวได้อย่างไร ตัว-อย่างเช่น ป้ายสัญญาณบอกทางและป้ายรถเมล์ที่ติดตั้งชิปแล้วนั้น สตาร์เนอร์กล่าวว่า คุณอาจจะใส่แบตเตอรี่ลงในป้ายเหล่านี้ แต่ใครล่ะจะเป็นผู้ที่คอยเปลี่ยนแบตเตอรี่ทั้งหมดไปจนกระทั่งป้ายเหล่านี้หมดอายุการใช้งาน สตาร์เนอร์เชื่อว่าคำตอบก็คือ ทำให้ป้ายเหล่านี้สามารถเก็บรวบรวมและใช้พลังงานจากทุกๆ ถนนที่ป้ายเหล่านี้ติดตั้งอยู่นั่นเอง

วิธีการนี้ทำให้ แชด ราวน์ดี นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเบิร์กเลย์ สนใจเป็นอย่างมาก แนวคิดของเขาคือ การเปลี่ยนรูปพลังงานจากการสั่นของสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่มากมายรอบๆ ตัวเราทุกๆ วันให้กลายเป็น กระแสไฟฟ้า เขาหาวิธีการที่จะค้นหาแหล่งกำเนิดพลังงานที่ดีที่สุดจากการสั่น ด้วยการติดตั้งเครื่องวัดความเร่งในเครื่องจักรหลายประเภท ตั้งแต่เตาไมโครเวฟไปจนถึงรถยนต์ต่างๆ

ราวน์ดีพบว่า พลังงานจากการสั่นจะสูงที่สุดในช่วงความถี่ระหว่าง 75 เฮิรตซ์ ถึง 150 เฮิรตซ์ ทำให้เขาพุ่งความสนใจไปที่อุปกรณ์ที่ให้พลังงานการสั่นเป็นปริมาณมากๆ เช่น เครื่องยนต์รถ เครื่องจักรโรงงาน พัดลมเครื่องปรับอากาศ รวมทั้งอุปกรณ์ในห้องครัว เช่น เครื่องซักผ้า และเครื่องปั่นผสมอาหารด้วย

เพื่อที่จะเก็บรวบรวมพลังงาน ราวน์ดีใช้แผ่นบางๆ ที่ทำจากเลด เซอร์โคเนต ไททาเนต (พีแซดที) สองแผ่น ประกบติดกันในลักษณะที่เขาเรียกว่า “ไบมอร์ฟ” (bimorph) ซึ่งมีความหนาน้อยกว่า 0.5 มิลลิเมตร พีแซดทีนี้เป็นวัสดุที่เรียกว่า “เพียโซอิเล็กทริก” เมื่อวัสดุนี้ถูกบิดหรือกดทับก็จะทำให้เกิดความต่างศักย์ของไฟฟ้าบนพื้นผิว เมื่อเขาทดสอบไบมอร์ฟของเขากับเครื่องยนต์รถ การสั่นของเครื่องยนต์ทำให้เกิดความต่างศักย์ไฟฟ้าซึ่งสามารถจ่ายให้กับวงจรไฟฟ้าขนาดเล็กได้ กระแสไฟฟ้าที่ได้นั้นประมาณ 80 ไมโคร-วัตต์เท่านั้น แต่ก็เพียงพอสำหรับการจ่ายให้กับอุปกรณ์ตรวจจับขนาดเล็ก เช่น อุปกรณ์วัดแรงดันน้ำมัน อุปกรณ์วัดอุณหภูมิเครื่องยนต์ เป็นต้น อุปกรณ์ตรวจจับเหล่านี้จะส่งข้อมูลที่อ่านได้ไปสู่ระบบควบคุมเครื่องยนต์ในรูปของสัญญาณวิทยุ

แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ไฮเทคในการเก็บรวบรวมพลังงานเสมอไป ตัวอย่างเช่น แกรี่ เฮนเดอร์สัน วิศวกรแห่ง Gravitational Systems ในนิวยอร์ก ต้องการให้รัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาขุดผิวหน้าถนน และติดตั้ง “ปั๊ม” ของเขา ระหว่างใต้พื้นถนนและผิวถนน เพียงเท่านี้ถนนก็จะสามารถทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าได้เมื่อมีรถวิ่งผ่าน

ปั๊มแต่ละตัวจะประกอบด้วยแผ่นโลหะที่วางอยู่บน “ถุง” ที่บรรจุของเหลวเมื่อรถวิ่งผ่าน รถก็จะทำให้แผ่นโลหะยุบตัวลง 1 หรือ 2 เซนติเมตร ซึ่งจะทำให้ของเหลวไหลออกจากถุงโดยผ่านวาล์วทางเดียว (กันการไหลกลับ) ไปสู่กังหันปั่นกระแสไฟฟ้า ปั๊มแต่ละตัวจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 80 วัตต์ต่อหนึ่งครั้งที่รถวิ่งผ่าน และพลังงานที่ได้นี้จะเก็บในแบตเตอรี่หรือตัวเก็บประจุไฟฟ้า ในขณะที่ของเหลวไหลกลับไปสู่ปั๊มทางวาล์วสำหรับไหลเข้า ปั๊มแต่ละตัวอาจผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในปริมาณที่ดูเหมือนจะไม่มาก แต่เฮนเดอร์สันคำนวณว่า ถ้าผู้ขับรถในแคลิฟอร์เนียเพียง 10 % ขับรถผ่านปั๊มของเขา 2 ตัว ในระยะทาง 1.6 กิโลเมตร ก็จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 3 พันล้านวัตต์

เฮนเดอร์สันได้ขายปั๊มของเขาไปแล้วหลายตัว โดยผู้ซื้อก็คือ เกษตรกรในมอนทานาและโอเรกอน ปั๊มเหล่านี้จะผลิตกระแสไฟฟ้าเมื่อฝูงวัวเดินผ่าน พลังงานที่ได้จะนำไปใช้กับเครื่องสูบน้ำ และเฮนเดอร์สันก็คิดถึงโลกที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจากรถที่วิ่งผ่าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ชุมชน โดยนำปั๊มของเขามาสร้างเป็นตัวหนอนบนพื้นถนนสำหรับใช้ชะลอความเร็วรถ และเมื่อรถวิ่งผ่านก็จะเกิดกระแสไฟฟ้าซึ่งสามารถเก็บไว้ใช้ต่อไปได้ เขาอธิบายว่า การจราจรคือแหล่งกำเนิดพลังงานสำคัญ ซึ่งสามารถจ่ายให้กับไฟส่องถนนและป้ายบอกสัญญาณบนถนนทั้งหมดได้ แทนที่จะต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียการใช้ถนน ผู้ขับรถก็จ่ายค่าธรรมเนียมเป็นพลังงานจำนวนเล็กน้อยที่เขาขับรถผ่าน และชุมชนก็จะมีพลังงานใช้อย่างสมบูรณ์จากถนนในชุมชนนั้นนั่นเอง

  เดินมากได้พลังงานมาก  

แน่นอน พลังงานที่เกิดขึ้นไม่ใช่ของฟรี เพราะเมื่อรถวิ่งผ่านปั๊มก็จะทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้น แต่เฮนเดอร์สันยืนยันว่า สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่นักวิจัยที่ไม่เห็นด้วยก็คาดว่า ตัวหนอนชะลอความเร็วรถซึ่งมีของเหลวบรรจุอยู่ภายในนี้จะทำให้รถต้องวิ่งผ่านด้วยความเร็วช้ากว่าตัวหนอนชะลอความเร็วรถแบบปกติ การทดลองกับถนนหลายๆ สายในเดลาแวร์ซึ่งเริ่มต้นเมื่อต้นปีที่แล้วจะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ระบบของเฮนเดอร์สันนั้นมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ความหวังของเฮนเดอร์สันนั้นไปไกลกว่าการผลิตกระแสไฟฟ้าจากการให้รถวิ่งผ่าน เพราะถ้าฝูงวัวสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เมื่อเดินผ่านปั๊ม แล้วมนุษย์เราล่ะ? ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแผ่นปูทางเท้ารอบๆ ห้างสรรพสินค้า เมซี่ ในแมนฮัตตัน เป็นปั๊มรุ่นแบนแทน เขากล่าวว่า เราจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 2 กิโลวัตต์ (2,000 วัตต์) จากคนทุกคนที่เดินผ่านหน้าห้าง

แล้วทำไมเราต้องวุ่นวายไปกับการขุดถนนด้วยล่ะ? รอน เพลไรน์ จากบริษัทวิจัย เอสอาร์ไอ อินเตอร์เนชั่นแนลในนิวยอร์ก กำลังพัฒนารองเท้าบู๊ต ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากทุกๆ ฝีก้าวของผู้สวมใส่ โดยที่ส้นของรองเท้าจะมีแผ่นดิสก์ ซึ่งทำจากพอลิเมอร์ซิลิคอนดัดแปลง และทำงานคล้ายกับแถบเพียโซอิเล็กทริกของราวน์ดี การบีบแผ่นพอลิเมอร์จะทำให้เกิดความไม่สมดุลของประจุไฟฟ้าที่ผิวด้านบนและด้านล่าง ถ้าต่อขั้วไฟฟ้าเข้ากับผิวทั้งสองด้านของแผ่นดิสก์ ผลของความต่างศักย์ไฟฟ้านี้ก็จะทำให้วงจรไฟฟ้าทำงานได้ อุปกรณ์ธรรมดา เช่น หลอดไฟ LED ซึ่งติดตั้งอยู่ในรองเท้ากีฬาบางรุ่นก็ได้รับกระแสไฟฟ้าจากแผ่นพอลิเมอร์นี้

เพลไรน์กล่าวว่า ในขณะนี้ รองเท้าดัดแปลงของเขาแต่ละข้างสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 0.8 วัตต์แล้ว แต่เขาคิดว่า ในที่สุดรองเท้าแต่ละข้างจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 2 วัตต์ ซึ่งมากเพียงพอสำหรับจ่ายให้กับวิทยุสื่อสารทางทหารหรืออุปกรณ์นำทาง และทำให้แบตเตอรี่แบบอัดประจุไฟใหม่ได้ในอุปกรณ์เหล่านี้มีประจุไฟฟ้าเต็มตลอดเวลา และเพราะว่าแผ่นพอลิเมอร์นี้จะเข้าไปแทนที่รองเท้าของเดิมทำให้น้ำหนักของรองเท้าไม่เพิ่มขึ้น หรือเพิ่มขึ้นแต่น้อยมากจนผู้สวมใส่ไม่รู้สึก

ในขณะที่เรานั่งอยู่เฉยๆ เราก็อาจเก็บรวบรวมพลังงานได้ด้วย โครงการล่าสุดของสตาร์เนอร์ โดยร่วมมือกับนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเดลฟท์ ในเนเธอร์แลนด์ก็คือ ทำให้ฝ้าเพดานสามารถจับพลังงานจากคลื่นวิทยุเอ-เอ็มในอากาศได้ จากการคำนวณของเขาแสดงให้เห็นว่า การดักสัญญาณวิทยุที่ระยะห่างจากสถานีวิทยุ 1 กิโลเมตร จะสามารถรวบรวมพลังงานได้มากกว่าสองเท่าของพลังงานที่จำเป็นสำหรับการทำงานของไมโครโปรเซสเซอร์ขนาดเล็ก แต่วิธีการนี้ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด สตาร์เนอร์กล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกามีการคุ้มครองคลื่นวิทยุโดยผู้ควบคุมจากองค์การควบคุมการสื่อสาร ถ้าเราใช้คลื่นวิทยุเอเอ็มจริงๆ มาเปลี่ยนรูปเป็นพลังงาน เราก็จะรบกวน สัญญาณวิทยุคนอื่นๆ เหมือนกับมีภูเขาขนาดใหญ่มาบังสัญญาณวิทยุนั่นแหละ

ดังนั้นเขาจึงวางแผนสร้างคลื่นวิทยุของเขาเอง และใช้คลื่นวิทยุนี้กับการทดลองเครือข่ายเสาวิทยุนำทางพลังงานต่ำ ซึ่งในตอนเริ่มต้นจะใช้สำหรับนำทางหุ่นยนต์รอบๆ ห้องทดลอง และสตาร์เนอร์จะใช้เสาวิทยุนี้เป็นเสาสัญญาณที่ทางม้าลายสำหรับผู้มีปัญหาการมองเห็น ซึ่งติดตัวรับสัญญาณพิเศษในการนำทางบนถนน

จากแนวคิดนี้ ในขั้นตอนต่อไป ไบรอัน เบอร์แลนด์ ที่ ITN Energy Systems ในลิตเติลตัน โคโลราโด กำลังพัฒนาเสาอากาศพิเศษซึ่งสามารถดูดกลืนแสงที่มองเห็นได้เหมือนกับการจับคลื่นวิทยุ เขากล่าวว่า ส่วนประกอบสำคัญก็คือ เสาอากาศนั้นเป็นเซลล์แสงอาทิตย์ประสิทธิภาพสูง ซึ่งสามารถปรับแต่งให้สามารถเก็บรวบรวมพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าในหลายช่วงความถี่ และเขาได้ทดลองตามแนวความคิดนี้แล้วในคลื่นความถี่บางคลื่น

วิธีการนี้จะทำให้เซลล์แสงอาทิตย์มีประโยชน์มากกว่าการใช้งานในแบบที่ใช้กันอยู่ เบอร์แลนด์กล่าวว่า ปัญหาของเซลล์แสงอาทิตย์ซึ่งทำจากสารกึ่งตัวนำโดยทั่วไปก็คือ สามารถจับพลังงานได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานทั้งหมดเท่านั้น แต่ในทางตรงกันข้าม เบอร์แลนด์คำนวณว่า อุปกรณ์ของเขาจะสามารถจับพลังงานได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ บางทีอาจจะมากกว่า 90 มิลลิวัตต์ต่อตารางเซนติเมตรเลยก็เป็นได้

เสาอากาศนี้ทำจากลวดเล็กๆ สานเป็นรูปตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 6 คูณ 6 ช่อง แต่ละด้านของสี่เหลี่ยมจะเป็นเสาอากาศขนาดเล็กซึ่งสามารถดูดกลืนพลังงานคลื่นสั้นจากการแผ่รังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในช่วงปลายของแถบสเปกตรัมของแสงที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่วิธีการสำคัญก็คือการต่อเสาอากาศขนาดเล็กนี้ตามแนวยาวก็จะทำให้กลายเป็นเสาอากาศยาวซึ่งสามารถดูดกลืนคลื่นวิทยุในช่วงความยาวคลื่นที่กว้างขึ้นได้

สิ่งเหล่านี้ยังเป็นแค่ทฤษฎี อุปกรณ์ที่ผลิตตามแนวคิดนี้ยังไม่เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ การทำให้เสาอากาศทำงานได้กับแสงที่มองเห็นได้นั้น ทีมของเบอร์แลนด์ต้องผลิตตารางลวดที่เล็กกว่า 0.5 ไมโครเมตร (0.000005 เมตร) ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และเพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์นี้ผลิตไฟฟ้ากระแสตรง เสาอากาศขนาดเล็กแต่ละช่องจะต้องมีไดโอดขนาด 10 นาโนเมตร (0.00000001 เมตร) ด้วยเพื่อทำให้กระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านลวดไหลทางเดียว เบอร์แลนด์กล่าวว่า การสร้างไดโอดขนาดเล็กนั้นไม่ง่าย แต่ก็เป็นไปได้

  พลังงานจากคลื่นในอากาศ  

เบอร์แลนด์มีบริษัทซึ่งกำลังทำงานออกแบบร่วมกับศูนย์โครงการวิจัยชั้นสูงเพื่อการป้องกันประเทศของสหรัฐอเมริกา (DARPA) เขากล่าวว่า เสาอากาศจะต้องจับพลังงานจากแสงสว่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถเปลี่ยนคลื่นวิทยุให้กลายเป็นพลังงานสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือวิทยุสื่อสารของทหารได้ และต้องสามารถติดตั้งรอบๆ เสาวิทยุได้พอดี รวมทั้งดูดกลืนคลื่นวิทยุส่วนเกินแล้วเปลี่ยนรูปให้กลายเป็นกระแสไฟฟ้าได้

เนื่องจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นกินไฟน้อยลงไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถสร้างแหล่งพลังงานให้กับอุปกรณ์เหล่านี้ได้ สตาร์เนอร์กำลังศึกษาว่าเราจะสามารถจับพลังงานไฟฟ้าจากคลื่นหัวใจและแรงดันอากาศจากลมหายใจได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งยังไม่รวมถึงความร้อนที่ร่างกายผลิตขึ้น และสามารถผลิตเป็นพลังงานได้มากถึง 60 วัตต์ อดัม เฮลเลอร์ นักชีวเคมีวิศวกรรมที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน กำลังพัฒนาเซลล์เชื้อเพิลงขนาดเล็กซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากกลูโคสและออกซิเจนในกระแสเลือดได้ถ้าติดตั้งเซลล์เชื้อเพลิงไว้ที่หลอดเลือดเอออร์ต้า (หลอดเลือดหัวใจห้องล่างซ้าย)  เมื่อเราต้องการอัดกระแสไฟฟ้าลงในแบตเตอรี่ (เซลล์เชื้อเพลิง) นี้ เราก็เพียงแค่กินอาหารเท่านั้น

แต่ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ พลังงานที่ได้นี้เป็นของเราแต่เพียงผู้เดียวใช่หรือไม่? ถ้าเราตกลงจะผลิตพลังงานเองหรือชุมชนที่เราอาศัยอยู่ได้รับพลังงานจากคนเดินเท้าหรือรถยนต์แล้ว เราทั้งหมดต้องตกลงยอมรับสิ่งหนึ่งนั่นคือ จะไม่มีใครได้รับอะไรเลย ถ้าเราทุกคนไม่เสียสละกันคนละเล็กละน้อยเสียก่อน

แปลและเรียบเรียงจาก Juice on the loose, New Scientist, 3 August 2002  

โดย... สันติพงษ์ ปิตตุภักดิ์ 


--------------------------------------------------------------------------------
จาก http://update.se-ed.com/185/energy.htm





ซี เอ็ด


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: จาก http://update.se-ed.com/185/energy.htm

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง