[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ศาสนากับวิทยาศาสตร์

ศาสนากับวิทยาศาสตร์
ผมเคยได้ยินบ่อยๆ ว่า พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ ที่ว่าเป็นก็เพราะมีเหตุแล้วก็ต้องมีผล คงเป็นเพราะว่า วิทยาศาสตร์กำลังโด่งดังเลยขออาศัยคำว่า วิทยาศาสตร์นี้ช่วยเชิดชูพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามก็เคยมีคนเขียนคัดค้านว่า พุทธศาสนาไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ผมคิดว่า ถูกต้องทั้งสองฝ่าย เช่น คำกล่าวที่ว่า คนเราต้องการอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ นั้น ต่างฝ่ายต่างเห็นพ้องกันอย่างยิ่งว่า ถ้าขาดอาหาร (รวมน้ำผึ้งด้วย) ก็จะตาย และถ้าขาดเครื่องนุ่งหุ่มก็จะหนาวหรือถูกตำรวจจับ 

แต่พอถึงคำกล่าวที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทางวิทยาศาสตร์สมัยนี้เริ่มขัดข้อง เพราะในวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่มีหลักแห่งความไม่แน่นอน ซึ่งหมายความว่า ทำดีแล้วอาจได้ชั่วก็ได้ มีผู้เขียนในศาสนาอื่นเขียนว่า เมื่อจิตเข้าสู่สมาธิขั้นสูงจะพบว่า ความดีและความชั่วนั้น ไม่มีอยู่ในโลกนี้ (ผมเองก็สงสัยว่ามันหายไปไหน) 

ถ้าเราเอาอากาศมาถังหนึ่ง เราจะพบว่า แต่ละอะตอมหรือโมเลกุลของอากาศในถัง จะมีความเร็วไม่เท่ากันเลย นี่คือความไม่ยุติธรรมในวิทยาศาสตร์ ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ตอบว่าการที่มันเร็วไม่เท่ากัน มันจะมีเสถียรภาพดีที่สุดซึ่งเราก็ไม่สนใจมากนัก เพราะอะตอมของอากาศมันไร้ชีวิต 

พอลองพูดถึงคนเราทั้งโลก ทำไมรวยไม่เท่ากัน เรามักจะอธิบายว่าเป็นเพราะกรรมในชาติก่อน ผสมกับโชคในชาตินี้ 

คำว่า “ชีวิต” เป็นคำสำคัญที่จะแสดงถึงความแตกต่างระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์ ไม่ว่า ศาสนาใดก็ตาม ถือว่าคนเราตายแล้วไม่สูญ ยกเว้นนิพพาน ซึ่งก็ยังเถียงกันอยู่ว่าสูญหรือไม่สูญ ถ้าไปถามพระพุทธเจ้า ท่านจะตอบว่า นิพพานจะว่าสูญก็ไม่ได้ ไม่สูญก็ไม่ได้ 

การเวียนว่ายตายเกิดของคนไทยเรานั้นมีรายละเอียดมาก แต่ยังไม่พบชีวิตแรกสุดนั้นมาจากไหน สำหรับทางฮินดู กล่าวว่าชีวิตมาจาก “บรามัน” (ฟังคล้ายชื่อวัวพันธุ์ดีมาก) พอตายแล้วก็กลับไปสู่ หรือไปเป็นบรามันตามเดิม ทางคริสต์ก็ว่า พระเจ้าสร้างชีวิต เมื่อตายแล้วก็กลับไปสู่พระเจ้า 

แต่วิทยาศาสตร์นั้นตรงกันข้าม โดยกล่าวว่า ชีวิตเกิดจากสิ่งไม่มีชีวิตในโลกนี้เอง ดังนั้นคนเราเมื่อตายก็จะไม่มีอะไรล่องลอยไปเกิดใหม่ ผมเคยถามเพื่อนฝูงที่เรียนชีววิทยา ก็ยืนยันเรื่องนี้ 

แต่ก็มีการค้นพบที่เชื่อได้ว่า คนเราตายแล้วกลับมาเกิดใหม่คือ กลับมาเกิดเร็ว กระทั่งจำชีวิตในชาติก่อนได้ รายที่กลับมาเกิดในครอบครัวเดิม อาจชี้หน้าแม่ของตัวเอง แล้วเรียกว่าลูกอย่างหน้าตาเฉย 

นักสอนธรรมะชาวไทยคนหนึ่งสอนว่า การเกิดของคนต้องอาศัย 3 อย่างคือ พ่อ แม่ และวิญญาณที่จะมาเกิด ข้อนี้นับว่าแตกต่างจากวิทยาศาสตร์ซึ่งบอกว่าอาศัย 2 อย่างคือ พ่อ และแม่ ผมจำได้ว่าเมื่อเป็นเด็ก พอเห็นดาวตก ผู้ใหญ่จะบอกว่าดูเฉยๆ ห้ามชี้ นั่นคือ เทพบุตรกำลังจะมาเกิดเป็นคน ถ้าใครชี้เข้าจะทำให้เทพบุตรหลงทางไป เข้าท้องหมา (แสดงว่าพลังนิ้วมือของคนเราร้ายแรงมาก) 

นักวิทยาศาสตร์จึงตกที่นั่งลำบาก เพราะต้องเชื่อว่าตายแล้วไม่สูญเพราะศาสนาสอนเช่นนั้น และในขณะเดียวกันก็ต้องเชื่อว่าตายแล้วสูญเพราะวิทยาศาสตร์ว่าไว้อย่างนั้น บางคนก็เลยเลิกนับถือศาสนาไปเลย ผมเคยคุยกับฝรั่งในเรื่องนี้ เขาอธิบายว่าเขาไม่เอา ไปปะปนกัน ความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนศาสนาเป็นเรื่องของศรัทธา ซึ่งไม่อาศัยวิทยาศาสตร์ 

ถัดจากเรื่องชีวิต เราจะมาดูเรื่องการสร้างโลกบ้าง ศาสนาฮินดูและคริสต์ ถือว่ามีผู้สร้างโลก คล้ายกับว่า ก่อนสร้างจะไม่มีอะไรอื่นเลย นอกจากผู้สร้าง สาเหตุของการมีโลกคือ การมีผู้สร้างและมีคำกล่าวว่า สิ่งเที่ยงแท้อย่างเดียวคือ ผู้สร้าง ซึ่งยั่งยืนตลอดกาล 

สำหรับทางวิทยาศาสตร์นั้น การค้นพบล่าสุดเกี่ยวกับการเกิดเอกภพและอะไรต่ออะไรนั้นคือ อยู่ดีๆ ก็มีการระเบิด (เรียกกันว่าบิ๊กแบง) มีสสารและพลังงานเกิดขึ้นมากมาย และสุดท้ายก็มี โลกและมีคนเกิดในโลกนี้ นักวิทยาศาสตร์รู้จักกฎที่ว่าพลังงาน และสสารไม่หายไปไหน จึงงงไม่ทราบว่ามันเกิดมาได้อย่างไร ฝ่ายที่โน้มเอียงเชื่อทางมีผู้สร้าง ก็อธิบายไว้อย่างน่าฟังว่า การเกิดเอกภพดูราวกับมีการวางแผนไว้อย่างดี เพื่อจะให้มีมนุษย์เกิดขึ้นมา ผู้ที่ไม่เชื่อว่ามี ผู้สร้างก็พยายามหาวิธีอธิบายว่า เอกภพมันพองยุบอยู่เองตามธรรมชาติ ไม่มีใครมายุ่งเกี่ยว การระเบิดบิ๊กแบง เป็นการพองครั้งหลังสุดเท่านั้นเอง 

มีนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเขียนว่า ศาสนาทางตะวันออกคือ ฮินดู และพุทธมีความกลมกลืนกับ วิชาฟิสิกส์ที่พบใหม่ๆ และเคยมีคนไทยแปลเป็นภาษาไทย แต่ก็มีฝรั่งคนอื่นวิจารณ์ว่าเหลวไหล 

ถ้าจะสรุปสั้นๆ ตอนนี้สักครั้งก็คงเป็นว่า วิทยาศาสตร์กับศาสนายังไม่เจอหรือลงรอยกัน เพราะวิทยาศาสตร์ซึ่งเชื่อการตรวจวัดด้วยการทดลองยังไม่สามารถตรวจวัดผู้สร้างโลกได้ ในขณะเดียวกันทางศาสนาก็เน้นว่า ผู้สร้างโลกมีคุณสมบัติไม่เหมือนสิ่งใดนั่นคือ ไม่สามารถตรวจวัดได้ 

สำหรับในเมืองไทยนั้น วงการศาสนาพุทธไม่ใคร่กล่าวถึงการสร้างโลก เน้นแต่สมาธิ อนัตตา และนิพพาน แต่ก็มีบ้าง เช่น พระธรรมปิฎกท่านไม่เชื่อว่ามีผู้สร้างโลก โลกมันมีเองแล้ว แต่มีหลวงปู่ดูลย์ อตุโล สอนว่าจิตคนเราเป็นสิ่งเดียวในโลกที่เที่ยงแท้ ทำให้ผมนึกทันทีว่าจิตนี้ กับผู้สร้างโลกคือ สิ่งเดียวกัน เพราะต่างก็มีคุณสมบัติเป็นสิ่งเดียวที่เที่ยงแท้ 

ความคิดที่ว่าดั้งเดิมมีอยู่สิ่งเดียว นับว่าเป็นความคิดที่ค่อนข้างสากล และมีมานาน ในสมัยกรีกโบราณ ซึ่งเรามักจะได้ยินเขาพูดถึงดิน น้ำ ลม ไฟ นั้นก็มีอยู่คนหนึ่งที่กล่าวว่า สิ่งเดียวดั้งเดิมคือ ความเกือบว่าง หรือความจาง คือเจือจางยิ่งกว่าอากาศหรือลม คำว่าบรามัน ของแขกก็หมายถึงสิ่งเดียวกันในศาสนาพุทธมหายานก็มีคำว่า ความว่าง หรือสุญญตา 

ขอสรุปตรงนี้อีกครั้งว่า ศาสนาและวิทยาศาสตร์ต่างก็ต้องการหาความจริง วิทยาศาสตร์ใช้การทดลอง และคอมพิวเตอร์ ยิ่งหาไปยิ่งพบอนุภาคมูลฐานมากขึ้นเรื่อยๆ อักษรอังกฤษและอักษรกรีก แทบจะไม่พอใช้แทนชนิดของอนุภาคที่พบแล้ว ในไม่ช้าอาจต้องใช้อักษรไทยช่วย ส่วนในทางศาสนานั้น ใช้สมาธิช่วยในการหาความจริงเพื่อให้ทราบด้วยตัวเองว่าความจริง ที่เที่ยงแท้มีเพียงสิ่งเดียว ซึ่งเราก็ยังเรียกความจริงนี้แตกต่างกัน เช่น บรามัน ความว่าง เป็นต้น 

นักสอนศาสนาที่เก่งๆ เวลากล่าวหรือเขียนอะไรก็มักจะประหลาดเข้าใจยาก ซึ่งผมจะขอยกตัวอย่างให้ดูบ้างเล็กน้อยดังต่อไปนี้ 

พระเจ้าท่านหยุดนิ่งในขณะเดียวกันกับที่ท่านวิ่ง 
ผู้มอง และผู้ถูกมองคือ สิ่งเดียวกัน 
หนทาง และจุดหมายคือ สิ่งเดียวกัน 
สรรพสิ่ง และเวลาคือ สิ่งเดียวกัน 
การเวียนว่ายตายเกิด และนิพพานคือ สิ่งเดียวกัน 
ข้าพเจ้า และพระผู้เป็นเจ้าคือ สิ่งเดียวกัน 
ข้อ 1. เป็นคำพูดของนักบุญฝรั่ง ซึ่งพวกฝรั่งคงไม่ใคร่เข้าใจ แต่ผมเห็นปุ๊บก็เข้าใจทันที เพราะเคยทราบว่า องคุลีมานซึ่งกำลังเหนื่อยลิ้นห้อยเพราะไล่พระพุทธเจ้าไม่ทัน ได้ร้องให้พระองค์หยุด แต่พระองค์ตอบว่าเราหยุดอยู่นานแล้ว 

ข้อ 2. ข้อนี้อาจทำให้คิดทันทีว่ามีการใช้กระจกเงา แต่ผมลอกเอามาจากฝรั่งคนหนึ่ง เขาบอกว่า ขณะที่เขาคิดว่าเขาพบพระเจ้านั้น รู้สึกว่าพระเจ้าอยู่ในตัวเขาด้วย 

ข้อ 3. คำพูดแบบนี้พบในหลายศาสนา เช่น มีพระญี่ปุ่นเขียนว่า การปฏิบัติและ การตรัสรู้คือสิ่งเดียวกัน เห็นเขาว่ากันว่า ขณะปฏิบัติถ้ามีความอยากตรัสรู้เข้ามารบกวน จะยิ่งไม่ได้ผล 

ข้อ 4. ศาสนาและวิทยาศาสตร์เห็นตรงกันในข้อนี้ว่า ก่อนมีสรรพสิ่ง (เช่น โลก) จะไม่มีเวลาหรือนาฬิกา วิทยาศาสตร์พบว่า ระยะทางและเวลาคือสิ่งเดียวกัน ผมเคยเห็นรูปการ์ตูนแสดง ไอน์สไตน์กำลังเล่นกลแปลงไม้เมตรเป็นนาฬิกา แต่ในทางศาสนาแปลงได้ทุกอย่าง ถ้าเขียนเป็นการ์ตูนก็คงเขียนได้ว่า มีคนเอานาฬิกาเข้าโรงจำนำแล้วกลายเป็นเงิน 

ข้อ 5. ถ้าตีขลุมว่า นิพพานคือบรามัน คือความว่าง คือพระผู้เป็นเจ้าคือสิ่งเที่ยงแท้ดั้งเดิม ก็คงจะพอจะเห็นด้วยได้ 

ข้อ 6. คำกล่าวนี้ ฟังดูน่ากลัว แต่ก็มีการกล่าวกันมาก ถ้าเชื่อว่าจิตคือสิ่งเที่ยงแท้ดั้งเดิม (บ้างก็ว่าจิตคือ พุทธะ) ก็คงพอฟังได้ 

ผมขอกล่าวอะไรสักอย่างเพื่อช่วยอธิบายคือ ฉลามขาวในทะเล และซุปหูฉลามคือ สิ่งเดียวกัน คนทั่วไปคงไม่เห็นด้วย เพราะไม่รู้ว่าใครจะกินใคร แต่นักธุรกิจหูฉลาม คงจะยิ้มและเห็นว่ามันคือสิ่งเดียวกัน... 

โดย..วิชัย หโยดม 


--------------------------------------------------------------------------------
จาก http://update.se-ed.com/160/religion_sci.htm





SE-ED


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: http://update.se-ed.com/160/religion_sci.htm

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง