[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ประเพณีวิ่งควาย


ประเพณีวิ่งควาย

         ใกล้วันออกพรรษาเข้ามาแล้ว พุทธศาสนิกชนเริ่มตระเตรียมงานบุญประเพณีที่มักจัดขึ้นในช่วงเทศกาลออกพรรษาในหลายแห่งหลายจังหวัด ทั้งที่เป็นงานบุญเช่น การตักบาตรเทโว และงานรื่นเริงสนุกสนานซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับงานบุญประเพณี เช่น ประเพณีโยนบัวของชาวบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และประเพณีวิ่งควายของชาวชลบุรี

ประเพณีวิ่งควายของชาวจังหวัดชลบุรี จัดขึ้นในราววันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันออกพรรษา ความเป็นมาของการจัดประเพณีวิ่งควายนี้กล่าวกันว่ามีมาเนิ่นนานแล้วและจัดในช่วงเทศกาลออกพรรษา โดยเริ่มเป็นครั้งแรกที่วัดใหญ่อินทาราม ซึ่งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวชลบุรี มีเรื่องเล่ากันมาว่าเมื่อวัดใหญ่อินทารามจัดงานเทศน์มหาชาติขึ้น ชาวบ้านร้านถิ่นต่างขนผลผลิตทางการเกษตรของตน เช่น ข้าวเปลือก ข้าวสาร มะพร้าว กล้วย อ้อย บรรทุกใส่เกวียนที่ตกแต่งอย่างสวยงาม เพื่อนำมาติดเครื่องกัณฑ์เทศน์โดยใช้ควายเทียมเกวียนมาที่วัดแห่งนี้ จำนวนควายที่เทียมเกวียนคงมีจำนวนมาก เมื่อควายเหล่านั้นมารวมตัวกันริมสระน้ำในวัดเพื่อพักผ่อน ทำให้คนเกิดความคิดที่จะขี่ควายประลองฝีเท้ากัน โดยผู้ขี่ต้องระวังไม่ให้ตกลงมาจากหลังควายมิฉะนั้นจะถือว่าแพ้ การประลองครั้งนั้นเป็นที่สนุกสนาน พอถึงเทศกาลออกพรรษาในปีต่อมาก็เกิดการขี่ควายวิ่งแข่งกันอีกและผู้คนในละแวกใกล้เคียงต่างก็พากันนำควายของตนเข้าร่วมการแข่งขัน เมื่อจำนวนผู้เข้าแข่งขันเพิ่มมากขึ้น สนามที่ใช้แข่งขันจึงต้องเปลี่ยนไปจากบริเวณวัดใหญ่อินทารามเป็นบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด นอกจากนี้ยังมีที่ตลาดบ้านบึง ตลาดหนองเขิน ตลาดหนองยาง อำเภอพนัสนิคม การแข่งวิ่งควายจึงกลายเป็นประเพณีหนึ่งของชลบุรีต่อมา

ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังจังหวัดชลบุรี เมื่อ พ.ศ. 2455 ในครั้งนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดคือ พระยาวิเศษฤาไชย ได้จัดวิ่งควายถวายทอดพระเนตร ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดด้วย

ปัจจุบันชาวชลบุรียังคงให้ความสำคัญกับประเพณีขี่ควายนี้ เพียงแต่จัดสถานที่แข่งขันเฉพาะในเขตพื้นที่อำเภอบ้านบึงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และอีกแห่งหนึ่งที่อำเภอเมืองชลบุรีสำหรับที่อำเภอเมืองชลบุรีนั้นเทศบาลเมืองชลบุรีเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงาน จัดให้มีงานในวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 11 มีหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือให้การสนับสนุน สถานที่จัดงานคือบริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ กำหนดระยะทางแข่งขัน 100 เมตร ระยะเวลาจัดงานประมาณ 3 วัน กิจกรรมหลักของงานคือ การแข่งขันขี่ควาย และมีกิจกรรมเสริมอื่นอีก เช่น ประกวดสุขภาพควาย ประกวดตกแต่งควายประเภทสวยงาม ประกวดขบวนหุ่นควาย ประกวดน้องนางบ้านนา ประกวดเผาข้าวหลาม แข่งขันชักเย่อ มีการสาธิตการทอผ้าอ่างศิลาซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พื้นเมืองที่มีชื่อเสียงมาแต่อดีต สาธิตการจักสานเครื่องจักสานพนัสนิคมที่มีรูปแบบและวัสดุในการผลิตเป็นเอกลักษณ์ของตน สาธิตการตีครกหินอ่างศิลาที่นับวันจะสูญไป เพราะหาช่างฝีมือดีได้ยาก และความนิยมของผู้ใช้อุปกรณ์เครื่องครัวชนิดนี้ลดน้อยลงนอกจากนี้ยังมีมหรสพและร้านจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดต่างๆ

การจัดงานประเพณีวิ่งควายนี้นอกจากจะจัดขึ้นเพื่อความสนุกสานของชาวชลบุรีและจังหวัดใกล้เคียงแล้วยังสะท้อนให้เห็นความผูกพันระหว่างชาวนา กสิกรกับควาย ซึ่งเป็นสัตว์ใช้แรงงานในไร่นา ชาวนาไทยให้ความสำคัญกับควายมาก มีการกำหนดลักษณะของควายที่เป็นมงคลและอัปมงคลตามความเชื่อ เพื่อเป็นแนวทางในการคัดเลือกควายที่มีลักษณะดีมาใช้แรงงาน ลักษณะควายที่เชื่อว่าเป็นมงคล เช่น ลำตัวใหญ่ยาว ขาแข็งแรง และได้สัดส่วน มีหน้าค่อนข้างยาว รูจมูกเล็กมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ มีเขาโค้งคล้ายวงพระจันทร์ โคนเขาใหญ่ปลายเรียวมีปล้องถี่ เป็นต้น ควายที่มีลักษณะดีและแข็งแรง เหมาะสมกับการใช้งานจึงเป็นที่ต้องการของบรรดาเกษตรกรในบางท้องที่ที่ยังคงเห็นความสำคัญหรือความจำเป็นในการใช้แรงงานควายคู่ไปกับเครื่องทุ่นแรงต่างๆ

ประเพณีวิ่งควายที่จะจัดขึ้น ณ จังหวัดชลบุรีในเดือนนี้จึงเป็นประเพณีที่ควรแก่การส่งเสริมสนับสนุนทั้งในเชิงอนุรักษ์และการพัฒนา ก่อนที่ควายไทยจะเหลือไว้แต่ตำนานเล่าขาน







คลิกดูเพิ่ม


โดย:
งาน: งานห้องสมุด
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: http://www.thaistudy.chula.ac.th/pinitthai/buffalo.htm

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง