[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

''คุณภาพคน'' คือจุดเริ่มต้นของคุณภาพอาหาร

''คุณภาพคน'' คือจุดเริ่มต้นของคุณภาพอาหาร 
โดย...ณรงค์วิทย์ แสนทอง
กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีเพิล แวลูว์ จำกัด
[email protected]

เมื่อเอ่ยถึงอาหารเมื่อไหร่ สิ่งที่ผู้บริโภคปากอาชีพ (คล้ายๆกับมืออาชีพนั่นแหละครับ) คำนึงถึงเป็นสิ่งแรกคือ ''ความสะอาดและปลอดภัย'' ต่อให้อาหารชนิดนั้นอร่อยขนาดไหนก็ตาม ต่อให้ราคาจะถูกกว่าให้ฟรีเพียงใดก็ตาม แต่รับรองได้ว่าไม่มีใคร ''รับประทาน'' หรอกครับ เพราะมันไม่คุ้มค่ากับ ''ความเสี่ยง'' ที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหลัง

เวลาเราไปร้านอาหารส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะเห็นอาหารก็ตอนที่ถูกนำมาวางบนโต๊ะเรียบร้อยแล้ว เราไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นเลยว่าก่อนที่จะมาเป็นอาหารจานโปรดนั้นเขามีการปรุงกันอย่างไร แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าอาหารจานนั้นสะอาดและปลอดภัย คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยใส่ใจเรื่องกระบวนการปรุงอาหารมากนัก น้อยคนนักที่จะโผล่เข้าไปสังเกตว่าในครัวของร้านนั้นๆเขาทำกันอย่างไร 

ถ้าวันหนึ่งเราไปทานอาหารร้านประจำซึ่งเป็นร้านโปรดของเรา แต่อาหารวันนี้พิเศษกว่าวันก่อนๆตรงที่มีสัตว์ประหลาดหรือสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ได้อยู่ในเมนูอาหารแถมมาให้ด้วย ผมเชื่อว่าโอกาสที่เราจะมาทานร้านนี้จะลดลงหรือเลิกทานไปเลย ยิ่งถ้าร้านนั้นเป็นร้านที่มีชื่อเสียงมากเท่าไหร่ ราคาแพงมากเท่าไหร่ โอกาสการที่เราจะเลิกทานมีมากขึ้นเท่านั้น เพราะเราคาดหวังสูงว่าเขาจะต้องรักษามาตรฐานเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยมากกว่าร้านอาหารริมฟุตบาท

นี่ขนาดเป็นร้านอาหารเรายังไม่ค่อยได้เห็นเลยว่าเขาปรุงอาหารกันอย่างไร แต่ถ้าเป็นอาหารกระป๋อง อาหารที่บรรจุขวด บรรจุกล่องซึ่งผลิตมาจากโรงงานแล้ว เรายิ่งแทบจะไม่มีโอกาสหรือมีโอกาสน้อยมากที่จะเห็นว่าเขาผลิตกันอย่างไร สะอาดหรือไม่ ปลอดภัยหรือไม่

วันหนึ่งเพื่อนผมไปซื้อนมกล่องยี่ห้อหนึ่งมาให้ลูกชายจำนวน 2 แพ็ค ในความเป็นจริงแล้วลูกของเขาไม่ได้ดื่มนมยี่ห้อนี้หรอก แต่เป็นเพราะลูกชายอยากจะได้ของเล่นที่แถมมากับนม(แสดงว่าโฆษณาได้ผล) วันนั้นช่างเป็นวันที่โชคร้ายของบริษัทนั้นเสียเหลือเกินที่จะต้องสูญเสียลูกค้าใหม่ไปอย่างน้อยหนึ่งราย เพราะเมื่อลูกชายเขาแกะกล่องนมดื่ม ลูกชายก็บ่นว่ารสชาติมันแปลกๆ เพื่อนผมเองก็ไม่ได้เอะใจอะไร คิดว่าแต่ละยี่ห้อคงจะมีรสชาติแตกต่างกันไปบ้าง เขาบอกให้ลูกชายดื่มให้หมด แต่เจ้าลูกชายก็ยังบ่นไม่เลิกว่ารสและกลิ่นแปลกๆ ในที่สุดเขาก็ทนไม่ไหว ลองเอามาดื่มดู ปรากฏว่า ''นมเสีย'' จริงๆ แต่เพื่อให้แน่ใจว่าเสียจริง เขาจึงลองแกะกล่องที่เหลือมาดื่มดู ก็พบว่ารสชาติปกติ เขาเลยโทรไปร้องเรียนกับบริษัทนั้นทันที เพื่อนผมเล่าให้ฟังว่าการรับข้อร้องเรียนลูกค้าเขาก็ดีนะครับ อธิบายให้เราฟังอย่างละเอียด และจะเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ แต่...เพื่อนผมคนนี้เขาบอกกลับไปว่าไม่ต้องการหรอกครับ เพราะเขาและลูกชายเสียความรู้สึกไปเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ลูกชายเพื่อนผมไม่เคยร้องขอให้ซื้อนมยี่ห้อนั้นอีกเลย แม้ว่าจะมีของเล่นที่เขาต้องการก็ตาม และเพื่อนผมเองก็คงไม่อยากจะซื้อนมเสียให้ลูกอีกต่อไปเช่นกัน

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สินค้าไม่ดีเพียงชิ้นเดียวสามารถทำให้ลูกค้าอย่างน้อยสองคนเลิกซื้อสินค้านั้นๆไปโดยปริยาย และแน่นอนว่าลูกค้าหนึ่งคนคงจะไม่มีญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงเพียงหนึ่งคนนะครับ การที่เขาพูดปากต่อปากเรื่องสินค้าที่คุณภาพไม่ดีนั้น มีอิทธิพลต่อความเชื่อของผู้บริโภคมากกว่าการโฆษณาสินค้าที่ต้องลงทุนเป็นล้านๆเสียอีกนะครับ

จากตัวอย่างที่เล่ามาเสียยืดยาวนี้ อยากจะชี้ให้เห็นว่าการผลิตสินค้าประเภท ''อาหารใส่ปากคน'' นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายอีกต่อไปแล้วนะครับ ไม่ใช่ว่าใครมีเงินทุนเยอะ มีเครื่องจักรที่ทันสมัย มีสูตรการผลิตที่ดี มีวัตถุดิบดีมีคุณภาพแล้วจะประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมอาหารที่มีคุณภาพได้เสมอไป เพราะสิ่งสำคัญที่เข้ามาเป็นตัวกำหนดคุณภาพของสินค้าอีกตัวหนึ่งคือ ''คุณภาพของบุคลากร''

บุคลากรในอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าบริโภคนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคุณภาพในบางเรื่องสูงกว่าอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอาหารสำเร็จรูป(พร้อมกินพร้อมดื่ม)ที่ผู้บริโภคสามารถรับประทานได้ทันที สำหรับคุณภาพของบุคลากรในอุตสาหกรรมอาหารที่ควรจะโดดเด่นกว่าบุคลากรในอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างน้อยมี 3 ประการดังนี้

จิตสำนึกด้านสุขอนามัยส่วนบุคคล (Personal Hygiene Awareness)
พนักงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร จะต้องได้รับการฝึกอบรมให้เห็นความสำคัญของสุขอนามัยส่วนบุคคลในทุกส่วนต่างๆของร่างกายไม่ว่าจะเป็นเล็บ ผม การล้างมือ การสวมหมวก สวมรองเท้า การสวมเน็ทคลุมผม การใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคหรือสิ่งต่างๆจากตัวลงไปสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ พนักงานเหล่านี้จะต้องได้รับการฝึกอบรมจนเกิดเป็นนิสัย 
จิตสำนึกด้านความปลอดภัยทั้งตัวเองและตัวสินค้า (Safety Awareness)
พนักงานทุกคนจะต้องทำงานที่อยู่บนพื้นฐานของ ''ความปลอดภัย'' ไม่เพียงแค่ความปลอดภัยในการทำงานเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของสินค้าและผู้บริโภคด้วย ต้องสอนให้พนักงานทุกคนตระหนักเสมอว่าสินค้าทุกชิ้นที่เขาเกี่ยวข้องนั้น วันหนึ่งอาจจะถูกบริโภคโดยคนที่เขารักและเคารพมากที่สุดในชีวิตนี้หรือไม่ก็ตัวเขาเองอาจจะเป็นผู้บริโภคสินค้านั้นเอง ดังนั้นต้องให้เขาระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยในกระบวนการผลิตให้เหมือนกับการผลิตสินค้าให้ตัวเขาหรือญาติของเขารับประทาน 
ระเบียบวินัยในการทำงาน (Self-discipline)
เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับพนักงานในอุตสาหกรรมอาหารที่จะทำงานแบบขอไปทีไม่ได้ ทุกคนจะต้องเคร่งครัดในระเบียบปฏิบัติในทุกเรื่องทุกขั้นตอน เพราะถ้ามีการทำผิดพลาดหรือลัดขั้นตอนเพียงขั้นตอนเดียว บริษัททั้งบริษัทอาจจะเสียหายถึงขั้นล้มละลายได้ 
เมื่อหลายปีก่อน ผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินข่าวของบริษัทผลิตนมผงที่มีชื่อเสียงยี่ห้อหนึ่งในประเทศต่างประเทศ บริษัทนี้มีโรงงานหลายแห่ง แต่มีอยู่แห่งหนึ่งผลิตนมผงที่ไม่ได้คุณภาพทำให้เด็กเจ็บป่วยจำนวนมากและบางคนต้องเสียชีวิตไป บริษัทนี้ได้ดำเนินการเก็บสินค้าจากตลาดคืนทั้งหมดภายในเวลาอันรวดเร็ว แต่สถานการณ์ของบริษัทแย่ลงๆ จนต้องขายกิจการที่มีมูลค่าเป็นหมื่นล้านไปภายในระยะเวลาอันสั้น และจากการสอบสวนพบว่าสาเหตุที่ทำให้นมผงเป็นพิษนั้น เกิดมาจากการที่พนักงานกลุ่มหนึ่งที่รับผิดชอบในการทำความสะอาดท่อแสตนเลส ข้อต่อและวาล์วในกระบวนการผลิตของโรงงานเพียงแห่งเดียวไม่ได้ใส่ใจที่จะทำความสะอาดอย่างจริงจัง ทำให้เกิดเชื้อขึ้นในท่อและเชื้อนั้นได้กระจายปะปนไปกับผลิตภัณฑ์ และเป็นเหตุให้บริษัทนั้นถูกปิดกิจการและขายกิจการในเวลาต่อมา 
จากเหตุการณ์นี้เราจะเห็นว่า ระเบียบวินัยในการทำงานถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับคุณภาพของบุคลากรในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ถึงแม้วินัยในการทำงานจะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของกำไรขององค์กรก็ตาม แต่มันสามารถทำความเสียหายให้กับองค์กรถึงขั้นล้มละลายหรือปิดกิจการได้นะครับ 
สรุป การพัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานประกอบการประเภทอาหาร อย่ามุ่งเน้นเพียงการพัฒนาให้มีความรู้ ความเข้าใจ หรือเกิดทักษะในการทำงานเท่านั้น แต่จะต้องพัฒนาให้ลึกลงไปถึงจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทัศนคติและจิตสำนึกในเรื่องต่างๆให้เกิดขึ้นในตัวของเขาเอง เขาต้องคิดได้ด้วยตัวเขาเองว่าอะไรสำคัญอะไรไม่สำคัญ เขาต้องสามารถวิเคราะห์หรือพยากรณ์ผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของเขาได้ล่วงหน้า อย่าพัฒนาคนให้เหมือนคนขับมอเตอร์ไซด์ใส่หมวกกันตำรวจ แต่ต้องพัฒนาคนให้สามารถใส่หมวกกันน๊อคทุกครั้งที่ขับขี่รถมอเตอร์ไซด์ หรือรัดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่รถยนต์โดยไม่ต้องมีใครมาคอยบังคับหรือจับผิด 

ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรที่ดีจึงต้องเน้นการพัฒนาทั้ง ''คุณ'' (จิตใจ ความเชื่อ ทัศนคติ) และ ''ภาพ'' (พฤติกรรมที่แสดงออกมาให้คนอื่นเห็น) จึงจะเรียกได้ว่า ''บุคลกากรที่มีคุณภาพ'' อย่างแท้จริง
 
 





HR Center


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ณรงค์วิทย์ แสนทอง

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 1

อ่าน 0 ครั้ง