[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

โครงการตามแนวพระราชดำริ การปลูกพืชกลุ่มมะกอก

                                                                           การปลูกพืชกลุ่มมะกอกเพื่อการผลิตน้ำมัน

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ในบรรดาพืชที่มีชื่อว่า มะกอก นั้น ได้ครอบคลุมถึงกลุ่มชนิดของพืชจากวงศ์ต่าง ๆ และพืชที่มีชื่อต่างไปจากมะกอก แต่มีความสัมพันธ์กันค่อนข้างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ชื่อมะกอกในระดับนานาชาติจะหมายถึง มะกอกฝรั่ง (olive; Olea europaea) สำหรับในประเทศไทยนั้น มีชื่อที่เรียกมะกอกอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น มะกอก มะกอกฝรั่งหรือมะกอกเทศ มะกอกเกลื้อน มะกอกฟาน มะกอกป่าหรือมะกัก มะกอกน้ำ นอกจากนี้ ยังมีพืชที่ใกล้เคียงและเรียกชื่อต่าง ๆ กันออกไป เช่น สมอจีน หนำเลี้ยบ พิลีนัท สมอไทย สมอดีงู สมอพิพ่าย และ หูกวาง เป็นต้น สำหรับมะกอกฝรั่ง (olive) นั้น จัดเป็นไม้ผลที่มีความสำคัญ ต่อเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ที่อยู่รอบทะเลเมดิเตอเรเนียน อันได้แก่ กรีซ อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน อิสราเอล นอกจากนี้ ยังเป็นพืชสำคัญของรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศแบบเมดิเตอเรเนียนด้วย ผลิตผลของมะกอกฝรั่งนี้มีทั้ง ที่ใช้ผลดิบ (สีเขียว) และผลสุก (สีดำ) โดยดองในน้ำเกลือ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งของ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากพืชชนิดนี้ ได้แก่ น้ำมันมะกอก ซึ่งถือเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพในระดับหนึ่งของโลกในแง่โภชนาการ

น้ำมันมะกอกนั้นมีส่วนประกอบของ monounsaturated fatty acid โดยเฉพาะ oleic acid ที่พบในปริมาณที่สูงมากถึง 84.4% ซึ่งผิดกับน้ำมันพืชอื่น ๆ ที่มีสัดส่วนเป็น polyunsaturated fatty acid มากกว่าโดยมีผลไปช่วยลดปริมาณของโคเลสเตอรอล ในเส้นโลหิตได้ยิ่งไปกว่านั้นบทบาทสำคัญของน้ำมันมะกอกไม่เพียงแต่ไปลดปริมาณโคเลสเตอรอลในเส้นโลหิตเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะโคเลสเตอรอลในเลือดนั้นมี 2 ชนิดด้วยกัน คือ high density lipoprotein cholesterol (HDL) ซึ่งเป็นชนิดดีและทำหน้าที่ ช่วยลดปริมาณของ low density lipoprotein cholesterol (LDL) ซึ่งเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือด น้ำมันมะกอก มีผลทั้งสองทาง คือ ทำให้ปริมาณ HDL เพิ่มขึ้นและลดปริมาณของ LDL ไปพร้อมกัน อันผิดกับน้ำมันพืชชนิดอื่นซึ่งจะไปลด ทั้งปริมาณ HDL และ LDL หากปริมาณของ HDLในกระแสโลหิตมีมากขึ้นอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจก็ลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ ในน้ำมันมะกอกยังมีสารที่ชื่อว่า cycloarthanol ซึ่งจะไปจับกับโคเลสเตอรอลในวงจรการดูดซึม ทำให้ไม่เข้าสู่กระแสโลหิต

ประเทศที่ผลิตน้ำมันมะกอกมากที่สุดอยู่ในย่านทะเลเมดิเตอเรเนียน ผู้ผลิตใหญ่ที่สุดได้แก่ ประเทศสเปน (มากกว่า 25%) รองลงมาได้แก่ กรีซ ตุรกี ตูนิเซีย มอร็อคโค ซีเรียและโปรตุเกส ซึ่งประเทศเหล่านี้ใช้น้ำมันมะกอกในการปรุงอาหารประจำวัน ผลแก่จัดน้ำหนัก 100 กรัม เมื่อนำมาบีบคั้นแล้วจะได้น้ำมันสูงถึง 20-30 กรัม การจัดแบ่งคุณภาพของน้ำมันมะกอกแบ่งได้เป็น 5 ระดับ ที่สำคัญสำหรับการบริโภคมี 3 ชั้น ดังนี้

Virgin ได้จากการบีบคั้นครั้งแรก จัดเป็นชั้นที่มีคุณภาพสูงที่สุด จึงยังคงอุดมด้วยสารที่ใกล้เคียงกับในเนื้อมะกอกธรรมชาติมากที่สุด และเชื่อว่ามีสารสำคัญที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจได้ 
Pure เป็นชนิดที่ใช้รับประทาน ซึ่งได้จากส่วนผสมระหว่างชั้น Virgin และชั้น Refine 
Refine เป็นชั้นที่ใช้ในเชิงการค้าเพื่อการประกอบอาหาร น้ำมันในชั้นนี้ได้ผ่านการทำให้บริสุทธิ์ด้วยการสกัดกรด กลิ่น และสีออกไปแล้ว 
ส่วนน้ำมันอีก 2 ชั้นซึ่งมีคุณภาพค่อนข้างต่ำนั้นใช้สำหรับในเชิงอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมทั้งใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับ จุดตะเกียงด้วย

ความเป็นมาโครงการวิจัยนี้สืบเนื่องมาจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปี 2539 พระองค์ทรงสนพระทัยและชี้แนะให้มหาวิทยาลัยฯ ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมะกอกไทยและการผลิตน้ำมันจากมะกอก ดังนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ร่วมมือกันจัดทำโครงการวิจัยนี้ขึ้นโดยครอบคลุมถึงพืชอื่นที่อยู่ในวงศ์ต่าง ๆ ที่มีศักยภาพในการผลิตน้ำมันที่มีคุณภาพ ในระดับที่ใกล้เคียง หรือเทียบเท่า หรือดีกว่าน้ำมันที่ได้จากผลมะกอกฝรั่งรวมทั้งการศึกษาความเป็นไปได้ในการปลูกมะกอกฝรั่ง จากพันธุ์ที่นำเข้าเพื่อผลิตน้ำมันด้วยเช่นกัน โดยแบ่งเป็นโครงการย่อย 4 โครงการ ดังนี้

โครงการย่อยที่ 1 การปลูกมะกอกพันธุ์ไทย ในส่วนของโครงการนี้จะครอบคลุมไปถึงพืช 3-4 วงศ์ด้วยกัน ได้แก่ Family Anacardiaceae เช่น มะกอก (ไทย) (hog plum; Spondias pinnata) มะกัก (S. bipinnata) และมะกอกเทศหรือมะกอกฝรั่งหรือมะกอกหวาน (otaheite apple หรือ mombin; S. cytherea)  Family Elaeocarpaceae ได้แก่ มะกอกน้ำ (Elaeocarpus hygrophilus) Family Burseraceae ได้แก่ สมอจีน (canarium, chinese olive ; Canarium album) มะกอกเกลื้อน หรือมะกอกเลือด หรือมะเกิ้ม หรือมะเลื่อม (C. sublatum) มะกอกพาน (C. bengalense) และหนำเลี้ยบ (C. pimela) เป็นต้น 

โครงการย่อยที่ 2 การปลูกมะกอกพันธุ์จากต่างประเทศ ในส่วนโครงการนี้ จะทำการนำเข้าพันธุ์มะกอกฝรั่ง (olive ; Olea europaea) จากประเทศผู้ผลิตในย่านทะเลเมดิเตอเรเนียน และจากรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา ศึกษาถึงศักยภาพ ของการเจริญเติบโต การให้ผลผลิต และคุณภาพของน้ำมันมะกอกที่สกัดได้ ส่วนพืชอื่นที่อยู่ในสกุลเดียวกันของวงศ์ Oleaceae ที่พบในประเทศไทยจำนวน 3 ชนิด คือ O. maritima (ต้นเก็ดส้าน) O. rosea (ไม่มีชื่อไทย กะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า ริโค่คีย) และ O. salicifolia (ต้นกาแป๊ด สนั่น มวกกอ หรือคำไก่) ซึ่งจักได้ศึกษาถึงแนวโน้มของการผลิตน้ำมันในโอกาสต่อไป

โครงการย่อยที่ 3 การวิจัยเพื่อหาองค์ประกอบทางเคมี โดยส่วนนี้จะศึกษาถึงคุณภาพของน้ำมันจากส่วนต่าง ๆ ของผล และเมล็ดรวมทั้งปริมาณของน้ำมันที่สกัดได้ รวมทั้งองค์ประกอบในน้ำแต่ละชนิดของพืชที่ศึกษาทั้งหมดนี้ เพื่อนำผลการวิจัย ที่ได้ไปขยายผลในเชิงอุตสาหกรรมต่อไป

โครงการย่อยที่ 4 การรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับมะกอกและน้ำมันมะกอก เพื่อใช้เป็นแหล่งของข้อมูลสำหรับ เผยแพร่ในระบบสารสนเทศแก่ผู้สนใจต่อไป

จากผลการวิเคราะห์เบื้องต้นของพืชกลุ่มนี้จำนวน 3 ชนิด ซึ่งได้แก่ มะเกิ้ม สมอจีน และมะกอกเทศ โดยใช้ส่วนของเปลือก เนื้อ และเมล็ดใน พบว่ามีปริมาณน้ำมันชนิดต่าง ๆ รวมทั้ง oleic acid ในระดับที่น่าสนใจ ซึ่งจักได้ดำเนินการศึกษาโดยละเอียด ต่อไปในอนาคต





ดูรายละเอียด


โดย:
งาน: งานห้องสมุด
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: http://www.school.net.th

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง