[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรรวมมิตร

        การผลิตปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรรวมมิตร
ส่วนผสมหลักและอัตราส่วน : พืชสด + ผลไม้ดิบ + ผลไม้สุก + เนื้อสัตว์ + กากน้ำตาล + จุลินทรีย์
   1 : 1 : 1 : 1/2 : พอท่วม : 1/100

       คุณลักษณะของส่วนผสม
     พืชสด : 1) สด ใหม่ สมบูรณ์ โตเร็ว ไม่มีโรค 2) วัชพืชหรือพืชขึ้นเองดีกว่าพืชที่ปลูก 3) ใช้ทุกส่วนของพืช 4) ใช้พืชหลายอย่างดีกว่าอย่างเดียว
    ผลไม้ดิบ : 1) สด ใหม่ ใหญ่ สมบูรณ์ โตเร็ว ไม่มีโรค 2) ใช้ทั้งเนื้อเปลือกและเมล็ด
3) เลือกผลที่มีเมล็ดมาก ๆ 4)เมล็ดขนาดเล็กใช้ทั้งเปลือกเมล็ดขนาดใหญ่ใช้เฉพาะ เมล็ดใน
     ผลไม้สุก : 1) เลือกเฉพาะผลไม้รสหวาน 2) มีเนื้อมาก ๆ 3) ใช้ทั้งเนื้อและเปลือก 4) สดใหม่ ใหญ่ สมบูรณ์ ไม่มีโรค
    เนื้อสัตว์ : 1) ปลา หอย กุ้ง ปู กิ้งกือ ไส้เดือน หนอน แมลง 2) สด ใหม่ สมบูรณ์ ไม่มีโรค
3) ใช้ทุกส่วนหรือทั้งตัว 4) สัตว์น้ำจืดดีกว่าสัตว์ทะเล 5) ไข่และเนื้อหอยเชอรี่มีธาตุอาหารพืชมาก

วิธีทำปุ๋ยน้ำชีวภาพ
1. บดป่นหรือสับเล็กส่วนผสมทั้งหมด คลุกเคล้าให้เข้ากัน บรรจุลงภาชนะที่ไม่ใช่โลหะ

2. ใส่กากน้ำตาลพอท่วม เติมน้ำมะพร้าวท่วมมาก ๆ ตามต้องการ ใส่จุลินทรีย์ คนหรือเขย่าให้เข้ากันดี

3. เก็บไว้ในที่ร่ม อุณหภูมิห้อง ปิดฝาพอหลวม ๆ คนหรือเขย่าบ่อย ๆ

4. หมักนาน 7 วัน ถ้ามีกลิ่นหอมหวานฉุนถือว่า “ใช้ได้” ถ้ามีกลิ่นบูดเปรี้ยวให้เติมกากน้ำตาล น้ำมะพร้าว และจุลินทรีย์แล้วหมักต่อไปจนกว่าจะมีกลิ่นหอม

5. ระหว่างการหมักมีฟองเกิดขึ้นถือว่าดี หมดฟองแล้วนำไปใช้ได้

6. หมักในภาชนะขนาดเล็กได้ผลเร็วกว่าหมักในภาชนะขนาดใหญ่

7. พยายามกดให้ส่วนผสมจมอยู่ใต้กากน้ำตาลเสมอ

เทคนิคเฉพาะปุ๋ยน้ำชีวภาพ

1. ส่วนผสมที่ข้นมาก แก้ไขด้วยการเติมน้ำมะพร้าวมาก ๆ ไม่ควรเติมน้ำเปล่าทุกกรณีและน้ำมะพร้าวอ่อนดีกว่าน้ำมะพร้าวแก่

2. หมักไว้เป็นเวลานาน ๆ มีกลิ่นบูดเปรี้ยวให้เติมน้ำมะพร้าวกับกากน้ำตาลและจุลินทรีย์ลงไปอีก

3. จุลินทรีย์ธรรมชาติมีใน เปลือก / ตา / แกนจุกสับปะรด แกนต้นปรง ผักปรัง เหง้าหญ้าขนสด ฟางเห็ดฟาง เนื้อผลไม้รสหวานทุกชนิด หรือที่จำหน่ายตามท้องตลาด เช่น จินเจียงลินซีส บาซิลลัสสุริยา-โน ไซโมจินัส พด-1 เป็นต้น ให้เติมจุลินทรีย์เพียงเล็กน้อยพอเป็นหัวเชื้อ

4. ส่วนผสมทั้งหมดไม่จำเป็นต้องหมักพร้อม ๆ กัน ส่วนไหนมาก่อนหมักก่อน มาทีหลังหมักทีหลังในภาชนะเดิม

5. กากปุ๋ยหมักชีวภาพคือส่วนที่ยังย่อยสลายไม่หมด เมื่อใช้น้ำหัวเชื้อหมดแล้วให้ใส่ส่วนผสมชุดใหม่ ผสมกับกากเดิมเติมกากน้ำตาล น้ำมะพร้าวและจุลินทรีย์แล้วหมักต่อไป 

6. ปุ๋ยน้ำชีวภาพสามารถเก็บได้นานนับปีหรือข้ามปีโดยไม่เสื่อมสภาพ

7. ธาตุอาหารพืชในปุ๋ยน้ำชีวภาพมีอะไรบ้างและจำนวนเท่าไรขึ้นอยู่กับส่วนผสมที่ใช้

8.น้ำหัวเชื้อปุ๋ยน้ำชีวภาพเมื่อกรองออกมาใส่ขวดทึบแสงแล้วเก็บในตู้เย็นที่ช่องเย็นธรรมดาหรือในอุณหภูมิห้องสามารถเก็บไว้ได้นาน ระหว่างเก็บให้ตรวจสอบด้วยการดมกลิ่น ของดีมีกลิ่นหอมหวานฉุน

9. ปุ๋ยน้ำชีวภาพที่ดีต้องไม่มีกลิ่นของส่วนผสมอย่างใดอย่างหนึ่งชัดเจน

10. หัวเชื้อปุ๋ยน้ำชีวภาพที่หมักใช้การได้ใหม่ ๆ เป็นกรดจัด เมื่อหมักนาน ๆ ความเป็นกรดจะลดลงเอง

11. หนอนที่เกิดในภาชนะหมักเกิดจากไข่แมลงวัน หนอนนี้จะไม่เป็นแมลง เมื่อโตเต็มที่จะตายไปเอง

12. ฝ้าที่ลอยอยู่ที่ผิวหน้าคือจุลินทรีย์ที่ตายแล้ว คนหรือเขย่าให้จมลงเป็นอาหารจุลินทรีย์ที่ยังไม่ตาย

13. ประกายระยิบระยับที่ผิวหน้า คือ “ฮิวมัส” ธาตุอาหารที่มีประโยชน์ต่อพืช

14. อัตราใช้ เนื่องจากความเข้มข้นที่แต่ละคนทำไม่เท่ากัน ก่อนใช้งานจริงต้องทดสอบก่อนอัตราตั้งแต่ 1-20 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ถ้าใช้อัตราเข้มข้นเกินจะทำให้ใบพืชไหม้โดยทั่วไปอัตราที่ใช้ให้ทางใบ 1/1,000 ทุก 7-10 วัน ให้ทางราก 1/500 ทุก 10–15 วัน

15. ก่อนการให้กับพืชอาจผสมปุ๋ยเคมีหรือฮอร์โมนพืชร่วมด้วยก็ได้ตามความเหมาะสม

16. ปุ๋ยน้ำชีวภาพจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อใช้ร่วมกับปุ๋ยหมักชีวภาพ

       ข้อควรระวังในการทำปุ๋ยน้ำชีวภาพ(น้ำสกัดชีวภาพ)

1. ในระหว่างการหมักห้ามปิดฝาภาชนะที่ใช้หมักโดยสนิทชนิดที่อากาศเข้าไม่ได้เพราะอาจเกิดการระเบิดได้ เนื่องจากในระหว่างการหมักจะเกิดก๊าซขึ้นมาจำนวนมากเช่นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ฯลฯ

2.หากมีการใช้น้ำประปาในการหมักจะต้องต้มให้สุกหรือตากแดดเพื่อไล่คลอรีนที่มีอยู่ในน้ำประปาออกก่อนเพราะอาจจะไปทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมักได้

3. พืชบางอย่างไม่ควรนำมาใช้ในการหมักเช่นเปลือกส้ม เพราะส้มจะมีน้ำมันที่ผิวเปลือก (peel oil) ทำให้เปลือกของส้มมีความเป็นพิษต่อจุลินทรีย์ในการย่อยสลายในสภาพปลอดอากาศ

4. ภาชนะที่ใช้หมักต้องไม่ใช้ภาชนะที่เป็นโลหะ เพราะปุ๋ยน้ำชีวภาพจะมีฤทธิ์เป็นกรด (Ph=3-4)ซึ่งจะกัดกร่อนโลหะให้ผุกร่อนได้  

      ข้อควรระวังในการใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ(น้ำสกัดชีวภาพ)

1. ในการใช้น้ำสกัดชีวภาพกับพืชบางชนิดเช่นกล้วยไม้ อาจมีผลทำให้ภาชนะที่ใช้ปลูกคือกาบมะพร้าวผุเร็วก่อนเวลาอันสมควรทำให้ต้องเสียเงินในการเปลื่ยนภาชนะปลูกใหม่

2. ในการใช้น้ำสกัดชีวภาพกับพืชนั้นในดินจะต้องมีอินทรียวัตถุอยู่ เช่น มีการใส่ปุ๋ยหมัก เศษพืชแห้งคลุมดินไว้จึงจะทำให้การใช้ประโยชน์จากน้ำชีวภาพได้ผลดี

3. ห้ามใช้เกินอัตราที่กำหนดไว้ในคำแนะนำเพราะอาจมีผลทำให้ใบไหม้ได้ เนื่องจากความเป็นกรดหรือความเค็มในน้ำสกัดชีวภาพ ดังนั้นจึงควรเริ่มทดลองใช้ในอัตราความเข้มข้นน้อย ๆก่อน

4. น้ำสกัดชีวภาพที่มีธาตุไนโตรเจนสูง ๆ ต้องระวังในการใช้เพราะหากใช้มากไปอาจทำให้พืชเฝือใบและไม่ออกดอกออกผลได้

5. ในแต่ละช่วงการเจริญเติบโตของพืช พืชมีความต้องการสารอาหารในระดับที่แตกต่างกัน น้ำสกัดชีวภาพที่เกษตรกรผลิตได้จะมีสารอาหารที่แตกต่างกันเช่นกัน ดังนั้นเกษตรกรจะต้องเป็นผู้ค้นคว้าทดลองเองและเก็บข้อมูลไว้ว่าในแต่ละช่วงการเจริญเติบโต พืชต้องการน้ำสกัดชีวภาพสูตรใด ความเข้มข้นเท่าใดและระยะเวลาในการฉีดพ่นเท่าใด ไม่มีใครให้คำตอบที่ดีและถูกต้องสำหรับสวนหรือไร่นาของท่านได้ ยกเว้นท่านจะทำทดลองใช้ สังเกตอาการของพืชหลังจากใช้และปรับใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับพืชของท่านต่อไป





คลิกดูรายละเอียดที่


โดย:
งาน: งานห้องสมุด
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: http://www.doae.go.th/soil_fert/biofert/rommit.htm

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 1

อ่าน 0 ครั้ง