[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ไม้ไผ่ในประเทศไทย

         ไม้ไผ่ในประเทศไทย
        ไม้ไผ่มีถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติอย่างกว้างขวางเกือบทุกส่วนของโลก ทั้งในเขตกึ่งหนาว เขตอบอุ่น และเขตร้อน ยกเว้นในทวีปยุโรป (Liese, 1986) โดยมีการกระจายพันธุ์มากที่สุด
ในแถบร้อน ทางตอนใต้และตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเซีย กล่าวคือ มีการกระจายพันธุ์ถึง 45 สกุล (genera) 750 ชนิด (species) (Dransfield, 1980) ในขณะที่ไม้ไผ่ทั่วโลกมีประมาณ 75 สกุล 1,250 ชนิด (FAO, 1978) ส่วนที่พบในประเทศไทยมีประมาณ 13 สกุล 60 ชนิด (Dransfield, 1994 ; รุ่งนภาและคณะ, 2540) อย่างไรก็ตาม ไม้ไผ่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ มีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง มีประมาณ 
12 ชนิด ดังนี้ 
        1. ไผ่ตง (Dendrocalamus asper)
        2. ไผ่รวก (Thyrsostachys siamensis)
        3. ไผ่รวกดำ (Thyrsostachys oliveri)
        4. ไผ่ป่า (Bambusa bambos ชื่อที่ใช้กันดั้งเดิม คือ B. arundinacea)
        5. ไผ่สีสุก (Bambusa blumeana)
        6. ไผ่เลี้ยง (Bambusa sp.)
        7. ไผ่ซาง (Dendrocalamus strictus)
        8. ไผ่ซางนวล (Dendrocalamus membranaceus)
        9. ไผ่ข้าวหลาม (Cephalostachyum pergracile)
        10. ไผ่ไร่ (Gigantochloa albociliata)
        11. ไผ่บงดำ (Bambusa tulda)
        12. ไผ่หวาน (Bambusa sp.)
        นอกจากนี้ ยังมีไม้ไผ่ที่นิยมปลูกพืชประดับ ได้แก่ ไผ่ทอง (Schizostachyum brachycladum; 
ไม่ใช่ไม้ไผ่พื้นเมืองของประเทศไทย), ไผ่เหลือง (Bambusa vulgalis), และ ไผ่น้ำเต้า (B. vulgalis cv Wamin)
ไม้ไผ่ : พันธุ์ไม้ไทย ความรู้ทางพฤกษศาสตร์  
นายบุญชุบ  บุญทวี   ผู้อำนวยการส่วนวนวัฒนวิจัย 
สำนักวิชาการป่าไม้  กรมป่าไม้  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 
        ไม้ไผ่ เป็นพืชชนิดหนึ่งที่รู้จักกันดีทั่วโลก ในนามของ Bamboo มีความเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวัน
ของมนุษย์มาแต่โบราณกาล นับเป็นพัน ๆ ปีมาแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเซีย- แปซิฟิค 
มีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของคนในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่ ที่อยู่อาศัย
อาหาร เครื่องกีฬา เครื่องดนตรี เครื่องมือเกษตรกรรม ตลอดจนเป็นเครื่องศิลปกรรมของคนแต่ละชาติ และรวมถึงวัตถุดิบในการอุตสาหกรรม และการสันทนาการหรือการใช้ประโยชน์
เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ
        ในประเทศจีนโบราณ มีการศึกษาและบันทึกลักษณะของไม้ไผ่ชนิดต่าง ๆ มานานกว่า 1,000 ปี (317 - 420 คศ.) แต่อย่างไรก็ตามการจำแนกชนิดพันธุ์ไม้ไผ่ที่ค้นพบใหม่ได้ถึง 266 สายพันธุ์ (1985) อย่างจริงจังในปี ค.ศ.1970 และสามารถจำแนกชนิดพันธุ์ไม้ไผ่ในประเทศจีนนั้นเพิ่งจะเริ่มต้น
        ในปีคริสต์ศักราช 1978 (พุทธศักราช 2521) องค์การอาหารและเกษตรแห่ง สหประชาชาติ (FAO) ได้รายงานไว้ว่า มีการค้นพบชนิดพันธุ์ไม้ไผ่ในโลกจำนวน 1,250 ชนิด (Species) ซึ่งส่วนมาก
กระจายพันธุ์โดยทั่วไปอยู่ในเขตเอเซีย-แปซิฟิค
        และจากรายงานในปี 1985 ขององค์การ IDRC (Internation Development Research Centre) แห่งรัฐบาลคานาดา สามารถจำแนกชนิดพันธุ์ไม้ไผ่ในประเทศต่าง ๆ พอสรุปชนิดของ ไม้ไผ่ (Species) ได้ดังนี้
                1. ประเทศจีน มีชนิดไม้ไผ่จำนวน 300 ชนิด
                2. ประเทศอินเดีย มีชนิดไม้ไผ่จำนวน 130 ชนิด
                3. ประเทศไทย มีชนิดไม้ไผ่จำนวน 50 ชนิด
                4. ประเทศบังคลาเทศ มีชนิดไม้ไผ่จำนวน 32 ชนิด
                5. ประเทศฟิลิปปินส์ มีชนิดไม้ไผ่จำนวน 55 ชนิด
                6. ประเทศอินโดนีเซีย มีชนิดไม้ไผ่จำนวน 31 ชนิด
                7. ประเทศมาเลเซีย มีชนิดไม้ไผ่จำนวน 12 ชนิด
                8. ประเทศปาปัวนิวกินี มีชนิดไม้ไผ่จำนวน 26 ชนิด

ชนิดและการกระจายพันธุ์ของไม้ไผ่ในประเทศไทย
        ในประเทศไทยพบว่ามีไม้ไผ่ตามธรรมชาติอยู่ประมาณ 13 สกุล (Genus) 50 ชนิด (Species) แต่อาจจะมีมากกว่าจำนวนที่กล่าวนี้ เนื่องจากนักพฤกษศาสตร์ที่ศึกษาวิจัยจำแนกชนิดพันธุ์ไม้ไผ่มีอยู่จำนวนจำกัด ซึ่งก็มีบ่อยครั้งที่ค้นพบชนิดไม้ไผ่เพิ่มเติมแต่ไม่สามารถจำแนกชนิดพันธุ์ได้อย่างถูกต้อง
       ความสำคัญและลักษณะเด่น 
             ไม้ไผ่ จัดว่าเป็นพืชอเนกประสงค์ชนิดหนึ่ง ที่มีความสัมพันธ์กับชีวิต
และความเป็นอยู่ของคนไทยมาแต่โบราณ ส่วนของไม้ไผ่ที่ให้ประโยชน์
แก่มนุษย์อย่างมหาศาลคือหน่อและลำ
     โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวชนบทที่รู้จักนำเอาลำไม้ไผ่มาใช้ในการก่อสร้าง
ที่อยู่อาศัย หรือใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับ อุตสาหกรรมในครัวเรือน ตลอดจน
รู้จักการนำหน่อมาบริโภคในรูปแบบต่าง ๆ นอกจากนี้ไม้ไผ่ยังเป็นวัตถุดิบ
ที่สำคัญชนิดหนึ่งในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมกระดาษและ
เยื่อกระดาษ ไม้ไผ่เป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตอย่างอัศจรรย์โดยเฉพาะ
อย่างยิ่งหน่อไผ่ บางชนิดมีการพุ่งตัวได้สูงถึง 90 - 120 ซม. ภายในเวลา 
24 ชั่วโมง นอกจากนั้นไม้ไผ่ยังเป็นพืชที่ค่อนข้างจะลึกลับ กล่าวคือ
ไม่มีใครสามารถคาดคะเนอายุหรือเวลาในการออกดอกของไม้ไผ่ในป่า
ธรรมชาติได้อย่าง ถูกต้อง
     มนุษย์รู้จักไม้ไผ่และการใช้ประโยชน์จากไม้ไผ่เป็นอย่างดี ในขณะ  
ยังขาดมาตรการในการอนุรักษ์ อีกทั้งการศึกษาค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับธรรมชาติของไม้ไผ่ และการจัดการ
ทรัพยากรไม้ไผ่ยังเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องกระทำต่อไปในอนาคต เพื่อตอบสนองความต้องการทั้งทางตรง
และทางอ้อมอย่างต่อเนื่องและถาวรสืบไป

     ลักษณะทั่วไป 
        ไม้ไผ่ เป็นพืชยืนต้น มีลำต้นกลมและกลวงตรงกลาง มีข้อกระจายอยู่ทั่วไปเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่ลำต้น เส้นใยของลำไม้ไผ่จะประสานกันแน่น มีความเหนียว และมีแรงหยุ่นตัว ทำให้สามารถโค้งงอหรือดัดได้ตามต้องการ เปลือกหรือผิวของลำไม้ไผ่จะแข็งและเรียบเป็นมัน โดยปราศจากการตกแต่ง ไม้ไผ่แต่ละชนิดมีลักษณะภายนอกแตกต่างกันไป บางชนิดมีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากชนิดอื่นอย่างชัดเจน แต่บางชนิดมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ทำให้เกิดอุปสรรค ในการจำแนกพันธุ์ นอกจากนี้ยังพบว่า ไม้ไผ่เป็นพืชที่สามารถตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม และผันแปรพันธุ์ได้ง่าย ไม้ไผ่ชนิดเดียวกันขึ้นอยู่ในที่ที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์ และปริมาณน้ำฝน แตกต่างกัน จะมีลักษณะแตกต่างกันไป การจำแนกพันธุ์ไม้ไผ่จึงต้องอาศัยลักษณะหลายประการประกอบกัน คือ 
1. เหง้า (rhizome) 
         เหง้า คือ ส่วนของลำไม้ไผ่ที่เจริญเติบโตอยู่ใต้ดิน ประกอบด้วยส่วนของข้อ (node) 
อัดกันแน่น จึงมีตาเหง้า (rhizome bud) จำนวนมาก การเกิดลำของไม้ไผ่ (culm) เริ่มต้นจากตาที่อยู่บริเวณเหง้า มีการพัฒนาเจริญเป็นหน่อ (shoot) และหน่อมีการยืดตัวเจริญเป็นลำในที่สุด โดยปกติแล้วสามารถแบ่งส่วนของเหง้าได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ติดกับโคนของลำ ซึ่งสามารถสังเกตเห็นตาเหง้าและรากฝอยได้ และส่วนที่อยู่ถัดลงไป ที่เรียกว่าคอเหง้า (rhizome neck) ซึ่งเป็นส่วนที่มีลักษณะเป็นข้อ ๆ แต่ไม่สามารถสังเกตเห็นตาเหง้าหรือรากฝอย
        การจำแนกไม้ไผ่โดยใช้การเรียงตัวของเหง้า สามารถจำแนกได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
        1. กลุ่มที่มีระบบเหง้าเป็นกอ (sympodial or pachymorph system) เป็นกลุ่มของไม้ไผ่ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบร้อยชื้น (tropical zone) ซึ่งเกือบทั้งหมดของไม้ไผ่ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยมีระบบเหง้าชนิดนี้
        2. กลุ่มที่มีระบบเหง้าเป็นแบบลำเดี่ยว (monopodial or leptomorph system) เป็นกลุ่มของไม้ไผ่ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบอบอุ่น (sub-tropical zone) สำหรับไม้ไผ่ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยไม่เคยมีหลักฐานว่ามีระบบรากเป็นแบบลำเดี่ยว
        3. กลุ่มที่มีระบบเหง้าแบบเป็นกอและลำเดี่ยวรวมกัน (metamorph I system) ไม้ไผ่ที่มีระบบเหง้าชนิดนี้ 
ถ้าดูอย่างผิวเผินแล้วจะเหมือนไม้ไผ่ชนิดที่มีระบบเหง้าแบบเป็นกอทุกประการ แต่เมื่อศึกษาให้ละเอียด
โดยการขุดเหง้าแล้ว จะพบว่า ลำไผ่จะมีการพัฒนาจากเหง้าของลำที่เกิดจากเหง้าเดี่ยวที่เจริญอยู่ใต้ดิน
        4. กลุ่มที่มีระบบเหง้าแบบเป็นกอ แต่ส่วนของคอเหง้ามีการเจริญและยืดตัวยาวไม้ไผ่ที่มีระบบเหง้าแบบนี้ มีหลักฐานพบในประเทศไทยอยู่เพียงชนิดเดียว คือ ไผ่ออลอ (Melocanna humilis) โดยสำรวจพบในบริเวณหน่วยปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติที่ 1 ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก ซึ่งเมื่อทำการขุดและศึกษาระบบเหง้า พบว่า ไผ่ชนิดนี้มีระบบเหง้าแบบเป็นกอ แต่เหง้าบางเหง้ามีการเจริญของคอเหง้ายาวกว่าปกติ บางเหง้ามีความยาวถึง 2.50 - 3.00 เมตร คอเหง้าที่ยืดตัวนี้จะเจริญขนานไปกับพื้นดินก่อนที่จะโผล่ขึ้นมาเป็นหน่อ จากนั้นจึงมีการเจริญและพัฒนาเป็นลำถัดไปเป็นกลุ่มใกล้ ๆ กันเหมือนกับไม้ไผ่ชนิดที่มีระบบเหง้าแบบเป็นกอทุกประการ
2. ใบ (leaf)
        ใบของไม้ไผ่ ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้
        - กาบใบ (leaf sheath) คือส่วนที่หุ้มก้านใบ
        - ครีบกาบใบ (leaf auricle) คือส่วนที่อยู่ด้านบนทั้ง 2 ข้างของกาบใบ เหมือนเป็นหัวไหล่
        - กระจัง (leaf ligule) คือตอนปลายของกาบใบตรงที่ต่อกับใบยอดกาบ
        - ใบยอดกาบ (leaf blade) คือใบไม้ไผ่ที่พบเห็นนั่นเอง ใบยอดกาบเป็นส่วนที่ต่อจากตัวกาบใบ
ไม่มีก้านใบ และมีรอยต่ออยู่กับกาบเสมอมิได้เชื่อมเป็นแผ่นเดียวตลอด มีลักษณะแตกต่างกันไป
ในแต่ละชนิดไผ่ เช่น บางชนิดมีลักษณะของฐานใบยอด กาบกลม บางชนิดมีฐานเรียว
        - รอยก้านใบ (leaf scar) คือบริเวณที่ก้านใบติดกับส่วนยอดของกาบใบ
        ลักษณะของใบที่ใช้สังเกต คือ รูปร่างของใบ, ขนาดของใบ, ลักษณะของกระจังและครีบกาบใบ
รวมถึงลักษณะการเรียงตัวของใบ การจำแนกไม้ไผ่โดยใช้ใบเป็นเกณฑ์ ค่อนข้าง สับสน เนื่องจาก
ใบของไม้ไผ่มีความแตกต่างกันมาก แม้ภายในต้นเดียวกัน การจำแนกไม้ไผ่ โดยใช้ใบเป็นเกณฑ์ไม่จึงเป็น
ที่นิยมมากนัก อย่างไรก็ตามสามารถใช้ขนาดของใบเป็นหลักเกณฑ์ในการแยกสกุลของไม้ไผ่เป็นเบื้องต้นได้
เช่นไม้ไผ่ในสกุล Cephalostachyum, Dendrocalamus และ Gigantochloa มีใบขนาดใหญ่ในขณะที่ไม้ไผ่
ในสกุล Arundinaria, Bambusa และThyrsostachys มีใบขนาดเล็ก
3. กาบหุ้มลำ (culm sheath)
        กาบหุ้มลำ คือส่วนที่หุ้มอยู่รอบลำ สำหรับป้องกันลำเมื่อยังอ่อนอยู่ กาบหุ้มลำมักจะหลุดร่วงไป เมื่อลำ
เจริญเติบโตเต็มที่ มีไม้ไผ่เพียงบางชนิดเท่านั้นที่กาบหุ้มลำไม่หลุดร่วง เช่น ไผ่รวก (Thyrsostachys siamensis)
และไผ่รวกดำ (T. oliveri) กาบหุ้มลำมีส่วนประกอบที่คล้ายใบไผ่ คือมีส่วนที่เป็นกาบ (sheath), ครีบกาบ (auricle),
กระจัง (auricle) และใบยอดกาบ (sheath blade) 
        - กาบ คือส่วนที่หุ้มรอบลำ อาจมีสภาพหนา แข็ง กรอบ หรืออ่อนบาง มีขนคายหรือเกลี้ยงไม่มีขน 
สั้นหรือยาว กาบหุ้มลำเปรียบเหมือนกับกาบใบ หากแต่มีขนาดใหญ่กว่าและมีลักษณะรายละเอียดเด่นชัดแตกต่าง
ไปตามชนิดของไม้ไผ่
        - ครีบกาบ เป็นลักษณะเด่นชนิดหนึ่งที่ใช้แยกชนิดของไม้ไผ่ เนื่องจากมีความแตกต่างกันไปในไม้ไผ่แต่ละชนิด ไม้ไผ่บางชนิดมีครีบกาบเป็นแผ่น บางชนิดมีครีบกาบเป็นขนแข็ง ๆ
        - กระจัง กระจังของกาบหุ้มลำสามารถใช้แยกชนิดไม้ไผ่ได้ดีกว่ากระจังของใบ เนื่องจากมีขนาดใหญ่กว่า 
ไม้ไผ่บางชนิด เช่น ไผ่ไร่ (Gigantochloa albociliata) มีกระจังเป็นแผ่นรูปตัวยูเด่นชัด 
        - ใบยอดกาบ อาจติดอยู่กับกาบหุ้มลำตลอดเวลา หรือหลุดร่วงไปก่อนตัวกาบ
4. การแตกกิ่ง (branching)
        ไม้ไผ่บางชนิดมีการแตกกิ่งตั้งแต่โคนของลำจนถึงยอด บางชนิดแตกกิ่งเฉพาะบริเวณส่วนยอดของลำ
และยังพบว่าไม้ไผ่แต่ละชนิดมีลักษณะการแตกกิ่งแขนงแตกต่างกัน ไม้ไผ่บางชนิดมีการแตกกิ่งขนาดเล็กเท่า ๆ กัน
จำนวนมาก เช่น ไผ่ข้าวหลาม (Cephaostachyum pergracile) บางชนิดแตกกิ่งแขนงแบบมีกิ่งหลักและกิ่งรอง คือมีกิ่งขนาดใหญ่ 1 กิ่งเป็นกิ่งหลัก และมีกิ่งขนาดเล็ก 1 หรือ 2 กิ่งเป็นกิ่งรอง เกิดอยู่ข้าง ๆ กิ่งหลัก เช่น ไผ่ตง (Dendrocalamus asper) หรือไม้ไผ่บางชนิดมีการแตกกิ่งขนาดใหญ่เพียงกิ่งเดียว เช่น ไผ่ไร่ (Gigantochloa albociliata) เป็นต้น
5. ความสั้น-ยาวของปล้อง
        ไม้ไผ่แต่ละชนิดมีความยาวของปล้องไม่เท่ากัน บางชนิดมีความยาวของปล้องเป็นลักษณะเด่น
เนื่องจากมีปล้องยาวมาก เช่น ไผ่นวล (ชลบุรี) หรือไผ่ปล้องยาว (ปราจีนบุรี) หรือไผ่ชี้ (จันทบุรี) (ยังไม่ทราบชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง) ซึ่งปกติมีความยาวของปล้องเฉลี่ยประมาณ 100 - 120 เซนติเมตร ในขณะที่ไผ่ชนิดอื่นมีปล้องยาวประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร
6. ขนาดความโตของลำ 
        ทำให้สามารถจำแนกไม้ไผ่ได้อย่างคร่าว ๆ ว่าเป็นไผ่ขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ โดยทั่วไป
ลำของไม้ไผ่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 0.50-30.00 ซม. ไผ่ขนาดเล็กที่พบในประเทศไทย คือ ไผ่เพ็ก หรือ
หญ้าเพ็ก (Arundinaria pusilla) ส่วนไผ่ขนาดใหญ่ ได้แก่ ไผ่หก (Dendrocalamus hamiltonii)
7. ลักษณะของตาข้าง (bud) 
        และขนรอบข้อ หรือลักษณะเด่นอื่น ๆ บริเวณข้อ เช่น มีแถบสีขาวคาดบริเวณรอบ ๆ ข้อซึ่งพบใน
ไผ่บงเล็ก (Bambusa nutans)
8. สีของลำต้น 
         มีความเด่นชัดในไผ่บางชนิด เช่น ไผ่เหลือง (Bambusa vulgaris) มีลำเป็นสีเหลือง หรือเป็นแถบ
สีเขียวสลับเหลือง
9. ลักษณะความนวลของลำต้น 
         ไผ่บางชนิดมีผลสีขาวคล้ายแป้งติดอยู่ตลอดลำต้น โดยเฉพาะลำที่มีอายุ 1 - 2 ปี ทำให้ลำต้นมีสีนวล
เช่น ไผ่ชางนวล (Dendrocalamus membranaceus). ไผ่ซางหม่น (D. sericeus)
10. หน่อ (shoot)
         หน่อของไม้ไผ่เป็นส่วนที่แสดงลักษณะของกาบลำ (sheath) ที่ซ้อนทับกันเป็นชั้น ๆ ได้อย่างสมบูรณ์
และชัดเจน ทำให้หน่อของไม้ไผ่แต่ละชนิดมีรูปร่าง, ลักษณะภายนอกและสี แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด 
11. ช่อดอก, ดอก และเมล็ด (Inflorescence, flower and fruit) 
        การออกดอกของไม้ไผ่ หรือที่เรียกกันว่า ไผ่ตายขุย เป็นที่รู้จักและพบเห็นกันมาแต่โบราณ
แต่การคาดคะเนอายุของไผ่แต่ละชนิดที่จะออกดอกยังเป็นเรื่องที่ลึกลับอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยทั่ว ๆ ไปแล้วไม้ไผ่มีวงจรชีวิตที่ค่อนข้างยาวนาน แต่ไม่มีใครสามารถคาดคะเนกำหนดเวลา ในการออกดอกของไม้ไผ่ในป่าธรรมชาติได้อย่างถูกต้อง การออกดอกของไม้ไผ่เป็นลักษณะเด่นประจำพันธุ์ ซึ่งน่าสนใจกว่าการออกดอกของพืชชนิดอื่น ๆ เนื่องจากการออกดอกของไม้ไผ่ เป็นการพัฒนาขั้นสุดท้ายของไม้ไผ่ที่นำไปสู่การผลิตเมล็ด (fruiting) ก่อนที่ไม้ไผ่ต้นนั้นจะตาย และเชื่อกันว่าไม้ไผ่มีการบันทึกอายุทางสรีระ (physiologocal age) ผ่านทางท่อนพันธุ์ เมื่อทำการปลูกไม้ไผ่โดยใช้เหง้าหรือกิ่งปักชำ เหง้าและกิ่งปักชำเหล่านั้นจะออกดอกในระยะเวลาเดียวกับต้นแม่ การเริ่มต้นอายุรอบใหม่จึงต้องเริ่มโดยทำการปลูกจากเมล็ดเท่านั้น
        ไม้ไผ่ในประเทศไทยมีการออกดอกกระจัดกระจายในภูมิภาคต่าง ๆ ทุกปี โดยเฉพาะ
อย่างยิ่งในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนในภาคใต้ไม่พบการออกดอกของไม้ไผ่บ่อยนัก
ไม้ไผ่มีช่วงระยะเวลาของการออกดอกและผลิตเมล็ด ประมาณ 5 - 6 เดือน โดยตาดอกมีการพัฒนาเร็วที่สุดในเดือน
ตุลาคม หรือบางภูมิภาคเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนหรือเดือนธันวาคม จนกระทั่งเมล็ดแก่เต็มที่
ในเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนเมษายนของปีถัดไป ซึ่งเป็น ที่น่าสังเกตว่าไม้ไผ่ที่ขึ้นอยู่ในภาคเหนือและภาค
ตะวันออกเฉียงเหนือ มีการออกดอกเร็วกว่าไม้ไผ่ ที่ขึ้นอยู่ในภาคกลาง
        ดอกไม้ไผ่มีลักษณะเป็นช่อ ซึ่งไม้ไผ่แต่ละชนิดมีการพัฒนาลักษณะของช่อดอกแตกต่าง
กันออกไป ลักษณะของช่อดอกจึงใช้เป็นลักษณะในการจำแนกชนิดของไม้ไผ่ได้เป็นอย่างดี โดย ทั่วไปแล้วช่อดอกหนึ่ง ๆ จะมีกลุ่มดอก (spikelet) หลายกลุ่ม กลุ่มดอกหนึ่งมีดอกดอกเดียวหรือหลายดอก ที่โคนสุดของกลุ่มดอกมีกลีบ (glume) เรียกว่า กลีบหุ้มกลุ่มดอก ปกติมี 2 กลีบ ดอกแต่ละดอกจะมีก้านดอก (rachilla) สั้น ๆ และมีกลีบหุ้มดอก (lemma) ขนาดใหญ่สามารถหุ้มส่วนต่าง ๆ ของดอกได้โดยรอบกลีบรอง (palea) มีจำนวน 2 กลีบ กลีบดอก (ladicule) ส่วนมากมีจำนวน 3 กลีบหรือบางทีมีเพียง 2 กลีบเท่านั้น เกสรตัวผู้ (stamen) มีจำนวน 3 หรือ 6 อัน ก้านเกสรเชื่อมติดกันหรือแยกกันอยู่ ตรงยอดอับเรณู (anther) มักพองโตหรือมีขน เกสรตัวเมีย (pistil) มักมีขนปกคลุม และตอนปลายเป็นที่ตั้งของตุ่มเกสร (stigma) 
        การออกดอกของไม้ไผ่สามารถแยกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้
        1. การออกดอกเป็นกลุ่ม (gregarious flowering) เป็นการออกดอกของไม้ไผ่แต่ละชนิด ที่ออกดอก
ครอบคลุมพืชที่กว้าง ๆ ในเวลาเดียวกัน
        2. การออกดอกประปราย (sporadic flowering) เป็นการออกดอกของไม้ไผ่แต่ละชนิด ที่ออกดอก
กระจัดกระจายในพื้นที่ อาจจะออกดอกเป็นกอหรือเป็นกลุ่มจำนวนน้อย และ มักออกดอกในเวลาที่แตกต่างกัน 
        นอกจากนี้ ไม้ไผ่แต่ละชนิดยังมีลักษณะของการออกดอกที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสามารถจำแนก
ได้ 3 ลักษณะ คือ
        ก. การออกดอกทั้งกอ (clump flowering) คือ ลักษณะที่ไม้ไผ่ทุกลำออกดอกพร้อมกันในเวลาเดียวกัน 
ไม้ไผ่ในประเทศไทยที่มีการออกดอกในลักษณะนี้ ได้แก่
        1. ไผ่ป่า (Bambusa arundinacea)
        2. ไผ่เลี้ยง (B. nana)
        3. ไผ่บงบ้าน (B. nutans)
        4. ไผ่ข้าวหลาม (Cephalostachyum pergracile)
        5. ไผ่เฮี้ยะ (C. virgatum)
        6. ไผ่บงใหญ่ (Dendrocalamus brandisii)
        7. ไผ่หก (D. hamiltonii)
        8. ไผ่ซางนวล (D. membranaceus)
        9. ไผ่ซางดอย (D. strictus)
        10. ไผ่ไร่ (Gigantochloa albociliata)
        11. ไผ่ผาก (G. hasskarliana)
        12. ไผ่รวก (Thyrsostachys siamensis)
        ข. การออกดอกเป็นลำ (culm flowering) คือ ลักษณะที่ไม้ไผ่มีการออกดอกทีละลำหรือมากกว่า 
แล้วจึงทะยอยออกดอกจนกระทั่งหมดทุกลำ ปกติใช้ระยะเวลาในการออกดอก ตั้งแต่ลำแรกจนถึงลำสุดท้าย
มากกว่า 1 ปี แล้วไม้ไผ่กอนั้นก็จะตายในที่สุด ไม้ไผ่ในประเทศไทยซึ่งในบางปีมีการออกดอกในลักษณะนี้ 
ได้แก่ ไผ่ตง (Dendrocalamus asper)
        ค. การออกดอกอย่างต่อเนื่อง (continuous flowering) โดยธรรมชาติเมื่อไม้ไผ่เจริญและพัฒนา
จนถึงขั้นการออกดอกแล้วก็จะตายในที่สุด แต่มีไม้ไผ่บางชนิดที่สามารถเจริญ เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดย
ในแต่ละปีมีเพียงหนึ่งหรือสองลำภายในกอเท่านั้นที่ออกดอก ส่วนลำอื่น ๆ ในกอเดียวกันยังสามารถ
เจริญและแตกหน่อต่อไปได้ตามปกติ ไม้ไผ่ที่พบว่ามีลักษณะการออกดอกแบบนี้ ได้แก่ ไผ่ทอง 
(Schizostachyum brachycladum) ซึ่งเป็นไม้ไผ่ที่นำเข้าจากต่างประเทศ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับในบ้านเรา
แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่านำมาจากประเทศอะไร และเมื่อไร
        เมล็ดของไม้ไผ่ซึ่งที่จริง คือ ผล (fruit) แต่ด้วยลักษณะของเมล็ดที่คล้ายกับเมล็ดข้าวหรือผลของข้าว
จึงนิยมเรียกว่า เมล็ด ความสามารถในการผลิตเมล็ดของไม้ไผ่แต่ละชนิดจะขึ้นอยู่กับประเภท และลักษณะ
ของการออกดอกของไม้ไผ่ ไม้ไผ่ที่ออกดอกประเภทเป็นกลุ่มใหญ่ และ มีลักษณะการออกดอกเป็นกอพร้อม ๆ กัน
หรือเวลาที่ไล่เรี่ยกัน จะผลิตเมล็ดที่มีคุณภาพดีกว่า ไม้ไผ่ที่ออกดอกในลักษณะอื่น ๆ (อนันต์, 2534) ซึ่งเป็นผล
ทำให้สามารถเก็บเมล็ดได้ครั้งละจำนวนมาก ๆ เช่น ไผ่รวก และไผ่ซาง เป็นต้น ไม้ไผ่ที่ออกดอกประเภทประปราย และมีลักษณะ การออกดอกเป็นลำ จะผลิตเมล็ดจำนวนน้อย เช่น ไผ่ตง และมีไม้ไผ่บางชนิดที่ออกดอกแล้ว ไม่สามารถผลิตเมล็ดได้ เช่น ไผ่เลี้ยง เมล็ดของไม้ไผ่แต่ละชนิดมีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันไป ไม้ไผ่บางชนิด
มีเมล็ดขนาดเท่าผลส้มเขียวหวาน เช่น ไม้ไผ่ในสกุล Melocanna แต่โดยทั่วไปแล้ว จะมีขนาดใกล้เคียงกับ
เมล็ดข้าว และเป็นที่น่าสังเกตว่าไม้ไผ่ที่มีลำขนาดใหญ่หรือค่อนข้างใหญ่ เช่น ไผ่ตง, ไผ่หก, ไผ่เฮี้ยะ, ไผ่ป่า
จะมีขนาดของเมล็ดเล็กกว่าไม้ไผ่ที่มีลำขนาดเล็กกว่า เช่น ไผ่รวก, ไผ่ไร่ ไม้ไผ่ประเทศไทยที่มีการพัฒนา
และเจริญเติบโตถึงขั้นของการออกดอกและผลิตเมล็ดสม่ำเสมอทุก ๆ ปี ได้แก่ ไผ่ป่า, ไผ่ซาง, ไผ่รวก, ไผ่ไร
่ และไผ่ผาก ซึ่งสามารถทำการเก็บเมล็ดได้ในราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนของทุกปี 







คลิกดูรายละเอียดที่


โดย:
งาน: งานห้องสมุด
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: http://www.rits.ac.th/service/office/art/pai.html

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 31

อ่าน 0 ครั้ง