[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ชาติไทยในอดีต

      ชาติไทยในอดีต เป็นชนชาติที่ก่อตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง มาตั้งแต่พุทธศักราช 1600 นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคนไทยมีความผูกพันธ์กับสายน้ำมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ โดยพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมาย เช่น มีการค้นพบภาพเขียนสีแดงบนผนังคูหาเล็กๆของ ถ้ำนาค ใน อ่าวพังงา แสดงรูปขบวนเรือและปลา ลักษณะเรือเป็นแบบเรือหัวและท้ายโค้งขึ้น ไม่มีใบ สันนิษฐานว่า เป็นผลงานของกลุ่มคนประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า ชาวน้ำ รุ่นเก่าที่เร่ร่อนอยู่ใน น่านน้ำแถบนี้ 
ความสำคัญของ ''เรือ” ปรากฏชัดในราวพุทธศตวรรษที่ 16 เมื่อจีนขยายขอบเขตการค้าทางทะเลเข้ามายังดินแดนเอเชียอาคเนย์ ทำให้เกิดเมืองท่าทางทะเล เช่น ในกลุ่มลุ่มน้ำปิงตอนบนที่หิริภุญชัย ( ลำพูน) นอกจากนี้ยังพบจิตกรรมโบราณตามวัดต่างๆของไทยมักปรากฏภาพวาดเรือในรูปแบบต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ นอกเหนือจากนี้ยังได้มีการขุดพบซากเรือสำเภาจมอยู่ในอ่าวไทย มีอายุอยู่ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ย้อนลงไปถึงพุทธศตวรรษที่ 19 
จึงนับได้ว่า “เรือ” มีความผูกพันธ์กับคนไทยนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 
     ประเภทของเรือ 
    เรือไทยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 
1. เรือขุด 
เรือพายม้า เรือเผ่นม้า เรือแพม้า และเรือพะม้า 
ในหนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 อธิบายคำว่า “พายม้า” ไว้ว่า “ ชื่อเรือขุดเสริมกราบขนาดใหญ่ ข้างกราบมีราโท ท้ายเรือมีขยาบสำหรับพักอาศัย มีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก มีแจวเดียว หรือสองแจว หัวท้ายงอน ใช้บรรทุกสินค้าและใช้งานอื่นๆบางทีอาจใช้คำว่าไพม้า หรือพายม้าก็ได้” 
ลักษณะของ “เรือพายม้า” มีขนาดเล็กเป็นเรือขุดทั้งลำ ทางหัวจะยาวและต่ำกว่าท้ายเล็กน้อย เสริมกราบเรือด้วยไม้กว้าง 4 – 5 นิ้ว เพียงแผ่นเดียว สำหรับเรือพายม้าขนาดใหญ่ ท้ายเรือจะมีขยาบ (ประทุม) สำหรับพักอาศัย และใช้แจวเท่านั้นซึ่งสมเด็จกรมพระยานิวัติวงศ์ทรงนิพนธ์ว่า เรือขุดขนาดเล็กแบบนี้มีรูปร่างเหมือนกับเรือที่พบเห็นในเมืองพม่าจึงทรงสันนิษฐานว่า เรือพายม้าคงได้รับแบบอย่างมาจากพม่า และชื่อเรียกว่า “เรือพายม้า” คงเพี้ยนมาจากเรือพม่า ใช้ประโยชน์ในการบรรทุกสินค้าทางการเกษตร 
เรือมาด 
ขุดด้วยไม้เนื้อแข็ง หัวและท้ายรี ติดหลักหลวม สำหรับสวมแจว สามารถทำประทุนและปูพื้น เพื่อใช้อยู่อาศัยแทนบ้านเรือนได้ เรือมาด นิยมแจวมากกว่าพาย เพราะค่อนข้างมีน้ำหนัก 
เรือชะล่า หรือเรือมอ หรือเรือเป็ด 
เป็นเรือขุดที่นิยมบรรทุกสินค้าไปขาย หรือทำที่อยู่อาศัย ลำขนาดเล็กมีความยาวไม่ต่ำกว่า 4 เมตร เรือชนิดนี้นิยมเบิกปากเรือให้กว้างออก แล้วเสริมกาบต่อขึ้นไปอีก ทางท้ายเรือมีหลักสำหรับติดกับแจว 
เรือสำปันนี 
เป็นเรือขุดที่คล้ายเรือชะล่า แต่แบนตื้นและมีปากเรือกว้างกว่า ส่วนหัวและท้ายแบนโต มีน้ำหนักมากต้องใช้วิธีแจวหรือถ่อเท่านั้น ใช้สำหรับบรรทุกสินค้า 
เรืออีโปง 
เป็นเรือขุดที่มีลักษณะพิเศษมากกว่าชนิดอื่นๆ เพราะทำด้วยโคนต้นตาล นำมาผ่าซีกแล้วใช้ไฟสุมไส้ จนเหลือแต่เปลือกนอก จากนั้นจึงเลื่อยไม้กระดานมาปิดท้าย ยาด้วยชันไม่ให้น้ำรั่วซึม เรือชนิดนี้ เป็นเรือที่ชาวบ้านใช้ทำขึ้นเพื่อใช้งานง่าย พายในที่น้ำตื้น หรือติดต่อไปมาระหว่างบ้านเรือนใกล้เคียง 
เรือผีหลอก 
เป็นเรือขุดอีกประเภทหนึ่ง รูปร่างคล้ายเรือสำปันนี แต่มีแผ่นกระดานทาสีขาวติดอยู่ที่ข้างเรือด้านหนึ่ง เวลาเรือแล่นไปข้างที่ติดแผ่นกระดานจะเอียงลาดแประน้ำเล็กน้อย ใช้สำหรับหาปลาเวลากลางคืน เพราะเวลากระดานทาสีขาว ท่ามกลางความมืดของกลางคืน จะทำให้ปลาตกใจ โดดขึ้นมาตกลงกลางท้องเรือ 
เรือแม่ปะ หรือเรือหางแมลงป่อง 
เป็นเรือขุดขนาดใหญ่ ใช้สำหรับเดินทางไปไหนไกลๆ หรือใช้บรรทุก สินค้า ขึ้นล่องระหว่างจังหวัด มีลักษณะพิเศษ โดยต่อโขนเรือให้งอนสูงขึ้นไปข้างบนทั้งด้านหัวและท้าย ส่วนใหญ่ติดประทุนค่อนไปทางท้ายเรือ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย 
เรือเสือ 
เป็นเรือขุดที่ค่อยข้างยาว แต่โบราณใช้เรือเสือสำหรับการรบ หรือเรือขับไล่ในการทำสงคราม เรือเสือสามารถบรรจุฝีพายได้หลายคน เพราะฉะนั้นจึงทำให้เคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว เรือเสือสามารถติดตั้งปืนใหญ่ขนาดย่อม ทำหน้าที่เป็นเรือปืนได้ด้วย 
2. เรือต่อ 
เรือสำปั้น 
เป็นเรือที่เพิ่งมีในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ประมาณสมัยรัชกาลที่ 2 เรือต่อลำแรกมีชื่อว่า “ เรือสำปั้นจีน” เป็นเรือที่ทรงโปรดให้ต่อขึ้นเพื่อให้เจ้านายฝ่ายใน ได้พายเล่นในสวนชวา เรือต่อลำนี้ทำด้วยไม้ฉำเฉา ที่สั่งมาจากเมืองจีน ลักษณะเรือคล้ายเรือสำเภา คือมีหัวเรือและท้ายเรืองอนขึ้นข้างบน ประกอบด้วยแผ่นกระดาน นำมาต่อกันแล้วยาด้วยชัน เพื่อมิให้น้ำรั่วเข้าไปในเรือ 
ต่อมาพระยาสุรวงศ์มนตรี เห็นว่ารูปร่างของเรือสำปั้นจีนไม่งดงามและไม่น่าดู จึงนำไม้ฉำฉามาดัดแปลง โดยขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น และมีรูปร่างคล้ายเรือมาด มีขนาดยาวประมาณ 7 – 8 ศอก เรือชนิดนี้แต่เดิมมีไว้ใช้ในการราชการ และเรียกว่า “เรือสำปั้น” ตลอดมา 
เรือสำปั้นเก๋งพั้ง บางครั้งเรียกว่าเรือเก๋งพั้ง 
เป็นเรือสำปั้นขนาดใหญ่ที่มีเก๋งกลางลำเรือ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และวรรณคดี กล่าวถึงชื่อเรือชนิดนี้ไว้หลายแห่ง ได้แก่ 
เมื่อ พ.ศ. 2393 (ในสมัยรัชกาลที่ 3) เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศของประเทศอังกฤษได้มอบหมายให้เซอร์เจมส์ บรุคเจรจาขอแก้สัญญาเดิมที่ทำขึ้นไว้กับราชสำนักไทย ทางราชการได้จัดเรือสำปั้นเก๋งพั้งปิดทองยาว 111 วา ไปรับจากสมุทรปราการมายังกรุงเทพฯ 
เรือสำปั้นเก๋งพั้งเป็นเรือแจวอย่างญวน ตั้งเก๋งประทุนค่อนไปทางท้ายเรือ หัวเรือเล็ก ส่วนท้ายกว้าง เรือชนิดนี้พระวรวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ซึ่งเสด็จไปทัพเขมรและญวน เมื่อ พ.ศ. 2385 จำแบบอย่างขึ้นมาสร้างขึ้นในประเทศไทย 





ดูข้อมูลเพิ่ม


โดย:
งาน: งานห้องสมุด
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ราชาวดี งามสง่า. (2536).เรือไทยสมัยโบราณ. กรุงเทพฯ : แสงศิลป์การพิมพ์.

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง