[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

พระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร

กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของราชอาณาจักรไทยที่มีความหมายเป็นนครแห่งทวยเทพ มีหัวในอยู่ที่เกราะกรุงรัตนโกสินทร์ อันเป็นพื้นที่แรกสร้างพระนคร นับเป็นพื้นที่ที่สั่งสมมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยไว้ให้เราชนรุ่นหลังได้เห็นได้เรียนรู้ได้รับรู้บังเกิดความภาคภูมิใจและนำความรู้ทั้งปวงมาปฏิบัติตาม ประกอบอาชีพกันด้วยสัมมาอาชีวะจนถึงทุกวันนี้ 
วัดโพธิ์ หรือนามทางราชการเรียกว่า วัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดโพธารามวัดเก่าที่เมืองบางกอกครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นวัดหลวงข้างพระบรมมหาราชวัง และที่ใต้พระแท่นประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากรพระประธานในพระอุโบสถเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ด้วย 
พระอารามหลวงแห่งนี้มีเนื้อที่ ๕๐ ไร่ ๓๘ ตารางวาอยู่ด้านทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง ทิศเหนือจดถนนท้ายวัง ทิศตะวันออกจดถนนสนามไชย ทิศใต้จดถนนเศรษฐการ ทิศตะวันตกจดถนนมหาราช มีถนนเชตุพน ขนาบด้วยกำแพงสูงสีขาวแบ่งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสชัดเจน มีหลักฐานปรากฎในศิลาจารึกไว้ว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาพระบรมมหาราชวังแล้ว ทรงพระราชดำริว่า มีวัดเก่าขนาบพระบรมมหาราชวัง ๒ วัด ด้านเหนือ คือ วัดสลัก ( วัดมหาธาตุฯ) ด้านใต้ คือวัดโพธาราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางเจ้าทรงกรม ช่างสิบหมู่อำนวยการบูรณะปฎิสังขรณ์ เริ่มเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๑ ใช้เวลา ๗ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน จึงแล้วเสร็จ และโปรดฯ ให้มีการฉลองเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๔ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม 
ครั้นรัชสมัยพระบาทสมด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฎิสังขรณ์ครั้งใหญ่ นานถึง ๑๖ ปี ๗ เดือน ขยายเขตพระอารามด้านใต้และตะวันตกคือ ส่วนที่เป็นพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ สวนมิสกวัน สถาปนาขึ้นใหม่ พระมณฑป ศาลาการเปรียญ และสระจระเข้ บูรณะปฎิสังขรณ์ใหม่เป็นโบราณสถานในพระอารามหลวงที่ปรากฎอยู่ทุกวันนี้ แม้การบูรณะ ปฎิสังขรณ์ครั้งล่าสุดเมื่อฉลองพระนคร ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นเพียงการซ่อมสร้างของเก่าให้ดีขึ้น มิได้สร้างเสริมสิ่งใดๆ 
เกร็ดประวัติศาสตร์ของการสถาปนา และการบูรณะปฎิสังขรณ์วัดโพธิ์แห่งนี้ บันทึกไว้ว่า รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๓ ขุนนาง เจ้าทรงกลม ช่างสิบหมู่ ได้ระดมช่างในราชสำนัก ช่างวังหลวง ช่างวังหน้า และช่างพระสงฆ์ที่อยู่ในวัดต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญงานศิลปกรรมสาขาต่างๆ ได้ทุ่มเทผลงานสร้างสรรค์พระพุทธสถานและสรรพสิ่งที่ประดับอยู่ในพระอารามหลวงด้วยพลังศรัทธาตามพระราชประสงค์ของพระองค์ท่านที่ให้เป็นแหล่งรวมสรรพศิลป์ สรรพศาสตร์ เปรียบเป็นมหาวิทยาลัยแห่งสรรพวิชาไทย (มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรก) ที่รวมเอาภูมิปัญญาไทยไวเป็นมรกดกให้ลูกหลานไทยได้เรียนรู้กันอย่างไม่รู้จักจบสิ้น 
สถานที่น่าสนใจใน วัดโพธิ์ 
พระอุโบสถ ตามคติความเชื่อของพุทธศาสนิกชน เขตวิสุงคมสีมา หรือพระอุโบสถ เป็น พุทธศาสนสถานที่สำคัญที่สุด ถ้าวัดใดไม่มีอุโบสถ หรือมีอุโบสถแต่ยังไม่ได้ผูกพัทธสีมาจะเป็นวัดที่สมบูรณ์ยังไม่ได้ พระอุโบสถสร้างสมัยรัชกาลที่ ๑ ตามแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย และขยายใหญ่ขึ้นเท่าที่เห็นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซุ้มจรณัมประจำประตูหน้าต่างฉลัก ( สลัก ) ด้วยไม่แก่น ยอดเป็นทรง มงกุฏลงรักปิดทอง ประดับกระจก บานประตู ประอุโบสถ ด้านนอกลายประตับมุก เป็นลายภาพเรื่องรามเกียรติ์ ด้านในเขียนลายรดน้ำรูปพัดยศพระราชาคณะ พระครูสัญญาบัตร ฐานานุกรมเปรียญ ทั้งฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสีในกรุงและหัวเมือง พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ นามว่า พระพุทธเทวปฏิมากร ที่ฐานชุกชีก่อไว้ ๓ ชั้น ชั้นที่ ๑ บรรจุ พระบรมอัฐิและพระราชสรีรังคาร รัชกาลที่ ๑ ไว้ ชั้นที่ ๒ ประดิษฐานรูปพระอัครสาวกทั้งสององค์ ฐานชุกชีชั้นล่างสุดประดิษฐานพระมหาสาวก ๘ องค์ (พระอรหันต์ ๘ ทิศ) 
จิตรกรรมประดับผนังพระอุโบสถเหนือหน้าต่างขึ้นไปเขียนเรื่องโหสถบัณฑิต (มหาบัณฑิตแห่งมิถิลานคร) คอสอง ในประธานทั้งสอง ข้างเขียนเรื่องเมืองสวรค์ชั้นจาตุมหาราชผนังระหว่างประตูหน้าต่างเขียนเรื่องพระสาวกเอตทัคคะ ๔๑ องค์ 
พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล พระมหาเจดีย์ทั้งสี่องค์อยู่ในบริเวณกำแพงแก้วสีขาว ซุ้มประตูทางเจ้าเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์แบบจีน ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ เครื่องถ้วยหลากสี มีตุ๊กตาหินจีนประตูละคู่ พระมหาเจดีย์แต่ละองค์เป็นเจดีย์ย่อไม้สอบสองเพิ่มมุมสูง ๔๒ เมตรประดับกระเบื้องเคลือบและกระเบื้องเครื่องถ้วยลวดลายสีต่างๆ สังเกตได้ง่าย องค์ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียว นามว่า พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ เพื่อครอบพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ ของรัชกาลที่ ๑ พระมหาเจดีย์องค์ที่ 2 ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาว นามว่า พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทาน สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ บรรจุพระบรมธาตุของรัชกาลที่ ๒ พระมหาเจดีย์องค์ที่ 3 ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง นามว่า พระมหาเจดีย์มุนี บัตบริขาร สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ ภายในบรรจุพระบรมธาตุ ของรัชกาลที่ ๓ ส่วนพระเจดีย์องค์ ที่ 4 ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาวหรือน้ำเงินเข้ม เป็นพระมหาเจดีย์ที่รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างขึ้นตามแบบพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย นามว่า พระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย 
พระวิหารพระพุทธไสยาส เป็นพระวิหารที่สร้างเพื่อประดิษฐานพระพุทธไสยาส รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าในกรมหมื่นภูมินทรภักดี ทรงกำกับช่างสิบหมู่สร้างพระพุทธไสยาสขึ้นก่อน แล้วจึงสร้างพระวิหารภายหลังองค์พระพุทธไสยาสก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทองด้านพระพักตร์สูง ๑๕ เมตร ทอดพระองค์ยาว ๔๖ เมตร ที่พระบาทสูง ๓ เมตร ยาว ๕ เมตร พระบาทประดับมุกภาพมงคล ๑๐๘ ตรงกลางเป็นรูปกงจักรตามตำรามหาปุริสลักษณะ นับเป็นพระพุทธไสยาสที่งดงามที่สุดในประเทศไทย 
เขาฤาษีดัดตน คือสวนสุขภาพแห่งหนึ่งอยู่ใกล้กับพระวิหารทิศใต้ เป็นพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ ๑ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมการแพทย์แผนโบราณและศิลปวิทยาการครั้งกรุงศรีอยุธยาไว้ ทรงพระราชดำริเอาท่าดัดตนอันเป็นการพักผ่อนอิริยาบถ แก้ปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆของร่างกายประยุกต์รวมกับคติไทยที่ยกย่องฤาษีเป็นครูผู้ประสาทศิลปวิทยาการต่างๆ เป็นรูปปั้นฤษีดัดตนท่าต่างๆ เดิมมีทั้งหมด ๘๐ ท่า แต่ปัจจุบันคงเหลืออยู่ ๒๔ ท่า 







ดูข้อมูลเพิ่ม


โดย:
งาน: งานห้องสมุด
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: การท่องเทียวแห่งประเทศไทย

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง