[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ดนตรีไทย

        ซอสามสาย
ปรากฎหลักฐานจากจดหมายเหตุ ลาลูแบร์ (หน้า 30) ที่บันทึกไว้ว่า “….ชาวสยามมีเครื่องดุริยางค์เล็กๆ น่าเกลียดมาก มีสามสายเรียกว่า “ซอ” ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนนั้น มีซอสามสายและนิยมเล่นกัน และลักษณะรูปร่างของซอสามสายก็คงจะยังไม่สวยงามมากอย่างในปัจจุบันนี้ จนมาถึงยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 สืบเนื่องมาจากที่พระองค์ท่านมีอัจฉริยะในทางด้านศิลปะ
ต่างๆ เช่นทรงแกะสลักบานประตูพระวิหารวัดสุทัศน์เทพวรารามด้วย ฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองอีกประการหนึ่ง พระองค์ท่านยังโปรดทรงซอสามสายเป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้พระองค์ท่านได้ประดิษฐ์คิดสร้างซอสามสายได้ด้วยความประณีต งดงาม และเป็นแบบอย่างมาจนถึงปัจจุบันนี้
      ส่วนต่างๆของซอสามสายมีชื่อเรียกดังนี้

(1) ทวนบน เป็นส่วนบนสุดของคันซอ คว้านด้านในให้เป็นโพรงโดยตลอด ด้านบนสุดมีรูปร่างเป็นทรงเทริด ทวนบนนี้ เจาะรูด้าน
ข้างสำหรับใส่ลูกบิด 3 ลูก ด้านหน้าตรงปลายทวนตอนล่าง เจาะรูสำหรับร้อยสายซอ ที่สอดออกมาจากรัดอก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
อกซอ ทวนบนนี้ทำหน้าที่คล้ายๆกับท่ออากาศ (Air column) ให้เสียงที่เกิดจากกะโหลกเป็นความถี่ของเสียง แล้วลอดผ่านออกมา
ทางทวนบนนี้ได้

(2) ทวนล่าง คือส่วนของซอที่ต่อลงมาจากทวนบน ทำเป็นรูปทรงกระบอก และประดิษฐ์ลวดลายสวยงาม เช่นลงยาตะทอง ลงถมปัด
ประดับมุก หรืออย่างอื่น เป็นการเพิ่มความวิจิตรงดงาม และเรียกทวนล่างนี้ว่า ทวนเงิน ทวนทอง ทวนมุก ทวนลงยา เป็นต้น ทวนล่างนี้สวมยึดไว้กับทวนบน และเป็นที่สำหรับผูก “รัดอก” เพื่อบังคับให้สายซอทั้ง 3 เส้นติดอยู่กับทวน นอกจากนั้นทวนล่าง
ยังทำหน้าที่เป็นตำแหน่งสำหรับกดนิ้ว ลงบนสายในตำแหน่งต่างๆ

(3) พรมบน คือส่วนที่ต่อจากทวนล่างลงมา ส่วนบนกลึงเป็นลูกแก้ว ส่วนตอนล่างทำเป็นรูปปากช้างเพื่อประกบกับกะโหลกซอ

(4) พรมล่าง คือส่วนที่ต่อจากกะโหลกซอลงมาข้างล่าง ส่วนที่ประกบกับกะโหลกซอทำเป็นรูปปากช้าง เช่นเดียวกับส่วนล่างของ
พรมบน ตรงกลางของพรมล่างเจาะรูด้านบนเพื่อใช้สำหรับเป็นที่ร้อย”หนวดพราหมณ์” เพื่อคล้องกับสายซอทั้งสามสายและ
เหนี่ยวรั้งให้ตึง ตรงส่วนปลายสุดของพรมล่างกลึงเป็น “เกลียวเจดีย์” และตอนปลายสุดเลี่ยมด้วย ทองคำ หรือ ทองเหลืองเป็นยอด
แหลม เพื่อที่จะปักกับพื้นได้ สะดวกยิ่งขึ้น คันซอสามสายทั้ง 4 ท่อนนี้จะมีลักษณะกลวงตลอด ยกเว้นพรมล่างตอนที่เป็นเกลียวเจดีย์
เท่านั้นที่เป็นส่วนที่ตัน เพราะต้องการ ความแข็งแรง ในขณะปักสีเวลาบรรเลง และคันซอทั้ง 4 ท่อนนี้ จะสวมไว้กับแกนที่สอดไว้กับ
กะโหลกซอ

(5) ถ่วงหน้า ถ่วงหน้าของซอสามสาย เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ ติดอยู่ตรงหน้าซอ เพื่อควบคุมความถี่ของเสียง ทำให้มีเสียงนุ่มนวลไพเราะ
น่าฟังยิ่งขึ้น

(6) หย่อง ทำด้วยไม่ไผ่ แกะให้เป็นลักษณะคู้ ปลายทั้งสองของหย่องคว้านเป็นเบ้าขนมครกเพื่อทำให้เสียง ที่เกิดขึ้นส่งผ่านไปยังหน้าซอมีความกังวานมากยิ่งขึ้น

(7) คันสี (คันชัก) คันสีของซอสามสาย ประกอบด้วยไม้และหางม้า คันสีนั้นเหลาเป็นรูปคันศร โดยมากนิยมใช้ไม้แก้ว เพราะเป็น
ไม้เนื้อแข็ง และมีลวดลายงดงาม

        ซอด้วง

      เป็นซอสองสาย มีคันทวนยาวประมาณ 72 ซม คันชักยาวประมาณ 68 ซม ใช้ขนหางม้าประมาณ 120 – 150 เส้น กะโหลกของ
ซอด้วงนั้น แต่เดิมใช้กระบอกไม้ไผ่มาทำ ปากกระบอกของซอด้วงกว้างประมาณ 7 ซม ตัวกระบอกยาวประมาณ 13 ซม กะโหลก
ของซอด้วงนี้ ในปัจจุบันใช้ไม้จริง หรือ งาช้างทำก็ได้ แต่ที่นิยมว่าเสียงดีนั้น กะโหลกซอด้วงต้องทำด้วยไม้ลำเจียก ส่วนหน้าซอนิยม
ใช้หนัง งูเหลือมขึง เพราะทำให้เกิดเสียงแก้วเกิดความไพเราะอย่างยิ่ง ลักษณะขอซอด้วง มีรูปร่างเหมือนกับซอของจีนที่เรียกว่า
“ฮู – ฉิน “ (Huchin) ทุกอย่าง เหตุที่เรียกว่า ซอด้วง ก็เพราะมีรูปร่างคล้ายเครื่องดักสัตว์ 

         ซออู้

     เป็นซอสองสาย ตัวกะโหลกทำด้วยกะลามะพร้าว โดยตัดปาดกะลาออกเสียด้านหนึ่ง และใช้หนังลูกวัวขึงขึ้นหน้าซอ กว้างประมาณ 13 – 14 ซม เจาะกะโหลกให้ทะลุตรงกลาง เพื่อใส่คันทวนที่ทำด้วยไม้จริง ผ่านกะโหลกลงไป ออกทะลุรูตอนล่างใกล้กะโหลก คันทวนซออู้นี้ ยาวประมาณ 79 ซม ใช้สายซอสองสายผูกปลายทวนใต้กะโหลก แล้วพาดผ่านหน้าซอ ขึ้นไปผูกไว้กับลูกบิดสองอัน ลูกบิดซออู้นี้ยาวประมาณ 17 –18 ซม โดยเจาะรูคันทวนด้านบน แล้วสอดลูกบิดให้ทะลุผ่านคันทวนออกมา และใช้เชือกผูกรั้งกับทวนตรงกลางเป็นรัดอก เพื่อให้สายซอตึง และสำหรับเป็นที่กดสายใต้รัดอกเวลาสี ส่วนคันสีของซออู้นั้นทำด้วยไม้จริงยาวประมาณ 70 ซม ใช้ขนหางม้าประมาณ 160 - 200 เส้น ตรงหน้าซอใช้ผ้าม้วนกลมๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นหมอนหนุน   สายให้พ้นหน้าซอ ด้านหลังของกกะโหลกซอ แกะสลักเป็นรูปลวดลายสวยงาม และเป็นช่องทางให้เสียงออกด้านนี้ด้วย ซออู้มีรูปร่างคล้ายๆกับซอของจีนที่เรียกว่า ฮู – ฮู้ ( Hu-hu ) เหตุที่เรียกว่าซออู้ก็เพราะ เรียกตามเสียงที่ได้ยินนั่นเองซอด้วงและซออู้ ได้เข้ามามีบทบาทในวงดนตรีเครื่องสายตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 นี่เอง โดยได้ดัดแปลงมาจาก วงกลองแขกเครื่องใหญ่ ซึ่งมีเครื่องดนตรีที่ทำลำนำประกอบด้วย ซอด้วง ซออู้ จะเข้ ปละ ปี่อ้อ ต่อมาได้เอากลองแขก ปี่อ้อ อก และเอา ทับกับรำมะนาและขลุ่ยเข้ามาแทน เรียกวงดนตรีชนิดนี้ว่า วงมโหรีเครื่องสาย มีคนเล่นทั้งหมด 6 คน รวมทั้ง ฉิ่งด้วย 

        ระนาดเอก

     ระนาดเอกเป็นเครื่องตีชนิดหนึ่ง ที่วิวัฒนาการมาจากกรับ แต่เดิมคงใช้กรับสองอันตีเป็นจังหวะ ต่อมาก็เกิดความคิดว่า ถ้าเอากรับหลายๆอันวางเรียงราดลงไป แล้วแก้ไขประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน แล้วทำรางรองอุ้มเสียงและใช้เชือกร้อยไม้กรับขนาดต่างๆกันนั้นให้ติดกัน และขึงไว้บนรางใช้ไม้ตีให้เกิดเสียง นำตะกั่วผสมกับขี้ผึ้งมาถ่วงเสียงโดยนำมา ติดหัวท้ายของไม้กรับนั้น ให้เกิดเสียงไพเราะยิ่งขึ้น เรียกไม้กรับที่ประดิษฐ์เป็นขนาดต่างๆกันนั้นว่า “ลูกระนาด” เรียกลูกระนาดที่ผูกติดกันเป็นแผ่นเดียวกันว่า “ผืน” ลูกระนาดนี้ทำด้วยไม้ไผ่บง หรือไม้แก่น เช่นไม้ชิงชัน ไม้มะหาด ไม้พะยุงก็ได้ โดยนำมาเหลาให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ แล้วทำรางเพื่ออุ้มเสียงเป็นรูปคล้ายลำเรือ ให้หัวและท้ายโค้งขึ้น เรียกว่า รางระนาด แผ่นไม้ที่ปิดหัวท้ายรางระนาดเราเรียกว่า “โขน” ระนาดเอกในปัจจุบันมีจำนวน 21 ลูก ลูกต้นมีขนาด 39 ซม กว้างราว 5 ซม และหนา 1.5 ซม มีขนาดลดหลั่นลงไปจนถึงลูกที่ 21 หรือลูกยอดที่มีขนาด 29 ซม เมื่อนำผืนระนาด มาแขวนบนรางแล้ว หากวัดจากโขนหัวรางข้างหนึ่งไปยังโขนหัวรางอีกข้างหนึ่ง จะมีความยาวประมาณ 120 ซม มีเท้ารอง รางเป็นเท้าเดี่ยว รูปคล้ายกับพานแว่นฟ้า 
      วิธีฝึกตีระนาดเอกในปัจจุบัน 
      การฝึกหัดตีระนาดเอกในยุคปัจจุบัน ส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากวิธีการฝึกในสมัยโบราณมากนัก อาจจะมีความแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละสำนักดนตรี แต่โดยรวมแล้วจะมีความคล้ายคลึงกัน สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ จะมีระเบียบขั้นตอนวิธีการฝึกที่เป็นแบบแผนทางวิชาการสมัยใหม่มากขึ้น เพื่อสื่อความหมายให้ผู้เรียนได้เข้าใจถึงขั้นตอนการฝึกตีระนาดเอกอย่างชัดเจน ขั้นตอนและวิธีการฝึกตีระนาดเอกในปัจจุบันมีสาระสำคัญดังนี้ 
การนั่ง 
     การตีระนาดให้ไพเราะน่าฟังนั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญหลายประการ ประการแรกที่ผู้ฝึกควรเรียนรู้ก่อนคือ ''ท่านั่ง'' และ ''วิธีการจับไม้ระนาด'' ซึ่งจะมีผลต่อการบรรเลงระนาดเอกให้ไพเราะประทับใจผู้ฟังมากทีเดียว 

     ผู้ฝึกตีระนาดเอกสามารถนั่งตีระนาดได้สองวิธีคือ ''การนั่งพับเพียบ'' และ ''การนั่งขัดสมาธิ'' เวลาต่อเพลงกับครู ผู้เรียนควรจะต้องนั่งพับเพียบเพื่อเป็นการแสดงความเคารพที่มีต่อครู ส่วนเวลาฝึกซ้อมเพลงหรือบรรเลงให้ผู้ชมฟัง ควรนั่งขัดสมาธิเพื่อให้เกิดความสะดวกในการบรรเลง เนื่องจากการนั่งขัดสมาธิทำให้การทรงตัวของผู้บรรเลงมีความมั่นคง และเคลื่อนไหวช่วงแขนได้ถนัดมากขึ้น ช่วยให้การบรรเลงเป็นไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
      วิธีการนั่งขัดสมาธิในการตีระนาดเอกคือการนั่งให้ อกผาย ไหล่ผึ่ง หน้าตั้ง ตัวตรง และควรนั่งอยู่ตรงกึ่งกลางของรางระนาดโดยนั่งให้ตรงกับฐานหรือเท้าของระนาด ลักษณะการนั่ง ให้ใช้ปลายเท้าซ้ายสอดไว้ใต้เท้าขวาส่วนปลายเท้าขวายื่นเข้าไปใต้รางระนาดเอก และสามารถเปลี่ยนสลับเท้าในลักษณะเดียวกันได้
      ประโยชน์ของการนั่งขัดสมาธิ 
1. เป็นท่านั่งที่สบาย เพราะเป็นท่านั่งที่เป็นธรรมชาติ 
2. การนั่งขัดสมาธิทำให้ฐานการทรงตัวแน่นส่งเสริมพลังในการตีระนาด 
3. เมื่อเกิดปัญหาในการบรรเลงเช่น รางระนาดเคลื่อนหรือผืนกระเพื่อม ผู้ตีระนาดเอกสามารถใช้ปลายเท้าที่อยู่ใต้รางระนาดปรับรางให้นิ่ง เพราะขณะนั้นจะไม่สามารถใช้มือปรับรางระนาดในขณะที่กำลังบรรเลงได้ 
     วิธีจับไม้ระนาดเอก 
     การจับไม้ระนาดเอกที่ถูกวิธีมีส่วนช่วยทำให้การบรรเลงมีคุณภาพและเกิดความไพเราะ หลักการจับไม้ระนาดเอกที่ถูกต้องคือนิ้วทุกนิ้วจะต้องจับไม้ระนาดให้แน่นโดยมี ความยาวประมาณ 1 ในสามของก้านไม้ เมื่อเริ่มจับให้หงายฝ่ามือขึ้นให้ก้านไม้ระนาดวางพาดกระชับกับร่องกลางตรงข้อมือและเลยเข้าไปใต้แขนเล็กน้อย นิ้วชี้เหยียดหงายรองรับก้านไม้ระนาดไว้ นิ้วหัวแม่มือบีบกระชับด้านข้างของก้านไม้ นิ้วกลาง นิ้วนาง และ นิ้วก้อยรวบจับก้านไม้ระนาดไว้ให้แน่น 

     เมื่อจับก้านไม้ระนาดแน่นแล้ว ให้พลิกฝ่ามือและแขนคว่ำลงโดยไม่ต้องเกร็งกล้ามเนื้อ โดยให้ก้านไม้ระนาดยังคงอยู่ระหว่างตรงกลางร่องมือพอดี ข้อศอกและไหล่แนบกับลำตัวโดยให้แนวไม้ระนาดกับแขนของผู้บรรเลงเป็นแนวเส้นตรงเดียวกัน

     การจับไม้ระนาดเอกแบ่งออกเป็น 3 แบบคือ
1) การจับแบบ ''ปากกา'' คือการจับโดยให้ก้านไม้ระนาดแนบอยู่กลางร่องมือ ใช้นิ้วกลาง นิ้วนาง และ นิ้วก้อย รวบกำก้านไม้ระนาดให้นิ้วเรียงชิดติดกัน ส่วนนิ้วหัวแม่มือวางแนบขนานไปกับก้านไม้และปลายนิ้วชี้แตะอยู่บนก้านไม้ระนาดทำมุมประมาณ 45 องศา ประโยชน์ของการจับไม้ระนาดแบบปากกา ทำให้มีความคล่องตัวใช้กับการบรรเลงประเภทเพลงลูกล้อลูกขัด เพลงประเภทสองไม้ หรือลูกรัวในการบรรเลงเพลงเดี่ยว อีกทั้งมีความเหมาะสมสำหรับการฝึกหัดเบื้องต้นในลักษณะการตีฉากเพื่อฝึกหัดให้เสียงระนาดชัดเจนและดังสม่ำเสมอกัน 
2) การจับแบบ ''ปากไก่'' ลักษณะคล้ายการจับแบบปากกาแต่แตกต่างที่ตรงนิ้วชี้คือ การจับไม้แบบปากไก่นิ้วชี้จะตกลงจากด้านบนของก้านไม้ระนาดโดยอยู่ด้านตรงข้ามกับนิ้วหัวแม่มือ ก้านไม้ตีติดอยู่ด้านข้างตำแหน่งประมาณ กกเล็บหรือโคนเล็บ
ประโยชน์ของการจับไม้แบบปากไก่ทำให้เกิดเสียงที่มีความสง่างามมีความภูมิฐานและนุ่มนวล การจับไม้แบบปากไก่เหมาะสมที่จะนำไปใช้ในการบรรเลงเพลงพิธี 
..mpg/mpg30.mpg..mpg/mpg30.mpg
3) การจับแบบ ''ปากนกแก้ว'' ลักษณะคล้ายการจับแบบปากไก่แต่การจับแบบ ปากนกแก้วจะต้องให้ก้านไม้ระนาดติดอยู่ด้านข้างนิ้วชี้บริเวณเส้นข้อข้างบนของนิ้ว 
ประโยชน์ของการจับไม้แบบปากนกแก้วทำให้เสียงในการบรรเลงมีพลังอำ นาจกล่าวคือเสียงของระนาดเอกจะโตและลึก การจับแบบปากนกแก้วมีข้อเสียบาง ประการตรงที่ว่าเมื่อบรรเลงแล้วเสียงของระนาดจะไม่มีความไพเราะและกลมกล่อม เท่าที่ควร 

      เมื่อทราบถึงวิธีการจับไม้ระนาดแล้วแขนและข้อศอกควรปล่อยตามธรรมชาติ โดยยังเป็นเส้นตรงแนวเดียวกันกับก้านไม้ระนาดไม่ควรหนีบแขนและข้อศอกให้สนิท แนบลำตัวจนเกิดความเกร็งมากเกินไปเพราะกำลังจะหมดไปกับการหนีบแขนโดยไม่ ได้นำไปใช้ในการตีระนาด 
     การตีเสียงเกลือก คือลักษณะของเสียงที่ผู้บรรเลงไม่สามารถบังคับมือให้รักษาแนวการบรรเลงที่ดีได้ ทำให้เสียงที่บรรเลงไม่สม่ำเสมอ 

ระนาดทุ้ม

    เป็นเครื่องดนตรีที่สร้างขึ้นมาในรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการสร้างเลียนแบบระนาดเอก ใช้ไม้ชนิดเดียว
กันกับระนาดเอก ลูกระนาดทุ้มมีจำนวน 17 หรือ 18 ลูก ลูกต้นยาวประมาณ 42 ซม กว้าง 6 ซม และลดหลั่นลงมาจนถึงลูกยอด
ที่มีขนาดยาว 34 ซม กว้าง 5 ซม รางระนาดทุ้มนั้นประดิษฐ์ให้มีรูปร่างคล้ายหีบไม้ แต่เว้าตรงกลางให้โค้ง โขนปิดหัวท้ายเพื่อ
เป็นที่แขวนผืนระนาดนั้น ถ้าหากวัดจากโขนด้านหนึ่งไปยังโขนอีกด้านหนึ่ง รางระนาดทุ้มจะมีขนาดยาวประมาณ 124 ซม ปาก
รางกว้างประมาณ 22 ซม มีเท้าเตี้ยๆรองไว้ 4 มุมราง 

       ระนาดเอกเหล็ก หรือระนาดทอง

       ระนาดเอกเหล็ก เป็นเครื่องดนตรีที่ประดิษฐ์ขึ้นในรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมลูกระนาดทำด้วยทองเหลือง จึงเรียกกันว่าระนาดทอง ในเวลาต่อมาได้มีการประดิษฐ์ลูกระนาดด้วยเหล็ก ระนาดเอกเหล็กมีจำนวน 20 หรือ 21 ลูก โดยวางไว้บนรางที่มีไม้ระกำวางพาดไปตามของราง หากไม่มีไม้ระกำ ก็อาจใช้ผ้าพันไม้แล้วนำมารองลูกระนาดก็ได้ ลูกต้นของระนาดเอกเหล็กมีขนาด 23.5 ซม กว้างประมาณ 5 ซม ลดหลั่นขึ้นไปจนถึงลูกยอดที่มีขนาด 19 ซม กว้างประมาณ 4 ซม รางของระนาดเอกเหล็กนั้น ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีเท้ารองรับไว้ทั้ง 4 ด้านหรืออาจใส่ลูกล้อเพื่อสะดวกในการขนย้ายก็ได้ 

       ระนาดทุ้มเหล็ก

      ระนาดทุ้มเหล็กเป็นเครื่องดนตรีที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริให้สร้างขึ้น ลูกระนาดทำอย่างเดียวกับระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็กมีจำนวน 16 หรือ 17 ลูก ลูกต้นยาวประมาณ 35 ซม กว้างประมาณ 6 ซมและลดหลั่นลงไปจนถึงลูกยอดซึ่งยาวประมาณ 29 ซม กว้างประมาณ 5.5 ซม ตัวรางระนาดยาวประมาณ 1 เมตร ปากรางกว้างประมาณ 20 ซม มีชานยื่นออกไปสองข้างราง ถ้านับส่วนกว้างรวมทั้งชานทั้งสองข้างด้วย รางระนาดทุ้มเหล็กจะกว้างประมาณ 36 ซม มีเท้ารองติดลูกล้อ 4 เท้า เพื่อให้เคลื่อนที่ไปมาได้สะดวก ตัวรางสูงจากพื้นถึงขอบบนประมาณ 26 ซมระนาด
ทุกชนิดที่กล่าวมานั้น จะใช้ไม้ตี 2 อัน สำหรับระนาดเอกทำไม้ตีเป็น 2 ชนิด ชนิดหนึ่งทำหัวไม้ตีให้แข็ง เมื่อตีจะมีเสียงดังเกรียวกราว เมื่อนำเข้าผสมวงจะเรียกว่า “วงปี่พาทย์ไม้แข็ง” อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ประดิษฐ์ไม้ตีให้อ่อนนุ่ม เมื่อตีจะเกิดเสียงนุ่มนวล เวลานำระนาดเอกที่ใช้ไม้ตีชนิดนี้มาผสมวง จะเรียกว่า “วงปี่พาทย์ไม้นวม” 

      ลักษณะไม้ตีระนาดมีดังนี้

(1) ไม้แข็ง ปลายไม้ระนาด พอกด้วยผ้าชุบน้ำรักจนแข็ง

(2) ไม้นวม ปลายไม้ระนาด ใช้ผ้าพันแล้วถักด้วยด้ายจนนุ่ม

(3) ไม้ตีระนาดทุ้ม ปลายไม้ระนาด ใช้ผ้าพันพอกให้โต และนุ่ม เพื่อตีให้เกิดเสียงทุ้ม

(4) ไม้ตีระนาดเหล็ก ปลายไม้ตีทำด้วยแผ่นหนังดิบ ตัดเป็นวงกลมเจาะรูตรงกลาง แล้วเอาไม้เป็นด้าม
สำหรับถือมีขนาดใหญ่กว่าไม้ตีระนาดเอกธรรมดา

(5) ไม้ตีระนาดทุ้มเหล็ก ทำลักษณะเดียวกับไม้ตีฆ้องวง แต่ปลายไม้พันด้วยหนังดิบ เพื่อให้แข็งเวลาตี จะเกิดเสียงได้

*** เหตุใดจึงเรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า ''ระนาด''
มีเครื่องดนตรีจำนวนมากที่ถูกตั้งชื่อตามลักษณะเสียงของเครื่องดนตรีนั้นๆ เช่น ฉิ่ง กรับ ฆ้อง เป็นต้นแต่น่าแปลกที่ ระนาด ไม่ได้ถูกเรียกชื่อตามลักษณะของเสียงที่ได้ยินเมื่อเคาะลูกระนาด ชื่อนี้มีที่มาอย่างไร? และเหตุใดจึงเรียกเช่นนั้น? ได้มีการสันนิษฐานตามหลักภาษาศาสตร์เป็น 2กระแสคือ
1) กระแสแรกมีความเห็นว่า คำว่าระนาดนั้นเป็นคำไทยที่แผลงหรือยืดเสียงมา จากคำว่า ''ราด'' เช่นคำว่า ''เรียด'' แผลงเป็น ''ระเรียด'' ''ราบ'' แผลงเป็น ''ระนาบ'' เป็นต้น ทั้งยังมีสำนวนที่ชอบพูดติดปากกันมาแต่โบราณว่า ''ปี่พาทย์ ราด ตะโพน'' ซึ่งมีคำว่า ราด ปรากฏรวมอยู่ในประโยคดังกล่าวด้วยและอาจจะหมายถึงระนาดเอกก็ได้
คำว่า ''ราด'' นั้นมีความหมายว่า แผ่ออกไป กระจายออกไป ซึ่งก็ดูจะพ้องกับวิธี การที่นำเอาไม้กรับหรือลูกระนาดมาวางเรียงตามขนาดลดหลั่นกันหรือการนำท่อนไม้มา วางเรียงขวางทางเดินแล้วเรียกท่อนไม้เหล่านั้นว่า ''ลูกระนาด'' อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ยังไม่มี ข้อยุติที่แน่ชัดว่าเป็นการเรียกท่อนไม้ที่วางเรียงขวางทางเดินก่อนแล้วจึงนำมาเรียกเป็นชื่อ เครื่องดนตรีในภายหลังหรือว่าเป็นศัพท์ที่ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อใช้เรียกเครื่องดนตรีก่อนแล้ว จึงใช้เรียกการเรียงท่อนไม้ลักษณะนั้นในภายหลัง
2) กระแสที่สอง เห็นว่าคำนี้น่าจะเป็นคำในภาษาเขมรดังปรากฏในบทความของ อาจารย์สงัด ภูเขาทอง เรื่อง ''โปงลางในทัศนะของคนต่างถิ่น'' จากหนังสือ ''คำดนตรี'' ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ให้ข้อสันนิษฐานไว้ว่า
ระนาดน่าจะไม่ใช่คำไทย ยิ่งไปพบคำเขมรที่เขียนว่า ''ราด'' คนเขมรออกเสียงว่า ''เรียะส์'' แต่ไทยออกเสียงว่า ''ราด'' เป็นคำกริยาแปลว่า ''คราด'' เขามีวิธีทำคำกริยาให้เป็นคำนามด้วยการเติมกลางคำ (INFIX) คือแทรกตัว ''น'' เข้าไปเป็น ''รนาส'' คนเขมรอ่านว่า ''โรเนียะส์'' แต่คนไทยอ่านว่า ''ระนาด'' แปลว่า ''ลูกคราด'' เวลาเขียนคำเขมรที่สะกดด้วยตัว ''ส'' เมื่อเป็นภาษาไทยมักจะแปลง ตัว ''ส'' ให้เป็น ''ด'' เช่น ''โปรส'' เป็น ''โปรด'' เป็นต้น ดังนั้นคำว่า ''ระนาส'' จึงกลายเป็น ''ระนาด'' ไป และพลอยให้น่าเชื่อว่า คำว่าระนาดนั้นน่าจะมีต้นกำเนิดมาจากภาษาเขมร 






คลิกดูที่


โดย:
งาน: งานห้องสมุด
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: http://www.thai.net/satitfolkmusic/99nea%20num.htm

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 1

อ่าน 0 ครั้ง