[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

การเพาะเห็ดฟาง

                                                                           การเพาะเห็ดฟางจากเปลือกถึ่วเขียวเพื่อลดต้นทุน 
 วัสดุในการเพาะ
1. เชื้อเห็ดฟาง หมายถึง เส้นใยเห็ดฟางที่เจริญเติบโตในปุ๋ยหมักที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคอย่างดี แล้วสามารถที่จะนำไปเพาะได้เลย ควรเลือกซื้อเชื้อเห็ดที่มีคุณภาพราคาไม่แพง 
2. เปลือกถั่วเขียว ควรเลือกเปลือกของฝักถั่วเขียวที่มีลักษณะป่นเล็กน้อยหลังจากนวดเอาเมล็ดออกแล้วและต้องแห้งไม่ถูกน้ำหรือฝนจนกว่าจะนำมาเพาะเห็ดฟาง 
3. สถานที่ ควรเป็นที่ดอน ไม่มีมด ปลวก แมลงต่าง ๆ และศัตรูของเห็ดฟางชนิดอื่น ๆ สถานที่นั้นต้องไม่เป็นดินเค็ม ดินด่างจัด หรือน้ำไม่ท่วมขัง ควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือสามารถหาน้ำมาใช้ได้สะดวก ต้องไม่เป็นที่ที่เคยเพาะเห็ดฟางมาก่อนอย่างน้อย 1 เดือน และที่สำคัญบริเวณนั้นต้องไม่มีพิษตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชใด ๆ ทั้งสิ้น ในฤดูแล้งควรทำการเพาะในนาข้าว เพื่อเป็นการเพิ่มปุ๋ยหมักให้แก่ข้าวด้วย ส่วนในฤดูฝนควรเลือกที่ตอนกลางแจ้งที่เหมาะสม 
4. น้ำ ควรเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากคลอรีนและกลิ่นเน่าเหม็น ไม่เป็นน้ำเค็ม หรือน้ำกร่อย 
5. อาหารเสริม ควรหาง่ายในท้องถิ่น มีลักษณะไม่อุ้มน้ำมากเกินไป มีอาหารที่เหมาะสมสำหรับเห็ดฟางไม่เข้มข้นมากเกินไป อาหารเสริมที่ผ่านการทดลองและได้ผลดี ได้แก่ละอองข้าวผสมมูลควาย มูลโค และปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้ว สำหรับอัตราส่วนของการผสมนั้นขึ้นกับสถานที่ด้วย เช่น ละอองข้าวกับปุ๋ยหมัก เท่ากับ 1:1 หรือ 4:3 หรือ 2:1 เป็นต้น 
6. แบบไม้หรือลังไม้ มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมคางหมูโดยมีด้านกว้างด้านบน 25 เซนติเมตร ด้านล่าง 30 เซนติเมตร ยาว 100 เซนติเมตร และสูง 25 เซนติเมตร 
นอกจากนี้ยังมีแผ่นไม้กดใช้สำหรับกดเปลือกถั่วเขียว เพื่อความสะดวกในการทำกองเพาะ โดยใช้ไม้แผ่นขนาดกว้าง 20 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร และมีไม้สำหรับทำด้ามจับลักษณะคล้ายเกรียงฉาบปูน 
วิธีการเพาะ
1. เตรียมวัสดุเพาะ โดยนำเปลือกถั่วเขียวไปแช่น้ำ ประมาณ 5-10 นาที แล้วจึงนำมาเทกองรวมกันคลุมด้วยผ้าพลาสติกทิ้งไว้หนึ่งคืน เพื่อให้เปลือกถั่วเขียวนิ่มและมีคุณสมบัติที่พร้อมจะเปื่อยสลายได้ ระวังอย่าให้มีเชื้อราขึ้นบนเปลือกถั่วเขียวจะเพาะเห็ดฟางไม่ได้ผล เปลือกถั่วเขียว 1 กระสอบข้าวสาร สามารถเพาะเห็ดฟางได้ 10-12 กอง (แบบไม้) 
2. เตรียมสถานที่ ที่จะเพาะ โดยปรับพื้นที่ให้เรียบแล้วพรวนดินแบบทำแปลงผัก ย่อยดินให้แตกร่วนเพราะการเพาะเห็ดด้วยวิธีนี้ ดอกเห็ดฟางจะเกิดบนดินและควรกำจัดวัชพืชออกด้วย จากนั้นจึงตักน้ำรดให้ชุ่มทิ้งไว้หนึ่งคืน 
3. เตรียมอาหารเสริม ปริมาณขึ้นสถานที่กล่าวคือถ้าเป็นดินที่ไม่เคยทำสวนผักมาก่อน ให้ใช้ละอองข้าวผสมมูลควายเป็นอาหารเสริม 4 ปี๊บต่อเปลือกถั่วเขียว 25 กอง แต่ถ้าเป็นดินที่เคยทำสวนผักมาก่อนมีความอุดมสมบูรณ์มาก อาจใช้ละอองข้าวอย่างเดียวประมาณ 3 ปี๊บก็เพียงพอ นำอาหารเสริมมาคลุกเคล้ากับน้ำแล้วใช้พลาสติกคลุมไว้หนึ่งคืนเช่นกัน โดยปกติควรจะเตรียมวัสดุเพาะอาหารเสริมและสถานที่ ในตอนเย็น แล้วพักทิ้งไว้หนึ่งคืน รุ่งเช้าจึงจะดำเนินการต่อไป 
4. วางแบบไม้ลงบนแปลงที่เตรียมไว้ แล้วโรยอาหารเสริมไปตามขอบด้านในของแบบไม้ นำเปลือกถั่วเขียวที่เตรียมไว้เทลงในแบบไม้ ใช้ไม้กดเปลือกถั่วเขียวให้แน่นโดยมีความสูงประมาณหนึ่งฝ่ามือ (ประมาณ 12-15 เซนติเมตร) 
5. ยกแบบไม้ออก แล้วทำกองต่อไปให้ห่างจากกองแรกประมาณหนึ่งฝ่ามือ ทำเหมือนกับกองแรก ควรทำ 25 กองต่อ 1 แปลง เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา ในกรณีที่ทำแปลงละ 25 กอง จะใช้เปลือกถั่วเขียว 2 กระสอบครึ่ง เชื้อเห็ดฟาง 18 ถุง (ขนาดถุงละประมาณ 2 ขีด) ส่วนอาหารเสริมแล้วแต่สภาพของดิน 
6. เมื่อสร้างกองเสร็จแล้ว โรยเชื้อเห็ดฟางลงบนดินระหว่างกองและรอบ ๆ กอง แต่ไม่โรยบนกองเปลือกถั่วเขียว ใช้เชื้อเห็ดฟาง 18 ถุงต่อ 25 กอง แล้วโรยอาหารเสริมทับลงบนเชื้อเห็ดฟางอีกที โดยโรยบาง ๆ ถ้าดินอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าดินไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ก็ให้โรยหนากว่าเล็กน้อย แต่อย่าให้เกิน 1 เซนติเมตร 
7. รดน้ำกองเพาะให้ชุ่ม แต่อย่าให้โชกจนน้ำไหลนอง เพราะน้ำจะพาเอาเส้นใยเห็ดไหลไปที่อื่น 
8. ใช้ผ้าพลาสติกคลุมกองให้มิดชิด เพื่อทำให้เกิดความร้อนซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ดฟาง 
9. ใช้ฟางข้าว หรือเศษหญ้าแห้งคลุมบนผ้าพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง โดยคลุมให้หนา ๆ เพื่อป้องกันแสงเข้าไปในกองเพาะและช่วยรักษาความชื้นของกองเพาะอีกด้วย 

การดูแลรักษากองเพาะ
1. ในช่วง 1-2 วันแรก ไม่ต้องทำอะไรกับกองเพาะเลย นอกจากป้องกันไม่ให้สุนัข ไก่ หรือสัตว์อื่น ๆ ไปรบกวนกองเพาะ
2. เมื่อเริ่มวันที่ 3 หลังจากวันเพาะ ให้เปิดกองเพาะดูจะเห็นว่ามีตุ่มเห็ดโตประมาณเกือบเท่าหัวไม้ขีดเต็มไปหมด จึงทำการเปิดกองเพาะทั้งหมด โดยเอาฟางและผ้าพลาสติกออกทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที เพื่อให้สภาพของกองเพาะเย็นลงและเป็นการไล่แก๊สที่เกิดจากการหมักเน่าของเปลือกถั่วเขียวออกไปด้วย
เมื่อกองเพาะเย็นตัวลงแล้วตักน้ำรดกองเพาะ 1-2 หาบบัว จากนั้นจึงทำการยกโครงโดยใช้ไม้ไผ่ปักหัวท้าย แล้วทำให้เป็นโครงคล้ายรูปฝาชีและมีความสูงอย่างน้อย 60 เซนติเมตร แล้วคลุมด้วยผ้าพลาสติก และฟางข้าวเช่นเดิม
3. ทำการเปิดกองเพาะทุกเช้าและเย็นของวันที่ 4-5-6-7 หลังจากวันเพาะ ครั้งละประมาณ 30 นาที ช่วงนี้ให้สังเกตดูการเจริญเติบโตของดอกเห็ดด้วยว่าผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีเส้นใยขึ้นปกคลุมดอกเห็ดมาก และเกิดผิวตกกระก็ให้เปิดกองเพาะนานกว่าเดิม
4. หลังจากเปิดกองเพาะในตอนเย็นของวันที่ 7 หลังจากวันเพาะ ถ้ามีดอกเห็ดฟางที่คาดว่าจะเริ่มเก็บได้ในวันรุ่งขึ้นประมาณครึ่งหนึ่งของกองเพาะ ก็ให้ตักน้ำรดกองเพาะประมาณ 1 หาบบัว เพื่อเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับดอกเห็ดและเพิ่มความชื้นให้กับกองเพาะด้วย ถ้าไม่รดน้ำจะได้เห็ดที่มีน้ำหนักน้อยกว่าการรดน้ำ 

การเก็บดอกเห็ด
ในวันที่ 8 หลังจากวันเพาะก็สามารถเก็บดอกเห็ดได้เลย การเก็บควรเก็บในตอนเช้ามืด เพื่อดอกเห็ดจะได้ไม่บาน ดอกเห็ดที่เก็บควรมีลักษณะเป็นรูปไข่ปลอกยังไม่แตก และดอกยังไม่บานเพราะถ้าปล่อยให้ปลอกแตกและดอกบานแล้วค่อยเก็บจะทำให้ขายได้ราคาต่ำ
วิธีเก็บให้ใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้กดดอกเห็ดแล้วหมุนเล็กน้อยยกขึ้นเบา ๆ ดอกเห็ดก็จะหลุดออกมาโดยง่าย ถ้ามีดอกเห็ดขึ้นอยู่ติดกันหลายดอก ควรเก็บขึ้นมาพร้อมกันทั้งหมดทีเดียว ถ้าเก็บเฉพาะดอกเห็ดที่โตออกมาดอกที่เหลือจะไม่โตและฝ่อตายไป
ไม่ควรใช้มีดดัดดอกเห็ด เพราะจะทำให้มีเศษเหลืออยู่ซึ่งอาจจะเน่าและลุกลามไปทั่วกองได้ 
เมื่อเก็บเห็ดออกมาแล้ว ต้องทำการตัดแต่งเอาดิน หรืออาหารเสริมออกให้หมด จากนั้นนำใส่ลงในภาชนะที่โปร่ง เช่น กระบุง ตะกร้า เข่ง ที่รองด้วยกระดาษ หรือใบกล้วย ห้ามพรมน้ำหรือแช่น้ำเด็ดขาด เพราะจะทำให้เห็ดอมน้ำ เก็บไว้ได้ไม่นาน เน่าเสียง่ายกว่าปกติ และจะทำให้รสชาติเสียไปด้วย สำหรับผลผลิตต่อกองเพาะนั้น ได้ประมาณ 5 ขีด จนถึง 1 กิโลกรัม โดยเก็บได้ถึง 3 ครั้ง ขึ้นกับคุณภาพของเชื้อเห็ดฟาง และการดูแลรักษาด้วย 

ศัตรูเห็ดฟางและการป้องกันกำจัด
1. โรคราเมล็ดผักกาดหรือราหัวแข็ง เริ่มแรกจะเกิดเป็นเส้นใยขาวแผ่หนาเห็นได้ชัด พอแก่จะเกิดเป็นเม็ดเล็ก ๆ สีขาวต่อมากลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม ราชนิดนี้มักทำให้กองเพาะเห็ดเน่าได้ เชื้อราจะติดมากับเปลือกถั่วเขียว หรืออยู่บนดินที่มีโรคนี้อยู่ก่อนแล้ว
การป้องกัน อาจทำได้โดยใช้เปลือกถั่วเขียวที่แห้งและสะอาดไม่มีเชื้อราชนิดอื่นขึ้น ใช้เชื้อเห็ดฟางที่ดี และดูแลรักษากองเพาะให้ถูกวิธี อย่าเพาะเห็ดฟางซ้ำที่เดิม ถ้าโรคนี้เกิดขึ้นควรนำไปเผาทำลายเสีย
2. โรคเน่า เชื้ออาจติดมากับเปลือกถั่วเขียวหรือน้ำที่ใช้รดทำให้เห็ดฟางเน่าได้
การป้องกัน เหมือนกับโรคราเมล็ดผักกาด
3. แมลง ได้แก่ มด ปลวก จะมาทำรังและกัดกินเชื้อเห็ดและรบกวนเวลาทำงาน
การป้องกัน ควรเลือกสถานที่เพาะเห็ดฟาง ไม่ให้มีมด ปลวก ไม่แนะนำให้ใช้สารฆ่าแมลง เพราะการเพาะเห็ดชนิดนี้จะได้เห็ดที่เกิดบนดินจำนวนมาก และอีกประการหนึ่ง เห็ดมีอายุสั้นอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้
4. เห็ดราชนิดอื่น ได้แก่ เห็ดขี้ม้า เห็ดหมึก จะเจริญแข่งกับเห็ดฟางและแย่งอาหารบางส่วนไป
การป้องกัน ทำได้โดยใช้เปลือกถั่วเขียวที่แห้ง และสะอาดไม่มีเชื้อราชนิดอื่นขึ้น ใช้เชื้อเห็ดฟางที่ดีและดูแลรักษากองเพาะให้ถูกวิธี
5. สัตว์ชนิดอื่น ได้แก่ หนู จิ้งเหลน กิ้งกือ คางคก จะกัดหรือแทะเห็ดได้ นอกจากนี้ยังสามารถคุ้ยทำลายกองเพาะจนทำให้เส้นใยขาด แต่ทำความเสียหายไม่มากนัก
 





คลิกเพื่อดูรายละเอียดที่นี่


โดย:
งาน: งานห้องสมุด
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: http://www.kasetonline.com/plant.asp?id=40

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 1

อ่าน 0 ครั้ง