|
|
เทียนอบอบร่ำขนมไทย
ขนมไทย เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ประจำชาติไทยที่มีผู้อนุรักษ์และสืบสานกรรมวิธีในการทำไม่ได้ขาด แม้เพียงจำนวนไม่มากหรือถ้าเป็นขนมที่ทำยาก ต้องใช้ศิลปะในการทำค่อนข้างสูง ก็ยิ่งหาผู้สืบทอดได้น้อย เสน่ห์ของขนมไทยนี้นอกจากจะอยู่ที่รสชาติอันกลมกล่อมอร่อยลิ้น และรูปลักษณ์ที่งดงามอ่อนช้อยตามแบบไทย ที่เกิดขึ้นจากฝีมือประณีตของผู้ประดิดประดอยแล้ว ยังมีกลิ่นหอมรัญจวนจิตซึ่งเป็นปัจจัยเชื้อเชิญให้ลองลิ้มชิมรสอีกด้วย ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่าเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของขนมไทยก็คือกลิ่นหอมนั่นเอง หนึ่งในกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของขนมไทยก็คือเทียนอบ คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่อาจยังไม่เคยเห็นรูปร่างหน้าตาของเทียนอบจะรู้อีกทีก็ตอนได้กลิ่นเทียนอบติดขนมไปแล้ว หรือบางคนอาจไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ากลิ่นที่ตัวเองบอกว่าหอมหวลนั้นคือ กลิ่นของเทียนอบ ก็เลยกินไปอย่างเอร็ดอร่อย ซึ่งในรสอันหอมหวาน โดยไม่รู้ที่มาของกลิ่นเอาเสียเลย การใช้เทียนทอบที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนนั้นไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่าเริ่มมาตั้งแต่สมัยใด ทราบแต่เพียงว่าใช้กันมาตั้งนานแล้ว โดยใช้อบขนมไทยเป็นหลัก เช่น ในการทำลูกชุบ เมื่อกวนถั่วเรียบร้อยแล้วก็จะอบเทียนให้หอมก่อนจึงนำมาปั้นเป็นรูป ในการทำขนมหม้อตาลแบบโบราณ เมื่อหยอดน้ำตาลลงในพิมพ์รูปหม้อแล้ว สักพักก็เรียงขนมลงในโหล เพื่ออบควันเทียนให้หอม ฯลฯ และนอกจากคนสมัยก่อนจะใช้เทียนอบในการอบขนมให้มีกลิ่นหอมแล้วยังใช้อบแป้งร่ำดอกสารภี เพื่อใช้ประทาตัวหลังอาบน้ำอีกด้วย ขนมที่ต้องผ่านกรรมวิธีการอบเทียนนั้นมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน อาทิสำปันนี ทองเอก กลีบลำดวน ปุยฝ้าย โสมนัส ข้าวตู ฯลฯ อย่างน้ำกะทิที่นำมาราดซ่าหริ่ม ลอดช่อง แดงไทย ฯลฯ ก็ล้วนต้องการผ่านการอบร่ำด้วยเทียนอบทั้งสิ้น คราวนี้ก็มาถึงกรรมวิธีในการทำเทียนที่เรียกว่าการฟั่นเทียน การฟั่นเทียนนับเป็นงานฝีมือสำคัญของหญิงไทยโบราณ แน่นอนว่าขั้นตอนในการทำย่อมแตกต่างกันไปตามยุคสมัย ในสมัยก่อนเขาจะนำรังผึ้งมากวนด้วยพายไม้ในกระทะทองเหลืองแล้วกรองเอาเฉพาะขี้ผึ้งที่เป็นของเหลวสีเหลือง จากนั้นก็โรยกำยานลงในขี้ผึ้ง แล้วเคล้าให้เป็นเนื้อเดียวกัน เสร็จแล้วก็นำไปตากแดด นำมาแผ่เป็นแผ่น วางไส้ไว้ตรงกลาง แล้วขดเทียนเป็นรูปกิ้งกือ ปัจจุบันการทำเทียนอบก็ยังคงใช้ขี้ผึ้งจากทางภาคเหนือของประเทศไทยเมื่อได้ขี้ผึ้งแท้มาแล้วก็นำมาผสมกับพาราฟินหรือขี้ผึ้งเทียมเล็กน้อยเพื่อไม่ให้เหลวจนเกินไปรูปร่างของเทียนอบปัจจุบันไม่ได้ขดเป็นรูปกิ้งกือ เพียงแต่ดัดให้โค้งเข้าหากันเท่านั้น ส่วนเครื่องหอมที่ใช้คลุกเคล้ากับเนื้อเทียนนั้น นอกจากกำยานก็ยังมีเครื่องหอมแบบไทย ๆ อีกหลายชนิดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาลทรายแดง เปลือกชะลูดบด พิมเสน ผิวมะกรูดหั่นฝอย น้ำมันจันทน์ ฯลฯ ในการอบควันเทียนขนมนั้นค่อนข้างมีเคล็ดลับที่พิถีพิถันสักหน่อย ซึ่งเคล็ดลับที่ว่านี้ก็สืบทอดมาแต่โบร่ำโบราณแล้ว คนโบราณจะวางเทียนอบลงบนตะคันหรือถ้วยดินเผาใบเล็ก ๆ แต่ปัจจุบันจะวางบนขันอะลูมิเนียมใบเล็ก ๆ แทน หรืออาจใช้จอกทองเหลืองก็ได้ การอบควันเทียนเริ่มด้วยการจุดไฟที่เทียนอบแล้วนำไปวางระหว่างขนมที่อยู่ในขวดโหล เมื่อไฟลามไปถึงขี้ผึ้งแล้วก็ดับไฟให้เหลือแต่ควัน จากนั้นก็ปิดฝาขวดโหลทันที ทิ้งไว้ค้างคืน ๑ คืน จะได้ขนมไทยกลิ่นหอมกรุ่นละมุนละไม ในขั้นตอนการอบควันเทียนนี้ต้องระมัดระวังไม่ให้เถ้าดำ ๆ รอบเนื้อเทียนหล่นหรือปลิวไปถูกขนม ดังนั้น หากต้องการจะอบควันเทียนครั้งต่อ ๆ ไปก็ต้องดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษเสียหน่อย เพราะเทียนอบที่ผ่านการใช้งานไปครั้งหนึ่งแล้วจะมีเถ้าดำ ๆ ติดอยู่เป็นจำนวนมาก ควรเอาเถ้าดำ ๆ รวมเนื้อเทียนนั้นออกไปเสียก่อน เรียกว่ากันไว้ดีกว่าแก้ จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจทีหลังว่าขนมสวย ๆ กลิ่นหอม ๆ เปรอะเปื้อนไปหมด ขนมไทยเรานี้นอกจากจะหอมกลิ่นเทียนอบแล้วก็ยังมีอีกหลายชนิดที่ส่งกลิ่นหอมที่มีเสน่ห์แตกต่างกันไป เจ้ากลิ่นหอมต่าง ๆ ที่ว่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสริมให้ขนมไทยหอมหวลชวนชิม ขนมบางชนิดอาจใช้กลิ่นหอมอื่นเสริมกลิ่นเทียนอบด้วยก็ได้เช่นกัน การอบขนมด้วยดอกไม้และเทียนอบ นอกจากจะจุดเทียนอบด้วยวิธีการที่ได้บอกไปแล้ว อาจเสริมด้วยการนำดอกไม้หอมชนิดต่าง ๆ วางลงไปอบขนมด้วย ทิ้งไว้ ๑ คืน ขนมที่ได้จะทั้งหอมกลิ่น เทียนอบและกลิ่นดอกไม้ไปพร้อม ๆ กัน การอบขนมด้วยดอกกุหลาบ ดอกกุหลาบที่ใช้ต้องเป็นดอกกุหลาบมอญสีชมพูเพียงชนิดเดียวเท่านั้น เท่าที่ได้เดินดูตามตลาดค้าต้นไม้ปัจจุบันดูแล้วกุหลาบมอญพันธุ์นี้ค่อนข้างจะมีน้อย ทั้งยังมีราคาแพงอีกด้วย ดังนั้นขนมไทยที่อบด้วยกลิ่นรัญจวนของดอกกุหลาบมอญสีชมพูนี้จึงหายากตามไปด้วย การอบขนมด้วยดอกกุหลาบทำได้โดยเด็ดกลิ่นดอกกุหลาบออกมาทีละกลีบ ๆ ชนิดต้องระวังไม่ใช้กลีบดอกช้ำแล้วนำไปโรยบนขนม จากนั้นก็ปิดฝาขนมไว้ทิ้งค้างคืน ๑ คืน รับรองได้เลยว่าหากดอกกุหลาบที่นำมาอบขนมเป็นดอกกุหลาบมอญสีชมพูของแท้ ขนมที่ผ่านการอบนั้นจะหอมหวานน่าลิ้มรสจริง ๆ คราวนี้ก็มาถึงการอบขนมด้วยดอกกระดังงาที่หายากมาก ก่อนอื่นต้องลนกลับดอกกระดังงาด้วยไฟที่จุดจากเทียนอบเพื่อให้กลีบดอกช้ำเสียก่อน จากนั้นก็ต้องบีบกระเปาะดอกให้แตก กลิ่นหอมจะออกมาค่อนข้างฉุนเลยทีเดียว เมื่อทำขั้นตอนเตรียมดอกกระดังงานี้เรียบร้อยแล้วนำไปใส่ลงในขนมที่ต้องการอบแล้วปิดฝาให้มิดชิดทิ้งไว้ค้างคืน การนำไฟมาลนกลีบดอกกระดังงานนี่ยังเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า “กระดังงาลนไฟ” อีกด้วย จะเห็นได้ว่าการอบกลิ่นขนมไทยนั้นมีหลายวิธีด้วยกัน ซึ่งบางวิธีนั้นก็มีคนใช้น้อยเต็มที กลิ่นหอมยอดนิยมที่ยังคงมีบทบาทอยู่ในขนมไทยชนิดที่ไม่มีวันจางหายจึงน่าจะเป็นกลิ่นเทียนอบ ที่หอมจรุงใจชวนให้หลงใหลในเสน่ห์ขนมไทยไม่รู้ลืม |
คลิกเพื่อดูรายละเอียด |
โดย: งาน: งานห้องสมุด อ้างอิงแผนงาน : - อ้างอิงโครงการ : - แหล่งที่มา: http://www.culture.go.th/oncc/knowledge/food/dess06.htm |
Vote | |
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อฉัน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
มีประโยชน์ต่อทุกคน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |