|
|
แบดมินตัน
แบดมินตันเป็นกีฬาที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายมากในโลกประเภทหนึ่ง เชื่อกันว่ากีฬาประเภทนี้นิยมเล่นกันมามากกว่า 60 ปีมาแล้ว แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนตายตัวว่ามาจากแหล่งใด คงมีแต่หลักฐานบางชิ้นที่บ่งว่ามีการเล่นประปรายในยุโรปตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 เกมที่ฝรั่งเขาเรียกกันว่า แบทเทิลดอร์กับลูกขนไก่ก็นับได้ว่าเป็นต้นตระกูลของกีฬาแบดมินตัน แม้จะมีชื่อเรียกต่างกันไปก็ตาม แต่วิธีเล่นยังคงเหมือนกัน มีบางคนกล่าวว่าได้มีการเล่นแบดมินตันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 12 ในราชสำนักในอังกฤษและในประเทศจีนก็มีการเล่นเกมที่มีลักษณะคล้าย ๆ กับแบดมินตันในศตวรรษเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2403 ได้ค้นพบลูกขนไก่แบบโบราณ ซึ่งอยู่ในสภาพดีจำนวนมากถูกเก็บรักษาเอาไว้ที่แบดมินตันเฮ้าส์ ซึ่งมีรูปร่างและขนาดที่แตกต่างกันออกไปไม่แน่นอน แต่มีขนาดใหญ่ และหนักกว่าลูกขนไก่ในปัจจุบันมาก มีกำมะหยี่ห่อหุ้มที่ฐาน และผูกริบบิ้นสีสวยเอาไว้ และต่อมาได้พบลูกขนไก่ซึ่งมีหลักฐานระบุว่าทำขึ้นที่อินเดียในปี พ.ศ. 2408 ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์มีขนไก่ 19 ขน ความยาวของขนไก่ 3 นิ้ว มีฐานเป็นไม้คอร์ก พื้นเรียบมีริบบิ้นผูกติดเอาไว้ด้วย ในปี ค.ศ. 1870 ได้มีการจดบันทึกประวัติกีฬาแบดมินตันไว้เป็นการแน่นอนโดยกล่าวว่าการเล่นกีฬาแบดมินตันได้เกิดขึ้นที่เมืองปูนา ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ห่างจากบอมเบย์ในประเทศอินเดียประมาณ 50 ไมล์ โดยเล่นบนพื้นสนามหญ้าเอาไม้แผ่นกระดานบาง ๆ มาทำเป็นไม้ตีคล้ายพัดตีลูกขนไก่โต้กันไปมา ต่อมามีนายทหารอังกฤษที่ไปประจำการอยู่ที่นั้น นำเกมการตีลูกขนไก่นี้กลับไปยังเกาะอังกฤษ และเล่นกันอย่างแพร่หลาย ณ คฤหาสนแบดมินตัน ของท่านดยุค แห่งบิวฟอร์ดที่กล๊อสเตอร์ในปี ค.ศ. 1873 เป็นคฤหาสน์ที่ใหญ่โตกว้างขวาง มีเนื้อที่เป็นสวนรุกขชาติล้อมรอบมีปริมณฑล 10 ไมล์ อยู่ในทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองบริสตอลราว ๆ 17 ไมล์ ต่อมาก็เรียกชื่อกีฬาลูกขนไก่นี้ว่า ''แบดมินตัน'' ตามชื่อคฤหาสน์ ดังกล่าวตั้งแต่นั้นมา หลังจากนั้นก็มีการเล่นกีฬาแบดมินตันแพร่หลายไปยังประเทศต่าง ๆ ในภาคพื้นยุโรป เช่นเดนมาร์ก สวีเดน เป็นต้น เกมกีฬาแบดมินตันนี้มีลักษณะคล้าย ๆ กับการเล่นเทนนิสแต่สามารถเล่นได้ภายในตัวตึกโดยไม่ต้องกังวลต่อลม หรือหิมะที่กระหน่ำมารบกวนการเล่นเกมในฤดูหนาว เมื่อมีชาวยุโรปได้อพยพไปอยู่ในทวีปอเมริกา ได้นำเอาเกมการเล่นนี้ไปด้วย ส่วนทางเอเชียนั้น ได้มีการแพร่หลายมาโดยทหารเรืออังกฤษนำมาเล่นในอาณานิคมของอังกฤษที่ถูกยึดครองเป็นส่วนใหญ่ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย ต่างนำเกมแบดมินตันไปเล่นยังประเทศของตนอย่างแพร่หลาย การที่ประเทศอังกฤษมีอาณานิคมกว้างขวางทำให้เกมการเล่นแบดมินตันแพร่หลายไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลกอย่างกว้างขวาง รวมทั้งประเทศไทยด้วย สมาพันธ์แบดมินตันนานาชาติ ในปี ค.ศ. 1934 สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศอังกฤษเป็นตัวตั้งตัวตีร่วมกับสมาคมแบดมินตันแห่งชาติอื่น ๆ อีก 8 ชาติ มี ไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ เวลล์ แคนาดา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์และนิวซีแลนด์ ได้ริเริ่มก่อตั้งสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติหรือ I.B.F. ขึ้นสำเร็จมีศูนย์กลางอยู่ในกรุงลอนดอน สหพันธ์มีบทบาทอันสำคัญในการกำหนด และควบคุมกติกาและระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของกีฬาแบดมินตันทั่วโลกจากประเทศสมาชิกผู้เริ่มการครั้งแรก 9 ชาติ คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ เวลล์ แคนาดา เนเธอร์แลนด์ และนิวซีแลนด์ ปัจจุบันนี้มีประเทศอยู่ในเครือสมาชิกมากกว่า 80 ประเทศ สหพันธ์แบดมินตัน นานาชาตินี้มีหน้าที่ควบคุมการแข่งขันกีฬาแบดมินตันชิงชนะเลิศระหว่างประเทศ เช่น การแข่งขันชิงด้วยโธมัสคัพ ถ้วยอูเบอร์คัพ ชิงแชมป์โลก และชิงชนะเลิศภาคพื้นทวีปต่าง ๆ ทั่วโลกสำหรับประเทศไทย เป็นสมาชิกของสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติเมื่อปลายเดือนมีนมคม ค.ศ. 1951 โธมัสคัพ ในปี ค.ศ. 1939 เซอร์ยอร์จ โธมัส ได้เป็นประธานของสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติคนแรก มีเจตจำนงที่จะส่งเสริมการกีฬาประเภทนี้ให้เจริญรุ่งเรืองและเล่นกันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น จึงได้มอบถ้วยรางวัลชนะเลิศให้แก่ผู้ชนะเลิศชายในการแข่งขันแบดมินตันระหว่างประเทศ ซึ่งสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติได้จัดดำเนินการแข่งขันตามความประสงค์ ถ้วยนี้ทางการเรียกว่า ''ถ้วยท้าชิงความชนะเลิศเป็นผู้ชนะเลิศแบดมินตันระหว่างประเทศ'' แต่มักเรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า ''ชิงชนะเลิศโธมัสคัพ'' สหพันธ์ได้จัดให้มีการแข่งขันขึ้นทุก 3 ปี โดยแบ่งประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกออกเป็นเขต ๆ ผู้ชนะเลิศแต่ละเขตมาแข่งขันกันผู้ชนะเลิศในรอบสุดท้ายเป็นผู้มีสิทธิ์ท้าชิงผู้ครอบครองตำแหน่งชนะเลิศ ชุดผู้เล่นประกอบด้วยผู้เล่นชายอย่างน้อย 4 คน มีการแข่งขันประเภทเดี่ยว 5 คู่ ประเภทคู่ 4 คู่ การตัดสินใช้ผลคะแนนรวม หากชนะ 5 คู่ จะเป็นผู้ชนะครองถ้วยโธมัส การแข่งขันชิงถ้วยโธมัส เป็นการแข่งขันที่มีเกียรติ และได้รับความสนใจมากมายทั่วโลก ประเทศทางเอเชียได้แสดงฝีมือให้กับชาวโลกประจักษ์มาแล้ว โดยประเทศมาเลเซียได้ครองความชนะเลิศถึง 3 ครั้ง และอินโดเนเซีย 2 ครั้ง อูเบอร์คัพ กีฬาแบดมินตันความจริงไม่ใช่จะนิยมในเฉพาะชายเท่านั้น ในหมู่ผู้หญิงก็มีเหมือนกัน แต่เพิ่งเริ่มจะสนใจและเล่นกันอย่างจริงจังในปี ค.ศ. 1950 โดยนางเบ็ตตี้ อูเบอร์ หรือ นาง เอช.เอส.อูเบอร์ แห่งประเทศอังกฤษซึ่งได้เป็นนักกีฬาแบดมินตันหญิงยอดเยี่ยมทุกสมัยเป็นผู้มอบถ้วยรางวัลชนะเลิศสำหรับนักกีฬาสตรีแก่สหพันธ์กีฬาแบดมินตันนานาชาติ เพื่อเป็นรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศกีฬาแบดมินตันหญิงระหว่างประเทศ การมอบนี้ได้รับมอบเมื่อปี ค.ศ. 1955 และสหพันธ์ได้จัดให้มีการแข่งขันขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1957 เรียกกันว่า การแข่งขันชิงถ้วย ''อูเบอร์คัพ'' การแข่งขันจัดเป็นประเภทเดี่ยว 3 คู่ ประเภทคู่ 4 คู่ การตัดสินใช้คะแนนรวม ประเทศใดชนะ 4 คู่ ถือเป็นผู้ชนะเลิศ ครองถ้วยชนะเลิศอูเบอร์คัพ ส่วนการจัดการแข่งขันแบ่งเป็นเขตเช่นเดียวกับโธมัสคัพ สหรัฐอเมริกาเคยครองความชนะเลิศอูเบอร์คัพ 2 ครั้ง คือ ปี ค.ศ. 1957 และ 1960 การแข่งขันแบดมินตันประเภทบุคคล สำหรับการแข่งขันความชนะเลิศประเภทบุคคลนั้นวงการแบดมินตันทั่วโลกยังคงยกย่องให้ผู้ชนะเลิศแห่งประเทศอังกฤษ หรือออลอิงแลนด์ ให้เป็นแชมเปี้ยนโลกแต่ละประเภทอย่างไม่เป็นทางการ และถือว่าเป็นการแข่งขันแบดมินตันนัดสำคัญของโลก ซึ่งได้จัดการแข่งขันเป็นประจำตลอดมา ในปี พ.ศ. 2525 I.B.F. ได้เปลี่ยนแปลงการแข่งขัน ชิงถ้วยโธมัสคัพและอูเบอร์คัพ โดยรวมทีมแข่งขันทั้งทีมชายและทีมหญิงดังกล่าวไปแข่งพร้อม ๆ กันทุก ๆ 2 ปี ในปี พ.ศ. 2521 กลุ่มประเทศในทวีปเอเชียและแอฟริกา ร่วมกันจัดตั้งสหพันธ์แบดมินตันโลกหรือ W.B.F. ขึ้นอีกสถาบันหนึ่งโดยเริ่มจัดการแข่งขันครั้งแรกที่ประเทศไทย และได้ยุบตัวลงในปี พ.ศ. 2524 เหลือเพียง I.B.F. เพียงสถาบันเดียว สุธีร์มานคัพ ในปี พ.ศ. 2532 ประเทศอินโดเนเซียได้ผลักดันให้มีการแข่งขันแบดมินตันประเภททีมที่สำคัญของโลกอีก 1 รายการ โดยสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติ ให้การรับรองโดยเรียกว่า ''สุธีร์มานคัพ'' ซึ่งเป็นการตั้งชื่อถ้วยเพื่อให้เกียรติแก่ ดร. ดิ๊ค สุธีร์มาน นายกสมาคมแบดมินตันอินโดเนเซีย ปูชนียบุคคลผู้ก่อตั้งวงการแบดมินตันของอินโดเนเซียผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแข่งขันประเภททีมผสมที่ประกอบไปด้วยถ้วยแชมเปี้ยนของการแข่งขันประเภททีมผสมที่ประกอบไปด้วยถ้วยแชมเปี้ยนของการแข่งขันใน 5 ประเภท บุคคลของทุกประเทศที่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันได้แก่ชายเดี่ยว หญิงเดี่ยว ชายคู่ หญิงคู่ คู่ผสม ทีมใดชนะ 3 แมทช์ถือว่าเป็นผู้ชนะ โดยจัดการแข่งขัน 2 ปี ต่อ 1 ครั้งควบคู่ไปกับการแข่งขันชิงแชมป์แบดมินตันประเภทบุคคล สุธีร์มานคัพเป็นการแข่งขันรายการที่ใช้ระบบดิวิชั่นเข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งขัน โดยแบ่งกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันออกเป็น 7 ดิวิชั่น แต่ละดิวิชั่นแข่งขันแบบพบกันหมด แล้วจัดอันดับขึ้นมา อันดับที่หนึ่งจะได้ขึ้นไปอยู่ในดิวิชั่นที่เหนือกว่า ส่วนอันดับสุดท้ายหรือแพ้มากที่สุดจะต้องตกไปอยู่ในดิวิชั่นที่ต่ำกว่า ประเทศที่ได้แข่งขันถ้วยสุธีร์มานนั้นจะต้องเป็นประเทศที่อยู่ในดิวิชั่นหนึ่งเท่านั้น โดยเริ่มแข่งขันกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ทีมผู้ชนะเลิศการแข่งขันชิงถ้วยสุธีร์มานคัพ ครั้งที่ 1 ได้แก่ทีมอินโดเนเซีย เจ้าภาพ และเจ้าของถ้วย โดยชนะทั้งทีมจีนและเกาหลีใต้ และสำหรับทีมไทยเป็นทีมที่อยู่ในดิวิชั่นที่สาม ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 มีการแข่งขันชิงถ้วยสุธีร์มานคัพครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ทีมผู้ชนะเลิศได้แก่ทีมเกาหลีใต้ ซึ่งชนะทีมอินโดเนเซีย ส่วนทีมไทยชนะเลิศในดิวิชั่นสามได้เลื่อนขั้นขึ้นไปแข่งในดิวิชั่นสองในการแข่งขันครั้งต่อไป ในการแข่งขัน พ. ศ. 2536 ครั้งที่ 3 ณ เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันชิงแชมป์โลกประเภทรายบุคคลและสุธีร์มานคัพ เป็นการเฉลิมฉลอง 100 ปี สมาคมแบดมินตันของอังกฤษอีกด้วย ทีมชนะเลิศ คือ เกาหลีใต้ โดยทีมไทยได้เลื่อนชั้นมาแทนทีมสวีเดน ซึ่งแพ้จากการแข่งขันให้ทุกทีมในกลุ่ม 1 จนมีคะแนนเป็นอันดับสุดท้ายต้องเลื่อนลงมาอยู่ในดิวิชั่นสอง ทำให้ทีมไทยมีโอกาสลุ้นแชมป์โลกประเภททีมผสมเพื่อครอง ''ถ้วยสุธีร์มานคัพ''ในการแข่งขันครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ. 2538 ณ เมืองโลซานซ์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยมีนักกีฬาจากประเทศเกาหลีใต้ อินโดเนเซีย จีน เดนมาร์ก อังกฤษ และไทย กีฬาแบดมินตันมีความก้าวหน้าและพัฒนามากขึ้น มีการจัดการแข่งขันแบดมินตันในกีฬาซีเกม ( กีฬาแหลมทอง ) เพราะเริ่มมีการแข่งขันตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2502 โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพแข่งขันติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันก็ 17 ครั้งแล้ว และประเทศไทยก็ประสบผลสำเร็จจากการแข่งขันกีฬาแบดมินตันด้วยดีมาตลอดจนกระทั่งครั้งที่ 10 เป็นต้นมาที่มีการเปลี่ยนแปลงจากการแข่งขันกีฬาเซียพเกมมาเป็นกีฬาซีเกม ในปี พ.ศ. 2505 ได้มีการจัดการแข่งขันแบดมินตันในกีฬาเอเชี่ยนเกม ครั้งที่ 4 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดเนเซีย นอกจากนี้กีฬาแบดมินตัน ยังได้รับการพิจารณาให้เข้าสู่การแข่งในกีฬาโอลิมปิค และได้รับความสำเร็จเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2528 โดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 90 ของคณะกรรมการโอลิมปิคสากล ( I.O.C. ) ณ โรงแรมพาเลซท์ เบอร์ลินตะวันตก สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน ได้มีมติเป็นเอกฉันท์รับแบดมินตันเข้าสู่โปรแกรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ในปี ค.ศ. 1992 เป็นกีฬาประเภทที่ 24 กำหนดให้แต่ละประเทศส่งนักกีฬาได้ไม่เกิน 3 คน หรือ 3 คู่ ซึ่งต้องผ่านการคัดเลือกโดยสะสมคะแนนจากการเข้าร่วมการแข่งขันในรายการแข่งขันที่ได้รับการรับรอง ของ ไอ.บี.เอฟ. ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 25 รายการต่อปี ปัจจุบันแบดมินตันเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายมาก แม้แต่ในประเทศคอมมิวนิสต์เองก็นิยมเล่นกันมาก จึงจัดได้ว่าแบดมินตันเป็นกีฬาสากลประเภทหนึ่ง บางครั้งอาจนำมาใช้เป็นสื่อสร้างสัมพันธ์ไมตรีทางการเมืองได้เหมือนกัน และเป็นผลสำเร็จมาแล้ว เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ( จีนคอมมิวนิสต์ ) ได้นำมาใช้กับประเทศในเอเชียเป็นต้น การเล่นในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ซึ่งแต่เดิมเล่นเพื่อความสนุกสนาน แต่ปัจจุบันเล่นกันเพื่อการชิงชนะเลิศกัน ดังจะเห็นได้จากการแข่งขันถ้วยประเทศต่าง ๆ เช่น.การชิงแชมป์เอเชีย ชิงแชมป์ออลอิงแลนด์ ซึ่งจัดขึ้นในประเทศอังกฤษ ชิงถ้วยอูเบอร์คัพ โธมัสคัพ ซึ่งจัดโดยสมาคมแบดมินตันแห่งรัฐสลังงอ ชิงแชมป์ ออลมลายา ชิงแชมป์เพรซิเดนต์คัพ ซีเกม และเอเชียนเกม เป็นต้น แบดมินตันในประเทศไทย การเล่นแบดมินตันได้เข้ามาสู่ประเทศไทยในราวปี พ.ศ. 2456 โดยเริ่มเล่นกีฬาแบดมินตันแบบมีตาข่าย และสนามที่บ้านข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดธนบุรี แล้วนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายออกไป ส่วนมากเล่นกันตามบ้านผู้ดีมีตระกูล วังเจ้านายและในราชสำนัก การเล่นแบดมินตันครั้งนั้น นิยมเล่นข้างละ 3 คนกันมาก ประมาณปี พ.ศ 2462 สโมสรกลาโหมได้เป็นผู้จัดการแข่งขัน 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทเดี่ยว ประเภทคู่ และประเภทสามคน ปรากฏว่าทีมแบดมินตันบางขวางนนทบุรี ( โรงเรียนราชวิทยาลัยบางขวางนนทบุรี ) ชนะเลิศทุกประเภท นอกจากนี้มีนักกีฬาแบดมินตันฝีมือดีเดินทางไปแข่งขันยังประเทศใกล้เคียงอยู่บ่อย ๆ ต่อมาปี พ.ศ. 2494 พระยาจินดารักษ์ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นสมาคมชื่อว่า ''สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย'' เมื่อแรกตั้งมีอยู่ 7 สโมสร คือ สโมสรสมานมิตร สโมสรบางกอก สโมสรนิวบอย สโมสรยูนิตี้ สโมสร ส. ธรรมภักดี สโมสรสิงห์อุดม และสโมสรศิริบำเพ็ญบุญ ซึ่งในปัจจุบันนี้เหลือเป็นสโมสรสมาชิกของสมาคมอยู่เพียง 2 สโมสร คือ สโมสรนิวบอย และสโมสรยูนิตี้เท่านั้น และในปีเดียวกัน สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยก็ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติด้วย สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยมีนักกีฬาแบดมินตันที่มีฝีมือดีอยู่มาก และจากการเข้าแข่งในรายการต่าง ๆ ของโลกได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทั้งโธมัสคัพ อูเบอร์คัพ และการแข่งขันออลอิงแลนด์ ซึ่งวงการแบดมินตันถือว่าเป็นการแข่งขันชิงชนะเลิศของโลกประเภทรายบุคคล ซึ่งนักกีฬาของประเทศไทยก็เคยได้ตำแหน่งรองชนะเลิศทั้งประเภทชายเดี่ยวและชายคู่มาแล้ว ปัจจุบันแบดมินตันในประเทศไทยเป็นที่นิยมกันมากเล่นกันทั่วประเทศทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้ชาย ผู้หญิง มีการเรียนการสอนในโรงเรียน มีสนามแบดมินตันอยู่ทั่งประเทศ มีอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งผลิตเองได้ จึงเชื่อได้ว่าในเวลาไม่นานนี้ประเทศไทยคงจะก้าวหน้าเป็นผู้นำกีฬาแบตมินตันของโลกได้แน่นอน |
คลิกเพื่อดูรายละเอียดที่นี่ |
โดย: งาน: งานห้องสมุด อ้างอิงแผนงาน : - อ้างอิงโครงการ : - แหล่งที่มา: http://www.geocities.com/boon_dit/mix1.html |
Vote | |
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อฉัน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
มีประโยชน์ต่อทุกคน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |